ตลาดอุปกรณ์ไอทีสวมใส่ได้ในกลุ่มอุปกรณ์วัดการออกกำลังกาย ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความคึกคักมากที่สุด ทั้งจากแบรนด์มือถือที่หันมาผลิตอุปกรณ์เสริมเพื่อเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน และผู้ผลิตอุปกรณ์ออกกำลังกายโดยเฉพาะ
โดยตลาดที่มีความน่าสนใจมากที่สุดคือ ฟิตเนสแทร็กเกอร์ในราคาพันกว่าบาท ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอุปกรณ์วัดการใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ที่ Xiaomi ถือเป็นเจ้าตลาดของกลุ่มนี้ จากผลิตภัณฑ์ในตระกูล Mi Band ที่ปัจจุบันออกมาเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว
ความสามารถของ Mi Band 4 ถือว่าพัฒนาเพิ่มขึ้นมากทั้งการแสดงผลที่ปรับเป็นหน้าจอสัมผัสสี รองรับการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ สามารถใส่ว่ายน้ำได้ และที่สำคัญคือเรื่องของแบตเตอรีที่สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง
การใช้งาน
Xiaomi Mi Band 4 ถือเป็นอุปกรณ์วัดการออกกำลังกาย หรือการใช้ชีวิตประจำวันที่จะเหมาะกับผู้ที่ไม่อยากหาสมาร์ทวอทช์มาใช้ ยังรู้สึกชื่นชอบการใส่นาฬิกาทั่วไปใช้งานอยู่ Mi Band 4 จะกลายเป็นอุปกรณ์เสริมที่นำมาใช้เพื่อตรวจสอบกิจกรรมต่างๆแทน
ด้วยการที่ตัวเรือนออกแบบมาให้มีขนาดเล็ก สวมใส่ง่าย ดังนั้น Mi Band 4 จึงเหมาะกับการใส่ติดข้อมือไปทุกที่ ทุกเวลา และที่สำคัญก็คือไม่ต้องระมัดระวังมากนักในการสวมใส่เพื่อใช้งาน เนื่องจากระดับราคาที่ไม่ได้สูงมากนัก ประกอบกับวัสดุที่เป็นยาง และพลาสติกเป็นหลัก
โดยในขั้นต้นผู้ใช้ต้องทำการเชื่อมต่อ Mi Band 4 เข้ากับแอปพลิเคชันอย่าง Mi Fit (iOS) เพื่อล็อกอินเข้าบัญชีของ Xiaomi ก่อนทำการเพิ่ม Mi Band 4 เข้าไป ซึ่งตัวข้อมูลต่างๆที่วัดออกมา ก็จะถูกบันทึกเข้าไปใน Apple Health เช่นเดียวกัน
ภายในแอปพลิเคชันผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกตั้งค่าหน้าจอ เปิดการแจ้งเตือนสายเรียกเข้า แสดงผลข้อความ การแจ้งเตือนปฏิทิน นาฬิกาปลุก เตือนให้ขยับเมื่อนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ไปจนถึงช่วงเวลาในการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และการอัปเดตเฟิร์มแวร์ให้ตัวเครื่อง
หลังจากนั้น ตัวเครื่องก็จะทำการวัดก้าว วันนอน วัดอัตราการเต้นของหัวใจตามปกติของฟิตเนสแทร็กเกอร์ทั่วไป ซึ่งจุดเด่นหลักๆของ Mi Band 4 เลยคือเรื่องของแบตเตอรีที่แทบจะใส่แบบลืมชาร์จไปได้เลย
เท่าที่ทดสอบใช้งานถ้าใส่วัดการใช้ชีวิตทั่วๆไป แบตเตอรีบน Mi Band 4 สามารถอยู่ได้เกิน 2 สัปดาห์สบายๆ แต่ถ้าช่วงไหนที่มีการออกกำลังกายบ่อย มีการวัดอัตราการเต้นของหัวใจถี่ขึ้น ระยะเวลาในการใช้งานก็จะลดลง ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ
จุดเดียวที่ทำให้ Mi Band 4 ยังไม่สมบูรณ์แบบคือเรื่องของ GPS เนื่องจากตัวเครื่องไม่ได้รองรับระบบระบุพิกัด ทำให้เวลาใช้ออกกำลังกลางแจ้งต่างๆ ต้องใช้งานคู่กับสมาร์ทโฟน เพื่อดึงข้อมูล GPS จากตัวสมาร์ทโฟนมาใช้แทน
เจาะลึกรายละเอียด Mi Band 4
สำหรับรายละเอียดของ Mi Band 4 ไล่ตั้งแต่การแกะกล่องออกมา จะพับกับตัวเครื่อง สายรัดข้อมือ สายชาร์จ และคู่มือการใช้งาน โดยเวลาที่ต้องการชาร์จ ผู้ใช้จำเป็นต้องถอดตัวเรือนออกจากสายก่อนเสียบเข้ากับอุปกรณ์ชาร์จ
โดยตัวเรือน Mi Band 4 จะมากับขนาดหน้าจอสัมผัส 0.95 นิ้ว ความละเอียด 120 x 240 พิกเซล เป็นจอแสดงผลแบบ AMOLED ที่ให้ความสว่างหน้าจอสูงถึง 400nit (สามารถปรับความสว่างได้) มีปุ่มควบคุมเป็นปุ่มเดียวด้านข้างเครื่อง ที่ใช้กดค้างเพื่อเปิด และกดเพื่อย้อนกลับ
ขาดของสายรัดข้อมือจะมีความกว้างที่ 18 มม. ความยาวสายปรับได้ระหว่าง 155 – 216 มม. น้ำหนัก 22.1 กรัม โดยวัสดุที่ใช้จะเป็นยางเทอร์โมพลาสติก โพลียูรเทน กับตัวเรือนที่เป็นโพลีคาร์บอเนต ภายในมีแบตเตอรี 135 mAh
ส่วนของเซ็นเซอร์ตรวจจะมีทั้งไว้ใช้ตรวจจับการเคลื่อนไหว Accelerometer และ Gyroscope อย่างละ 3 แกน ร่วมกับเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ และเซ็นเซอร์วัดระยะ (ใช้เพื่อตรวจสอบว่าสวมใส่อยู่)
ในแง่ของการเชื่อมต่อ Mi Band 4 ใช้บลูทูธ 5.0 BLE ที่ใช้พลังงานต่ำ ซึ่งช่วยให้สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนตลอดเวลา ดังนั้นในการใช้งานก็แนะนำให้เปิดบลูทูธเชื่อมต่อทิ้งไว้เลย เพื่อให้เวลามีการแจ้งเตือนในโทรศัพท์ก็จะเตือนที่ Mi Band 4 ด้วย
ฟีเจอร์ที่ห้ามพลาด
ในการใช้งาน Mi Band 4 ด้วยการที่เป็นหน้าจอแบบสัมผัสแล้ว ทำให้สามารถสั่งงานตัวเครื่องได้ง่ายขึ้น โดยหลักๆแล้วจะมีโหมดให้เลือกกดเข้าไปใช้อย่าง Status เพื่อเข้าไปดูจำนวนก้าว ปริมาณแคลอรี่ที่เผาผลานไป ถัดมาเป็น Heart rate เพื่อแสดงผลอัตราการเต้นของหัวใจ
ถ้าเริ่มออกกำลังกายก็สามารถเข้าไปเลือกประเภทการออกกำลังได้ภายในโหมดของ Workout ที่จะมีให้เลือกแบบพื้นฐานทั้งวิ่งบนลู่วิ่ง วิ่งกลางแจ้ง ปั่นจักรยาน เดิน ว่ายน้ำ และยังมีโหมดให้ใช้เช็กสภาพอากาศผ่าน Weather ที่ดึงข้อมูลจากเน็ตมาแสดงผลให้ดูด้วย
ที่เหลือก็จะเป็นฟีเจอร์เพิ่มเติม อย่างเปิดโหมดห้ามรบกวน ตั้งนาฬิกาปลุก นาฬิกาจับเวลา ค้นหาสมาร์ทโฟน เลือกการแสดงผลหน้าจอหลัก และเข้าไปตั้งค่าอย่างการปรับความสว่าง ล็อกหน้าจอ สั่งรีสตาร์ทเครื่อง
ความสามารถพิเศษที่เพิ่มขึ้นมาในรุ่นนี้คือสามารถใช้เพื่อควบคุมการเล่นเพลงได้ด้วย อย่างที่ทดสอบคือใช้ควบคุม Spotify บน iPhone ก็สามารถสั่งหยุด เพิ่มลดเสียง และเปลี่ยนเพลงได้ตามปกติ
สรุป
รวมๆแล้ว Mi Band 4 ถือเป็นฟิตเนสแทร็กเกอร์ราคาประหยัดที่น่าสนใจ เพราะด้วยราคาเปิดตัวที่ 1,290 บาท แต่ได้อุปกรณ์ที่สามารถใช้วัดการออกกำลังกาย สามารถซิงค์ข้อมูลไปเก็บไว้บน Google Fitness หรือ Apple Health ได้ก็ถือว่าครบถ้วนอยู่แล้ว ถ้าใครยังไม่มี หรือเครื่องเก่าเสีย Mi Band 4 จึงกลายเป็นตัวเลือกในระดับเริ่มต้นที่พลาดไม่ได้