Review : Samsung Galaxy S9+ ที่กลับมาทวงแชมป์สมาร์ทโฟนในครึ่งปีแรก

5039

หลังจากการเปิดตัวสมาร์ทโฟนไฮเอนด์รุ่นใหม่ของ Samsung สิ่งแรกที่เห็นได้จากการเปิดตัวในเมืองนอก คือภายใน 2 วันหลังเปิดตัว มีการเปิดจอง พร้อมไปกับเครื่องให้ผู้บริโภคได้ลองสัมผัสในแต่ละสาขา ก่อนที่ปลายสัปดาห์ต่อมาเริ่มจัดส่งเครื่องให้แก่ผู้บริโภคกลุ่มแรกแล้ว ถือเป็นความพร้อมในการทำตลาดของ Samsung Galaxy S9 และ S9+ ได้เป็นอย่างดี

แน่นอนว่า ถ้ามองภายนอกแล้ว ดูเผินๆ Samsung Galaxy S9 และ S9+ จะไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนจากรุ่นก่อนหน้าอย่าง Samsung Galaxy S8 และ S8+ มากนัก ทำให้ดูเหมือนไมเนอร์เชนจ์จากรุ่นเดิม หรือถ้าให้มองง่ายๆ ก็คล้ายๆกับการที่ Apple ออก iPhone 7 ตามมาด้วย iPhone 8 ที่เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากกว่า

หลายๆ คนที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยี คงรู้กันดีว่าการพัฒนาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรม เพื่อนำมาใช้บนอุปกรณ์ใดสักชิ้น คงไม่สามารถพัฒนาแบบก้าวกระโดดได้ในทุกๆปี ดังนั้น ในมุมหนึ่งก็ยอมรับได้ว่าจาก S8 เปลี่ยนมา S9+ ที่เน้นความสมบูรณ์แบบมากขึ้นของ Samsung ก็เพียงพอที่จะทำให้กลายเป็นแอนดรอยด์โฟนที่ดีสุดในเวลานี้

ข้อดี

ดีไซน์ตัวเครื่องแบบ Infinite Display กับจอ Super AMOLED ที่สีสันคมชัด

ประสิทธิภาพตัวเครื่องจากหน่วยประมวลผลรุ่นใหม่ Exynos 8895

กล้อง S9+ ที่มาแบบ Dual Camera กล้องหลัก f/1.5/-2.4 คู่กับเลนส์เทเล

ในรุ่น S9+ มากับ RAM 6 GB

ตัวเครื่องกันน้ำ กันฝุ่น รองรับการชาร์จไร้สาย

ข้อสังเกต

จุดต่างระหว่าง S9 และ S9+ ที่เป็นกล้องเดี่ยว กับกล้องคู่ (น่าจะทำให้ทั้ง 2 รุ่นต่างกันแค่จอกับแบตฯ)

– DeX Mode ยังต้องใช้กับอุปกรณ์เฉพาะ ไม่เหมือน Huawei Mate 10 ที่แค่ต่อออกจอ HDMI ก็ใช้ได้แล้ว

– AR Emoji ยังไม่เนียนเท่ากับ Animoji (เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวยังสู้ไม่ได้)

Design

ในส่วนของข้อมูลเบื้องต้น Samsung Galaxy S9 และ S9+ สามารถย้อนกลับไปอ่านได้ที่ “มีอะไรใหม่ ใน “Samsung Galaxy S9 และ S9+” พร้อมขายไทยกลุ่มแรก มี.ค.นี้”

กลับมาดูถึงการใช้งานจริง หลังจากที่ทีมงาน Cyberbiz นำ Samsung Galaxy S9+ มาใช้งาน ได้ราว 2 สัปดาห์ สิ่งแรกที่ยอมรับเลยคือในแง่ของภาพรวมการใช้งาน Galaxy S9+ ถือว่าทำออกมาได้ตอบสนองการใช้งานสมาร์ทโฟนได้ค่อนข้างครบถ้วน ทั้งจากอินเตอร์เฟสที่ถูกปรับปรุงขึ้นให้ใช้สะดวกยิ่งขึ้น

ดังนั้น ถ้าดูถึงการใช้งานโดยรวมแล้ว Galaxy S9+ จะกลายเป็นหนึ่งในรุ่นแนะนำของปีนี้ได้อย่างไม่ต้องสงสัย บนความต้องการของสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ที่ตอบโจทย์การใช้งานได้ แต่แน่นอนว่าไม่นับเรื่องงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะด้วยราคาเปิดตัวที่เกิน 3 หมื่นบาท เลยทำให้วู่วามมากนักไม่ได้

ใช้งาน Galaxy S8 หรือ S8+ ควรเปลี่ยนมาใช้หรือไม่?

ถ้าเงินไม่ใช่ปัจจัยที่สร้างปัญหาในการใช้ชีวิต การจ่ายเงิน 3 หมื่นบาท หรือผ่อนสักเดือนละ 3,000 บาท เพื่อเปลี่ยนมือถือเครื่องใหม่ไม่ใช่ปัญหา การจะเปลี่ยนมาใช้งาน Galaxy S9+ จะเป็นรุ่นที่แนะนำ แต่ถ้าใช้งาน S8 อยู่แล้วไม่อยากได้หน้าจอใหญ่แบบรุ่นพลัส จะเปลี่ยนมาเป็น S9 แนะนำว่าใช้รุ่นเดิมดีกว่า เพราะไม่ได้เปลี่ยนมากขนาดต้องจ่ายเงินซื้อ

ส่วนหนึ่งเลยมาจากกที่ Samsung เลือกที่จะนำกล้องคู่ (Dual Camera) มาใช้เฉพาะบน S9+ เท่านั้น ในขณะที่ S9 แม้จะมีการอัปเกรดกล้องจากเดิมที่เป็น Dual Pixel 12 ล้านพิกเซล f/1.7 มาเป็น Dual Pixel รุ่นใหม่ที่ปรับรูรับแสงได้ระหว่าง f/1.5 และ f/2.4 ไม่ได้ทำให้ว้าวขนาดนั้น

ลองดูได้จากภาพตัวอย่างที่เปรียบเทียบการถ่ายบน S8 กับ S9+ ที่ถ่ายในที่มืด (ใช้ขาตั้งกล้อง) ตั้งสปีดชัตเตอร์ที่ 10 วินาที ความไวแสง (ISO 50) บน S8 ใช้รูรับแสง f/1.7 ส่วน S9+ ใช้รูรับแสง f/1.5 จะเห็นได้ว่าภาพที่ได้ออกมา แตกต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่ได้เป็นคนที่ถ่ายภาพในที่แสงน้อยความสามารถดังกล่าวแทบจะไม่ได้ใช้งาน

แต่ถ้าจะเปลี่ยนมาใช้งาน S9+ ที่มากับ Dual Camera ที่ช่วยทำให้การถ่ายภาพได้หลากหลายขึ้นจากเลนส์เทเลที่ใส่เข้ามา (เหมือนบน Galaxy Note 8) ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ รวมถึงผู้ใช้แอนดรอยด์โฟนรุ่นสักปี 2016 หรือช่วงต้นปี 2017 ที่กำลังมองหาเครื่องใหม่ S9+ จะกลายเป็นรุ่นที่น่าสนใจสุดในเวลานี้

ลองดูจากตัวอย่างภาพที่ถ่ายในที่มืด ระหว่าง Galaxy S9+ (ภาพบน) และ Galaxy S8 (ภาพล่าง)

ทั้ง 2 ภาพจะตั้งค่ากล้องไว้ที่ ISO 50 ความเร็วชัตเตอร์ 10 วินาที โดยใน S9+ จะใช้ f/1.5 ส่วนใน S8 จะใช้ f/1.7

เด่นที่สุดคือเรื่องกล้อง

อย่างที่เกริ่นไปช่วงแรกว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่ามีการเปลี่ยนแปลงเลยคือเรื่องของโหมดกล้อง การนำ Dual Camera พร้อมฟีเจอร์อย่าง Live Focus มาช่วยเสริม คู่กับกล้องหลักที่ปรับรูรับแสงได้ ทำให้ Samsung Galaxy S9+ กลายเป็นสมาร์ทโฟนที่ถ่ายภาพโดยรวมได้ดีที่สุดในเวลานี้

เริ่มกันจากกล้องหลัก Dual Camera ที่เมื่อใช้ในโหมดอัตโนมัติตัวกล้องจะทำการปรับรูรับแสงระหว่าง f/1.5 และ f/2.4 ให้เอง โดยดูจากสภาพแสงขณะถ่าย ถ้าถ่ายในที่แสงเพียงพอตัวเลนส์จะปรับไปอยู่ที่รูรับแสง f/2.4 เพื่อให้ภาพที่ได้คมชัดมากขึ้น ในขณะเดียวกันถ้าอยู่ในที่แสงน้อยตัวเลนส์ก็จะปรับไปอยู่ที่ f/1.5 เพื่อให้รับแสงได้มากขึ้น ถือเป็นหลักการง่ายๆ ที่ Samsung นำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างน่าสนใจ

ถัดมาคือในส่วนของ Live Focus จากเดิมที่เน้นใช้การถ่ายภาพบุคคล เพื่อเน้นหลังละลายบน Note 8 พอมาเป็นใน S9+ มีการเพิ่มความสามารถอย่างการปรับเลือกเฉดของโบเก้ดวงไฟ ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้ดวงไฟที่เป็นโบเก้มีลักษณะอย่างไร ทั้งหัวใจ ดาว ดอกไม้ กระต่าย ผีเสื้อ เกล็ดหิมะ เป็นต้น

เพียงแต่ว่า ไม่ใช่ว่าทุกรูปที่ถ่ายออกมาจะสามารถปรับแต่งได้ กล่าวคือการที่จะปรับได้นั้นนอกจากต้องถ่ายให้เข้าโหมด Live Focus แล้ว พื้นหลังยังที่เป็นดวงไฟยังต้องอยู่ในจุดที่เหมาะสมด้วย ไม่เช่นนั้นจะขึ้นให้เลือกปรับเฉพาะความเบลอพื้นหลังเท่านั้น แต่ถ้าติดก็จะเลือกปรับรูปร่างโบเก้ได้

อีกส่วนหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใน Galaxy S9 และ S9+ คือเรื่องของการถ่ายภาพสโลว์โมชันที่ 960fps ที่ความละเอียด HD (720p) รุ่นแรกของ Samsung (ในตลาด Sony พัฒนามาก่อนแล้วในปีที่ผ่านมา และปีนี้พัฒนาเป็นความละเอียด Full HD 1080p)

จุดที่ S9 ทำได้โดดเด่นกว่า Sony คือมาพร้อมโหมดตรวจจับการเคลื่อนไหว เพื่อบันทึกภาพ Super Slow Motion แบบอัตโนมัติ แถมยังมีการใส่เพลงประกอบ เลือกเล่นย้อนกลับได้ ช่วยให้มีลูกเล่นในการถ่ายวิดีโอเพิ่มขึ้น แล้วก็ยังง่ายในการแชร์สู่โซเชียลเน็ตเวิร์กให้น่าสนใจด้วย

ส่วนถ้าถามว่ากล้อง S9+ ดีที่สุดในตลาดตอนนี้มั้ย ต้องยอมรับว่าโดยภาพรวมแล้ว ทำได้ดีที่สุด โดยถ้าเข้าไปดูคะแนนจากเว็บทดสอบกล้องอย่าง DxOMark ก็จะพบว่า S9+ มีคะแนนนำอยู่ในเวลานี้ แซงชนะ Google Pixel 2 ที่ครองแชมป์ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาไปได้ จากคะแนนที่เพิ่มขึ้นของ Dual Camera ทำให้คะแนนในส่วนของการซูมถ่ายภาพ รวมถึงการถ่ายภาพในเวลากลางคืนดีกว่า

ขณะที่ถ้ามองในแง่ของภาพนิ่งทั่วไป จากที่ทีมงานได้ลองเทียบทั้งภาพจาก S9+ และ Pixel 2 Xl ที่ใช้อยู่ ภาพของ Pixel 2 XL ก็ยังดูแล้วคม และให้สีสมจริงมากกว่า รวมถึงการถ่ายภาพบุคคล (Portrait) ที่นำ AI มาใช้เบลอหลังของ Pixel 2 XL ยังเหนือกว่า Live Focus ของ S9+ อยู่ แน่นอนว่าเดียวมีเปรียบเทียบภาพถ่ายจากสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปออกมาให้ติดตามกันแน่นอน

Gallery

AR Emoji อีกลูกเล่นที่เพิ่มมา แต่การตรวจจับยังสู้ Animoji ไม่ได้

ประเด็นเรื่องของ AR เริ่มถูกยกมาพูดถึงมากขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจากการที่ทาง กูเกิล เริ่มมีการพัฒนา ARkit ให้เหล่านักพัฒนาได้ทำไปใช้งาน ในการนำเทคโนโลยี AR มาใช้บนสมาร์ทโฟน โดยสิ่งที่ Samsung เลือกมานำเสนอคือการนำ AR มาใช้ในการสร้างสติกเกอร์ หรือคาแรกเตอร์ของผู้ใช้ เพื่อให้แชร์ต่อในช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ต่อยอดจากก่อนหน้านี้ที่ทำเป็นหน้ากาก คล้ายๆกับใน Snapchat มาให้ใช้งานกัน

AR Emoji จึงเกิดขึ้น ด้วยการที่ผู้ใช้สามารถสร้างสติกเกอร์ ด้วยการถ่ายภาพเซลฟี่เปิดหน้า (ใครมีผมหน้าม้าให้เอาขึ้น ใครใส่แว่นให้ถอดออก) หลังจากนั้นก็จะนำไปประมวลผล และแสดงผลออกมาเป็นตัวการ์ตูน ที่ให้ผู้ใช้เลือกได้ว่าอยากได้แบบหน้าเสมือนจริง หรือหน้าวิ้งๆแบบการ์ตูน เพียงแต่เมื่อเป็นการแปลง AR จากรูปถ่ายทำให้ภาพที่ออกมาไม่ค่อยเหมือนตัวจริงเท่าที่ควร

หลังจากนั้น เมื่อนำมาใช้ถ่าย AR Emoji ตัวเครื่องจะทำการสร้างสติกเกอร์ (ไฟล์ GIF) ขึ้นมา 16 แอคชัน ให้นำไปแชร์ต่อใน LINE หรือโพสต์ใน Facebook เล่นกันได้ หรือจะนำตัวการ์ตูน มาแทนใบหน้าเพื่อถ่ายภาพก็ได้เช่นกัน เพียงแต่หลังจากถ่าย AR Emoji ครั้งแรกแล้วตัวการ์ตูนจะถูกเก็บไว้ในเครื่อง แล้วจะนำไปใช้กับแทนหน้าใครก็ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อทดลองนำ AR Emoji มาใช้ด้วยตัวการ์ตูนที่ให้มาในเครื่องอย่างกระต่าย ก็จะพบว่า การแสดงผลท่าทางบนใบหน้ายังทำได้ไม่ละเอียดเท่ากับ Animoji ของ iPhone X ดังนั้น ถ้าจะคาดหวังให้นำทั้ง 2 เทคโนโลยีมาสู้กันคงวัดผลได้จาก เพราะใช้ฮาร์ดแวร์กันคนละชนิด iPhone X มีการนำกล้อง True Depth มาใช้สแกนโครงหน้า จึงแสดงผลได้ละเอียดกว่า เทียบกับ S9+ ที่ใช้กล้องหน้าธรรมดา

Bixby Vision ที่ผสาน Machine Learning ของ Google

อีกฟีเจอร์ที่ Samsung พยามนำมาขายในตอนเปิดตัว S9+ คือเรื่องของ Bixby เวอร์ชัน 2 ที่พัฒนาให้ฉลาดขึ้น ด้วยการที่เมื่อเล็งกล้องไปในวัตถุ หรือสถานที่ต่างๆ จะทำการค้นหาและแสดงผลบอกทันที ว่าวัตถุชิ้นนั้นเป็นอะไร หรือการแปลภาษาแบบ Real Time ด้วยการส่องกล้องไปยังตัวอักษรที่ต้องการแปล

เรื่องขำๆ ขณะทดลองใช้งาน Bixby ก็จะมีให้เห็นอย่างการส่องถ้วนกาแฟเย็น ตัว Bixby จะแสดงผลออกมาว่าเป็น Starbucks หรือลองส่องมะละกอยำเกาหลี ออกมาเป็นสปาเกตตี้คาโบนาร่า ส่องสลัดเกาหลี ออกมาเป็นซีซ่าร์สลัด จนทำให้คิดว่าบางทีอาจจะส่องยากไปหน่อย

แน่นอนว่า ถ้าไม่เคยใช้งาน Google Lens หรือ Google Translate มาก่อน ก็อาจจะมองว่าเป็นฟีเจอร์ใหม่ที่น่าสนใจ และ Samsung นำมาให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ผ่านโหมด Bixby ในแอปกล้อง แต่กลับกันถ้าเคยใช้งานผ่านแอปแยกของทางกูเกิลอยู่แล้ว ก็จะไม่ได้รู้สึกว่าเป็นฟีเจอร์ที่ว้าวมากนัก เพราะสุดท้ายก็คือการนำ Machine Learning ของ Google มาใช้นั่นเอง

Intelligence Scan ช่วยให้ใช้ง่ายขึ้น

ในแง่ของความปลอดภัย ซัมซุง ยังเป็นแบรนด์ที่เน้นความสะดวกในการใช้งานของผู้บริโภค โดยเปิดให้ผู้ใช้เลือกได้ว่า จะทำการปลดล็อกเครื่องที่เลือกได้จากทั้งสแกนลายนิ้วมือ ที่ด้านหลังเครื่อง (มีการย้ายตำแหน่งลงมาให้ไม่ไปโดนเลนส์กล้องแล้ว) กับอีกส่วนคือการปลดล็อกด้วยใบหน้า และม่านตา

จากเดิมที่ผ่านมาผู้ใช้จำเป็นต้องเลือกว่าจะปลดล็อกเครื่องด้วย ใบหน้า (Face Unlock) หรือ ม่านตา (Iris Scanner) เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่พอมาเป็นใน Galaxy S9 และ S9+ ซัมซุง ทำให้ฉลาดขึ้นสมกับชื่อ Intelegence Scan ด้วยการนำทั้ง 2 ระบบมาใช้งานพร้อมกันแบบอัตโนมัติ

กล่าวคือตัวเครื่องจะปลดล็อกด้วยใบหน้า เมื่ออยู่ในที่ที่มีแสงสว่าง กลับกันถ้าอยู่ในที่มืดการปลดล็อกด้วยม่านตาจะแม่นยำกว่า ทำให้การปลดล็อกตัวเครื่องทำได้รวดเร็วเหมือนเดิม ขณะเดียวกัน เมื่อถูกนำไปใช้กับระบบรักษาความปลอดภัยอย่าง Samsung Pass ตัวเครื่องจะทำการสแกนทั้ง 2 ระบบพร้อมกัน เพื่อยืนยันผู้ใช้งานอีกรอบหนึ่ง

แบตเตอรี ใช้งานหนักๆได้แค่ไหน

จากที่ให้แบตเตอรีมา 3,500 mAh ถ้าถามว่านำมาใช้งานทั่วๆไปใน 1 วัน Samsung Galaxy S9+ ถือว่าบริหารจัดการทรัพยากรได้ค่อนข้างดี แต่กลับกันถ้านำมาใช้งานหนักๆ เปิดใช้งานตลอดเวลา ก็จะอยู่ได้ราว 7-8 ชั่วโมงต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ รวมๆแล้วยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่ามาตรฐานทั่วไปอยู่

โดยมีจุดที่ควรรู้ก่อนว่า ตัวเครื่องจะถูกตั้งค่ามาตรฐานมาให้แสดงผลที่ความละเอียดหน้าจอแบบ Full HD ซึ่งในมุมหนึ่งจะช่วยยืดระยะเวลาในการใช้งานบนแบตเตอรีอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ได้กังวลในจุดนั้นก็แนะนำให้ปรับความละเอียดหน้าจอเพิ่มขึ้นมาเป็น 2K ในการใช้งานก็ได้

ยังมีอะไรที่น่าสนใจอีก

นอกจากหลายๆประเด็นที่บอกไปแล้ว ใน Galaxy S9+ ก็ยังมีจุดเล็กๆที่ปรับปรุงขึ้น อย่างระบบเสียง มีการนำลำโพงสเตอริโอ ที่ปรับแต่งโดย AKG มาใช้งานแล้ว จากที่ก่อนนี้ในรุ่นไฮเอนด์ซัมซุงจะใช้ลำโพงเดียวมาโดยตลอด ส่วนเทคโนโลยีเสียงที่ใช้ก็รองรับ Dolby Atmos ที่นิยมใช้กัน

ถัดมาคือเรื่องของ Samsung DeX ที่แม้ว่าต้องเชื่อมต่อกับ DeX Station เพื่อใช้งานเช่นเดิม แต่ก็ปรับเปลี่ยนมุมของการเชื่อมต่อให้เป็นแนวนอนแทน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถทำ Galaxy S9+ มาใช้แทนเมาส์แพดในการควบคุมเครื่องได้

ฟีเจอร์เพิ่มเติมอย่าง Samsung Knox ที่ใช้เก็บข้อมูลที่ต้องการความปลอดภัย โหมดการใช้งานแอปแชท 2 บัญชี การใช้งาน Multi Windows ด้วยการแบ่งครึ่งหน้าจอ ที่เรียกใช้งานด่วนจากขอบเครื่อง สามารถจับคู่แอป (Pair Apps) ได้เหมือนใน Note 8

ส่วนฟีเจอร์ที่กลายเป็นมาตรฐานอย่างกันน้ำ กันฝุ่น การเชื่อมต่อ 4G กาารแชร์ไวไฟมาปล่อยเป็นฮ็อตสป็อต การเชื่อมต่อกับบลูทูธหลายอุปกรณ์พร้อมกัน ก็ยังสามารถใช้งานได้เหมือนใน S8 และ Note 8 ดังนั้น รวมๆแล้วจึงกลายเป็นเครื่องที่ค่อนข้างครบถ้วนอยู่แล้ว

จุดที่ใช้แล้วยังขัดๆอยู่

ไม่ใช่ว่า Galaxy S9+ จะสมบูรณ์แบบทุกอย่าง เพราะในการใช้งานด้วยความที่เป็นจอโค้ง แบบเต็มพื้นที่ ทำให้เวลาถือใช้งานในแนวนอน อาจจะมีอาการทัชลั่นบ้าง หรือในการถือใช้งานมือเดียวอุ้งมืออาจจะไปโดนบริเวณขอบทำให้สัมผัสหน้าจอโดยไม่รู้ตัว

กับอีกส่วนคืออินเตอร์เฟสของกล้องถ่ายภาพ ที่พยามเน้นให้ง่ายขึ้นด้วยการปัดซ้ายขวาเพื่อเปลี่ยนโหมดใช้งาน หรือขึ้นลง เพื่อสลับกล้องหน้าหลัง ซึ่งรับสัมผัสได้ไวเกินไป บางที่ต้องการปรับความสว่างรูปภาพ กลับเป็นเปลี่ยนโหมดถ่ายภาพแทน โดยเฉพาะเมื่อใช้งานในโหมด Pro ที่ต้องมีการปรับชัตเตอร์สปีด ถ้ากดไปตรงแถบๆ จะกลายเป็นเปลี่ยนโหมดถ่ายภาพแทนบ่อยๆ

ส่วนโหมดอย่าง Super Slow-Mo ในช่วงแรกที่ใช้จะจับจังหวะในการถ่ายยากสักหน่อย เนื่องจากตัวเครื่องจะเข้าสู่โหมดถ่ายวิดีโอสโลว์โมชันก่อน หลังจากนั้นถ้าจะตั้งโหมดอัตโนมัติต้องรอให้กรอบเป็นสีเหลือง (พร้อมใช้งาน) ก่อนที่วัตถุ ที่คลื่นไหวจะขยับ หรือถ้าตั้งแบบกำหนดเอง ก็ต้องกะจังหวะถ่าย Super Slow-Mo จากปุ่มที่อยู่ด้านบนชัตเตอร์อีกครั้ง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น