Review : Sansiri A.I. Box ลำโพง Alexa ภาษาไทยรุ่นต้นแบบ

18476

เหตุผลที่ทำให้คนไทยตื่นเต้นไม่น้อยเมื่อ “แสนสิริ” เจ้าพ่อวงการอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวลำโพงอัจฉริยะ “แสนสิริ เอไอบ็อกซ์” (Sansiri A.I. Box) คือเพราะ Sansiri A.I. Box เป็นต้นแบบลำโพงระบบปัญญาประดิษฐ์จากแอมะซอน (Amazon) ที่ทำงานด้วยเสียงภาษาไทยรุ่นแรก

หลังจากผ่านการเทรนระบบนับหมื่นชั่วโมง Sansiri A.I. Box สามารถโต้ตอบกับคนไทยได้ดีระดับหนึ่ง ท่ามกลางคำยืนยันจากทีมพัฒนาว่ายังมีการบ้านรออยู่อีกมาก เพื่อให้รับกับการใช้จริงในมีนาคม 61

การออกแบบ

Sansiri A.I. Box รุ่นต้นแบบมาพร้อมกับทรง 4 สี่เหลี่ยมผืนผ้าสีขาวขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือเล็กน้อย โดยรุ่นต้นแบบที่ทีมงานได้ทดสอบไม่พบพอร์ตเชื่อมต่อ ไม่พบปุ่มเพิ่มลดเสียง และไม่พบไฟแสดงสถานะ มีเพียงรูเล็กถี่เรียงเป็นระเบียบตามสไตล์ลำโพงบลูทูธไร้สายทั่วไป

ดร. ทวิชา ตระกูลยิ่งยง ประธานผู้บริหารสายงานเทคโนโลยีและวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หัวหน้าทีมพัฒนาระบุว่า Sansiri A.I. Box รุ่นต้นแบบยังอยู่ระหว่างการวิจัยเรื่องการออกแบบฮาร์ดแวร์เพิ่มเติม ตอนนี้จึงยังไม่มีข้อสรุปแน่นอนว่าจะติดหน้าจอบอกสถานะเพิ่มเติมหรือไม่ รวมถึงรูปทรงภายนอกที่อาจเปลี่ยนจากกล่องสี่เหลี่ยมสีขาวดูเรียบง่ายพร้อมสัญลักษณ์แสนสิริ แต่ที่จะเพิ่มเติมแน่นอนคืออุปกรณ์ตัดเสียงรบกวน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นกับรุ่นต้นแบบ

ฟีเจอร์เด่นและทดสอบประสิทธิภาพ

คุณสมบัติพื้นฐานของ Sansiri A.I. Box รุ่นต้นแบบ ยังจำกัดอยู่ที่การเปิดปิดไฟ พยากรณ์อากาศ สรุปข่าว และข้อมูลจำนวนจดหมาย-พัสดุ

การเรียกคำสั่ง ผู้ใช้ต้องพูดว่าอะเล็กซ่า “Alexa” เป็นคำกระตุ้นหรือปลุกการทำงาน จากการทดสอบ พบว่าระบบไม่จดจำเอกลักษณ์ของเสียง ทำให้ใครก็ตามที่พูดว่า Alexa ระบบจะทำงานทันที

เมื่อพูดว่าอะเล็กซ่า ผู้ใช้ต้องรอฟังให้ระบบตอบเป็นเสียง “ปี๊บ” กลับมา จากนั้นจะต้องพูดคำว่ารูมเซอร์วิส “room service” เพื่อให้ระบบตอบกลับมาว่า “รูมเซอร์วิสสวัสดีค่ะ” ผู้ใช้จึงจะถามตอบได้ต่อไป แต่ถ้าหากว่าระบบไม่ตอบกลับมา ก็จะไม่สามารถทำงานได้ ผู้ใช้ต้องกลับไปเริ่มเรียกอะเล็กซ่าใหม่อีกครั้ง

เมื่อถามว่า “มีพัสดุมาส่งไหม” ผู้ใช้ต้องรอจนมีปี๊บ ก่อนที่เสียง ”ผู้หญิงสไตล์โรบ็อท” จะตอบกลับมาว่ามีจดหมาย…ฉบับและพัสดุ…ชิ้นค่ะ

ประโยคที่เกี่ยวข้องกับอากาศ เช่น วันนี้ฝนตกไหม?, แดดแรงไหมวันนี้?, พรุ่งนี้ร้อนไหม? Sansiri A.I. Box รุ่นต้นแบบยังไม่สามารถตอบได้ เว้นแต่ว่าถามด้วยประโยค “อากาศวันนี้เป็นอย่างไร” แต่ในอนาคต ทีมพัฒนามั่นใจว่าระบบจะเรียนรู้กลุ่มคำเพิ่ม สะสมไว้จนทำให้รู้ว่าคำว่า “ฝน-แดด-ร้อน” นั้นเกี่ยวข้องกับอากาศ

การพูดสำเนียง “เสียงเน่อ” ขณะนี้ระบบยังรองรับไม่ได้เต็มรูปแบบ แต่ทีมพัฒนายืนยันว่าอนาคตจะตอบกลับมาได้ อย่างไรก็ตาม หากเป็นคำศัพท์พื้นบ้านเฉพาะท้องถิ่น ผู้พัฒนาบอกว่าจะยังรองรับไม่ได้ เว้นแต่จะมีการใช้งานต่อเนื่องจนระบบคุ้นเคย

ทีมพัฒนาระบุว่าความสามารถของ Sansiri A.I. Box รุ่นต้นแบบนั้นเทียบเท่าได้กับ “เด็กอนุบาลภาคกลาง” ที่สามารถฟังสำเนียงคนต่างถิ่นออกได้บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด ทำให้ไม่เข้าใจศัพท์ท้องถิ่นครบถ้วน

เมื่อระบบอ่านข่าวภาษาไทยให้ฟัง พบว่ายังฟังยาก ตามสไตล์ระบบแปลงข้อความเป็นเสียงพูดหรือ Text to Speech แต่สำหรับผู้คุ้นเคย เสียงอ่านติดต่อเนื่องกันสไตล์หุ่นยนต์อาจไม่ใช่ปัญหาในการใช้งาน

จากการทดสอบรุ่นต้นแบบในพื้นที่มีเสียงรบกวน พบว่ายังต้องใช้เวลารอมากกว่า 5 วินาทีในการให้ระบบตอบกลับมานับจากพูดจบ จุดนี้ผู้พัฒนาบอกว่าเป็นเพราะระบบประมวลเสียงทำให้ล่าช้า แต่ระบบประมวลผลสามารถดึงข้อมูลได้ใน 2-3 วินาที

Sansiri A.I. Box รุ่นต้นแบบยังเอ่ยเป็นภาษาอังกฤษกรณีระบบไม่สามารถวิเคราะห์คำถามได้ จุดนี้ทีมพัฒนาระบุว่าในอนาคต Sansiri A.I. Box จะเอ่ยเป็นภาษาไทยทั้งหมด

นอกจาก Sansiri A.I. Box แสนสิริยังเริ่มใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ A.I. และบิ๊กดาต้า (Big Data) เข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกบ้านหลายทาง ที่เห็นได้ชัดคือระบบโมบายแอปพลิเคชันเวอร์ชันใหม่ ที่สามารถแจ้งเตือน สั่งเปิดไฟ ปิดแอร์ รวมถึงจองรถพลังงานไฟฟ้า เพื่อเดินทางไปสถานีรถไฟฟ้าได้ ทั้งหมดนี้ลูกค้าสามารถทำรายการอยู่ที่ห้อง ไม่ต้องเดินทางมาที่โครงการเพื่อจองบริการ

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจคือ “หุ่นยนต์แสนดี” หุ่นยนต์ให้บริการลูกบ้านที่สามารถขึ้นลงอาคารด้วยลิฟต์ได้ด้วยตัวเอง แสนสิริระบุว่าน้องแสนดีสามารถส่งพัสดุยังห้องของลูกบ้านได้อย่างส่วนตัว ถ้ามีใครมาขวางทาง หุ่นจะหลบทางได้ โดยลูกบ้านสามารถใส่รหัสผ่านที่หน้าจอของหุ่น เพื่อให้หุ่นเปิดช่องรับพัสดุได้ทันที

ในอนาคต หุ่นนี้จะเริ่มตรวจจับคนแปลกหน้าได้ เพื่อส่งต่อข้อมูลให้นิติฯผู้ดูแลอาคาร

อีกโครงการที่น่าสนใจของแสนสิริคือการใช้บิ๊กดาต้าสร้างเป็นแอพพลิเคชั่นให้ลูกค้าสามารถใส่ข้อมูลเพื่อที่จะเสนอโครงการที่เหมาะสมกับลูกค้า โดยจะดึงเอาบิ๊กดาต้ามาประเมินราคาในอนาคตของโครงการนั้นว่าจะสูงขึ้นเป็นเท่าไหร่ รวมถึงหากเดินทางน้อยลง ลูกค้าจะสามารถทำกิจกรรมอะไรเพิ่มเติมใดได้บ้าง เช่น สามารถนอนหลับได้เพิ่มขึ้นกี่ชั่วโมง

ดร.ทวิชา ระบุว่าถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่นำ A.I. มาประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีระบบข้อมูลประเมินราคาอสังหาในอนาคตอย่างเป็นทางการ ระบบนี้จึงมีโอกาสเปลี่ยนมิติวงการอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทย โดยข้อมูลถูกนำมาประเมินได้แก่ ราคาในอดีต ราคาขายปัจจุบัน ข้อมูลโครงการก่อสร้างเพิ่มเติมในอนาคต เช่น โรงเรียน โรงแรม สถานีบีทีเอส ห้าง และร้านสะดวกซื้อ ทั้งหมดนี้จะทำให้ผู้ซื้อจะได้รับทราบแนวทางลงทุน ขณะที่อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไทยจะน่าเชื่อถือมากขึ้น

ระบบ A.I. ที่ไม่ใช่ Box นี้จะให้บริการผ่านเว็บไซต์ของแสนสิริอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปีหน้า และจะถูกนำมาให้บริการในงานอีเวนท์เปิดตัวโครงการอสังหาฯของแสนสิริในอนาคต

สรุป

บทสรุปจากการได้ทดลอง Sansiri A.I. Box รุ่นต้นแบบคือต้องรอดูต่อไปในอนาคต เพราะทีมพัฒนาวางแผนให้ระบบนี้เป็นเลขาส่วนตัว หรือผู้ช่วยส่วนตัวที่สามารถให้ข้อมูลผู้ใช้โดยไม่ต้องรอรับคำสั่ง โดยในอนาคต ระบบ Sansiri A.I. Box จะทราบว่าผู้ใช้เป็นใคร และกำลังต้องการอะไร ระบบจะพร้อมเสนอบริการให้ตามที่ระบบเห็นว่าควรจะเสนอ ทั้งหมดนี้จะวิเคราะห์จากข้อมูลเวลา อากาศ หรือข้อมูลแวดล้อมอื่นในขณะนั้น

ผู้พัฒนาคาดว่าอีก 2 ปี เราจะได้เห็นพัฒนาการนี้ที่จะทำให้ระบบ Sansiri A.I. Box ให้บริการได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น

ข้อดี

– แนวโน้มการพัฒนาดูดีมาก ระบบกำลังถูกพัฒนาให้ผู้อาศัยคอนโดมีเนียมสามารถตรวจค่าน้ำ เช็คพัสดุ จองห้องส่วนกลาง จองห้องโยคะ เปิดปิดไฟ-แอร์-ผ้าม่านไฟฟ้า เปลี่ยนช่องทีวี พยากรณ์อากาศ รายงานจราจร และสรุปข่าวประจำวัน รวมถึงสามารถเปิดเพลงได้

– การออกแบบเรียบง่าย ดูดี จัดวางได้ทุกที่ของบ้าน

ข้อสังเกต

– ผู้ใช้ที่ไม่คุ้นเคยอาจรู้สึกงงเมื่อระบบเงียบ ซึ่งแปลว่าระบบยังฟังอยู่ ทั้งที่ผู้พูดกล่าวจบประโยคแล้ว

– รุ่นต้นแบบยังทำงานไม่ราบรื่นเมื่อมีเสียงรบกวน

– ผู้ใช้ต้องใจเย็น อดทนรอให้ระบบฉลาดขึ้นในอนาคต

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

SHARE