แม้ว่ามองไปในไลน์สินค้าของโซนี่แล้ว Xperia XZs อาจจะไม่ใช่รุ่นไฮเอนด์ที่สุดในช่วงนี้ เพราะมีคิวของ Xperia XZ Premium ที่รอจ่อคิวผลิต และนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอยู่จากหน่วยประมวลผลที่สูงขึ้น แต่ Xperia XZs ก็ถือเป็นรุ่นระดับเรือธงที่พลาดไม่ได้ในช่วงนี้
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือการที่จะบอกว่า Xperiz XZs เป็นสมาร์ทโฟนที่ถูกผลิตขึ้นในไทย หลังจากที่โซนี่มีการขยับขยายโรงงานการผลิตสินค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น จากเดิมที่เน้นผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกล้อง จนมาเป็นสมาร์ทโฟน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไทยเป็นอย่างดี
ในส่วนของจุดขายหลักของ Xperiz XZs นอกจากในเรื่องของดีไซน์ และขนาดที่จับถนัดมือ ก็จะเป็นในส่วนของความสามารถกล้องที่หลายๆแบรนด์ต่างนำเซ็นเซอร์กล้องของโซนี่ไปใช้งาน ดังนั้นใน XZs จึงได้เลือกใช้เซ็นเซอร์ที่ดีที่สุดของโซนี่ในเวลานี้ ที่มีจุดขายอย่างการถ่ายวิดีโอสโลว์โมชัน 960 เฟรมต่อวินาที
ขณะที่ในส่วนอื่นๆ ก็นำเทคโนโลยีของโซนี่มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงผล (นำเทคโนโลยี Triluminos มาใช้) เรื่องของคุณภาพเสียง (Sony Hi-res) ทำให้เชื่อมือได้ว่าเสียงของไฟล์มัลติมีเดียคุณภาพสูงที่ออกจาก XZs ไม่แพ้การใช้งาน DAC (ตัวแปลงสัญญาณเสียง) ดีๆสักเครื่อง
การออกแบบ
โซนี่ยังคงยึดแนวทางในการออกแบบภายใต้คอนเซปต์แบบ Omni Design ที่เน้นตัวเครื่องเป็นสี่เหลี่ยม ทรงแท่ง ที่มีการลบขอบมุมออกให้ดูสวยงามขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ถือเป็นจุดขายในตระกูล Xperia Z เสมอมา โดยมีขนาดที่ 146 x 72 x 8.1 มม. น้ำหนัก 161 กรัม มีให้เลือก 3 สี คือดำ ฟ้า และเงิน
ด้านหน้า – หลักๆแล้วจะเป็นจอ Triluminos ขนาด 5.2 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1920 x 1080 พิกเซล) ที่จะมีการเว้นขอบบนและล่าง เพื่อใส่ลำโพงสเตอริโอเข้ามาให้ใช้งานกัน (กรณีใช้งานแนวนอน) พร้อมกับกล้องหน้าความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ที่แปลกคือมีการย้ายแถบ NFC มาอยู่บริเวณมุมซ้ายบนทางด้านหน้าแทน ส่วนปุ่มกด และปุ่มสัมผัสต่างๆ ถูกนำไปรวมไว้บนหน้าจอทั้งหมด
ด้านหลัง – ด้วยการออกแบบที่เน้นความเรียบหรู ฝาหลังของ XZs ที่เป็นแบบดำเงา จึงเต็มไปด้วยรอยนิ้วมือเวลาจับใช้งาน โดยจะมีสัญลักษณ์ Sony สีเงินอยู่ตรงกึ่งกลาง และจุดเด่นของเครื่องอย่างกล้องความละเอียด 19 ล้านพิกเซล f/2.0 พร้อมไฟแฟลชแบบ Dual LED ภายในมีแบตเตอรีขนาด 2,900 mAh อยู่ไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้
ด้านซ้าย – จะมีช่องใส่ถาดซิม ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เข็มจิ้ม สามารถใช้นิ้วดึงถาดออกมาได้ทันที ภายในจะเป็นถาดสำหรับใส่นาโนซิมการ์ด 2 ซิม (รองรับ 3G/4G) หรือเลือกใส่นาโนซิมการ์ด พร้อมกับไมโครเอสดีการ์ดสูงสุด 256 GB
ด้านขวา – ยังคงมีเอกลักษณ์ของโซนี่ที่นำปุ่มกดเปิด–ปิดเครื่อง สีเงิน มาไว้ทางขวา พร้อมกับการเพิ่มเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือเข้าไป ทำให้เวลากดเปิดใช้งานจะเป็นการสแกนลายนิ้วมือไปในทันที ถัดลงมาเป็นปุ่มปรับระดับเสียง และปุ่มชัตเตอร์กล้อง (สามารถกดเพื่อเรียกใช้งานโหมดถ่ายภาพได้ทันที)
ด้านบน – จะเป็นที่อยู่ของช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. ซึ่งถือว่าเซอร์ไพรส์พอสมควรที่โซนี่ยังเลือกใช้พอร์ต 3.5 มม. ในขณะที่หลายๆแบรนด์เริ่มตัดพอร์ตดังกล่าวออกไป ด้านล่าง – โซนี่จะเลือกใช้พอร์ต USB-C มาใช้งานแทนที่ไมโครยูเอสบีแล้ว ทำให้รองรับการใช้งานต่างๆได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเสียบชาร์จ การเชื่อมต่อแบบ OTG และการต่อกับจอภาพให้สะดวกขึ้น
สำหรับอุปกรณ์ที่แถมมาให้ในกล่อง จะประกอบไปด้วยตัวเครื่อง Sony Xperia XZs อะเดปเตอร์ สาย USB-A to USB-C หูฟังแบบ In-Ear คู่มือการใช้งาน และใบรับประกัน ทั้งนี้ถ้าใครที่แกะกล่องแล้วหาสาย USB-C ไม่เจอ ให้ลองเปิดกล่องที่ซ้อนอยู่ภายในดีๆ จะเจอสายถูกม้วนเก็บอยู่
สเปก
ในส่วนของสเปกภายในของ Xperia XZs จะมากับหน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 820 ที่เป็น Quad-Core (Dual 2.15 GHz x Dual 1.5 GHz) RAM 4 GB พื้นที่เก็บข้อมูลภายในตัวเครื่อง 64 GB รองรับไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มเติม 256 GB ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 7.1
ด้านการเชื่อมต่อรองรับ 3G/4G ซิมที่ 2 สแตนบาย 3G ได้ โดยตัว 4G LTE ที่รองรับจะเป็น LTE CAT 11 ที่รองรับความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุด 600 Mbps จาก 3CA ส่วน Wi-Fi รองรับมาตรฐาน 802.11ac แบบ Dual-Band 2.4/5GHz พร้อม GPS/aGPS/Glonass บลูทูธ 4.2 และ NFC
ส่วนสเปกของกล้องจะใช้เซ็นเซอร์ภาพ Exmor RS ขนาด 1/ 2.3” ความละเอียดพิกเซล 1.22μm มีระบบคาดโฟกัสที่คาดเดาการณ์เคลื่อนไหว พร้อมระบบประมวลผลภาพ BIONZ รองรับ ISO สูงสุดที่ 12800 สำหรับภาพนิ่ง และ ISO 4000 สำหรับวิดีโอ ตัวเลนส์จะเป็น Sony G Lens 25 มม. กันสั่น 5 ทิศทาง
ฟีเจอร์เด่น
โซนี่ ถือเป็นอีกแบรนด์ที่มีการนำอินเตอร์เฟสมาครอบการทำงานของแอนดรอยด์ เพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสร้างความคุ้นเคยให้กับเหล่าสาวกของอารยธรรมโซนี่ ที่เน้นในแง่ของคุณภาพการใช้งานของสินค้าเสมอมา
โดยจะยังคงรูปแบบของการมีหน้าหลักให้ผู้ใช้สามารถเลือกนำวิตเจ็ตต่างๆมาใส่ได้เหมือนเดิม ส่วนของแถบการแจ้งเตือนถูกทำให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ด้วยไอค่อนลัดในการตั้งค่าที่สามารถลากมาใส่เพิ่มได้จนกลายเป็น 2 หน้า สำหรับการปิดการตั้งค่าต่างๆ
โซนี่ ยังมีการแยกหน้ารวมแอปฯออกมาให้เลือกใช้งานกัน โดยแอปที่บันเดิลมาให้ส่วนใหญ่จะเป็นกูเกิล เซอร์วิสต่างๆ พร้อมแอปการใช้งานทั่วๆไป ที่เพิ่มมาคือแอปจากค่ายโซนี่ ที่ไว้อำนวยความสะดวกลูกค้า อย่าง What’s News ไว้แนะนำข้อมูล และแอปที่น่าสนใจ โปรแกรมตัดต่อวิดีโอ และโปรแกรมวาดรูป
การใช้งานโทรศัพท์ เนื่องจากตัวเครื่องรองรับ 2 ซิมอยู่แล้ว ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะตั้งเลขหมายใดในการโทร เลขหมายใดใช้ต่ออินเทอร์เน็ต อินเตอร์เฟสการใช้งานโทรศัพท์จะเน้นตัวเลขใหญ่กดง่าย การแสดงผลชื่อ เลขหมายชัดเจน มีไอค่อนให้เลือกเปิดลำโพง ปิดไมค์ พักสาย เพิ่มสายปกติ ส่วนกรณีสายเข้า จะใช้การลากเพื่อรับสาย ตัดสายเช่นเดิม
ส่วนของการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บเบราว์เซอร์ทำได้ตามมาตรฐาน เช่นเดียวกับการใช้งานโซเขียลมีเดียต่างๆ ที่รองรับครบถ้วน จากการที่ตัวเครื่องอยู่ในระดับไฮเอนด์อยู่แล้ว จึงไม่น่ากังวลในส่วนนี้เท่าใด
รวมถึงการมี PS4 Remote Play ติดตั้งมาให้ สำหรับผู้ที่มีเครื่องเกมคอนโซล PS4 ก็สามารถใช้เครื่อง XZs เป็นจอที่ 2 เชื่อมต่อกับจอยเกมผ่านบลูทูธ นำไปเล่นส่วนใดของบ้าน (เครือข่ายไวไฟเดียวกัน) ก็ได้ ถือว่าช่วยอำนวยความสะดวกไปอีกแบบ
อีกจุดขายที่หลังๆ โซนี่ ไม่ค่อยได้โฆษณาออกมาแล้วก็คือเรื่องของการกันน้ำ กันฝุ่นบนมาตรฐาน IP68 ที่สามารถกันน้ำลึก 1.5 เมตร ได้ไม่เกิน 30 นาที ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าเป็นการใช้งานทั่วไป โดนละอองน้ำ ก็ไม่ต้องกังวลในการใช้งาน
นอกจากนี้ ยังมีการนำระบบ Machine Learning มาใช้งาน กับ Xperia Actions ที่จะเป็นระบบแบ่งช่วงเวลาในการใช้งานเครื่องอย่างตอนนอน ตอนทำงาน หรือเวลาเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อให้ตัวเครื่องทำการตั้งค่าต่างๆแบบอัตโนมัติ
อย่างตอนนอนสามารถตั้งเวลาไว้ได้ว่าระหว่างช่วงกี่โมงถึงกี่โมง ให้ตัวเครื่องตั้งค่าอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเปิดโหมดเครื่องบิน ตั้งโหมดห้ามรบกวน ปิดไฟแจ้งเตือน ปรับความสว่างหน้าจอต่ำสุด เปิดโหมดสั่น เปิดไวไฟ เปิดโหมดประหยัดพลังงานเป็นต้น
ส่วนของการจัดการข้อมูลต่างๆในตัวเครื่องจะมีโหมด Smart Cleaner ที่จะคอยล้างไฟล์ที่ไม่จำเป็นออกจากเครื่อง เพื่อทำให้เครื่องทำงานได้บนประสิทธิภาพสูงสุด เช่นเดียวกับแบตเตอรี จะมีโหมด Battery Care ที่เมื่อชาร์จไฟถึง 90% แล้วตัวเครื่องถูกเสียบชาร์จต่อค้างไว้ก็จะมีการคำนวนและปรับความเร็วในการชาร์จ
ขณะเดียวกัน Xperia XZs ยังมาพร้อมกับโหมดประหยัดพลังงานไม่ว่าจะเป็น STAMINA Mode ที่ช่วยยืดระยะเวลาการใช้งาน ด้วยการควบคุมการประมวลผลให้ทำงาน โดยใช้พลังงานน้อยลง และ Ultra STAMINA Mode ที่จะตัดการเชื่อมต่อ และปิดการทำงานแอปเบื้องหลัง เพื่อยืดเวลาการใช้แบตเตอรีออกไปอีก
อย่างที่กล่าวไปเบื้องต้นว่า ปกติโซนี่ จะเน้นการนำเทคโนโลยีทางด้านภาพ และเสียงในเครือมาใช้ ดังนั้นใน Xperia XZs จึงมีการนำเทคโนโลยีในการแสดงผลอย่าง รวมถึงจอภาพแบบ Triluminos และเทคโนโลยี X-Reality for mobile มาช่วย
ในส่วนของระบบเสียง Hi-Res ที่เครื่องรองรับ ก็ถอดแบบมาจากเครื่องเล่นเพลง โดยผู้ใช้สามารถเลือกโหมดการใช้งานได้ 2 รูปแบบ DSEE HX ที่จะใช้ซอฟต์แวร์อัปเกรดคุณภาพไฟล์ให้ดีขึ้น (ใช้ได้กับหูฟังมีสาย) และ Clear Audio+ ที่จะปรับค่าเสียงอัตโนมัติ หรือจะเลือกปรับตั้งเองก็ได้
สุดท้ายในส่วนของกล้อง Motion Eye ที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดของโซนี่ นอกจากในแง่คุณภาพของภาพนิ่งที่สามารถเก็บภาพในที่แสงน้อยได้ดีขึ้นแล้ว ยังมีอีกจุดคือเรื่องของการถ่ายวิดีโอต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับ 4K หรือ Full HD และที่สำคัญคือมาพร้อมกับระบบกันสั่น ทำให้สามารถถือเครื่องถ่ายวิดีโอได้นิ่ง จนเหมือนกับใช้ Gimble ช่วย
ประกอบกับการชูจุดเด่นในเรื่องของการถ่ายวิดีโอแบบ Slow Motion ที่จะมี 2 ระดับคือ การถ่าย Slow-Motion แบบปกติที่ และยังมีโหมด Super Slow Motion ที่จะใช้การถ่ายวิดีโอซ้อนด้วย Super Slow เข้าไปบางช่วงที่ 960 เฟรมต่อวินาที จนกลายเป็นสมาร์ทโฟนที่ถ่าย Slow-Motion ได้สูงที่สุดในเวลานี้
ทั้งนี้ ในการถ่ายวิดีโอแบบ Slow-Motion เมื่อถูกนำมาถ่ายภายในอาคาร หรือภายใต้แสงจากหลอดไฟ จะไม่ดีเท่าที่ควร เพราะกล้องจับภาพได้เร็วกว่าไฟในห้อง ภาพที่ออกมาจึงกลายเป็นเส้นๆ ดังนั้น การถ่าย Slow-Motion ควรถ่ายในภาวะแสงธรรมชาติเป็นหลัก
เบื้องต้น โซนี่ ใช้การโปรโมทวิดีโอ Slow-Motion จากช่างภาพอย่างทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ ที่ได้นำ Xperia XZs ไปใช้ถ่ายภาพลูกสาวเล่นน้ำ สามารถรับชมได้จากวิดีโอด้านล่างนี้ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงช่วงเวลา Super Slow-Motion จนหยุดหยดน้ำ หรือใบไม้ที่กระเด็นขึ้นมาได้
ส่วนการทดสอบกล้องถ่ายภาพ Motion Eye อย่างละเอียดจะมีการนำเสนอต่อไปในภายหลัง
ทดสอบประสิทธิภาพ
Antutu Benchmark = 111,901 คะแนน
Quadrant Standard = 27,371
Multi-touch Test = 10 จุด
PC Mark
Work 2.0 = 5,006 คะแนน
Computer Vision = 2,632 คะแนน
Storage Score = 2,713 คะแนน
Work = 6,790 คะแนน
3D Mark
Sling Shot Extreme Unlimited = 1,892 คะแนน
Sling Shot Unlimited = 2,461 คะแนน
Sling Shot Extreme = 2,051 คะแนน
Sling Shot = 2,371 คะแนน
Ice Storm Extreme = 12,341 คะแนน
Ice Storm Unlimited = 19,573 คะแนน
Ice Storm = 13,170 คะแนน
PassMark PerformanceTest
System = 5,649 คะแนน
CPU Tests = 22,549 คะแนน
Memory Tests = 3,784 คะแนน
Disk Tests = 51,989 คะแนน
2D Graphics Tests = 3,334 คะแนน
3D Graphics Tests = 2,090 คะแนน
Geekbench 4
Single-Core = 1,733 คะแนน
Multi-Core = 3,608 คะแนน
Compute = 5,958 คะแนน
ในส่วนของการเล่นเกม หรือใช้งานที่รีดประสิทธิภาพเครื่องหนักๆ อย่างการใช้ PS4 Remote Play ตัวเครื่องรองรับได้ลื่นไหลดี ไม่มีอาการกระตุกให้เห็น เพียงแต่ว่าแบตเตอรีก็จะหมดเร็วขึ้น ตามประเภทของการใช้งานเช่นเดียวกัน แต่ถ้าใช้งานทั่วๆไปถือว่าเป็นรุ่นที่แบตอึดพอสมควร
สรุป
Sony Xperia XZs ถือเป็นรุ่นที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่กำลังมองหาสมาร์ทโฟนที่กล้องถ่ายภาพสวยๆ ชอบถ่ายวิดีโอ เพราะให้มาทั้งระบบกันสั่น ถ่าย 4K ได้ แถมด้วย Super Slow Motion 960 fps เรียกได้ว่าครบเครื่องสำหรับการนำเทคโนโลยี Motion Eye มาใช้
ประกอบกับการที่ตัวเครื่องถูกออกแบบมากับหน้าจอขนาด 5.2 นิ้ว ทำให้ตัวเครื่องจับถือค่อนข้างง่าย จึงน่าจะเหมาะกับผู้ที่ไม่ต้องการสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ที่หน้าจอใหญ่เกินไป ความสามารถโดยรวมครบถ้วน
อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ได้กังวลในเรื่องของราคาว่า 21,990 บาท แพงเกินไป ก็จะแนะนำให้รอ Xperia XZ Premium ที่กำลังจ่อเข้าไทยดีกว่า เพราะ XZs จะใช้หน่วยประมวลผลที่เป็นแฟลกชิปของปีที่แล้ว มาอัปเกรดกล้องให้ดีขึ้นในรุ่นนี้ แต่ถ้าเป็น XZ Premium นอกจากได้กล้องรุ่นล่าสุดแล้ว ซีพียูก็จะเป็นรุ่นล่าสุดด้วยกับ Snadragon 835 ซึ่งแน่นอนว่าราคาจำหน่ายก็จะสูงขึ้นไปอีก