ความคุ้มค่ากับสเปกที่ได้ถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญของ Xiaomi มาตลอด แน่นอนว่ากับรุ่นล่าสุดที่เพิ่งวางขายในตลาดประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ผ่านตัวแทนจำหน่ายในไทย Xiaomi Mi 6 ที่เป็นตัวท็อปก็มีมาให้เลือกในระดับราคาเริ่มต้นที่ 13,790 บาท
ในภาพรวมแล้ว Xiaomi Mi 6 ถือเป็นสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ จากการที่ใช้หน่วยประมวลผลอย่าง Qualcomm Snapdragon 835 มาพร้อมกล้องคู่แบบ Tele ช่วยละลายหลังได้ แถมอัด RAM มาให้ใช้ 6 GB มีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือมาให้ด้วย ทำให้กลายเป็นเครื่องไฮเอนด์ในระดับราคาหมื่นกลางๆ
การออกแบบ
การออกแบบของ Xiaomi Mi 6 จะเน้นตัวเครื่องที่เป็นวัสดุโลหะ ผสมกับกระจกหน้า และหลังที่สร้างเงาสะท้อน งานประกอบแข็งแรง ประกอบกับขนาดตัวเครื่องที่พอดีมือ ทำให้จับถือใช้งานได้ง่าย โดยขนาดของตัวเครื่องอยู่ที่ 145.17 x 70.49 x 7.45 มิลลิเมตร น้ำหนัก 168 กรัม
แต่ถ้ามองในเรื่องของสี ถือว่าเป็นการจับคู่สีที่ค่อนข้างแปลก ด้วยการนำขอบสีทอง มาคู่กับตัวเครื่องสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นคู่สีที่ตรงข้ามกัน ทำให้ดูแล้วไม่ค่อยเข้ากันเท่าไหร่ แน่นอนว่าถ้ามองเฉพาะสีน้ำเงินอย่างเดียว Mi 6 ทำออกมาได้สวย เมื่อเปลี่ยนมุมกระทบของแสงก็ให้สีที่แตกต่างกัน
ด้านหน้า – พื้นที่หลักจะเป็นหน้าจอขนาด 5.15 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1920 x 1080 พิกเซล) ความละเอียดเม็ดสี 428 ppi คิดเป็นสัดส่วนหน้าจอเทียบกับตัวเครื่องประมาณ 71.4% ที่มีกล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์วัดแสง และตรวจจับใบหน้า และช่องลำโพงสนทนาอยู่ส่วนบน
ล่างหน้าจอมีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่อยู่ใต้กระจกหน้าจอ และเป็นปุ่มโฮมไปในตัว พร้อมกับปุ่มสัมผัสในการกดย้อนกลับ และเรียกดูแอปที่ใช้งานล่าสุด ขนาบอยู่ด้านข้าง ที่จะแสดงผลเป็นไฟแอลอีดี สองจุดเท่านั้น
ด้านหลัง – ตัวเครื่องจะใช้กระจกโค้งครอบไปกับส่วนของฝาหลังที่เป็นสีน้ำเงินมันเงา โดยมีกล้องคู่ 12 ล้านพิกเซลแบบมุมกว้าง และมุมเทเล พร้อมไฟแฟลข Dual LED อยู่ใกล้ๆ ถัดลงมาจะมีสัญลักษณ์ของ Mi และตัวอักษรบอกมาตรฐานต่างๆ แบตเตอรีที่บรรจุอยู่ภายในขนาด 3,350 mAh รองรับระบบ Quick Charge 3.0
ด้านซ้าย – จะมีช่องใส่ถาดซิมที่เป็นแบบ นาโนซิมการ์ด ทั้ง 2 ซิม รองรับการเชื่อมต่อ 4G พร้อมกัน ด้านขวา – มีปุ่มปรับระดับเสียง และปุ่มเปิด–ปิดเครื่อง โดยรอบๆเครื่องก็จะมีเสาสัญญาณสีขาวแทรกอยู่เรื่อยๆ
ด้านบน – จะมีไมค์ตัวที่ 2 ไว้ตัดเสียง และเซ็นเซอร์อินฟาเรต ไว้ใช้งานคู่กับ Mi Remote ด้านล่าง – จะมีช่องลำโพงอยู่ทางขวา และไมค์โครโฟนอยู่ทางซ้าย ขั้นกลางด้วยพอร์ต USB-C ที่เป็นทั้งพอร์ตสำหรับชาร์จไฟ เชื่อมต่อข้อมูล และใช้สายแปลงเพื่อต่อหูฟังขนาด 3.5 มม. ด้วย เนื่องจากตัวเครื่องตัดช่องเสียบหูฟังออกไป
ส่วนอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องจะประกอบไปด้วยตัวเครื่อง อะเดปเตอร์ชาร์จไฟ สาย USB-C ตัวแปลง USB-C เป็นพอร์ต 3.5 มม. โดยตัวแปลงและสายจะอยู่ม้วนมาอยู่ในกล่องกระดาษกลมๆภายในอีกที เคสยางใส คู่มือการใช้งาน และเข็มจิ้มซิมมาให้ แน่นอนว่าไม่ได้แถมหูฟังมาให้ด้วย
สเปก
สำหรับสเปกภายในของ Xiaomi Mi 6 จะมากับหน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 835 ที่เป็น Octa-Core 2.45 GHz + 1.9 GHz 64bit RAM 6 GB พื้นที่เก็บข้อมูล 64/128 GB พร้อมกราฟอก Adreno 540 ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 7.1 (Nougat)
ด้านการเชื่อมต่อรองรับ 3G/4G แบบ 3CA ความเร็วในการเชื่อมต่อสูงสุด 450/50 Mbps สามารถเลือกใส่ 2 ซิมเพื่อใช้งาน 4G พร้อมกันได้ ส่วน ไวไฟ มาตรฐาน 802.11ac บลูทูธ 5.0 พร้อม เซ็นเซอร์อินฟาเรต GPS และ NFC
ในส่วนของกล้องคู่ Mi 6 เลือกใข้การจับคู่ระหว่างเลนส์ไวด์ 27 มม. ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์ขนาด 1/29” 1.25um รูรับแสง f/1.8 ที่มาพร้อมกับระบบกันสั่น OIS 4 แกน คู่กับเลนส์ 52 มม. ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล 1.0um f/2.6 ทำให้รองรับการซูมแบบออปติคัล 2x พร้อมแฟลชคู่
ฟีเจอร์เด่น
การใช้งานของ Xiaomi ผู้ที่เคยใช้งานจะรู้จักกับอินเตอร์เฟสที่มีชื่อเฉพาะอย่าง Mi UI ซึ่งทาง Xiaomi พัฒนาขึ้นมาครอบความเป็นแอนดรอยด์ มีจุดเด่นที่ความง่ายในการใช้งาน กับสไตล์โปร่งๆโล่งๆ แต่แน่นอนว่าเมื่อพื้นฐานเป็นแอนดรอดย์การใช้งานต่างๆก็ไม่ใช่เรื่องยากอยู่แล้ว
เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาใช้งาน ในหน้าจอหลักจะมีการนำไอค่อนลัดต่างๆมาใส่ไว้ให้เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นแถบไอค่อนล่างสุดที่ไว้ใช้งานโทรศัพท์ ข้อความ เบราว์เซอร์ และกล้อง ถัดขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นการเข้าใช้งานแอปต่างๆ โดยทั้งหมดนี้ผู้ใช้สามารถลากสลับ ปรับเปลี่ยนไอค่อนได้ตามที่ใช้งาน
ประกอบกับการที่ Xiaomi ไม่ได้ทำหน้ารวมแอปมาให้ เวลาดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่มเติมก็จะมาอยู่ในหน้ารอง ผู้ใช้สามารถจับกลุ่มแอปเข้าไปไว้ในโฟลเดอร์เพื่อให้สะดวกกับการค้นหาได้ หรือจะเลือกนำวิตเจ็ตต่างๆมาใส่ก็ได้
ในส่วนของแถบการแจ้งเตือนเมื่อลากนิ้วจากขอบบนลงมา ก็จะพบกับแถวให้เลือกตั้งค่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ไวไฟ ไฟฉาย ปิดเสียง เมื่อลากลงมาอีกก็จะพบกับปุ่มลัดอื่นๆอย่างการจับภาพหน้าจอ บลูทูธ ตั้งปรับความสว่างหน้าจอ ล็อกหน้าจอ โดยทั้งหมดนี้ก็สามารถจัดเรียงใหม่ เพิ่มทางลัดอื่นๆได้
ส่วนหน้ารวมแอปที่เรียกใช้งานล่าสุด จะเปิดออกมาเป็นหน้าต่างให้สามารถสลับใช้งานไปมาได้ หรือจะเลือกให้เป็นแบบแสดงผลเป็นช่องๆสี่เหลี่ยม (Grid) ก็ได้เช่นกัน ด้วยการกดที่ปุ่มมุมขวาบน ส่วนล่างจะมีปุ่มกากบาทไว้กดปิดแอปทั้งหมด
ฟีเจอร์พิเศษที่น่าสนใจและผู้ใข้สามารถปรับใช้ได้ก็จะมีอย่าง การสร้าง Second Space หรือจำลองเครื่องขึ้นมา เพื่อติดตั้งแอปพลิเคชันที่ซ้ำกัน หรือแยกการใช้งานระหว่างการทำงาน หรือใช้งานส่วนตัว ซึ่งก็จะทำให้สามารถใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ก 2 ไอดีในเครื่องเดียวได้
ถัดมาคือการที่ตัวเครื่องไม่ได้มากับพอร์ต 3.5 มม. แต่การเชื่อมต่อผ่าน USB-C ก็ช่วยให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งการใช้งานหูฟังได้ดีขึ้น โดยเมื่อกดเข้าไปตั้งค่าหูฟังก็จะมี่ให้เลือกทั้งการตั้งว่าปุ่มบนสายหูฟังจะใช้ควบคุมเสียง หรือควบคุมการเล่นเพลง รวมถึงการปรับแต่งคุณภาพเสียงให้เหมาะกับหูฟังแต่ละชนิด
อีกจุดที่มากับแอนดรอยด์คือ ผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกเปลี่ยนแถบนำทาง (Navigation buttons) ได้ว่าจะให้เรียงปุ่มเรียกดูแอปไว้ทางซ้าย ย้อนกลับไว้ทางขวา หรือสลับกันก็ได้ ซึ่งถ้าคุนชิ้นกับการใช้งานจากเครื่องเก่ามาแบบใดก็แนะนำให้ตั้งเหมือนกัน
เพื่อความปลอดภัยตัวเครื่องจะมากับระบบอย่าง App Lock ไว้ให้ผู้ใช้สามารถตั้งรหัสผ่านสำหรับการเข้าใช้งานแอปพลิเคชันที่กำหนดไว้ได้ด้วย อาจจะประยุกต์ใช้กับผู้ที่มีบุตรหลาน สามารถตั้งไม่ให้เข้าแอปสำคัญๆ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการใช้งาน
นอกจากนี้ ก็ยังมีหน้ารวมธีม ให้เลือกเปลี่ยนกัน โดยจะมีให้เลือกทั้งธีมสีของเครื่อง และปรับแต่งไอค่อน ซึ่งที่ผ่านมา Mi UI ถือเป็นหนึ่งในอินเตอร์เฟสที่มีการทำธีมออกมาค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว ดังนั้นก็สามารถเข้าไปเลือกดูใช้แบบฟรี หรือจะเสียเงินอุดหนุนก็ได้
กรณีที่ไม่อยากใช้งาน Second Space ใน Mi 6 จะมีโหมดพิเศษอย่าง Dual Apps มาให้ใช้ ผู้ใช้สามารถเลือกแอปที่ต้องการเพื่อติดตั้งแยกกับแอปเดิมได้ โดยที่ตัวไอค่อนจะมีสัญลักษณ์บอกชัดเจน เพื่อให้เข้าใช้งานได้ถูกต้อง
มาถึงจุดเด่นสำคัญของเครื่องอย่างโหมดถ่ายภาพที่ Mi 6 ให้มาแบบกล้องคู่ การทำงานในโหมดถ่ายภาพ อินเตอร์เฟสใช้งานถือว่าค่อนข้างง่าย โดยจะมีปุ่มซูม 1x 2x ให้กดเพื่อใช้งานโหมดกล้องคู่ได้ทันที หรือจะเลือกกดปุ่มถ่ายภาพบุคคล (Portrait) เพื่อละลายหลังแทนก็ได้
ส่วนโหมดถ่ายภาพที่มีให้เลือกนอกจากแบบอัตโนมัติ ก็จะมีถ่ายภาพแบบพาโนราม่า ตั้งเวลาถ่าย ถ่ายภาพพร้อมบันทึกเสียง โหมดมืออาชีพ รวมถึงการใส่เอฟเฟกต์ภาพอย่างโหมดบิวตี้ การถ่ายแบบ Till Shift เลือกสัดส่วนภาพเป็นแบบ 1:1 ให้เลย
โดยในการตั้งค่านอกจากการตั้งความละเอียดรูปภาพทั่วไป ก็จะมีให้เลือกเลยว่าจะบันทึกพิกัดสถานที่ลงไปด้วยหรือไม่ เลือกเปิดปิดเสียงชัดเตอร์ได้ เลือกใช้โหมดกล้องสำหรับการสแกนคิวอาร์โค้ดได้ทันที รวมถึงโหมดที่ใช้ AI มาช่วยประมวลผลอายุ แยกเพศ ตั้งปุ่มปรับเสียงเป็นชัตเตอร์ก็ได้
เมื่อลองใช้งานโหมดถ่ายภาพแบบละลายหลัง สิ่งที่ได้ชัดๆเลยคือฉากหลังละลายแน่นอน แต่ว่าถ้ามองในเรื่องความเนียนของขอบ ตัวประมวลผลยังทำออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร ยังมีการกินพื้นที่ไปอยู่บ้าง แตกลับกันด้วยความสามารถของการถ่ายออปติคัลซูม 2x ก็ช่วยให้ถ่ายภาพซูมได้ง่ายขึ้น
เทียบรูปถ่ายมุมปกติ กับ ซูม 2x
อย่างไรก็ตามคุณภาพของรูปที่ออกมาก็ไม่ได้ถึงกับคมกริบมากนัก การถ่ายภาพในที่แสงน้อยยังมีนอยซ์ค่อนข้างเยอะ ซึ่งอาจจะเกิดจากตัวเลนส์ที่ใช้ กับตัวประมวลผลยังไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมามากนัก ทำให้ต้องรอดูการอัปเกรดเฟิร์มแวร์ที่ออกมาในอนาคตว่าจะช่วยได้หรือไม่
สุดท้ายในส่วนของการตั้งค่าตัวเครื่องจะแยกการตั้งค่าการเชื่อมต่อการจัดการซิมการ์ด ไวไฟ บลูทูธ ปล่อยฮ็อสป็อตออกมาเป็นส่วนแรก ตามมาด้วยการใช้งานทั่วไปอย่างการตั้งค่าหน้าจอ เสียง ธีม จนมาถึงการตั้งค่าตัวเครื่องอย่างการล็อกหน้าจอ การจัดการแบตเตอรี พื้นที่เก็บข้อมูล
ที่น่าสนใจคือการที่มี Mi Account มาให้ใช้งาน นอกจากจะใช้เป็นคลาวด์ในการเก็บข้อมูล ยังสามารถใช้ในการตามหาเครื่อง (ใช้คู่กับหน้าเว็บไซต์เพื่อเข้าไประบุจุดที่อยู่ของเครื่องที่ทำการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตครั้งสุดท้าย) แน่นอนว่าถ้าโดนถอดซิมออกก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี
ทดสอบประสิทธิภาพ
Antutu Benchmark = 159,376 คะแนน
Quadrant Standard = 38,255
Multi-Touch = 10 จุด
Geekbench 4
Single-Core = 1,942 คะแนน
Multi-Core = 6,294 คะแนน
Compute = 7,816 คะแนน
PassMark PerformanceTest
System = 12,317 คะแนน
CPU Tests = 249,099 คะแนน
Memory Tests = 14,403 คะแนน
Disk Tests = 72,247 คะแนน
2D Graphics Tests = 7,502 คะแนน
3D Graphics Tests = 3,185 คะแนน
3D Mark
Sling Shot Extreme Unlimited = 2,826 คะแนน
Sling Shot Unlimited = 3,262 คะแนน
Sling Shot Extreme = 2,756 คะแนน
Sling Shot = 3,310 คะแนน
Ice Storm Extreme = 14,166 คะแนน
Ice Storm Unlimited = 34,411 คะแนน
Ice Storm = 13,497 คะแนน
PC Mark
Work 2.0 = 6,728 คะแนน
Computer Vision = 3,432 คะแนน
Storage = 4,976 คะแนน
Work = 7,821 คะแนน
ส่วนการทดสอบแบตเตอรีบน PC Mark ตั้งแต่ 100 > 20% ผลออกมาอยู่ที่ 12 ชั่วโมง 23 นาที แน่นอนว่าถ้าเป็นการใช้งานปกติทั่วไปก็จะยืดระยะเวลาออกไปอีก เพราะด้วยแบตเตอรีที่ให้มา 3,350 mAh ถือว่าค่อนข้างเยอะ ดังนั้นใช้งานในหนึ่งวันถือว่าสบายๆ ถ้าใช้งานต่อเนื่องหนักๆก็เกิน 6-8 ชั่วโมงแน่ๆ
อย่างไรก็ตาม ในการใช้งานเครื่องเมื่อประมวลผลหนักๆแล้ว ตัวเครื่องจะค่อนข้างร้อน ประกอบกับด้วยเครื่องเป็นโลหะ และกระจกหลัง ทำให้การถือใช้งานอาจจะร้อนมือได้ ถ้าใช้งานนานจริงๆ ควรพักเครื่องบ้าง
สรุป
ด้วยระดับราคาเปิดตัวของ Xiaomi Mi 6 ทำให้กลายเป็นสมาร์ทโฟนในระดับไฮเอนด์ (วัดจากหน่วยประมวลผล) ที่ราคาน่าสนใจที่สุดในท้องตลาด ประกอบกับฟีเจอร์ต่างๆที่ให้มาก็ถือว่าได้ใช้งานกันจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้องคู่ การใส่เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือมาให้ใช้
ตัวเครื่องขนาดถือว่ากำลังพอดีมือ การใช้งานทั่วๆไปอย่างการเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ก เอามาอ่านเมล ทำงานก็ได้สบายๆ ส่วนถ้าจะประมวลผลหนักๆขึ้นมาหน่อยอย่างการดูหนัง เล่นไฟล์ความละเอียดสูง เล่นเกมถือว่าทำได้สมประสิทธิภาพอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม สินค้าก็อยู่กับระดับราคา ถ้าจะคาดหวังว่าจะดีทุกอย่างคงไม่ใช่เพราะ ภาพถ่ายของ Mi 6 ทำออกมาได้ไม่สมเป็นกล้องคู่เท่าที่ควร ซึ่งจริงๆแล้วน่าจะทำได้ดีกว่านี้ แถมยังตัดช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. ออกไปตามสมัยนิยม ใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มไม่ได้อีก
เบื้องต้น Xiaomi Mi 6 ที่วางขายในไทยจะแบ่งออกเป็น 2 รุ่นหลักๆด้วยกันคือรุ่น RAM 6 GB ROM 64 GB ในราคา 13,790 บาท ส่วน RAM 6 GB ROM 128 GB จะอยู่ที่ 15,990 บาทซึ่งถ้าต้องการเครื่องพื้นที่เก็บข้อมูลเยอะก็ควรเลือกตัวแพงกว่า