Review : Microsoft Surface Pro 2017 สเปกใหม่ ลงตัวมากขึ้น

33367

วันนี้ไมโครซอฟท์เปิดตัว New Surface Pro หรือแท็บเล็ตสายพันธุ์วินโดวส์รุ่นใหม่จากไมโครซอฟท์ (หลายคนเรียกว่าเป็น Surface Pro รุ่นที่ 5) ประจำปี 2017 ที่ทีมงานไซเบอร์บิซมองว่าเป็นรุ่นพัฒนาต่อยอด อัปสเปกเพิ่มจาก Surface Pro 4 โดยเฉพาะในส่วนอุปกรณ์เสริมอย่างปากกา Surface Pen ที่ถูกปรับปรุงใหม่ให้แม่นยำมากขึ้น รวมถึงตัวเครื่อง Surface เองที่ออกแบบมาได้ลงตัวพร้อมสเปกซีพียูเปลี่ยนไปใช้ตระกูล Kaby Lake (รุ่นที่ 7)

การออกแบบ

สำหรับการออกแบบ Surface Pro ยังคงเป็นวินโดวส์แท็บเล็ตที่สามารถใช้งานแบบโน้ตบุ๊กได้อย่างสมบูรณ์แบบเช่นเดิม โดยตัวเครื่องมาพร้อมหน้าจอแสดงผล PixelSense แบบสัมผัส 10 จุด ขนาด 12.3 นิ้ว ความละเอียด 2,736×1,824 พิกเซล ขนาดตัวเครื่องหนา 8.5 มิลลิเมตร พร้อมน้ำหนักประมาณ 770 กรัม

เหนือหน้าจอแสดงผลขึ้นไป ยังคงเป็นที่อยู่ของกล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล รองรับวิดีโอคอลล์ที่ความละเอียดสูงสุด FullHD 1080p พร้อมไมโครโฟนแบบคู่ในตัวรวมถึงมีเซ็นเซอร์ตรวจจับใบหน้าเพื่อใช้ปลดล็อกตัวเครื่องผ่านฟีเจอร์ Windows Hello ใน Windows 10 และเซ็นเซอร์ตรวจวัดแสง รวมถึงภายในยังมีไจโรสโคปด้วย

นอกจากนั้นบริเวณขอบจอทั้งสองด้าน ไมโครซอฟท์เลือกติดตั้งลำโพงสเตอริโอ (ใช้เทคโนโลยี Dolby Audio Premium) ไว้ด้วย

ด้านหลัง วัสดุเป็นอะลูมิเนียมมาพร้อมขาตั้ง Kickstand อันเป็นเอกลักษณ์เด่นของไมโครซอฟท์ Surface โดยในรุ่นปี 2017 ขาตั้งจะกางออกได้ถึง 165 องศา ส่วนการปรับเปลี่ยนขาตั้งสามารถทำได้ 3 โหมดหลักได้แก่ 1.แล็ปท็อป เมื่อเชื่อมต่อกับคีย์บอร์ดจะใช้งานได้แบบโน้ตบุ๊ก 2.Studio ปรับ Kickstand ลงให้สุด 165 องศาสำหรับใช้งานวาดเขียน 3.แท็บเล็ต สามารถใช้งานเป็นแท็บเล็ตพกพาได้ปกติ

มาดูกล้องหลังจะมีความละเอียดอยู่ที่ 8 ล้านพิกเซลพร้อมออโต้โฟกัสและรองรับการถ่ายวิดีโอที่ความละเอียด FullHD 1080p พร้อมไมโครโฟนรับเสียงสเตอริโอติดตั้งอยู่ด้วย

ส่วนช่องใส่การ์ด MicroSD (จะใช้เพื่อเพิ่มความจุตัวเครื่องหรือใช้อ่านการ์ด MicroSD ปกติก็ได้) จะถูกติดตั้งอยู่ใต้ Kickstand

มาถึงพอร์ตเชื่อมต่อและปุ่มกดรอบตัวเครื่อง เริ่มจากด้านซ้ายมือจะเป็นช่องหูฟัง/Headset 3.5 มิลลิเมตร ถัดไปจะเป็นส่วนแม่เหล็กที่สามารถดูดปากกา Surface Pen ให้ติดกับตัวเครื่องได้ (หรือจะเรียกว่าที่เก็บปากกาก็ไม่ผิด)

ขวา เริ่มจาก Surface Connect สำหรับใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมและอะแดปเตอร์ชาร์จไฟบ้านของ Surface พอร์ต USB 3.0 จำนวน 1 ช่องและ Mini Display Port (ไม่รองรับการเชื่อมต่อ USB-C)

ด้านล่าง ตรงกลางจะเป็นช่องเชื่อมต่อกับคีย์บอร์ดเพื่อใช้งานในรูปแบบโน้ตบุ๊ก

ด้านบน เป็นปุ่มเพิ่มลดเสียงและปุ่มเปิดปิดเครื่อง

อุปกรณ์เสริม (จำหน่ายแยก)

มาดูอุปกรณ์เสริมของ Surface Pro 2017 กันบ้าง เริ่มจากคีย์บอร์ดจะเพิ่มรุ่น “Surface Pro Signature Type Cover” (ราคา 6,390 บาท) หุ้มด้วยผ้าวัสดุ Alcantara ตามภาพประกอบด้านบน

Surface Arc Mouse ใหม่ เมาส์ดีไซน์ล้ำจากไมโครซอฟท์ที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานกับ Surface Pro และสามารถนำไปใช้งานกับโน้ตบุ๊กทั่วไปหรือพีซีที่ติดตั้ง Windows 10/8.1/8 ผ่านการเชื่อมต่อบลูทูธ โดยส่วนแบตเตอรีอัลคาไลน์ขนาด AAA สองก้อน

Surface Pen รุ่นใหม่ปี 2017 (ต้องซื้อแยกต่างหากในราคา 3,900 บาท) จะถูกอัปเกรดเรื่องการรองรับแรงกดได้มากถึง 4,096 จุดพร้อมปรับปรุงเรื่องการตอบสนองให้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้า หัวปากกาขนาด HB ส่วนการเชื่อมต่อทำผ่านบลูทูธ แบตเตอรีใช้ถ่าน AAAA 1 ก้อน รองรับ Surface Pro ตั้งแต่รุ่น 3 ขึ้นไป

สเปก

สำหรับ Surface Pro รุ่นใหม่นี้จะวางตลาดด้วยสเปกซีพียูใหม่ 3 รุ่นย่อยได้แก่ Intel Core m3, i5 และ i7 (เจนเนอเรชั่น 7 ทั้งหมด) โดยรุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบวันนี้จะเป็นตัวกลางขับเคลื่อนด้วยซีพียู Intel Core i5 7300U ความเร็ว 2.60GHz กราฟิกการ์ดเป็นออนบอร์ด Intel HD Graphics 620 (ท็อปสุดสำหรับรุ่นซีพียู i7 จะเป็นการ์ดจอ Intel Iris Plus 640) พร้อมแรม DDR3 (Dual Channel) 8GB หน่วยเก็บข้อมูลเป็น SSD ความจุ 256GB (เหลือให้ใช้จริงประมาณ 190-200GB) มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Windows 10 Pro ตัวเต็ม พร้อมแถม Office ให้ใช้งานฟรี 30 วันด้วย

ด้านการเชื่อมต่อจะรองรับ WiFi มาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac บลูทูธ 4.1 ไม่รองรับการใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์ และไม่มี GPS นำทางในตัว

ฟีเจอร์เด่นและทดสอบประสิทธิภาพ

Surface Pro 2017 จะติดตั้ง Windows 10 Pro มาให้ ทำให้ผู้ใช้สามารถติดตั้งซอฟต์แวร์ที่รองรับ Windows ได้ปกติเช่น ชุดซอฟต์แวร์ Adobe, Office ได้แบบเดียวกับการใช้บนพีซีหรือโน้ตบุ๊กทั่วไป ส่วนซอฟต์แวร์พิเศษ เนื่องจาก Surface Pro เป็นของไมโครซอฟท์เพราะฉะนั้นการปรับตั้งค่าระบบต่างๆจะสามารถทำผ่านหน้า Settings ได้ทั้งหมด รวมถึงการกำหนดรูปแบบการใช้พลังงานเพื่อประหยัดแบตเตอรีก็สามารถทำผ่านส่วนไอคอนแบตเตอรีได้ทันที

ทดสอบประสิทธิภาพ : PCMark 10 = 2,894 คะแนน

ทดสอบประสิทธิภาพ : Geekbench 4 / Single Core = 4,071 คะแนน / Multi Core = 8,415 คะแนน

ทดสอบประสิทธิภาพ : Cinebench R15 / OpenGL = 43.02 เฟรมต่อวินาที / CPU = 343cb

มาดูด้านการทดสอบประสิทธิภาพ โดยรุ่นที่เราได้รับมาเป็น Core i5 7300U ประกบกราฟิก Intel HD Graphics 620 ซึ่งถือเป็นสเปกระดับกลาง ภาพรวมถือว่าสามารถตอบโจทย์การทำงานได้หลากหลายตั้งแต่ใช้พิมพ์งาน ตกแต่งภาพจากไฟล์ RAW ของกล้อง DSLR ไปถึงตัดวิดีโอ 1080p ทุกอย่างทำงานได้ลื่นไหล หน่วยเก็บข้อมูล SSD ทำงานได้รวดเร็วดี และสามารถเพิ่มความจุด้วย MicroSD เพื่อใช้สำหรับเก็บไฟล์งานได้ (แต่ไม่แนะนำให้ใช้เก็บโปรแกรมเพราะอ่านเขียนช้า)

ส่วนข้อสังเกตจะเป็นเรื่องของพอร์ตเชื่อมต่อที่มีให้เพียง USB 3.0 จำนวน 1 พอร์ตเท่านั้น (ถ้ามีอุปกรณ์ต่อพ่วงเยอะอาจต้องหาอุปกรณ์เสริมอย่าง Surface Dock มาใช้งาน) อีกทั้งตัวเครื่องยังไม่มี USB-C ที่เป็นมาตรฐานใหม่ของปีนี้ติดตั้งมาให้ด้วย

ด้านการใช้งานคีย์บอร์ดและปากกา เริ่มจากคีย์บอร์ด ทีมงานรู้สึกว่านอกจากพื้นผิว Alcantara ในคีย์บอร์ดเวอร์ชัน Signature Type Cover ที่สัมผัสแล้วรู้สึกกระชับมือ วางพิมพ์งานบนตักแล้วตัว Cover เกาะกับขาและกางเกงไม่ลื่นหล่นได้ดีมาก ส่วนแป้นพิมพ์ให้ความรู้สึกกดง่ายและแม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะส่วนทัชแพดที่ตอบสนองได้ดีมาก

ด้านปากกา Surface Pen นอกจากดีไซน์ที่ปรับเหมือนดินสอมากขึ้นแล้ว เรื่องสเปกฮาร์ดแวร์ภายยังถูกปรับปรุงให้ตอบสนองได้ดีขึ้นแถมรับแรงกดได้ละเอียดขึ้นจากรุ่นก่อนหน้า ประสิทธิภาพถือว่าเทียบเท่าคู่แข่งแล้ว แถมตัวปากกายังมีฟีเจอร์เด่นอย่างท้ายปากกาเป็นยางสามารถใช้แทนยางลบดิจิตอลหรือแม้แต่หัวปากกาก็สามารถเปลี่ยนรูปแบบได้ทั้งเป็นแบบดินสอ HB/B หรือหัวปากกาลูกลื่น

สุดท้ายในส่วนของแบตเตอรีโดยทดสอบใช้งานเป็นโน้ตบุ๊กส่วนตัวเน้นพิมพ์งาน ต่อ WiFi เข้าเว็บไซต์ แชทและเล่นเกมฆ่าเวลาบ้างสลับตลอดทั้งวัน พบว่าเรื่องของแบตเตอรีทำได้น่าพอใจกว่ารุ่นก่อน โดยทีมงานทดสอบสามารถทำเวลาใช้งานได้มากถึง 9-11 ชั่วโมงเลยทีเดียว และอีกหนึ่งข้อดีของ Surface Pro ที่ถูกปรับระบบทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ Windows 10 มาให้เข้ากันมากขึ้นก็คือ เวลาเราเลิกใช้งานเครื่องเราสามารถกดปุ่มปิดเครื่องครั้งเดียวเพื่อสั่งให้หน้าจอดับแล้วเข้าโหมดสแตนบายได้ทันทีแบบเดียวกับแท็บเล็ตแอนดรอยด์หรือ iOS และสามารถปลุกเครื่องให้ตื่นได้ตลอดเวลาโดยไม่พบอาการเครื่องค้างให้เห็น อีกทั้งถ้าเรากดสแตนบายเครื่องเป็นเวลานานเกินไป ระบบจะพาตัวเองเข้าสู่ Hibernate อัตโนมัติ เวลาเปิดเครื่องใหม่ระบบบู๊ตค่อนข้างเร็วกว่ารุ่นที่แล้ว ทำให้การใช้งาน Surface Pro 2017 ไม่พบอาการสะดุดให้เห็นตลอดการทดสอบร่วม 2 อาทิตย์ (ทีมงานไม่เคยสั่งชัทดาวน์เครื่องเลย ส่วนใหญ่ใช้วิธีกดปุ่มปิด 1 ครั้งให้หน้าจอดับแล้วก็ใส่กระเป๋าทันที)

กล้องหน้า

กล้องหลัง

สุดท้ายในส่วนการทดสอบกล้องถ่ายภาพ เริ่มจากด้านหน้า คุณภาพถือว่าอยู่ในระดับพอใช้ไม่ค่อยคมชัดเมื่ออยู่ในที่แสงน้อย แต่เรื่องความลื่นไหลของภาพถือว่าทำได้ดี ส่วนกล้องหลังถือว่าคุณภาพกลางๆ ใช้แก้ขัดได้

สรุป

สำหรับราคา Surface Pro 2017 จะเริ่มต้นที่ 30,900 บาทไปจนถึงรุ่นท็อปสุด Intel Core i7/1TB SSD/16GB RAM/Iris Plus Graphics 640 อยู่ที่ราคา 101,900 บาท

Surface Pro 2017 ถือว่าเป็นแท็บเล็ตลูกผสมโน้ตบุ๊กสายพันธุ์ Windows 10 จากไมโครซอฟท์ที่เน้นการปรับปรุงด้านสเปกภายในที่มีให้เลือกหลากหลายระดับตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปถึงเน้นประสิทธิภาพสูง เน้นงานตัดต่อวิดีโอ 4K รวมถึงการปรับปรุงเรื่องฟีเจอร์ในแบบแท็บเล็ต เช่น การปิดเปิดเครื่องที่รวดเร็วกว่าโน้ตบุ๊กปกติและสามารถใช้งานได้ตลอดทั้งวันแบบไร้รอยต่อ สิ่งเหล่านี้ไมโครซอฟท์ปรับปรุงมาได้ดีมากขึ้น ผู้อ่านที่กำลังมองหาโน้ตบุ๊ก-แท็บเล็ตวินโดวส์เน้นน้ำหนักเบา พกพาง่ายแบบแท็บเล็ตแต่ประสิทธิภาพสูงสามารถใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์รองรับ Windows ได้แบบเดียวกับพีซี Surface Pro 2017 เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ

ส่วนผู้ใช้ที่เป็นแฟน Surface Pro อยู่แล้ว ต้องเรียนตามตรงเลยว่ารุ่นปี 2017 ถูกปรับปรุงเน้นความลงตัวและพยายามเป็นแท็บเล็ตไฮบริดที่สมบูรณ์มากกว่าเก่า จุดที่แตกต่างจากรุ่นเดิมจริงๆจะอยู่ที่ตัว m3 กับ i5 ที่ไม่มีพัดลมระบายความร้อนแล้วทำให้เครื่องทำงานเงียบมาก รวมถึงแบตเตอรีที่อึดขึ้น มองแล้วมีความเป็นแท็บเล็ตสูงกว่ารุ่นก่อน นอกนั้นจะแตกต่างจากเดิมไม่มากนัก ใครกำลังสนใจต้องลองช่างใจดูเองครับ

ข้อดี

– ปรับแต่งได้ลงตัวไม่ว่าจะใช้ในโหมดไหนก็ตาม
– ได้ Windows 10 Pro มาจากโรงงาน
– รุ่น m3 และ i5 ทำงานเงียบเพราะใช้ระบบระบายความร้อนแบบใหม่ ไร้พัดลม
– แบตเตอรีอึดกว่ารุ่นเดิมเกือบเท่าตัว
– ปากกา Surface Pen ใหม่ เขียนได้แม่นยำ ลื่นไหลขึ้นมาก

ข้อสังเกต

– กล้องหน้าและหลังคุณภาพแค่พอใช้
– ช่องเชื่อมต่อ USB ให้มาน้อย ไม่มี USB-C

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
9.5
สเปก/ฟีเจอร์เด่น
9
ความสามารถโดยรวม
9
ความคุ้มค่า
8.7
SHARE