ในยุคที่การใช้งานสมาร์ทโฟนกลายมาเป็นอุปกรณ์หลักในการจัดเก็บข้อมูลส่วนตัว เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะไม่ได้ทำการสำรองข้อมูลจากอุปกรณ์เหล่านี้ ไปเก็บไว้บนคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่จะเลือกในการอัปโหลดขึ้นคลาวด์ไปเก็บไว้
ทำให้เมื่อสมาร์ทโฟนเกิดปัญหา หาย ต้องทำการเปลี่ยนเครื่อง ข้อมูลสำคัญอย่างรูปภาพหลายหมื่นรูปที่บันทึกไว้ก็จะหายไป รวมถึงไฟล์วิดีโอที่ถ่ายเก็บไว้ด้วย หรือในบางกรณีการเก็บไฟล์ไว้ในโน้ตบุ๊ก ก็มีโอกาสที่จะเกิดการสูญหายได้เช่นเดียวกัน
ทีมงาน Cyberbiz ที่ได้รับอุปกรณ์ NAS จาก Synology มาทดสอบ เลยลองนำมาใช้งานแบบง่ายๆ เพื่อใช้เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลโดยเฉพาะ ที่ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งพาบริการคลาวด์ในการฝากไฟล์ แค่ที่บ้านมีการต่อใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ก็สามารถนำ DiskStation DS718+ มาใช้เป็นสตอเรจในการเก็บข้อมูลได้ทันที
ทำความรู้จัก Synology
ข้อมูลเบื้องต้นของ Synology ถือเป็นแบรนด์ที่มีความเชียวชาญในการทำ NAS (Network-Attached Storage) หรือเรียกง่ายๆก็คือการใช้อุปกรณ์ตัวนี้เป็นพื้นที่ในการเก็บข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
โดยทาง Synology จะแบ่ง NAS ออกมาเป็นชื่อเฉพาะในกลุ่มสินค้า DiskStation ซึ่งก็จะมีรุ่นย่อยแบ่งออกไปทั้ง J ซีรีส์ ที่เหมาะกับการใช้เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลส่วนบุคคล Value ซีรีส์ ที่เหมาะกับวิศวกรที่ต้องการประสิทธิภาพในการประมวยผลเพิ่มเติม มีการเข้ารหัสไฟล์ต่างๆ
ตามมาด้วยรุ่น Plus ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลเพิ่มเข้าไปอีก และรองรับการเพิ่มจำนวนฮาร์ดดิสก์ในการเก็บข้อมูล ไปจนถึงซีรีส์ FS & XS ที่เหมาะกับการนำไปใช้งานคู่กับเซิร์ฟเวอร์ในการทำเวอร์ชวลไลเซชันระดับสูง
เพียงแต่จุดเด่นหลักของ Synology ไม่ใช่แค่การซื้ออุปกรณ์มาทำเป็นแค่พื้นที่เก็บข้อมูลเท่านั้น แต่ยังมีชุดโปรแกรม (Package) ให้ผู้ใช้เลือกติดตั้งไว้ภายในอุปกรณ์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานได้หลากหลายตั้งแต่การใช้งานภายในบ้านไปจนถึงธุรกิจ SMEs
พอร์ต และการเชื่อมต่อต่างๆ
ตัวกล่อง DS718+ ด้านหน้าจะมีช่องใส่ฮาร์ดดิสก์ มาให้ 2 ถาด พร้อมกุญแจล็อก โดยข้างๆจะมีไฟแสดงสถานะการทำงานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานตัวเครื่อง การเชื่อมต่อสาย LAN ถัดลงมาเป็นปุ่มรีสตาร์ทเครื่อง พอร์ต USB 3.0 และปุ่มเปิดเครื่อง
ด้านหลัง พื้นที่หลักๆเลยจะเป็นพัดลมขนาดใหญ่ไว้ใช้ระบายอากาศ ตามมาด้วยพอร์ต LAN 1 Gbps 2 พอร์ต ช่องเสียบอะเดปเตอร์ไฟ และยังมีพอร์ต USB 3.0 สำหรับเชื่อมต่อ External HD อีก 2 พอร์ต และ eSATA ไว้เชื่อมต่อกับฮาร์ดดิสก์ เพิ่มเติม
ภายในจะมีแผงวงจร และเป็นที่อยู่ของหน่วยประมวลผลทางด้านขวา ลึกเข้าไปจะเห้นพัดลม และพอร์ตต่อฮาร์ดดิสก์อยู่ โดยตัวเครื่องจะมากับหน่วยประมวลผล Intel Celeron J3455 Quad Core 1.5 ที่เร่งความเร็วได้ถึง 2.3 GHz RAM 2 GB
ขนาดโดยรวมอยู่ที่ 157 x 103.5 x 232 มิลลิเมตร นำ้หนัก 1.74 กิโลกรัม
เปิดเครื่องติดตั้งใช้งาน
ในการนำมาใช้งานเบื้องต้น ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้พื้นฐานทางด้านไอทีอาจจะต้องอาศัยการอ่านคู่มือประกอบ ในการทำตามขั้นตอนต่างๆเล็กน้อย อย่างตัว DiskStation DS718+ ที่ได้มาทดสอบ ทีมงานเริ่มจากการแกะกล่องออกมา
นำฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5” ติดตั้งเข้าไปในช่องใส่ (สามารถเลือกใส่ได้ทั้งขนาด 2.5” และ 3.5”) โดยในรุ่นนี้จะรองรับการใส่ฮาร์ดดิสก์ได้ 2 ลูกพร้อมกัน และยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ทั้ง 2 ลูกเป็นพื้นที่เก็บข้อมูลทั้งหมด หรือจะใช้เป็นฮาร์ดดิสก์สำรองในการเก็บข้อมูลไปพร้อมๆกัน
หลังจากนั้น นำ DiskStation DS718+ เชื่อมต่อเข้ากับอะเดปเตอร์เสียบสาย Lan เข้าที่หลังเครื่อง (รองรับ Gigabit Lan) กดปุ่มเปิดเครื่อง ในคอมพิวเตอร์ หรือจะใช้ผ่านสมาร์ทโฟนก็ได้ เข้าไปตั้งค่าตัวเครื่องผ่าน URL find.synology.com หรือ diskstation:5000
เมื่อใส่ URL เข้าไปเรียบร้อยที่หน้าเว็บก็จะขึ้นหน้าแสดงรายละเอียดชื่อโมเดลที่ใช้งาน ไอพีที่ใช้ Mac Address และสถานะการทำงาน ที่ตอนนี้จะขึ้นว่ายังไม่ได้ติดตั้งอยู่ขึ้นมา เมื่อกดเชื่อมต่อ (Connect) ก็จะเข้าสู่หน้าจอการติดตั้ง เริ่มจากการลง Disk Station Manager (DSM) ที่เป็นเหมือนระบบพื้นฐานในการทำงานของ DiskStation รุ่นนี้
ถัดมาก็จะขึ้นหน้าจอมาให้ตั้งชื่อเซิร์ฟเวอร์ ไอดี พาสเวิร์ดไว้เข้าไปตั้งค่าต่างๆ โดยความพิเศษของ Synology ก็คือชื่อเซิร์ฟเวอร์ดังกล่าวจะถูกนำไปใช้งาน ในการเชื่อมต่อระยะไกล (Remote Server) ผ่านอินเทอร์เน็ตได้แม้อยู่นอกบ้านด้วย ผ่าน url อย่าง xxxxx.quickconnect.to ในกรณีที่ไม่ซ้ำกับชื่อที่คนอื่นตั้ง
เมื่อติดตั้งแล้วเสร็จก็จะเข้าสู่หน้าควบคุมการทำงานของ DiskStation ที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปตั้งค่าต่างๆผ่าน Control Panel เข้าไปติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติมผ่าน Package Center หรือต้องการใช้งานเป็นพื้นที่เก็บข้อมูลเพียงอย่างเดียวก็เปิด File Station ขึ้นมาสร้างโฟลเดอร์ กำหนดสิทธิ์ในการใช้งานได้เลย
ใช้งานหลากหลาย ตั้งแต่เก็บไฟล์ จนถึงใช้ทำงานร่วมกันในออฟฟิศ
ด้วยความที่ Synology เน้นการทำงานในส่วนขององค์กรธุรกิจด้วย ทำให้ภายใน Package Center จะมีแอปที่รองรับการใช้งานให้เลือกใช้หลากหลายประเภท ตั้งแต่การตั้งให้ตัวฮาร์ดดิสก์เป็นเฉพาะพื้นที่เก็บข้อมูล
โดยสามารถเลือกว่าจะใช้การเข้าถึงไฟล์ และโฟลเดอร์ต่างๆผ่าน File Station ไปจนถึงการลงแอปสำหรับสำรองรูปภาพ ที่สามารถติดตั้งแอปคู่ขนานบนสมาร์ทโฟน เพื่อทำการล็อกอินและให้ตัวเครื่องทำการอัปโหลดรูปมาเก็บไว้อัตโนมัติ
อีกส่วนที่น่าสนใจคือ โปรแกรมที่ใช้ในการตรวจ และแก้ไขไฟล์เอกสารต่างๆ ที่อยู่บนพื้นฐานของ Open Office ดังนั้น ถ้าติดตั้งใช้งานใน SMEs ก็ช่วยให้สามารถทำงานร่วมกันได้หลายๆคนใน 1 ไฟล์ เพื่อให้เกิดการ Collaborate ในการทำงานมากที่สุด
นอกจากนี้ ถ้าเป็นผู้ที่เชียวชาญในแง่ของการติดตั้งระบบ ก็จะมี App Package ให้เลือกติดตั้งอีกหลากหลาย ตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับมืออาชีพ ซึ่งในจุดนี้แนะนำให้ลองศึกษาจากวิดีโอคู่มือเพิ่มเติมได้
ราคาสูง แต่คุ้มในระยะยาว
ประเด็นสำคัญของผลิตภัณฑ์จาก Synology ที่ต้องคำนึงถึงคือในเรื่องของระดับราคา เนื่องจากถ้าเป็นธุรกิจ SMEs ถือว่าเป็นการลงทุนในการสร้างสตอเรจเก็บข้อมูลภายในเครือข่าย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเมื่อทำก็ต้องใช้ในการปกป้องข้อมูลได้ด้วย ซึ่งในจุดนี้ Synology ก็จะมีโซลูชันต่างๆที่รองรับ
ถัดมาถ้ามองในแง่ของการใช้งานในบ้านทั่วๆไป ระดับราคาของ Synology จะสูงกว่าแบรนด์อื่นๆ สักหน่อยแต่ก้แลกมากับระบบการใช้งานที่หลากหลาย มีอินเตอร์เฟสที่ใช้งานง่าย ช่วยให้ผู้ที่ไม่มีความรู้พื้นฐานก็สามารถใช้งานได้
เบื้องต้น ราคาจำหน่ายของ Synology DiskStation DS718+ แบบไม่รวมฮาร์ดดิสก์จะอยู่ที่ 16,900 บาท ซึ่งถ้ามองว่าราคาสูงเกินไปสำหรับนำมาใช้ภายในบ้าน ก็จะมีรุ่นที่เล็กลงมาอย่าง DS218+ ในราคาเริ่มต้น 12,900 ที่ปรับสเปกภายในลงมานิดหน่อย