ตลาดอุปกรณ์หุ่นยนต์ดูดฝุ่นภายในบ้าน นอกจากผู้ผลิตรายหลักอย่าง iRobot แล้ว เราก็จะเริ่มเห็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง Philips Samsung LG มีการนำสินค้าเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น และล่าสุด Xiaomi ก็เริ่มนำหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Mi Ecosystems เพื่อทำตลาดในประเทศไทยแล้ว
จุดเด่นหลักของ Mi Robot Vacuum คือเรื่องของความฉลาดที่ตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น จะมีการใช้เลเซอร์ในการช่วยวัดระยะ และสร้างแผนที่จำลองขึ้นมา ก่อนที่จะคำนวนหาเส้นทางในการทำความสะอาด โดยผู้ใช้สามารถควบคุมได้ผ่านแอปบนสมาร์ทโฟนทุกที่ทุกเวลา แม้ไม่ได้อยู่บ้านก็ตาม
ทั้งนี้ ราคาจำหน่ายของ Mi Robot Vacuum จะอยู่ที่ 12,990 บาท
เชื่อมต่อเครือข่าย สั่งงานผ่านมือถือ
ด้วยการที่ Mi Robot Vacuum เป็นหุ่นยนต์ทำความสะอาดที่อยู่ใน Mi Ecosystems ดังนั้นในการใช้งานให้เต็มประสิทธิภาพผู้ใช้ควรที่จะทำการเชื่อมต่อหุ่นยนต์ทำความสะอาดเข้ากับเครือข่ายไวไฟภายในบ้าน เพื่อให้สามารถควบคุมได้ง่ายที่สุด
โดยอุปกรณ์ที่มาในกล่องของ Mi Robot Vacuum นอกจากตัวเครื่องดูดฝุ่น แล้วก็จะมีแท่นชาร์จ และแปรงทำความสะอาดมาให้เท่านั้น ไม่ได้มีรีโมทมาใช้ควบคุม หรืออุปกรณ์อื่นๆมาให้แต่อย่างใด
เมื่อแกะจากกล่องออกมา ทำวางลงที่พื้น เริ่มแรกเลยคือการเชื่อมต่อเข้ากับไวไฟภายในบ้าน ด้วยการเปิดเครื่อง ทำการกดปุ่มเปิดเครื่องพร้อมปุ่มโฮม (สัญลักษณ์รูปบ้าน) พร้อมกันค้างไว้เพื่อเปิดให้ตัวเครื่องเข้าสู่โหมดเชื่อมต่อ
ขณะเดียวกันในมือถือก็เปิดแอปพลิเคชัน Mi ขึ้นมา ทำการเลือกเพิ่มอุปกรณ์เข้าไป โดยให้เลือก Mi Robot Vacuum ตัวแอปจะให้ทำการเชื่อมต่อเข้ากับไวไฟของหุ่นยนต์ทำความสะอาด เพื่อให้เข้าไปตั้งค่าเชื่อมต่อกับไวไฟในบ้านอีกครั้ง
หลังจากนั้น ก็สามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นนี้ อยู่ที่ห้องใดภายในบ้าน เพื่อที่ในกรณีที่มีหลายตัว ใช้งานในหลายๆ ห้องจะได้สามารถแยกสั่งงานกันได้ด้วย เมื่อเลือกห้องเสร็จก็ทำการตั้งชื่อให้เรียบร้อย
ส่วนแท่นชาร์จก็สามารถนำไปเสียบปลั้กวางไว้ในบริเวณที่ Mi Robot Vacuum เข้าถึงได้ หลังกดสั่งงานผ่านแอปให้เข้าไปหาแท่นชาร์จ (Dock) ได้ โดยไม่ต้องยกไปลากชาร์จในครั้งแรก เพราะตัวหุ่นยนต์สามารถสแกนหาได้เอง
เลือก 3 โหมดในการทำความสะอาด
ในการสั่งให้หุ่นยนต์เริ่มดูดฝุ่น ผู้ใช้สามารถกดปุ่ม Clean จากหน้าจอแอปพลิเคชันได้เลย หลังจากนั้นก็สามารถกดเลือกได้ว่าจะให้ทำงานในโหมดปกติ (Normal) โหมดความแรงสูง (Turbo) หรือโหมดเงียบ (Silent) ในกรณีที่ทำความสะอาดอยู่แล้วต้องการให้หยุดก็สามารถสั่งหยุดชั่วคราว (Pause) หรือจะกดให้เครื่องกลับไปหาแท่นชาร์จ (Dock) ก็กดได้ทันที
ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่ Mi Robot Vacuum นำมาใช้เพื่อสแกนหาพื้นที่ในการทำความสะอาดคือใช้กลไกการทำงานของ LDS (Laser Distance Sensor) และ SLAM (Simultaneous Lacalization and Mapping)
ที่ช่วยให้ Mi Robot Vacuum สร้างแผนที่ของห้องขึ้นมา ก่อนทำการคำนวณหาเส้นทางในการทำความสะอาด โดยจะเป็นการสแกนแบบ 360 องศา ราว 1,800 ครั้งในแต่การสแกน โดยเมื่อสังเกตถึงการทำแผนที่ตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นจะเริ่มจากเริ่มไล่ทำความสะอาดจากริมกำแพงก่อนเข้ามาทำความสะอาดบริเวณกลางห้อง
เมื่อทำความสะอาดเสร็จ ก็จะกลับเข้าสู่แม่นชาร์จในทันที เพื่อสแตนบายในการทำความสะอาดครั้งต่อไป ในจุดนี้ ผู้ใช้สามารถเปิดฝาขึ้นมา เพื่อถอดกล่องที่อยู่ภายในเพื่อนำฝุ่นผง ไปเททิ้ง และทำความสะอาดได้ตลอดเวลา
แน่นอนว่าในการใช้งานจริง หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทำความสะอาดก็ยังมีข้อจำกัดหลังๆอยู่ในเรื่องของพื้นต่างระดับ ประกอบกับ Mi Robot Vacuum ไม่สามารถสั่งจำกัดบริเวณได้จากในแอปได้ ทำให้เวลาใช้งาน ต้องมีการกั้นพื้นที่ในระดับนึงก่อนเปิดใช้งาน รวมถึงข้อจำกัดเดิมๆ เรื่องกรณีที่พื้นมีน้ำขัง อย่างทำน้ำหกก็อาจเกิดปัญหาในการใช้งานได้