การออกแบบ
เริ่มจากตัวเครื่องยังคงเอกลักษณ์ของโซนี่คือตัวเครื่องมองแล้วสมดุลกันตั้งแต่หัวไปท้าย ขนาดตัวเครื่อง กว้าง 72 มิลลิเมตร ยาว 146 มิลลิเมตร หนา 8.1 มิลลิเมตร น้ำหนัก 161 กรัม พร้อมป้องกันน้ำและฝุ่นตามมาตรฐาน IP65/IP68 (ใช้งานกลางสายฝนและล้างน้ำก๊อกได้ แต่ไม่แนะนำให้นำเครื่องไปใช้งานใต้น้ำหรือลงน้ำทะเล เพราะถ้าได้รับความเสียหายประกันอาจไม่ครอบคลุม)
ด้านหน้า ใช้จอแสดงผล TRILUMINOS สำหรับมือถือ ขนาดหน้าจอถูกขยายจากรุ่น X Performance เป็น 5.2 นิ้วที่ความละเอียดเท่าเดิมคือ 1,920×1,080 พิกเซล ประกบ X-Reality for Mobile ในส่วนกระจกจอเป็น Corning Gorilla Glass เช่นเดิม
ด้านกล้องถ่ายภาพด้านหน้าใช้เซ็นเซอร์ Exmor RS for Mobile ขนาด 1/3.06” ความละเอียดภาพ 13 ล้านพิกเซล รูรับแสง f2.0 ระยะเลนส์ 22 มิลลิเมตรพร้อมจัดเต็มความไวแสงที่รองรับสูงถึง ISO 6,400
ในส่วนลำโพง ถูกติดตั้งอยู่บริเวณด้านบน (ใช้ร่วมกับลำโพงโทรศัพท์) 1 ตัว และด้านล่างหน้าจออีก 1 ตัว ให้เสียงแบบสเตอริโอ
มาดูด้าหลังตัวเครื่อง มีความพิเศษตรงที่ Xperia XZ ถูกออกแบบใหม่หมดให้มีความเรียบร้อย หรูหรามากขึ้นด้วยการเลือกใช้วัสดุโลหะ ALKALEIDO แบบมันวาว ขอบเครื่องเป็นเป็นโลหะ มีเหลี่ยมมุมปกป้องหน้าจอเป็นรอยเวลาคว่ำหน้าเครื่องลงบนโต๊ะ
มาถึงกล้องถ่ายภาพหลัก ยังคงใช้ Exmor RS for Mobile ขนาดเซ็นเซอร์ 1/2.3” ประกบชิปประมวลผลภาพ BIONZ (รองรับความไวแสง ISO สูงสุด 12,800) ความละเอียดภาพอยู่ที่ 23 ล้านพิกเซลพร้อมระบบออโต้โฟกัส Predictive Hybrid Autofocus เลนส์ G ระยะ 24 มิลลิเมตร และไฟแฟลชแบบ LED เลือกใช้งานได้หลากหลาย
ในส่วนฟีเจอร์ที่เพิ่มเข้ามาเฉพาะ Xperia XZ เพื่อทำให้กล้องฉลาดกว่ารุ่นเดิม เริ่มตั้งแต่ส่วนแรก Laser Autofocus ที่โซนี่เพิ่มเข้ามาเพื่อช่วยให้การวัดระยะชัดทำได้แม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะในที่แสงน้อย คอนทราสต์ต่ำหรือการถ่ายย้อนแสง
ส่วนต่อไปได้แก่การฝัง RGBC-IR หรือเซ็นเซอร์วัดระดับสี เพื่อช่วยในการวัด คำนวณและสั่งให้ซอฟต์แวร์ปรับสีสันให้เหมือนที่ตาเห็น อีกทั้งตัวเซ็นเซอร์ยังมีอินฟาเรดช่วยตรวจจับสมดุลแสงขาว (White Balance) เพื่อทำให้โทนภาพมีความเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะในที่แสงน้อย RGBC-IR จะแสดงศักยภาพได้ดีที่สุด
กลับมาดูพอร์ตเชื่อมต่อและปุ่มกดรอบตัวเครื่อง เริ่มจากด้านบน จะเป็นที่อยู่ของไมโครโฟนตัวที่ 2 และช่องหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร
ด้านล่าง เป็นช่องไมโครโฟนหลักและตรงกลางเป็นพอร์ต USB-C
ด้านซ้าย เป็นช่องถาดใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์แบบ Nano Sim 1 ช่อง และช่องไฮบริดเลือกใส่ได้อย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างซิมการ์ดโทรศัพท์ (Nano Sim) ใช้งาน Dual Sim ได้ หรือใส่การ์ดความจำ MicroSD Card สูงสุด 256GB ก็ได้
ด้านขวา เริ่มจากซ้ายของภาพเป็นปุ่มชัตเตอร์กล้อง (ระหว่างหน้าจอดับอยู่สามารถกดปุ่มนี้ค้างไว้เพื่อเข้าสู่โหมดกล้องได้ทันที) ถัดมาเป็นปุ่มเพิ่มลดเสียง และตรงกลางเป็นปุ่มเปิดปิดเครื่องพร้อมเซ็นเซอร์อ่านลายนิ้วมือ
สเปก
Sony Xperia XZ ขับเคลื่อนด้วยซีพียู Qualcomm Snapdragon 820 Quad core 64 บิต ความเร็ว 2.15GHz พร้อมกราฟิก Adreno 530 ในส่วนแรมให้มา 3GB รอม 64GB (เหลือพื้นที่ให้ใช้จริงประมาณ 50GB) แบตเตอรีให้มา 2,900mAh รองรับระบบชาร์จไฟ Qnovo Adaptive Charging (ระบบสามารถตรวจสอบสภาพแบตเตอรีและปล่อยกระแสไฟอย่างเหมาะสม)
ในส่วนระบบปฏบัติการแอนดรอยด์เป็นรุ่น 6.0.1 (Marshmallow) รองรับการอัปเดตเป็นแอนดรอยด์ 7.0 (Nougat)
ด้านการรองรับเครือข่าย เริ่มจาก 2G/3G/4G LTE cat.9 รองรับทุกคลื่นความถี่ในประเทศไทย พร้อมรองรับ Carrier aggregation แบบ 3CA, Full NetCom 3.0 (เมื่อใช้โทรศัพท์ นอกจากซิมที่ 1 จะรองรับ 3G/4G ตามปกติอยู่แล้ว ซิมที่ 2 ยังสามารถใช้งานบนเครือข่าย 3G ได้จากเดิมจะใช้งานได้แค่ 2G เท่านั้น) นอกจากนั้นยังรองรับฟีเจอร์ VoLTE และ WiFi-calling ด้วย
สำหรับสเปกส่วนอื่นๆ Xperia XZ จะมาพร้อม WiFi มาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac (รองรับ DLNA – Miracast – Google Cast) มี NFC (ติดตั้งอยู่ข้างกล้องหน้า) A-GNSS (GPS + GLONASS), บลูทูธเวอร์ชัน 4.2 และสุดท้าย Xperia XZ จะมาพร้อมชิปประมวลผลเสียง Hi-res Audio 24-bit/192kHz (LPCM, FLAC, ALAC, DSD) รวมถึงรองรับหูฟัง Hi-res แบบบลูทูธผ่่านเทคโนโลยี LDAC ด้วย
ยูสเซอร์อินเตอร์เฟสและฟีเจอร์เด่น
เริ่มจากยูสเซอร์อินเตอร์เฟสเป็นไปตามแบบฉบับของโซนี่ คือเน้นความเรียบง่ายและใช้งานได้รวดเร็วตามสมัยนิยม โดยส่วนของฟีเจอร์ซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจเช่น one-touch tethering หรือการใช้ NFC แตะกับสมาร์ทโฟนที่รองรับระบบ One touch ก็จะสามารถแชร์อินเตอร์เน็ตได้ทันทีโดยไม่ต้องตั้งค่าให้วุ่นวาย เป็นต้น
นอกจากนั้นด้วยการที่โซนี่เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการฟังเพลงแบบ Hi-res Audio ใน Xperia XZ จึงมีออปชันให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งเสียงได้หลากหลาย ยิ่งใช้ร่วมกับหูฟังของโซนี่ด้วยแล้ว ระบบจะสามารถเรียนรู้และปรับแต่งเสียงหูฟังได้อย่างอัตโนมัติ
ส่วนสาวกเกมคอนโซล Sony PlayStation 4 สมาร์ทโฟนรุ่นนี้รองรับการเชื่อมต่อกับ Play Station 4 เพื่อทำเป็นจอที่สองผ่านฟีเจอร์ PS4 Remote Play หรือ Second Screen
นอกจากนั้นจอยเกม DualShock 4 ยังสามารถนำมาใช้เล่นเกมบน Sony Xperia XZ ผ่านการเชื่อมต่อบลูทูธได้ด้วย
กล้องถ่ายภาพ
มาดูซอฟต์แวร์กล้องถ่ายภาพ โดยภาพรวมจะไม่แตกต่างจากเดิม ตัวกล้องเน้นโหมดอัตโนัมัติแบบอัจฉริยะเป็นค่าเริ่มต้น แต่ทั้งนี้โซนี่มีการปรับเพิ่มโหมด Manual ให้ผู้ใช้สามารถปรับค่ากล้องได้บางส่วน เช่น ความเร็วชัตเตอร์ ชดเชยแสง สมดุลแสงขาวและระบบโฟกัส รวมทั้งในส่วนของไฟแฟลช ก็สามารถปรับการใช้งานได้หลากหลายเช่นกัน
ทดสอบประสิทธิภาพ
AnTuTu Benchmark = 143,040 คะแนน
PCMark Work 2.0 = 5,051 คะแนน
3DMark
Sling Shot using ES 3.1 = 2,468 คะแนน
Sling Shot using ES 3.0 = 3,156 คะแนน
PassMark PerformanceTest Mobile
System = 7,787 คะแนน
CPU Tests = 172,445 คะแนน
Disk Tests = 33,515 คะแนน
Memory Tests = 8,654 คะแนน
2D Graphics Test = 5,797 คะแนน
3D Graphics Tests = 1,913 คะแนน
Quadrant Standard Edition = 42,535 คะแนน
Vellamo
Multicore = 3,447 คะแนน
Metal = 3,455 คะแนน
Chrome Browser = 4,569 คะแนน
ในภาพรวมประสิทธิภาพที่ได้จะเหมือนกับ Sony Xperia X Performance ทุกส่วน เนื่องจากใช้สเปกเครื่องเดียวกัน เพราะฉะนั้นเรื่องการใช้งานและประสบการณ์ที่ได้รับจะไม่ต่างกัน ยกเว้นเรื่องงานออกแบบ การจับถือที่ Xperia XZ จะทำได้ดีกว่า หรูหรากว่า
ส่วนการทดสอบแบตเตอรี เห็นผลต่างชัดเจนเนื่องจาก Xperia XZ เพิ่มแบตเตอรีเป็น 2,900mAh โดยเวลาใช้งานจากแอปฯทดสอบ Geekbench (เปิดหน้าจอตลอดการทดสอบเทียบเท่าการรับชมวิดีโอต่อเนื่อง) อยู่ที่ 7 ชั่วโมง 59 นาที 10 วินาที และถ้านำมาคำนวณเป็นเวลาใช้งานในชีวิตประจำวันปกติจะอยู่ที่ประมาณ 13-14 ชั่วโมง ถือว่าใช้งานได้ตลอดทั้งวันแน่นอน
ทดสอบถ่ายภาพและวิดีโอกันสั่น 5 แกน
เริ่มจากภาพนิ่งจากกล้องหลังปรับปรุงใหม่เล็กน้อย แน่นอนว่า Xperia XZ มีระบบโฟกัสที่รวดเร็ว นุ่มนวล แม่นยำและสีที่สดใสกว่า X Performance โดยเฉพาะในที่แสงน้อยจะเห็นผลต่างชัดเจน แต่ในเรื่องคุณภาพไฟล์ภาพที่ได้ ทีมงานมองว่าไม่แตกต่างกันมากนัก ภาพจาก Xperia XZ และ X Performance ค่อนข้างถูกปรุงแต่งจากซอฟต์แวร์พอสมควร ทำให้ภาพไม่ค่อยเป็นธรรมชาตินัก อีกทั้งขอบเลนส์ระยะ 24 มิลลิเมตรยังมีอาการขอบเบลอให้เราได้สัมผัสอยู่เล็กน้อย
ในส่วนวิดีโอมาพร้อมกันสั่น SteadyShot 5 แกน จากตัวอย่างวิดีโอ ทีมงานทดลองถือโทรศัพท์มือเดียวและเดินถ่ายตามถนนหนทางไปเรื่อยๆ พบว่าระบบป้องกันภาพสั่นไหว 5 แกน (คาดว่าทำงานสอดประสานระหว่างฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์) ช่วยให้ภาพที่ได้นิ่งมากรวมถึงออโต้โฟกัสที่ทำได้นุ่มนวลและโฟกัสได้รวดเร็วแม่นยำดี
แต่ก็ใช่ว่าวิดีโอที่ได้จะเคลียร์ใส 100% เพราะเวลามือเริ่มสั่นมากขึ้น ภาพที่ได้จะมีเริ่มอาการกระตุกและถ้าเคลื่อนไหวเร็วๆ ภาพจะไม่ค่อยลื่นไหลเหมือนอาการเฟรมเรตตก รวมถึงคุณภาพวิดีโอที่จัดอยู่ในระดับกลางเท่านั้น
สรุป
สำหรับราคาเปิดตัว Sony Xperia XZ อยู่ที่ 23,990 บาท ต้องบอกว่าเป็นช่วงราคาที่เหมาะสมแล้วสำหรับไฮเอนด์สมาร์ทโฟนรุ่นนี้ ยิ่งเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้มา อย่างเช่นโหมดวิดีโอกับกันสั่น 5 แกนไม่เหมือนใครในตลาด ก็ถือว่ามีความน่าสนใจอยู่บ้าง แม้จุดขายอย่างกล้องถ่ายภาพที่โซนี่เน้นหนักใน Xperia XZ จะให้ผลลัพท์ที่ยังไม่ตื่นตาตื่นใจนัก แต่ภาพรวมทั้งหมดก็ถือว่า Xperia XZ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกไฮเอนด์สมาร์ทโฟนที่ไม่ควรมองข้ามในปีนี้