Sony Xperia X ถือเป็นตำนานไฮเอนด์สมาร์ทโฟนครั้งใหม่จากโซนี่ที่ประเดิมเปิดตัวมากถึง 4 รุ่นครอบคลุมตลาดตั้งแต่ราคาประหยัดจนถึงไฮเอนด์ ได้แก่ Xperia XA, Xperia XA Ultra, Xperia X และท็อปสุด Xperia X Performance
นอกจากนั้น ในครั้งนี้ Sony Xperia X ทุกรุ่นยังถูกปรับเปลี่ยนแนวคิดการออกแบบใหม่ทั้งหมด จากเดิมใน Xperia Z-Series จะโดดเด่นเรื่องกันน้ำ แต่ในตระกูล X โซนี่จะปรับเปลี่ยนไปเน้นหนักในเรื่องกล้องถ่ายภาพ การออกแบบและแบตเตอรีซึ่งถือเป็นหัวใจของสมาร์ทโฟนยุคนี้มากกว่าส่วนอื่นใด
โดยในวันนี้ทีมงานไซเบอร์บิซได้รับ Sony Xperia X Performance รุ่นท็อปสุดมารีวิวให้ชมกันครับ
การออกแบบและสเปก
เริ่มจากด้านรูปทรง การออกแบบหลักๆยังคงเอกลักษณ์โซนี่ไว้ชัดเจน ตั้งแต่การวางเลย์เอาท์ให้สมมาตรกันทุกส่วน ตัวเครื่องมีขนาดกว้างxยาว 70.5×143.7 มิลลิเมตร หนา 8.6 มิลลิเมตร น้ำหนักอยู่ที่ 165 กรัม
หน้าจอเป็น Triluminos display มีขนาด 5 นิ้วความละเอียด 1,920×1,080 พิกเซล ได้รับการออกแบบใหม่เป็นกระจก 2.5D ขอบจอมีความโค้งมนเล็กน้อยตามสมัยนิยม เพื่อการจับถือที่ถนัดมากขึ้น พาเนลจอเป็น IPS พร้อมขับเคลื่อนด้วย X-Reality for Mobile เหมือน Xperia รุ่นก่อนหน้า
ในส่วนกล้องหน้า โซนี่ปรับปรุงใหม่หมดตั้งแต่ความละเอียดภาพสูงสุดที่ 13 ล้านพิกเซลรวมถึงเซ็นเซอร์รับภาพกล้องหน้าที่ปรับให้ไวต่อแสง สามารถถ่ายในที่แสงน้อยได้ดีขึ้น
มาถึงส่วนของลำโพงภายในตัวเครื่อง โซนี่ยังคงเลือกติดตั้งไว้ที่ด้านหน้าบริเวณเดียวกับลำโพงสนทนาและด้านล่างของจอ โดยเมื่อผู้ใช้รับชมวิดีโอในแนวนอน ลำโพงทั้งสองจะทำหน้าที่เป็นลำโพงสเตอริโอซ้ายขวา
พลิกเครื่องดูด้านหลังกันบ้าง สำหรับ Xperia X Performance โซนี่เลือกใช้โลหะ (รุ่นเล็กสุด XA เป็นพลาสติก) ชิ้นเดียวแทนที่กระจกแบบเดิม พร้อมผิวสัมผัสแบบขัดหยาบ ซึ่งช่วยเรื่องการจับถือ ไม่ลื่นหลุดจากมือง่าย อีกทั้งยังได้ความแข็งแรงเพิ่มขึ้นด้วย
ด้านกล้องถ่ายภาพหลักด้านหลัง โซนี่ปรับเปลี่ยนใหม่หมดเฉกเช่นเดียวกับกล้องหน้า ตั้งแต่ความละเอียดภาพ 23 ล้านพิกเซล เลนส์ G รูรับแสง F2.0 เซ็นเซอร์รับภาพใช้ Exmor RS for Mobile ขนาด 1/2.3” รุ่นอัปเกรดประสิทธิภาพ รองรับการถ่ายในที่แสงน้อยด้วยค่าความไวแสงสูงสุด ISO 3,200-12,800 พร้อมระบบซูมดิจิตอลแบบ Clear Image Zoom 5x เฉกเช่นเดียวกับ Xperia ทุกรุ่น
ถัดลงมาจากกล้องถ่ายภาพเป็นไฟแฟลช LED ตรงกลางเป็นโลโก้ XPERIA
มาดูปุ่มกดและพอร์ตเชื่อมต่อรอบตัวเครื่อง เริ่มจากด้านซ้ายของเครื่องจะเป็นช่องใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์แบบ Nano Sim รองรับ 2 ซิม (Dual Sim) โดยช่องใส่ซิมที่ 2 จะแชร์กับช่อง MicroSD Card (รองรับความจุสูงสุด 200GB)
อีกด้าน ตรงกลางจะเป็นปุ่มเปิดปิดเครื่องที่ฝังเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือมาให้ด้วย ถัดลงมาด้านล่างจะเป็นปุ่มเพิ่มลดเสียง และสุดท้ายปุ่มชัตเตอร์กล้อง (หน้าจอปิดอยู่ กดปุ่มนี้ค้างไว้จะเรียกใช้งานกล้องได้อย่างรวดเร็ว)
ส่วนด้านบน ตรงกลางเป็นช่องไมโครโฟนรับเสียงตัวที่สอง มุมเครื่องด้านขวาของภาพจะเป็นช่องใส่หูฟัง 3.5 มิลลิเมตร
ด้านล่าง ตรงกลางเป็นช่อง MicroUSB 2.0 รองรับระบบชาร์จไฟเร็ว Quick Charge 2.0 และไมโครโฟนตัวหลักสำหรับรับเสียงสนทนาโทรศัพท์
มาถึงส่วนของสเปกภายใน Sony Xperia X Performance ซึ่งชื่อรุ่นบอกอยู่แล้วว่าเน้นประสิทธิภาพ โซนี่จึงเลือกใช้ซีพียูที่มาแรงสุดของตลาดตอนนี้กับ Qualcomm Snapdragon 820 Quad-cores 64 บิต แบ่งเป็น 2 คอร์แรกความเร็ว 2.15GHz ส่วน 2 คอร์หลังมาพร้อมความเร็ว 1.6GHz กราฟิก Adreno 530 แรมให้มา 3GB หน่วยเก็บข้อมูลภายในให้มาเริ่มต้น 32GB เหลือใช้งานจริงประมาณ 15.90GB ระบบปฏิบัติการที่ติดตั้งมากับเครื่อง แอนดรอยด์ 6.0.1 Marshmallow
ด้านสเปกการเชื่อมต่อเครือข่ายโทรศัพท์ ซิมการ์ดที่ 1 จะรองรับการเชื่อมต่อ 4G LTE Cat 9/3G/2G ทุกคลื่นความถี่ที่มีในไทย พร้อมรองรับ Carrier aggregation แบบ 3CA และ Full NetCom 3.0 (เมื่อใช้โทรศัพท์ นอกจากซิมที่ 1 จะรองรับ 3G/4G ตามปกติอยู่แล้ว ซิมที่ 2 ยังสามารถใช้งานบนเครือข่าย 3G ได้จากเดิมจะใช้งานได้แค่ 2G เท่านั้น)
ในส่วนการเชื่อมต่อ WiFi รองรับมาตรฐาน a/b/g/n/ac Dual Band, รองรับ WiFi Direct DLNA บลูทูธ 4.2 GPS รองรับ GLONASS/BDS, NFC ถูกเปลี่ยนตำแหน่งไปอยู่ด้านหน้าซ้ายบนใกล้กับกล้องหน้า ส่วนแบตเตอรีให้ความจุมา 2,700 mAh
ซอฟต์แวร์และฟีเจอร์เด่น
เริ่มจากยูสเซอร์อินเตอร์เฟส โซนี่ได้ปรับปรุงใหม่ตั้งแต่การดีไซน์ให้มีความลงตัวกว่าเดิม และที่เห็นได้ชัดคือความลื่นไหลของเอฟเฟ็กต์ต่างๆ รวมถึงแอปพลิเคชันจากโรงงานที่ปรับให้มาอย่างพอดี ส่วนธีมโซนี่ยังอนุญาตให้ผู้ใช้ปรับแต่งได้ตามต้องการเช่นเดิม
ในส่วน Xperia Apps เช่น Lounge, PS4 Remote (โคลนเครื่องเกม Play Station 4 จากที่บ้านมาเล่นบน Xperia X ได้), Smart cleaner, AVG Anti Virus ยังคงมีให้เลือกใช้งานตามเดิม แต่จะมีการอัปเดตหน้าตาและการใช้งานให้น่าใช้มากยิ่งขึ้น
Hi-Res Audio Support – ในครั้งนี้โซนี่จัดเต็มให้ Xperia X มาพร้อมชิปประมวลผลเสียงภายในแบบเดียวกับเครื่องเล่นเพลงคุณภาพสูงของโซนี่ ซึ่งรองรับการถอดรหัสไฟล์เพลงคุณภาพสูงทุกรูปแบบตั้งแต่ LPCM, FLAC, ALAC, DSD อีกทั้งยังรองรับ LDAC แบบ 24 บิต รวมถึงรองรับระบบหูฟังไร้สายที่ออกแบบมาเพื่อ Hi-Fi Audio และหูฟังที่มีเทคโนโลยีตัดเสียงรบกวน Digital NC ด้วย
Fingerprint Scan – ใน Xperia X เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือจะเป็นแบบสัมผัสและระบบอ่านนิ้วมือจะเป็นไปตามมาตรฐานของกูเกิล โดยเซ็นเซอร์จะติดตั้งอยู่บริเวณปุ่มเปิดปิดเครื่อง
ในส่วนคีย์บอร์ด โซนี่เลือกใช้ SwiftKey รองรับภาษาไทยและผู้ใช้สามารถปรับแต่งธีมคีย์บอร์ด กำหนดขนาด เลย์เอาท์ได้ตามต้องการ
สุดท้ายกับแอปฯตรวจวัดก้าวเดินและการใช้ชีวิตของเราในแต่ละวันกับ Lifelog ที่โซนี่ปรับปรุงหน้าตาให้สอดคล้องกับ UI ของ Xperia X รวมถึงด้านประสิทธิภาพได้ปรับปรุงให้เสถียรมากขึ้น บริโภคแบตเตอรีสมาร์ทโฟนน้อยลง อีกทั้งถ้าผู้ใช้มีอุปกรณ์วัดอัตราการเต้นของหัวใจก็สามารถซิงค์กับ Lifelog ได้ด้วย
กล้องถ่ายภาพ
กล้องถ่ายภาพเป็นส่วนที่โซนี่เน้นมากสุดสำหรับ Xperia X ทุกรุ่น โดยนอกจากความละเอียด 23 ล้านพิกเซล กล้องพร้อมใช้ใน 0.6 วินาที สำหรับภาพนิ่ง สิ่งที่เห็นชัดเจนสุดคงเป็นโหมดอัตโนมัติที่ฉลาด ระบบคิดเปลี่ยนซีนโหมดแบบอัตโนมัติได้รวดเร็ว แม่นยำขึ้น ส่วน Manual Mode ไม่มีความโดดเด่นใดๆ เพราะระบบเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ปรับได้แค่ชดเชยแสง White Balance (ไม่มี RAW File ให้เลือกใช้เช่นเดิม) และซีนโหมดเท่านั้น (ซีนโหมดจะปรับได้ต่อเมื่อตั้งความละเอียดภาพที่ 8 ล้านพิกเซล)
ส่วนโหมดวิดีโอ Xperia X Performance รองรับการบันทึกวิดีโอสูงสุดที่ 1080p ที่ความเร็ว 60 เฟรมต่อวินาที พร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบ Intelligent Active ไม่รองรับ 4K VDO แต่โซนี่ก็ชดเชยให้ด้วยระบบออโต้โฟกัสที่ฉลาดกว่าเดิมหลายเท่าตัวในชื่อ “Predictive Hybrid Autofocus”
ที่นอกจากจะเป็นออโต้โฟกัสแบบไฮบริดระหว่าง Contrast AF กับ Phase AF แล้ว ชิปประมวลผลยังสามารถคาดคะเนการเคลื่อนไหวของวัตถุในเฟรมพร้อมติดตามและโฟกัสภาพได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำไม่ต่างจากระบบออโต้โฟกัสในกล้องมิร์เรอร์เลสของโซนี่ (ลองรับชมวิดีโอตัวอย่างด้านบน)
ทดสอบประสิทธิภาพ
AnTuTu Benchmark = 119,421
Geekbench 3 = Single Core 2,125/Multi-Core 5,235
PC Mark = 6,152
PassMark PerformanceTest Mobile
System = 7,416
CPU Tests = 168,006
Disk Tests = 31,216
Memory Tests = 8,406
2D Graphics Tests = 5,617
3D Graphics Tests = 1,805
3D Mark
Sling Shot ES3.1 = 2,122
Sling Shot ES3.0 = 2,718
Ice Storm Unlimited = 25,657
หลายคนน่าจะดีใจที่โซนี่เลือก Qualcomm Snapdragon 820 มาใช้กับ Xperia X Performance เพราะในด้านการทดสอบประสิทธิภาพด้วยซอฟต์แวร์ต่างๆ ผลลัพท์ถือว่า Xperia X ทำคะแนนได้สูงสุดของตารางตอนนี้ แน่นอนว่าการใช้งานจริงไม่ว่าจะแอปฯหรือเล่นเกสามมิติ ถือว่าลื่นไหลดี โดยเฉพาะเรื่องความร้อนที่เคยเป็นปัญหาของ Snapdragon รุ่นก่อนหน้าก็ถูกแก้ไขแล้ว และจากการใช้งานตลอดทั้งวันก็ยังไม่พบอาการผิดปกติจากซีพียูแต่อย่างใด
มาถึงการทดสอบแบตเตอรีด้วย Geekbench 3 แม้จะไม่น่าประทับใจเหมือนไฮเอนด์คู่แข่งในท้องตลาดตอนนี้หลายรุ่นที่ทำเวลาใช้งานต่อเนื่องแตะระดับ 10-12 ชั่วโมง แต่เมื่อเทียบกับ Xperia Z5 แล้ว Xperia X Performance (แบตเตอรี 2,700mAh) ทำเวลาใช้งานและคะแนนทดสอบแบตเตอรีได้ดีกว่า ด้วยเวลาใช้งานแบบฮาร์ดคอร์ ต่อเนื่อง (เปิดหน้าจอตลอด) ที่ 7 ชั่วโมง 13 นาที 40 วินาที โดยเมื่อคิดเป็นเวลาใช้งานทั่วไปแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 13-14 ชั่วโมง
โดยหลังจากแบตเตอรีต่ำกว่า 15% ผู้ใช้ยังสามารถเปิด STAMINA Mode (ระบบจะจำกัดการเรียกใช้ Background data) เพื่อยืดอายุแบตเตอรีได้คล้าย Power Saving Mode
ทดสอบกล้องถ่ายภาพ
มาทดสอบกล้องถ่ายภาพทั้งกล้องหลักด้านหลังและกล้องหน้า ใน Xperia X โซนี่ปรับปรุงเรื่องคุณภาพไฟล์ โหมดอัตโนมัติ เลนส์ รวมถึงสเปกกล้องมาได้ดีกว่าเดิมมาก จากเดิมใน Xperia ตั้งแต่ Z ตัวแรกมาถึง Z5 ทีมงานไม่เคยพอใจในคุณภาพไฟล์จากสมาร์ทโฟนของโซนี่เลย โดยเฉพาะความเพี้ยนของ White Balance และการถ่ายในที่แสงน้อยซึ่งทำได้ไม่ดีอย่างมากเมื่อเทียบคู่แข่งในตอนนั้น
แต่ใน Xperia X โซนี่ปรับปรุงและแก้ไขซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์กล้องเยอะมาก จุดที่น่าสนใจก็คือการจัดการนอยซ์ที่ ISO ระดับ 1,600 (ลองดูภาพเกียร์รถที่ทีมงานเลือกถ่ายกลางคืน) จะเห็นว่าภาพยังคงความคมชัดและให้สีสันรวมถึงการวัดแสงที่ดีขึ้นมาก หรือแม้แต่การถ่ายย้อนแสง สีสันที่ได้รวมถึงความคมชัด ไดนามิกถูกปรับปรุงขึ้นอย่างชัดเจน
ส่วนกล้องหน้า 13 ล้านพิกเซล ออกแบบมาเพื่อถ่ายเซลฟีในที่แสงน้อย ให้ภาพที่ดีและคมชัดมากขึ้น
ยกตัวอย่างภาพแมว ทีมงานเลือกถ่ายที่ความละเอียดสูงสุด 23 ล้านพิกเซลและนำมาครอปแบบ 100% เพื่อดูคุณภาพ จะเห็นว่ากล้องและหน่วยประมวลผลภาพให้รายละเอียดของภาพที่ดี สามารถนำไฟล์ไปใช้งานได้จริง ยิ่งเมื่อทดสอบกับโหมด Clear Image Zoom จะเห็นว่าคุณภาพไฟล์ที่ถูกดิจิตอลซูมนั้นดีขึ้นมาก
แต่ทั้งนี้ถ้าเทียบกับคู่แข่งสมาร์ทโฟนกล้องเทพทั้งหลายในปีนี้ Xperia X อาจทำคะแนนสูสีเมื่อถ่ายภาพในสภาพแสงกลางวันปกติ แต่เมื่อถึงช่วงพลบค่ำ แสงน้อย ถึงแม้ Xperia X จะจัดการนอยซ์ได้ดีกว่าคู่แข่งหลายเจ้า แต่การรับแสงของเซ็นเซอร์และเลนส์อาจทำได้น้อยกว่า ในสถานที่แสงน้อยมากจริงๆ Xperia X อาจให้ภาพที่มืดกว่าคู่แข่งอยู่บ้าง
อีกทั้งการที่โซนี่ไม่ให้ Manual Mode มาแบบเต็มระบบ ก็ทำให้การสร้างสรรค์ภาพแบบมืออาชีพทำได้ยากใน Xperia X
สรุป
สำหรับราคา Sony Xperia X Performance อยู่ที่ 25,990 บาท มี 3 สี ได้แก่ ดำกราไฟต์ ขาว และ ชมพูโรสโกลด์
เรียกได้ว่าทั้งราคาและประสิทธิภาพก็จัดเป็นไฮเอนด์ตามชื่อ X Performance โดยประสิทธิภาพถือเป็นเรื่องโดดเด่นด้วย Snapdragon 820 ที่แรงติดระดับบนสุดของตารางตอนนี้ ในส่วนกล้องที่โซนี่เน้นปรับปรุงเป็นพิเศษ ก็ถือว่าทำได้ดีขึ้นมากในระดับที่น่าพอใจ แต่คงไม่ดีที่สุดในตลาด
ส่วนเรื่องการกันน้ำอันเป็นเอกลักษณ์เด่นมานานของโซนี่ ตามเอกสารประชาสัมพันธ์ระบุไว้ว่ารุ่นนี้สามารถกันละอองน้ำ ในสภาพฝนตกหนักได้ (water resistant) แต่ไม่ได้ระบุว่าสามารถใช้งานใต้น้ำ (waterproof) ได้ แม้จะได้มาตรฐาน IP65/68 ก็ตาม เพราะฉะนั้นใครที่สนใจ Xperia X Performance และคิดจะซื้อไปดำน้ำถ่ายวิดีโอแทน Action Camera ต้องศึกษาตรงจุดนี้ให้ดีเป็นอันดับแรก