Review : Samsung Gear S2 Classic บทใหม่ของสมาร์ทวอทช์

18471

IMG_1275

ตลาดสมาร์ทวอทช์ (Smart Watch) ถือเป็นอีกกลุ่มที่กำลังอยู่ในช่วงที่เติบโตไปพร้อมๆกับตลาดสมาร์ทโฟน พร้อมๆไปกับการมาของ IoT (Internet of Things) ที่ซัมซุง พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาจับตลาดนี้ โดยก่อนหน้านี้จะเน้นจับไปที่กลุ่มคนที่รักสุขภาพเป็นหลัก มาจนถึงรุ่นล่าสุดเริ่มจับเข้ามาในตลาดแฟชันมากขึ้น

Samsung Gear S2 ถือเป็นสมาร์ทวอทช์รุ่นล่าสุดของซัมซุง ที่มีออกมาจับ 2 กลุ่มผู้ใช้งานหลักๆคือ กลุ่มที่ใช้งานเป็นอุปกรณ์ช่วยในการใช้ชีวิต รวมถึงการออกกำลังกาย และอีกกลุ่มที่มองนาฬิกาว่าเป็นสินค้าแฟชัน เข้ามาเติมเต็มไลฟ์สไตล์ในการใช้งาน ดังนั้นก็จะมีทั้งรุ่นที่เป็น Gear S2 Sport และ Gear S2 Classic

การออกแบบ

1600

ตามจริงแล้ว Gear S2 ถือว่าเป็นสมาร์ทวอทช์รุ่นแรกที่ซัมซุงทำออกมาแล้วดูเป็นนาฬิกาแฟชันมากที่สุด เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปใน Galaxy Gear จนมาถึง Gear Fit และ Gear S ต่างทำหน้าจอออกมาในแนวสี่เหลี่ยมเน้นไปที่ฟังก์ชันการใช้งานเป็นหลัก แต่พอมาถึง Gear S2 ทำให้กลับมาเป็นรูปลักษณ์ของนาฬิกาด้วยหน้าปัดกลม พร้อมวงแหวนให้หมุ่นสั่งงาน

IMG_1266

วัสดุที่ใช้ทำตัวเรือนจะทำงานอะลูมิเนียนดูแล้วมีความแข็งแรง มาพร้อมกับการกันน้ำกันฝุ่นบนมาตรฐาน IP 68โดยขนาดรอบตัวของ Gear S2 Sport จะอยู่ที่ 49.8 x 42.3 x 11.4 มิลลิเมตร นำ้หนัก47 กรัม มีให้เลือก 2 สีคือ เทาเข้ม (Dark Gray) และ เงิน (Silver) ส่วน Gear S2 Classic จะมีขนาดอยู่ที่ 39.9 x 43.6 x 11.4 มิลลิเมตร นำ้หนัก 42 กรัม มีให้เลือกเฉพาะสีดำ (Blue Black)

ความแตกต่างระหว่าง Gear S2 Sport กับ Gear S2 Classic นอกจากในแง่ของขนาด และน้ำหนักที่ต่างกันเล็กน้อยแล้ว ก็จะมีในส่วนของหน้าปัดที่ตัว Gear S2 Classic จะมีลวดลายเพิ่มเติมบริเวณขอบวงแหวน ในขณะที่ Gear S2 Sport จะเป็นวงแหวนเรียบๆ ที่เหลือก็คือเรื่องของสายที่เป็นสายยาง และสายหนัง

IMG_1253

ตัวเรือนจะมากับจอสัมผัส Gorilla Glass 3 แบบ Super AMOLED ขนาด 1.2 นิ้ว ความละเอียด 360 x 360 พิกเซล พร้อมเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว ทำให้เมื่อยกแขนขึ้นมาดูนาฬิกาตัวจอก็จะติดโดยอัตโนมัติ เมื่อนำแขนลงจอก็จะดับอัตโนมัติเช่นเดียวกัน

IMG_1255

การควบคุมจะทำได้ 3 รูปแบบ คือ การสัมผัสที่หน้าจอ การหมุนวงแหวนบริเวณขอบจอ และการกดปุ่มที่ข้างตัวเครื่อง โดยปุ่มบนจะเป็นปุ่มย้อนกลับ ส่วนปุ่มล่างจะเป็นปุ่มกลับหน้าแรก โดยสามารถกดค้างเพื่อใช้ในการเปิดปิดเครื่อง หรือกดค้างพร้อมปาดหน้าจอในการจับภาพหน้าจอได้ด้วย

IMG_1251

หลังตัวเรือนจะมีเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ตรงกลาง ขณะที่ตัวอักษรรอบกรอบจะระบุชื่อรุ่น และสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานต่างๆ ส่วนบริเวณข้อต่อสามารถปลดสายได้ด้วยการดันปุ่มสีเงินๆตรงข้อต่อเพื่อปลดล็อก ก็สามารถเปลี่ยนสายได้ทันที

ส่วนตัวสาย Gear S2 Classic ทีไ่ด้มาทดสอบ จะมีเขียนระบุไว้ว่าเป็นสายหนัง (Genuine Leather) และมีสายให้เลือก 2 ไซส์คือ เล็ก และ ใหญ่ ที่แถมมาให้ภายในกล่องด้วย พร้อมกับแท่นชาร์จ อะแดปเตอร์ และคู่มือการใช้งานเบื้องต้น

สเปก

IMG_1243

สำหรับสเปกภายในของ Gear S2 ทั้ง 2 รุ่น จะเหมือนกันคือ ทำงานภายใต้ระบบปฏิบัติการ Tizen ใช้หน่วยประมวลผล Samsung Exynos 3250 ที่เป็นดูอัลคอร์ 1 GHz RAM 512 MB และพื้นที่เก็บข้อมูลภายใน 4 GB ภายในมีแบตเตอรีขนาด 250 mAh สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ราว 2-3 วันต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

ด้านการเชื่อมต่อรองรับการเชื่อมต่อกับบลูทูธ 4.1 ไวเลส มาตรฐาน 802.11 b/g/n รวมถึงรองรับ NFC และไวเลสชาร์จด้วย ส่วนกรณีที่ต้องการใช้งานกับแอนดรอยด์รุ่นอื่นในท้องตลาด ทางซัมซุงระบุว่าสมาร์ทโฟนที่ทำงานบน แอนดรอยด์ 4.4 ขึ้นไป และมี RAM สูงกว่า 1.5 GHz สามารถใช้งานได้ โดยสามารถตรวจสอบรุ่นได้ที่ http://www.samsung.com/global/galaxy/gear-s2/device-compatibility/

ฟีเจอร์เด่น

s10s11

ในการเริ่มใช้งาน Gear S2 สิ่งแรกที่จำเป็นเลยคือการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่านแอปพลิเคชัน Samsung Gear เมื่อเชื่อมต่อเรียบร้อยตัวนาฬิกาจะทำการซิงค์ข้อมูลมาแสดงผล หลังจากนั้นถึงจะเริ่มใช้งาน Gear S2 ได้ ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถตั้งค่าเบื้องต้นจากภายในแอปพลิเคชันได้ไม่ว่าจะเป็น การแสดงผลหน้าปัดนาฬิกา การแจ้งเตือน รวมถึงการบริหารจัดการแอปพลิเคชันภายในตัว Gear S2

s12s13

นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังเลือกที่จะตั้งการซิงค์ข้อมูลเพลง และรูปที่ต้องการเก็บไว้ใน Gear S2 เพื่อใช้งานขณะออกกำลังกายทำให้ไม่ต้องพกโทรศัพท์ติดตัว  รวมถึงยังสามารถเข้าไปเลือกตั้งค่าการตอบกลับข้อความกรณีปฏิเสธการรับสาย การตั้งค่าปุ่มลัดเมื่อกดปุ่มโฮม 2 ครั้ง การส่งข้อความฉุกเฉินไปยังเลขหมายที่ตั้งไว้ การสำรองข้อมูลด้วย ดูพื้นที่เหลือใช้งานบน Gear S2 และการค้นหา Gear S2 ด้วยการส่งเสียงเรียกออกไป

s01

ทีนี้ มาดูกันที่หน้าปัดนาฬิกาของ Gear S2 อย่างที่กล่าวไปว่าผู้ใช้สามารถเลือกลายหน้าจอที่แสดงผลได้ เมื่อหมุนวงแหวนตามเข็มนาฬิกา หรือปาดหน้าจอไปทางซ้าย จะพบกับหน้าจอการใช้งานเบื้องต้น ที่จะมีปุ่มเรียกหน้ารวมแอป ปุ่มเรียกดูรายชื่อเพื่อน ตั้งค่า และเรียกใช้งาน S-Voice ที่เป็นระบบสั่งงานด้วยเสียงของทางซัมซุง

เมื่อปาดหน้าจอไปเรื่อยๆก็จะพบกับหน้าแสดงผลการก้าวเดิน ตารางนัดหมาย พยากรณ์อากาศ ปุ่มควบคุมเครื่องเล่นเพลง วัดอัตราการเต้นของหัวใจ แสดงผลระยะเวลาที่เคลื่อนไหว และปฏิทิน โดยในส่วนของหน้าจอพวกนี้สามารถเลือกเพิ่ม และจัดเรียงการแสดงผลได้ตามที่ต้องการ

s02

ถัดมาเมื่อปาดขวา หรือหมุนทวนเข็มนาฬิกา จะพบกับหน้าจอแสดงการเจ้งเตือน เมื่อปาดหน้าจอลงมาจะแสดงแบตเตอรีที่เหลือ สถานะการเชื่อมต่อ รวมถึงปุ่มลัดไปยังเครื่องเล่นเพลง ที่สามารถปรับเสียงได้ โหมดห้ามรบกวน และปรับความสว่างหน้าจอ

โดยในส่วนของหน้าจอหลักจะมีที่น่าสนใจเกี่ยวกับแอป S-Helath คือโหมด Quick Start สำหรับบันทึกข้อมูลการออกกำลังกายแบบเร่งด่วน และอีกหน้าจอหนึ่งคือการใส่ข้อมูลการดื่มน้ำ และกาแฟ ที่สามารถกดเพิ่มได้ตลอดเวลา

ส่วนหน้ารวมเมนูก็จะมีให้กดใข้อย่าง พยากรณ์อากาศ S-Voice ปฏิทิน ตั้งค่า ไนกี้ S-Health โทรศัพท์ ข้อความ รายชื่อด่วน รูปภาพ เพลง ซีเอ็นเอ็น บลูมเบิร์ก นาฬิกาจับเวลา นาฬิกาปลุก อีเมล ค้นหามือถือ แผนที่ บันทึกเสียง และยังสามารถดาวน์โหลดแอปเพิ่มเติมได้จากในสมาร์ทโฟน

s05

ในส่วนของการใช้งานเบื้องต้นอย่างโหมดโทรศัพท์สามารถสั่งโทรออกได้จากตัว Gear S2 เพียงแต่เมื่อโทรแล้วก็ต้องยกตัวสมาร์ทโฟนขึ้นมาคุยเช่นเดิม โดยกรณีที่มีการบันทึกรายชื่อไว้ก็สามารถเลือกรายชื่อ เพื่อกดโทรออก หรือส่งข้อความหาได้ทันที

ส่วนกรณีที่มีสายเข้าสามารถใช้นิ้วปาดเพื่อรับสาย ตัดสาย ส่งข้อความกลับได้ หรือจะใช้เสียงสั่งงานให้รับสายก็ได้เช่นเดียวกัน เมื่อมีสายที่ไม่ได้รับ ตัวนาฬิกาสามารถเลือกได้ว่าจะโทรกลับ ส่งข้อความหา สั่งให้แสดงผลบนหน้าจอสมาร์ทโฟน หรือเลือกบล็อกสายได้ทันที

s06

การอ่านข้อความต่างๆ ขณะนี้สามารถใช้งานได้กับบางแอปพลิเคชันอย่าง ข้อความสั้น อีเมล ไลน์ โดยเมื่ออ่านแล้วสามารถเลือกได้ว่าจะตอบกลับ หรือสั่งให้แสดงผลบนหน้าจอ โดยถ้าเลือกตอบกลับจะสามารถเข้าไปเลือกชุดข้อความด่วนที่บันทึกไว้ หรือพิมพ์ใหม่จากคีย์บอร์ดเสมือนบนนาฬิกาได้ทันที แต่ทั้งนี้เลย์เอาท์คีย์บอร์ดบนนาฬิกาจะเป็นในลักษณะของปุ่มกดตัวเลขบนมือถือสมัยก่อน ไม่ใช่คีย์บอร์ดแบบครบทุกปุ่ม

กรณีที่ต้องการส่งรูปจากในตัว Gear S2 ไปยังสมาร์ทโฟน สามารถทำได้โดยการเข้าไปที่แอปรูปภาพ กดเลือกรูปที่ต้องการส่ง และเลือกคำสั่ง Send to Phone ได้ทันที รูปที่บันทึกก็จะไปรวมอยู่ในอัลบั้มของ Gear S2 โดยเฉพาะ

s07

ในส่วนของการใช้งาน S-Health จะมีการแจ้งเตือนให้เคลื่อนไหวเมื่อนั่งอยู่เฉยๆในช่วงระยะเวลาหนึ่ง รวมถึงสามารถเข้าไปดูระยะก้าวเดินย้อนหลังในแต่ละวัน เมื่อถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็จะมีการแจ้งเตือน ส่วนการออกกำลังกายก็สามารถเลือกประเภทกีฬาได้อย่าง เดิน วิ่ง ขี่จักรยาน ปีนเขา และออกกำลังบนเครื่องเล่น

ขณะที่การวัดอัตราการเต้นของหัวใจจะมีแสดงผลทั้งตอนที่กำลังออกำลังกายอยู่ หรือถ้าต้องการวัดในเวลาทั่วไปจำเป็นต้องกดให้ระบบทำงาน โดยเมื่อวัดเสร็จแล้วก็จะมีให้ติดแท็กว่าวัดในขณะที่ร่างกายรู้สึกเป็นอย่างไร เพื่อนำข้อมูลไปเก็บไว้ประมวลผลในตอนหลัง

s03s04

มาถึงส่วนของการตั้งค่า ภายในตัว Gear S2 ผู้ใช้สามารถเข้าไปตั้งค่าหน้าจอ อย่างเช่นการเปลี่ยนรูปหน้าปัด การปรับความสว่าง เลือกฟอนต์ ความแรงของการสั่นแจ้งเตือน ตั้งกดปุ่มลัดเข้าแอป ตั้งให้ใช้ระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวให้หน้จอติดอัตโนมัติ เปิดการใช้งานโทรศัพท์ เลือกการเชื่อมต่อบลูทูธ ไวไฟ ตั้งค่าล็อกหน้าจอ เลือกการป้อนข้อความ ระบบประหยัดพลังงาน และดูรายละเอียดเครื่อง

s08

สุดท้ายการใช้งานระบบ S-Voice บน Gear S2 สามารถใช้ในการสั่งงานโทรศัพท์อย่างเช่นการโทรออก ตรวจสอบสภาพอากาศ การเพิ่มน้ำฟรือกาแฟใน S-Health รวมถึงคำสั่งเสียงอื่นๆที่ตัวเครื่องรองรับ

นอกจากนี้ก็จะมีตัวอย่างในส่วนของแอปอ่านข้อมูลข่าวจาก CNN และ Bloomberg ที่ผู้ใช้สามารถกดเลือกดูหัวข้อที่สนใจ และเข้าไปอ่านข้อมูลจากบนข้อมือได้ทันที โดยในการใช้งานตัว Gear S2 จะใช้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อในการดึงข้อมูลมาแสดงผล

s09

ไม่นับรวมกับระบบแผนที่ ที่ทาง Gear S2 เลือกใช้แผนที่ของทาง Here ที่ผู้ใช้สามารถกดเข้าไปดูที่อยู่ปัจจุบัน ค้นหาเส้นทางการเดินทางจากระบบระบุพิกัด และค้นหาสถานที่ ซึ่งจะแสดงรายละเอียดต่างๆขึ้นมา โดยสามารถใช้คำสั่งเสียงในการค้นหาได้เช่นเดียวกัน หลังจากเจอสถานที่แล้วก็สามารถกดเพื่อแสดงเส้นทางได้ทันที

สรุป

ถ้าเป็นลูกค้าที่ใช้งานสมาร์ทโฟนภายใต้ตระกูล Galaxy ของทางซัมซุงอยู่แล้ว Gear S2 ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ในกรณีที่ต้องการสมาร์ทวอทช์ ที่จะมาแจ้งข้อมูลต่างๆจากบนสมาร์ทโฟนมาไว้บนข้อมือแทน แต่อย่างไรก็ตามในการใช้งานหลักๆส่วนใหญ่ก็ยังจำเป็นต้องทำบนสมาร์ทโฟนอยู่เช่นเดิม

นอกจากนี้ ด้วยการที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นทำให้ตัวแอปพลิเคชันที่รองรับการใช้งานยังน้อยอยู่ การแสดงผลข้อมูลทำได้ไม่หมดอย่างเช่นเฟซบุ๊กยังไม่สามารถอ่านข้อมูลจาก Gear S2 ได้ แต่ Line อีเมล และพวกข้อความสั้นสามารถอ่านและตอบกลับได้ทันทีเป็นต้น

ในส่วนของการจับการออกกำลังกาย ถ้าเป็นรุ่น Gear S2 ธรรมดาน่าจะเหมาะกว่ารุ่น Gear S2 Classic เนื่องจากในรุ่น Classic ตัวสายจะเป็นหนังทำให้เมื่อใส่ออกกำลังกายและโดนเหงื่อจะสกปรกง่าย หรือต้องใช้วิธีการเปลี่ยนสายตอนใช้งานแทน สำหรับ Gear S2 วางจำหน่ายในราคา 9,900 บาท ส่วน Gear S2 Classic ขายในราคา 11,900 บาท

ข้อดี

– รองรับการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่มเติม

– สามารถซิงค์เพลงมาเก็บไว้ใน Gear S2 เพื่อใช้งานได้โดยไม่ต้องต่อสมาร์ทโฟน

– รองรับการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ

ข้อสังเกต

– แอปพลิเคชันที่รองรับยังน้อยอยู่

– ยังต้องมีการนำระบบไปผูกกับแอปภายนอกเพิ่มเติมเพื่อให้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการบันทึกการออกกำลังกาย

– ระยะเวลาใช้งานต่อเนื่องประมาณ 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับการใช้งาน

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
8
สเปก/ฟีเจอร์เด่น
7.5
ความสามารถโดยรวม
7.5
ความคุ้มค่า
8
SHARE