Review : Wiko Fever สมาร์ทโฟน 4G ชูจุดเด่นแอบเรืองแสง

16505

IMG_2101

Wiko Fever ถือเป็นหนึ่งในแอนดรอยด์โฟนที่น่าสนใจ กับราคาเครื่อง 6,990 บาท แต่รองรับการใช้งาน 4G กับสเปกเครื่องระดับกลางๆ ที่เหมาะกับการใช้งานทั่วๆไป ที่สำคัญคือเรื่องของตัวเครื่องที่มีการนำอะลูมิเนียมมาใช้งาน ผสมกับฝาหลังพลาสติกที่ทำลายเป็นหนังให้จับได้ถนัดมือมากขึ้น

นอกจากนี้ ก็ยังมีในส่วนของกล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซล กล้องหน้า 5 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลชหน้าหลัง และมาพร้อมกับแอนดรอยด์ 5.1 Lollipop กับหน้าจอขนาด 5.2 นิ้ว ความละเอียด Full HD ทำให้โดยรวมแล้ว Wiko ทำการบ้านมาค่อนข้างดีกับเครื่องรุ่นนี้ อยู่ที่ว่าจะทำให้ลูกค้าเชื่อใจในแบรนด์ได้มากขึ้นอย่างไร

การออกแบบ

IMG_2079

ตัวเครื่อง Fever ออกแบบมาได้น่าสนใจเมื่อเทียบกับราคา เนื่องจากตัวเครื่องมีการใช้อะลูมิเนียมรอบตัวเครื่อง ขณะที่กระจกแผ่นหน้าบริเวณขอบก็โค้งรับกับขอบเครื่องพอดี ทำให้เวลาใช้งานทำได้ลื่นดี เพียงแต่ว่ายังมีการเว้นพื้นที่บริเวณบนและล่างตัวเครื่องมากเกินไป ทำให้ตัวเครื่องดูยาวกว่าปกติ โดยขนาดรอบตัวอยู่ที่ 148 x 73.8 x 8.3 มม. น้ำหนัก 143 กรัม มีให้เลือกด้วยกัน 2 สี คือ สีดำ สีขาว และ สีทอง

ด้านหน้าจะมีหน้าจอทัชสกรีนแบบ IPS ขนาด 5.2 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1920 x 1080 พิกเซล) โดยมีช่องลำโพงสนทนาอยู่ตรงกึ่งกลางบน ขนาบด้วยกล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล และไฟแฟลช พร้อมกับสัญลักษณ์ ‘Wiko’ ที่มุมซ้ายบนน ส่วนล่างหน้าจอจะถูกปล่อยว่างไว้ เพราะปุ่มสั่งงานต่างๆรวมอยู่ในหน้าจอสัมผัสแล้ว

IMG_2081

ด้านหลังบริเวณฝาหลังจะเป็นพลาสติกทำเป็นลายหนัง ทำให้สัมผัสแล้วไม่ลื่นหลุดมือ โดยมีสัญลักษณ์ ‘Wiko’ สีเงินตรงกึ่งกลาง กล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซล และไฟแฟลชที่มุมซ้ายบน ส่วรล่างตัวเครื่องจะมีช่องลำโพงอยู่ ขณะที่ช่องสำหรับงัดฝาหลังจะอยู่เยื้องมาทางซ้ายล่าง

IMG_2100

เมื่อแกะฝาหลังออกมาจะพบกับแบตเตอรีขนาด 2,900 mAh ที่ไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้ โดยมีช่องใส่ไมโครซิมการ์ด 2 ช่อง และไมโครเอสดีการ์ด รองรับสูงสุด 64 GB อยู่ส่วนบน

IMG_2089IMG_2087

ด้านซ้ายจะถูกปล่อยว่างไว้ ด้านขวาเป็นปุ่มปรับระดับเสียงและปุ่มเปิดปิดเครื่อง

IMG_2090IMG_2088

ด้านบนเป็นช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. ด้านล่างมีช่องไมโครยูเอสบี และไมโครโฟน

อย่างไรก็ตาม แม้ทาง Wiko จะชูจุดเด่นในเรื่องของ ตัวเครื่องเรืองแสงในความมือ (Glow in the Dark) แต่จากเครื่องที่ได้มาทดสอบเป็นเครื่องสีดำ ทำให้อาจจะเห็นการเรืองแสงไม่ชัดเจน อาจจะต้องรอดูในตัวเครื่องสีขาว หรือ สีทองแทน ว่าจะเหมือนกับที่โฆษณาไว้หรือไม่

IMG_2103

นอกจากนี้ ภายในกล่องของ Wiko Fever จะมาพร้อมกับอุปกรณ์เสริม อย่างที่ชาร์จ สายยูเอสบี ฟิลม์กันรอย เคสใส และตัวแปลงซิมการ์ดเผื่อมาให้ด้วย

สเปก

s13

สำหรับสเปกเครื่องของ Wiko Fever ทำงานบนหน่วยประมวลผลจาก MediaTek MT6753 ที่เป็น Octa-core 1.3 GHz 64บิต ใช้หน่วยประมวลผลภาพ Mali-T720 RAM 3GB พื้นที่เก็บข้อมูลภายในตัวเครื่อง 16 GB สามารถใส่ไมโครเอสดีการ์ดได้สูงสุด 64 GB ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอดย์ 5.1 (Lollipop)

ขณะที่ในแง่ของการเชื่อมต่อ ตัวเครื่องรองรับการใช้งาน 2 ซิม เพียงแต่เฉพาะซิมหลักเท่านั้นที่ใช้งาน 3G/4G ได้ทุกเครือข่ายในประเทศไทย โดยเป็น LTE Cat4 ดาวน์โหลดสูงสุด 150 Mbps อัปโหลดสูงสุด 50 Mbps ขณะที่การเชื่อมต่อไวเลส รองรับมาตรฐาน 802.11 b/g/n บลูทูธ 4.0 จีพีเอส วิทยุFM และรองรับการใช้งาน USB OTG

ฟีเจอร์เด่น

s01

การออกแบบอินเตอร์เฟสการใช้งานของ Wiko Fever จะเน้นไปที่การใช้งานง่ายไม่ซ้ำซ้อน ผู้ใช้สามารถตั้งลูกเล่นการปรับหมุนหน้า เปลี่ยนภาพพื้นหลังต่างๆได้เอง โดยตัวเครื่องจะไม่มีหน้ารวมแอปฯมาให้ ดังนั้นการเข้าถึงแอปจึงทำได้จากการปัดหน้าแรกไปยังแอปที่ต้องการได้ทันที ถ้ากลัวมีหน้ามากเกินไปก็สามารถจัดหมวดหมู่แอปรวมเข้าไปไว้ในโฟลเดอร์ได้

s02

ในส่วนของการล็อกหน้าจอก็เป็นตามมาตรฐานของแอนดรอดย์ผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกรูปแบบการล็อกหน้าจอแบบใส่รหัสหรือจะใช้แค่การปัดเพื่อปลดล็อกก็ได้ การแสดงข้อมูลในหน้าจอล็อกจะมีจุดที่น่าสนใจนอกจากการแจ้งเตือนทั่วไปแล้ว เวลาเสียบสายชาร์จจนเครื่องชาร์จเต็ม จะมีบอกระยะเวลาการใช้งานเครื่องให้ด้วยว่าสามารถใช้สนทนาได้กี่ชั่วโมง เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตใช้งานได้กี่นาที รวมถึงพยากรณ์อากาศในวันนั้นๆด้วย

ถัดมาส่วนของแถบการแจ้งเตือนด้านบนผู้ใช้ยังสามารถเข้าไปปรับตั้งค่าด่วนได้อย่างการปรับความสว่างหน้าจอเปิดปิดการเชื่อมต่ออย่างไวไฟบลูทูธดาต้าจีพีเอสไฟฉายหมุนหน้าจอและโหมดประหยัดพลังงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานเพียงแต่ผู้ใช้ไม่สามารถจัดเรียงด้วยตนเองได้นอกจากนี้จากระบบของแอนดรอยด์รุ่นใหม่ๆทำให้สามารถใช้งานบางแอปพลิเคชันแบบลอยตัวได้อย่างเช่นเครื่องคิดเลข

s05

ตัวแอปที่ติดตั้งมาให้ในเครื่องจะเป็นแอปทั่วๆไปในการใช้งาน ไม่มีการพรีโหลดแอปพลิเคชันที่ไม่จำเป็นมาให้ รวมถึงแอปเกี่ยวกับโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆด้วย ดังนั้นจึงต้องเข้าไปทำการดาวน์โหลดเพิ่มเอง ขณะที่แอปที่ติดตั้งมาให้ก็จะเป็นพวกตัวจัดการไฟล์ เครื่องอัดเสียง ไฟฉาย เป็นต้น

s06

ในส่วนของโหมดกล้องจะเน้นความง่ายในการใช้งานเช่นเดียวกัน โดยมีไอค่อนชัตเตอร์ภาพนิ่ง และบันทึกวิดีโอให้กดที่ฝั่งขวา ส่วนฝั่งซ้ายไว้สำหรับ หมุนกล้อง ปรับแฟลช เลือกโหมดถ่ายภาพ ที่มีให้เลือกทั้ง อัตโนมัติ โปร พาโนราม่า กลางคืน ชดเชยแสง หน้าสวย ถ่ายกล้องคู่ และโหมดกีฬา

โดยในโหมด Pro จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ปรับตั้งค่าความไวแสง (ISO) สมดุลแสงขาว (White Balance) ความคมชัด อุณหภูมิสี และปรับค่าชดเชยแสง เพื่อให้ได้ภาพในโทนแสงที่ต้องการ ส่วนการตั้งค่าอื่นๆก็จะมีอย่างระบบสัมผัสหน้าจอเพื่อถ่ายภาพ ปิดเสียงชัตเตอร์ ตั้งเวลาถ่ายภาพ ตั้งปุ่มปรับระดับเสียงเป็นปุ่มถ่ายภาพ หรือซูม และเลือกความละเอียดของทั้งวิดีโอ และภาพนิ่ง

s07

ถัดมาคือโหมดการใช้งานโทรศัพท์ ก็จะใช้ดีไซน์มาตรฐาน มีระบบคาดเดารายชื่อจากเลขหมายที่กด ขณะสนทนาจะมีแสดงชื่อ เบอร์ เวลาใช้สาย พร้อมไอค่อนลัดในการเปิดลำโพง ปิดไมค์ เรียกปุ่มกด พักสาย เพิ่มสาย และบันทึกเสียงด้วย ส่วนหน้าจอสายเรียกเข้าจะเป็นแบบวงกลมให้ปัดเลือกรับสาย ตัดสาย และส่งข้อความกลับได้

s08

การใช้งานเว็บเบราว์เซอร์จะใช้โครมเบราว์เซอร์เป็นมาตรฐาน และด้วยความละเอียดหน้าจอขนาด Full HD ในขนาด 5.2 นิ้ว ทำให้การอ่านข้อมูลต่างๆจำเป็นต้องซูมเข้ามาอ่านใกล้ๆแทน แต่โดยรวมการตอบสนอง การใช้งานถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อเทียบกับราคาเครื่องที่จ่ายไป

s09

แป้นพิมพ์ที่ติดมาในเครื่องจะเป็นมาตรฐานของแอนดรอยด์อยู่แล้ว ผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกเพิ่มภาษาไทยได้ทันที และสามารถกดเปลี่ยนภาษาได้ที่ปุ่มลูกโลก เพียงแต่คีย์บอร์ดจะมีขนาดเล็กไปสักหน่อย ดังนั้นถ้าใช้แล้วไม่คุ้นก็สามารถเปลี่ยนเป็นคีย์บอร์ดอื่นได้จากในเพลยสโตร์

ทดสอบประสิทธิภาพ

s11

มาถึงส่วนของผลการทดสอบ ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Quadrant Standard และ Antutu ได้คะแนน 35,248 คะแนน และ 20,331 คะแนน ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 5 จุดพร้อมกัน

s10

ทดสอบการใช้งาน HTML 5 ผ่าน Vellamo จากโครมเบราว์เซอร์ 2,619 คะแนน แอนดรอยด์เว็บวิวได้ 2,386 คะแนนส่วนประสิทธิภาพตัวเครื่องได้ (Metal) 1,068 คะแนน Multicore 1,482 คะแนน คะแนน Geek Bench 3 Single-Core 620 Multi-Core 2,673 คะแนน

ระยะเวลาการใช้งานบนแบตเตอรีต่อเนื่องอยู่ที่ 8 ชั่วโมง 53 นาที 40 วินาที คิดเป็นคะแนนของ Geekbench 3 ได้ 3,624 คะแนน

s12

ขณะที่การทดสอบด้วยโปรแกรม PCMark ในส่วนของ Work Performance ได้ 3,739 คะแนน 3D Mark ตัว Sling shot ES3.1 ได้ 183 คะแนน Sling shot ES3.0 ได้ 281 คะแนน Ice Storm Unlimited ได้ 6,849 คะแนน ส่วน Ice Storm Extreme 4,385 คะแนน และ Ice Storm 7,593 คะแนน

ส่วน Passmark Performance Test Mobile ได้คะแนน System 4,476 คะแนน CPU 77,189 คะแนน Disk 36,152 คะแนน Memory 4,959 คะแนน 2D Graphics 2,901 คะแนน และ 3D Graphics 1.135 คะแนน

สรุป

แม้ว่าจุดเด่นอย่างเรื่องของขอบตัวเครื่องเรืองแสงจะไม่ชัดเจนมากนักกับ Wiko Fever แต่โดยรวมแล้วถือว่าทาง Wiko ออกราคา และตัวเครื่องมาได้จับตลาดกลุ่มที่ไม่ต้องการสมาร์ทโฟนราคาแพง แต่เพียงพอกับการใช้งานได้เป็นอย่างดี จากการที่เครื่องทั้งรองรับ 4G และมีหน่วยประมวลผลที่เหมาะกับการใช้งานทุกรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองไปในตลาดอาจจะเจอคู่แข่งที่อยู่ในช่วงระดับราคาเดียวกันแต่มีขนาดหน้าจอใหญ่กว่า ตรงจุดนี้ก็อยู่กับทางผู้บริโภคแล้วว่าต้องการเครื่องหน้าจอใหญ่ หรือเครื่องหน้าจอขนาดพอดีมือ ถือจับใช้งานได้ง่าย ที่สำคัญคือตัวแอนดรอยด์ที่ลงมาค่อนข้างโล่ง และลื่นมาก

ข้อดี

  • สเปกตัวเครื่องค่อนข้างคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคา
  • แม้จะให้แบตเตอรีมา 2,900 mAh แต่ใช้งานได้ต่อเนื่องสบายๆ
  • ตัว ROM ของแอนดรอยด์ที่ให้มาทำได้ดี ลื่น และโล่งไม่มีแอปฯที่มาคอยกินทรัพยากร

ข้อสังเกต

  • วัสดุของฝาหลัง ยังดูบอบบาง
  • ขอบเรืองแสงเห็นได้น้อยมากในที่มืด

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
7.5
สเปก/ฟีเจอร์เด่น
7
ความสามารถโดยรวม
7
ความคุ้มค่า
8
SHARE