ตัดเสียงรบกวน – CBIZ Reviews – MGR Online https://cyberbiz.mgronline.com เว็บไซต์รีวิวอุปกรณ์ ไอที ไฮเทค เป็นส่วนหนึ่งของผู้จัดการออนไลน์ Thu, 15 Jul 2021 11:20:20 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.0 Review : Huawei Watch 3 – FreeBuds 4 คู่หาสมาร์ทวอทช์สุขภาพ และหูฟังไร้สายตัดเสียงรบกวน https://cyberbiz.mgronline.com/review-huawei-watch-3-freebuds-4/ Thu, 15 Jul 2021 11:14:35 +0000 https://cyberbiz.mgronline.com/?p=35577

กลุ่มผลิตภัณฑ์สมาร์ทวอทช์ และหูฟังไร้สายของหัวเว่ย ถือเป็น 2 IoT ดีไวซ์ที่ หัวเว่ย (Huawei) เปิดตัวมาเป็นกลุ่มแรกๆ ในช่วงที่สมาร์ทโฟนของหัวเว่ย ได้รับความนิยม จนมีผู้บริโภคใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ในปีนี้ หัวเว่ย ได้มีการเพิ่มความสามารถให้กับทั้งสมาร์ทวอทช์ และหูฟังไร้สาย ได้อย่างน่าสนใจ เพราะไม่ได้จำกัดการใช้งานเฉพาะบนอีโคซิสเตมส์ของ HUAWEI เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้งานกับทั้ง Android และ iOS ได้เป็นอย่างดี

Huawei Watch 3 มีจุดเด่นที่น่าสนใจคือรองรับการเชื่อมต่อแบบ eSIM พร้อมการวัดค่าสุขภาพที่ครบถ้วนทั้งการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิ จนถึงค่าออกซิเจนในเลือด ในขณะที่ FreeBuds 4 มากับคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น และตัดเสียงรบกวนได้น่าประทับใจ

สำหรับราคาจำหน่าของ Huawei Watch 3 เริ่มต้นที่ 12,990 บาท ส่วน Huawei FreeBuds 4 ราคาเปิดตัว 5,999 บาท มีโปรโมชันพิเศษเหลือ 4,499 บาท ถึงวันที่ 22 .. นี้

ข้อดี

Huawei Watch 3

  • มีฟีเจอร์ตรวจจับเกี่ยวกับสุขภาพครบถ้วน
  • รองรับการใช้งาน eSIM สามารถใช้สื่อสารแทนสมาร์ทโฟนได้
  • มีโหมดประหยัดแบตเตอรี ใช้งานได้ 14 วัน

HUAWEI FreeBuds 4

  • หูฟังไร้สาย ตัดเสียงรบกวน สวมใส่สบาย
  • รองรับการเชื่อมต่อ 2 อุปกรณ์สลับใช้งานไปมาได้

ข้อสังเกต

  • Huawei Watch 3 ยังมีแอปพลิเคชันที่รองรับค่อนข้างน้อย จาก App Gallery
  • เวลาชาร์จแบตเตอรี ถ้าเครื่องร้อนจะตัดการชาร์จอัตโนมัติ (แนะนำให้ชาร์จในห้องแอร์)
  • HUAWEI FreeBuds 4 อาจจะไม่เหมาะกับรูปทรงหูของทุกคน เพราะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ถ้าใส่ไม่พอดีอาจะหลุดได้

HUAWEI Watch 3 นาฬิกาอัจฉริยะวัดอุณหภูมิได้

การพัฒนาสมาร์ทวอทช์ของ หัวเว่ย ในปีนี้ ค่อนข้างน่าสนใจตรงการเพิ่มฟีเจอร์ที่มีความสำคัญ และได้ใช้งานแน่ๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการวัดค่าออกซิเจนในเลือด (spO2) รวมถึงวัดอุณหภูมิบริเวณผิวหนัง ที่เพิ่มเข้ามา

เนื่องจากทั้ง 2 ค่านี้ สามารถใช้บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ในการเป็นไข้ หรือมีปัญหาในการหายใจ ซึ่งได้กลายเป็นอาการเบื้องต้นของโควิด-19 แต่แน่นอนว่าเมื่อสมาร์ทวอทช์ไม่ใช่เครื่องมือทางการแพทย์ ดังนั้นจึงสามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ในการวินิจฉัยโรคได้

ความน่าสนใจของ Watch 3 ไม่ได้จบแค่ 2 ฟีเจอร์นั้น แต่ภายในยังอัดแน่นมาด้วยความอัจฉริยะที่น่าสนใจหลายๆ เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้ใช้งาน โดยฟีเจอร์พื้นฐานอย่างวัดก้าวเดิน วัดอัตราการเต้นของหัวใจ Huawei Watch รุ่นต่างๆ ทำได้ดีอยู่แล้ว

ที่เพิ่มขึ้นมาในรุ่นนี้ คือรองรับรูปแบบการออกกำลังกายมากขึ้น พร้อมกับเพิ่มโหมดแนะนำในการออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้การใช้ชีวิตในช่วงนี้ของผู้คนยังสามารถรักษาสุขภาพให้แข็งแรงไปได้ด้วย

นอกจากนี้ Huawei Watch 3 ยังรองรับการเชื่อมต่อ eSIM (AIS และ TrueMove H มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม) ทำให้สามารถใช้รับสายโทรศัพท์จากนาฬิกาได้ทันที เวลาไปออกกำลังกายก็จะไม่พลาดการสื่อสารต่างๆ

เมื่อสมาร์ทวอทช์สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ก็จะช่วยปลดล็อกความสามารถอื่นๆ อย่างการฟังเพลง นำทาง โดยที่ไม่ต้องซิงค์กับสมาร์ทโฟนตลอดเวลาก็ได้ ทำให้กลายเป็นนาฬิกาอัจฉริยะที่มีความสามารถรอบด้าน

เบื้องหลังในการทำงานของ Huawei Watch 3 ก็คือการนำระบบปฏิบัติการ HarmonyOS มาใช้งาน ทำให้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับ Huawei App Gallery เพื่อติดตั้งแอปพลิเคชันใช้งานได้ทันที แม้ว่าจะใช้งานร่วมกับ iOS หรือ Android ที่ไม่ใช่ Huawei ก็ตาม

ในแง่ของการออกแบบ Huawei Watch 3 ยังคงเอกลักษณ์ในแง่ของหน้าปัดทรงกลมเช่นเดิม ความรู้สึกที่ได้จะออกแมนๆ เหมาะกับผู้ชายมากกว่า จากขนาดตัวเครื่อง 46.2 x 46.2 x 12.15 มิลลิเมตร น้ำหนักไม่รวมสายจะอยู่ที่ 54 กรัม

ตัวหน้าจอที่ให้สีสันสดใส และสามารถเลือกเปลี่ยนหน้าปัดได้นั้น เลือกใช้จอแบบ AMOLED ขนาด 1.43 นิ้ว ความละเอียด 466 x 466 พิกเซล ให้ความละเอียดเม็ดสีที่ 326ppi วัสดุตัวเรือนทำจากสแตนเลสเป็นหลัก

การควบคุมทำได้ทั้งจากหน้าจอแบบสัมผัส เม็ดมะยมที่สามารถกด และหมุนได้ พร้อมกับปุ่มกดด้านข้าง เพิ่มเติม เพื่อให้เข้าถึงการใช้งานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว นาฬิกายังกันน้ำที่ระดับ 5 ATM ทำให้สามารถใส่ว่ายน้ำที่ไม่ลึกเกิน 50 เมตรได้ด้วย

สำหรับการเชื่อมต่อ นอกจากใส่ eSIM เพื่อใช้งาน 4G LTE แล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อ WiFi 4 (รองรับเฉพาะ 2.4 GHz) มี GPS ในตัว รวมถึง NFC และบลูทูธ 5.2 ทำให้สามารถเชื่อมต่อหูฟังไร้สาย เข้ากับ Watch 3 เพื่อใช้ฟังเพลงจากนาฬิกาโดยตรงได้ด้วย

ในส่วนของระยะเวลาการใช้งาน Huawei Watch 3 เคลมว่าในโหมดอัจฉริยะสามารถใช้งานได้นาน 3 วัน และโหมดประหยัดพลังงานจะอยู่ได้ 14 วัน ซึ่งในโหมดนี้จะยังคงวัดอัตราการเต้นของหัวใจ เชื่อมต่อบลูทูธกับสมาร์ทโฟนรับการแจ้งเตือน ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เชื่อมต่อกับ iOS ผ่านแอป Huawei Health ระยะเวลาการใช้งานจะสั้นลงเหลือ 1.5 วันเท่านั้น เนื่องจากใช้การเชื่อมต่อคนละแบบกับสมาร์ทโฟนที่มีพื้นฐานของ Android ทำให้ใช้พลังงานในการรับส่งข้อมูลมากกว่าเดิม

HUAWEI FreeBuds 4 คุณภาพเสียงตัดเสียงรบกวนเด็ดขึ้น

มาถึง HUAWEI FreeBuds 4 ที่เป็นหูฟังไร้สายชูความโดดเด่นเรื่องการตัดเสียงรบกวน ก่อนหน้านี้ หัวเว่ย เคยออก FreeBuds 4i ที่เป็นหูฟังไร้สายแบบ In-Ears ออกมารองรับการตัดเสียงรบกวนเหมือนกัน FreeBuds 4 รุ่นนี้จึงเหมือนเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้เพิ่มเติม

โดยการออกแบบของ FreeBuds 4 จะเปลี่ยนดีไซน์ใหม่อย่างเคสที่เป็นทรงกลม ขนาด 58 x 21.2 มิลลิเมตร น้ำหนักรวม 38 กรัม ทำให้พกพาได้ง่าย ใส่ในกระเป๋ากางเกงได้สบายๆ มีให้เลือกด้วยกัน 2 สีคือ เงิน Silver Frost และ ขาว Ceramic White มีพอร์ตชาร์จ USB-C อยู่ด้านล่าง และปุ่มกดสำหรับเชื่อมต่อทางขวา

ในส่วนของหูฟัง FreeBuds 4 มาในลักษณะของหูฟังปกติ ที่ไม่ได้ต้องยัดจุกยางเข้าไปในรูหู โดยทางหัวเว่ย ระบุว่า มีการออกแบบให้เหมาะกับสรีระของใบหู ทำให้เมื่อสวมใส่แล้วจะกระชับ พอดี และมีน้ำหนักเบาข้างละ 4.1 กรัมเท่านั้น

นวัตกรรมที่ใส่มาให้ใช้งานใน FreeBuds 4 มีที่น่าสนใจมากมาย ทั้งระบบตัดเสียงรบกวน ANC 2.0 ที่แม้ว่าจะเป็นหูฟังแบบ Open Fit แต่มีการปรับปรุงเทคตัดเสียงรบกวน ที่จะคอยปรับแรงดันอากาศในหูทั้ง 2 ข้างให้สมดุล และทำให้มั่นใจว่าจะได้ยินเสียงจากรอบข้าง

ทำให้ FreeBuds 4 กลายเป็นหูฟังไร้สายตัดเสียงรบกวนที่ใส่สบาย สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง ในแง่ของคุณภาพเสียงให้ไดรเวอร์ขนาด 14.3 มม. มาช่วยขับเสียงให้เสียงที่กว้าง และเติมด้วยเบสได้อย่างน่าสนใจ

ตัวหูฟังยังมากับระบบตรวจจับการสวมใส่ ทำให้เมื่อใช้งานอยู่ ถ้าเปิดเพลงฟัง พอถอดหูฟังเพลงก็จะหยุดโดยอัตโนมัติ เมื่อสวมกลับเข้าไปก็จะเล่นเพลงต่อได้ทันที รวมถึงรองรับการสลับใช้งานระหว่าง 2 อุปกรณ์ไปมาได้ จากการที่ใช้บลูทูธ 5.2 ช่วยให้สะดวกมากขึ้น

ส่วนการควบคุมจะใช้การสัมผัสในการสั่งงานบริเวณก้านหูฟัง โดยแบ่งเป็นการแตะสองครั้งเพื่อเล่น หยุด รับสาย วางสาย เลื่อนขึ้นลงเพื่อเพิ่มลดเสียง และแตะค้างเพื่อเปิดปิดโหมดตัดเสียงรบกวน ซึ่งการควบคุมเหล่านี้สามารถตั้งค่าผ่านแอป Huawei AI Life ได้ทั้งหมด

สำหรับระยะเวลาการใช้งาน FreeBuds 4 ให้แบตเตอรีมาข้างละ 30 mAh เคสชาร์จ 410 mAh เมื่อชาร์จ 1 ครั้ง สามารถเล่นเพลงต่อเนื่องในโหมดตัดเสียงรบกวนอยู่ที่ 2.5 ชั่วโมง และเมื่อปิดจะใช้งานได้ 4 ชั่วโฒง

เมื่อรวมกับแบตเตอรีในเคสชาร์จ จะใช้งานได้ต่อเนื่อง 14-22 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับการเปิดหรือปิดระบบตัดเสียงรบกวน และใช้เวลาในการชาร์จประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าแบตเตอรีหมดค่อนข้างเร็ว เมื่อเทียบกับหูฟังไร้สายหลายๆ รุ่นในท้องตลาด

สรุป

Huawei Watch 3 และ HUAWEI FreeBuds 4 น่าจะเหมาะกับผู้ที่ใช้งานอีโคซิสเตมส์ของ Huawei อยู่แล้ว เพราะจะสามารถเรียกใช้ประสิทธิภาพของดีไวซ์ได้สูงที่สุด ในขณะเดียวกันถ้าเป็นผู้ใช้งาน iOS ก็สามารถใช้งานได้ แต่มีข้อจำกัดพอสมควร

ดังนั้น อาจจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้ iOS มากกว่าว่า ถ้าต้องการนาฬิกาอัจฉริยะที่ไม่ใช่ Apple Watch หรือหูฟังไร้สายที่ไม่ใช่ AirPods มาใช้งาน Huawei ทั้ง 2 รุ่นนี้ ก็น่าสนใจไม่น้อยจากฟีเจอร์ที่ให้มา

]]>
Review : Huawei FreeLace Pro หูฟังคล้องคอพร้อมระบบตัดเสียงรบกวน https://cyberbiz.mgronline.com/review-huawei-freelace-pro/ Thu, 29 Oct 2020 05:44:04 +0000 https://cyberbiz.mgronline.com/?p=34078

หัวเว่ย (Huawei) หันมาให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ในกลุ่มหูฟังบลูทูธมากยิ่งขึ้น หลังจากเริ่มประสบความสำเร็จในการออกหูฟัง True Wireless ตัดเสียงรบกวนอย่าง FreeBuds 3 ในช่วงปีที่ผ่านมา

มาในปีนี้ Huawei อัปเดตไลน์ผลิตภัณฑ์หูฟังเพิ่มเติม อย่าง FreeBuds Pro และอีกรุ่นที่น่าสนใจคือ Huawei FreeLace Pro รุ่นนี้ เนื่องจากเป็นหูฟังไร้สายแบบคล้องคอ  ไว้ใส่ใช้งานในชีวิตประจำวัน แบบไม่ต้องกลัวหลุดหายเหมือนหูฟัง True Wireless

จุดเด่นของ FreeLace Pro คือมากับระบบตัดเสียงรบกวน Active Noise Cancellation แบบแยกไมโครโฟน 2 ตัว พร้อมนำอัลกอริธึมมาช่วยลดเสียงรบกวนขณะคุยโทรศัพท์ สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องสูงสุด 24 ชั่วโมง ในราคา 2,990 บาท

ข้อดี

  • หูฟังบลูทูธตัดเสียงรบกวนแบบ ANC
  • In-Ears สวมใส่สบาย
  • กันน้ำ ใส่ออกกำลังได้
  • ใช้งานต่อเนื่องสูงสุด 24 ชั่วโมง

ข้อสังเกต

  • ไม่รองรับการเชื่อมต่อหลายอุปกรณ์พร้อมกัน
  • พอร์ต USB-C ต้องถอดปลอกก่อนชาร์จ
  • หูฟังจะปิดอัตโนมัติ เมื่อปลายหูฟังติดกันผ่านแม่เหล็ก

หูฟังคล้องคอ ตัดเสียงรบกวนได้

ความโดดเด่นของ Huawei FreeLace Pro นอกจากเรื่องของสีสันที่มีให้เลือกทั้งสีเขียว สีดำ และสีขาว (อมชมพู) แล้ว ที่ขาดไม่ได้เลยคือเรื่องของการสวมใส่สบาย แม้ว่าจะเป็นหูฟังแบบ In-Ears ก็ตาม แต่ด้วยการที่เวลาสวมใส่ไม่ต้องระมัดระวังเหมือนตอนสวมหูฟัง True Wireless เพราะมีสายคล้องคอมาช่วยป้องกันการหล่นหายได้ด้วย

อีกความสามารถที่ขาดไม่ได้เลยคือ เรื่องของการตัดเสียงรบกวนที่ FreeLace Pro ทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการที่ Huawei มีประสบการณ์ในการผลิตหูฟังตัดเสียงรบกวนแบบ Active Noise Cancelling มาก่อนหน้านี้ ยิ่งทำให้การตัดเสียงรบกวนในรุ่นนี้ทำได้ดียิ่งขึ้น

หลักการทำงานของระบบตัดเสียงรบกวนของ FreeLacnce Pro คือการนำไมโครโฟนคู่มาใช้งาน โดยเมื่อสวมใส่แล้วจะมีไมโครโฟนตัวหนึ่งที่อยู่นอกหู คอยตรวจจับเสียงรบกวนต่างๆ มาหักลบกับเสียงจากไมโครโฟนภายในรูหู จึงทำให้การตัดเสียงรบกวนของ FreeLace Pro ทำได้อย่างน่าสนใจ

ขณะเดียวกัน FreeLace Pro ยังมากับไดรเวอร์ของหูฟังขนาด 14 มิลลิเมตร ที่ใหญ่กว่าหูฟังแบบ True Wireless ทั่วไปในท้องตลาด จึงทำให้สามารถขับเสียงได้ดีกว่า โดยเฉพาะเสียงเบส ดังนั้นใครที่ชื่นชอบเสียงเบสหนักๆ หน่อยน่าจะชื่นชอบหูฟังรุ่นนี้เป็นพิเศษ

ทั้งนี้ ในการใช้งาน FreeLace Pro ให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ควรใช้งานคู่กับแอปพลิเคชัน AI Life ที่ผู้ใช้งาน Android สามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งใช้งานได้จาก PlayStore หรือถ้าใช้งานสมาร์ทโฟนหัวเว่ย ก็สามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งจาก Huawei App Gallery ได้เช่นเดียวกัน

ภายในแอปพลิเคชัน AI Life หลังจากทำการเชื่อมต่อหูฟังเข้ากับสมาร์ทโฟนแล้ว ผู้ใช้สามารถเลือกปรับโหมดการใช้งานระหว่างเปิดระบบตัดเสียงรบกวน ANC หรือเล่นเปิดใช้งานโหมด Awareness เพื่อรับฟังเสียงจากรอบข้างได้ ซึ่งถ้าใช้งานหูฟังอยู่ ก็สามารถแตะที่หูฟังเพื่อรับฟังเสียงจากภายนอกได้ทันทีเช่นเดียวกัน

วิธีการเชื่อมต่อกลายเป็นอีกจุดที่ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนหัวเว่ย คู่กับ FreeLace Pro จะได้เปรียบมากกว่า เพราะหูฟังรุ่นนี้ มากับฟีเจอร์อย่าง HiPair ที่ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อพอร์ต USB-C ที่หูฟังเข้ากับสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย เพื่อทำการเชื่อมต่อได้ง่ายๆ ภายในคลิกเดียว

แต่ถ้าใช้งานสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ รวมถึงการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ จะต้องเปิดโหมด Paring ที่ตัวหูฟังด้วยการกดปุ่มเปิดเครื่องค้างไว้ให้เข้าสู่โหมด Pairing ก่อนทำการจับคู่กับอุปกรณ์อื่นๆ ได้ตามปกติ เหมือนการเชื่อมต่อบลูทูธทั่วๆ ไป

ควบคุมได้ครบ โดยไม่ต้องสั่งผ่านสมาร์ทโฟน

ด้วยการที่ Huawei FreeLace Pro เป็นหูฟังบลูทูธแบบคล้องคอ ทำให้หัวเว่ย มีพื้นที่ในการเพิ่มปุ่มควบคุมการสั่งงานต่างๆ มาให้ด้วย โดยจะแบ่งเป็น 2 จุดหลักๆ ด้วยกันคือ บริเวณสายหูฟังด้านขวา จะมีแถบควบคุมอยู่ ผู้ใช้สามารถกดปุ่มด้านข้าง เพื่อเปิดปิดเครื่อง / กดค้าง 4 วินาที เพื่อเข้าโหมดจับคู่ (Pairing) และที่เพิ่มขึ้นมาคือ กดปุ่มนี้ 2 ครั้ง เพื่อสลับการเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์ก่อนหน้า

การที่มีฟีเจอร์ให้สามารถกดปุ่มเพื่อสลับการเชื่อมต่อได้นั้น ช่วยให้ผู้ที่มีอุปกรณ์พกพาหลายเครื่อง สามารถสลับการเชื่อมต่อหูฟังระหว่างอุปกรณ์ได้สะดวกขึ้น ยกตัวอย่างเช่นผู้ที่ใช้งานทั้งสมาร์ทโฟน ร่วมกับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก หรือแท็บเล็ต ในเวลาที่ใช้งานกับหน้าจอใหญ่ๆ แล้วมีการฟังเพลง หรือดูหนังอยู่ ถ้ามีสายเข้าที่โทรศัพท์ ก็สามารถกดสลับมาสนทนาผ่านหูฟังได้ทันที

ฟีเจอร์นี้ จึงเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องของการที่ FreeLace Pro รองรับการเชื่อมต่อทีละ 1 อุปกรณ์ไปได้ เพราะตามปกติแล้วเวลาต้องการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ ผู้ใช้จำเป็นต้องไปยกเลิกการเชื่อมต่อบนสมาร์ทโฟนก่อนกดเชื่อมต่อในอุปกรณ์ใหม่ ปุ่มสลับเครื่องนี้จึงมาช่วยให้ผู้ใช้งานสะดวกขึ้น

ต่อมาคือปุ่มควบคุมพื้นฐาน อย่างปุ่มเพิ่มลดเสียง และปุ่มฟังก์ชัน ที่สามารถกดค้างเพื่อเรียกใช้งานผู้ช่วยส่วนตัว หรือปฏิเสธสาย กด 1 ครั้งเพื่อ เล่นเพลง หยุดเพลง รับสาย วางสาย กด 2 ครั้ง เพื่อเล่นเพลงถัดไป และกด 3 ครั้ง เพื่อเล่นเพลงก่อนหน้า

อีกจุดหนึ่งก็คือบริเวณหูฟังด้านซ้ายที่สามารถแตะค้างเพื่อสลับโหมดการใช้งานระหว่างเปิด ANC โหมด Awareness และ ปิดการตัดเสียงรบกวนได้ จะเห็นได้ว่าในการควบคุมหูฟังนั้น สามารถทำได้ครบจากหูฟังทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์อื่นๆ เลย

ออกแบบมาเหมาะกับการออกกำลังกาย

ถ้าถามว่า FreeLace Pro เหมาะกับใครมากที่สุด คงหนีไม่พ้นผู้ที่ต้องการหูฟังบลูทูธ สำหรับใช้ใส่ออกกำลังกาย ที่ไม่ต้องมาคอยกังวลว่าหูฟัง True Wireless ที่ใส่อยู่จะหลุดหล่นหายระหว่างออกกำลังหรือไม่ และอีกกลุ่มก็คือผู้ใช้งานที่มีไลฟ์สไตล์แบบแอคทีฟ ชอบเดินทาง พกพาหูฟังรุ่นนี้ไปใช้งานระหว่างวันได้ตลอดทุกที่ ทุกเวลา เพราะกันน้ำกันฝุ่นในมาตรฐาน IP55

โดยหูฟัง FreeLace Pro นั้น จะมีลักษณะเป็นหูฟังบลูทูธที่เส้นเดียว มีความยาว 862.4 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 34 กรัม มีให้เลือกด้วยกัน 3 สีคือ ดำ Graphite Black เขียว Spruce Green และ ขาว Dawn White ที่มีความพิเศษคือหูฟังจะไม่พันกันเด็ดขาด เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่วางทิ้งไว้หูฟังจะคลายตัวออกมาเป็นทรงพร้อมคล้องคอโดดอัตโนมัติ

นอกจากนี้ บริเวณปลายหูฟังทั้ง 2 ฝั่ง จะมีแม่เหล็กอยู่ ทำให้เวลาเราถอดหูฟังออกจากหู และปล่อยลงมาคล้องคอ บริเวณปลายหูฟังก็จะเชื่อมต่อติดกันด้วยแม่เหล็ก (Magnetic Snap) ซึ่งเมื่อติดกันแล้วจะเข้าสู่โหมดพักการใช้งานเครื่องโดยอัตโนมัติเพื่อประหยัดแบตเตอรีด้วย

Huawei FreeLace Pro รองรับการเชื่อมต่อแบบบลูทูธ 5.0 และมีพอร์ตชาร์จแบบ USB-C ที่จะซ่อนอยู่บริเวณสายหูฟังทางฝั่งซ้าย ทำให้เวลาต้องการเสียบชาร์จ หรือเชื่อมต่อแบบ HiPair ต้องถอดบริเวณขั้วชาร์จออกมา ซึ่งแน่นอนว่าต้องดูในเรื่องของความคงทนของยางที่ซีลบริเวณขอบของส่วนนี้ด้วย เพราะเวลาใช้ไปนานๆ ถ้ามีการถอดเข้าถอดออกบ่อยๆ ซีลยางอาจจะเสื่อมได้

แบตเตอรี ภายในของหูฟังรุ่นนี้จะอยู่ที่ 150 mAh โดยทางหัวเว่ย ระบุว่า สามารถเปิดใช้งานในโหมดปิดการตัดเสียงรบกวนได้สูงสุด 24 ชั่วโมง และถ้าเปิดใช้งานโหมด ANC จะอยู่ที่ราว 16 ชั่วโมง ส่วนระยะเวลาในการชาร์จจะอยู่ที่ราว 60 นาที แต่ทั้งนี้ เมื่อเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนหัวเว่ย ในโหมด HiPair จะสามารถชาร์จแบตเตอรีใช้งานได้ต่อเนื่อง 5 ชั่วโมง ในเวลา 5 นาที

สำหรับอุปกรณ์ที่ให้มาภายในกล่องของ FreeLace Pro นั้น ประกอบไปด้วย Ear Tips หรือจุกหูฟังให้เลือกเพิ่มอีก 2 ขนาด รวมเป็นทั้งหมด 3 ขนาด มีสายแปลงพอร์ต USB-C ไปเป็น USB-A เพื่อใช้งานร่วมกับอะเดปเตอร์ชาร์จมือถือ และคู่มือการใช้งานต่างๆ

สรุป

Huawei FreeLace Pro นับว่าเป็นหูฟังแบบบลูทูธคล้องคอที่มีฟีเจอร์ในการใช้งานที่น่าสนใจ ทั้งระบบการตัดเสียงรบกวน และฟีเจอร์สลับการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ เพียงแต่ว่าด้วยการที่ปัจจุบันหูฟังแบบ True Wireless ได้รับความนิยมมาก เพราะพกพาใช้งานได้สะดวกกว่า ทำให้อาจจะต้องเลือกตัดสินใจว่า ต้องการหูฟังรูปแบบไหนมาใช้งาน 

ขณะเดียวกัน ด้วยระดับราคา 2,990 บาท คุณภาพเสียงที่ได้ก็จะอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าคุ้มค่ากับราคา แต่ถ้าใครที่ต้องการหูฟังที่ให้รายละเอียดเสียงได้ครบ หรือคุณภาพเสียงดีจริงๆ ก็อาจจะต้องมองข้ามรุ่นนี้ไปหาหูฟังระดับไฮเอนด์แทน ซึ่งถ้าไม่ได้ซีเรียสเรื่องเสียงขนาดนั้น และต้องการหูฟังที่ตัดเสียงรบกวนได้ดี FreeLace Pro ตอบโจทย์อย่างแน่นอน

Gallery

]]>
Review : Apple AirPods Pro หูฟังไร้สายที่โปรขึ้น ตัดเสียงรบกวนได้เด็ด https://cyberbiz.mgronline.com/review-apple-airpods-pro/ Mon, 23 Dec 2019 06:22:53 +0000 https://cyberbiz.mgronline.com/?p=31887

ตอนนี้ AirPods กลายเป็นหูฟังไร้สายแบบ True Wireless ที่ขายดีที่สุดในโลกไปแล้ว และยังต่อเนื่องถึงการเป็นของขวัญที่ได้รับความนิยมในเทศกาลของขวัญช่วงปลายปี ยิ่งตอกย้ำถึงความสำเร็จในการทำตลาด AirPods ของแอปเปิล (Apple) ได้เป็นอย่างดี

พอแอปเปิล ออก AirPods Pro มา เชื่อว่าผู้ที่เคยใช้งาน AirPods มาและมีประสบการณ์ใช้งานที่ดี ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนมาใช้งานในรุ่นที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันผู้ที่เคยมีปัญหาไม่สามารถใช้งาน AirPods ได้เพราะใส่แล้วหลุด พอออกมาเป็น AirPods Pro ก็จะใช้งานได้แล้ว

จุดเด่นของ AirPods Pro จะอยู่ที่การออกแบบหูฟัง In-Ears ให้ใส่ได้สบายหู พร้อมระบบตัดเสียงรบกวนแบบ Active Noise Cancellation รุ่นแรกของแอปเปิล และยังมีโหมดรับเสียงจากรอบข้าง เพื่อให้ใส่ใช้งานได้ในทุกๆ เวลา

ข้อดี

  • หูฟังไร้สาย พร้อมระบบตัดเสียงรบกวน
  • มีโหมด Transparency รับเสียงจากรอบข้าง
  • ระบบปรับแรงดันในหู ช่วยให้ใส่ In-Ears ได้สบายขึ้น
  • เชื่อมต่อกับ iPhone และ Apple Device ได้ง่าย แบบไร้รอยต่อ

ข้อสังเกต

  • เวลาใช้งานต่อเนื่องอยู่ที่ 4.5 – 5 ชั่วโมง ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง (ถ้านับรวมแบตฯ เคสได้เกิน 24 ชั่วโมง)
  • คุณภาพเสียง ยังสู้กับแบรนด์อื่นในระดับราคาใกล้เคียงกันไม่ได้

 

ทำความรู้จักเทคโนโลยีตัดเสียง

เทคโนโลยีที่ทำให้ AirPods Pro มีความแตกต่างจากหูฟังตัดเสียงรบกวน (Noise Cancelling) รุ่นอื่นๆ ในท้องตลาดคือเรื่องของการนำเทคโนโลยี Active Noise Cancellation มาใช้งาน ด้วยการติดตั้งไมโครโฟนเพิ่มมาช่วยตรวจจับเสียงภายนอก

โดยไมโครโฟนที่จับเสียงภายนอกนี้จะทำให้หูฟังรับรู้ว่าเวลาที่ใช้งานอยู่สภาพเสียงรบกวนภายนอกเป็นอย่างไร หลังจากนั้น AirPods Pro จะส่งคลื่นเสียงด้านตรงข้ามที่เท่ากัน เพื่อตัดเสียงภายนอกออก

แต่ไม่ใช่แค่นั้น เพราะ AirPods Pro มีไมโครโฟนที่หันเข้ามาอยู่ภายในหูของผู้ใช้ ที่จะคอยฟังเสียงภายในหูด้วย เพื่อคำนวนและตัดเสียงรบกวนที่ไม่อยากได้ยินออกเช่นกัน โดยระบบการทำงานจะมีการตัดเสียงรบกวนต่อเนื่องที่ 200 ครั้งต่อวินาที

In-Ears ที่ใส่สบาย

อีกจุดที่แอปเปิลนำมาใช้เป็นจุดขายสำคัญของ Air Pods Pro คือเรื่องของการใส่ได้สบายหู โดยเริ่มจากภายในกล่องจะมีจุกซิลิโคน (Ear Tip) ให้เลือก 3 ขนาด เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้ใช้แต่ละคนที่มีขนาดรูหูไม่เท่ากัน

โดยสิ่งที่แอปเปิล พัฒนาเพิ่มมาคือ ฟีเจอร์ที่จะตรวจสอบว่า จุกซิลิโคนที่ใส่อยู่พอดีหูหรือไม่ โดยหลังจากที่ทำการเชื่อมต่อ AirPods Pro เข้ากับอุปกรณ์ที่ใช้งาน iOS 13.2 ขึ้นไป แล้วผู้ใช้สามารถกดเข้าไปทดสอบกันได้

แน่นอนว่าวิธีการเชื่อมต่อ AirPods Pro ยังง่ายเหมือน AirPods ที่เพียงเปิดฝาขึ้นมา ตัว iOS ก็จะทำการแจ้งเตือนให้กดเชื่อมต่อได้ทันที หลังจากนั้นสามารถเข้าไปตั้งค่าเพิ่มเติมได้ใน Setting > Bluetooth > กดสัญลักษณ์ i ด้านหลัง AirPods Pro เพื่อเข้าสู่การตั้งค่า

สิ่งแรกที่ต้องทำเลยคือการกด Ear Tip Fit Test เพื่อตรวจสอบว่า จุกซิลิโคนที่ใส่ใช้งานอยู่พอดีหรือไม่ ซึ่งจะช่วยทั้งในเรื่องของคุณภาพเสียง และการตัดเสียงรบกวนด้วย

ถ้าใส่พอดีจะมีการขึ้นบอกว่า Good Seal ถ้าไม่พอดีจะขึ้นแจ้งว่าให้ลองขยับ หรือเปลี่ยนจุกซิลิโคนดู ซึ่งจุกมาตรฐานที่ติดมากับ AirPods Pro คือขนาดกลาง ถ้ารู้สึกว่าหลวมไปให้เปลี่ยนเป็นขนาดใหญ่ขึ้น และถ้ารู้สึกว่าแน่นไปให้ลองปรับให้เล็กลงดู

ในการใส่ใช้งาน เท่าที่ทดสอบใช้งานจนแบตเตอรี AirPods Pro หมด ประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง พบว่า AirPods Pro ออกแบบจุกมาได้ดีมากๆ เพราะไม่รู้สึกล้าหู เหมือนเวลาใส่หูฟัง In Ears ของแบรนด์อื่นๆ อาจจะเพราะ AirPods Pro มีระบบช่วยปรับแรงดันภายในหูด้วยในตัว

ตัดเสียงรบกวนที่เลือกปรับได้เอง

แน่นอนว่าฟีเจอร์หลักของ AirPods Pro คือระบบการตัดเสียงรบกวน แต่ในการใช้งานในชีวิตประจำวัน การใส่หูฟังแบบตัดเสียงรบกวนตลอดเวลา กลายเป็นเรื่องอันตราย เพราะจะไม่ทำให้ได้ยินเสียงแวดล้อมรอบตัว

ในจุดนี้แอปเปิล จึงได้เพิ่มฟีเจอร์ในการสั่งงาน AirPods Pro เข้ามาให้ผู้ใช้เลือกปรับได้ว่า จะเปิดใช้งานระบบตัดเสียงรบกวน (Noise Cancellation) ปิด หรือเปิดโหมดรับเสียงจากภายนอก (Transparency) ที่เลือกปรับได้ 3 วิธี

วิธีแรกคือ กดบีบก้านหูฟัง เพื่อสลับระหว่างตัดเสียง และรับเสียงจากภายนอก วิธีที่สองคือเข้าไปปรับในการตั้งค่าบลูทูธ เหมือนตอนทดสอบจุกซิลิโคน และวิธีที่สาม เข้าจากแถบตั้งค่าด่วน กดค้างที่แถบปรับระดับเสียง จะมีตัวเลือกขึ้นมาให้ปรับ

การออกแบบ AirPods Pro

รูปลักษณ์ของ AirPods Pro เมื่อเทียบกับ AirPods บริเวณก้านหูฟังจะสั้นลงเล็กน้อย ส่วนตัวหูฟังจะมีส่วนของจุกซิลิโคนที่ยื่นขึ้น เมื่อเทียบกับรุ่นเดิม ทำให้ โดยขนาดจะอยู่ที่ 30.9 x 21.8 x 24 มม. น้ำหนักข้างละ 5.4 กรัม

โดยทั้งภายในและภายนอกของ AirPods Pro จะมีไมโครโฟนอยู่ด้วยเพื่อใช้คู่กับระบบตัดเสียงรบกวนดังที่กล่าวไปข้างต้น นอกจากนี้ก็จะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับเวลาใส่ และถอดออกจากหู

ส่วนตรงก้านได้ออกแบบใหม่ให้มีส่วนที่เว้าลงไปเล็กน้อย เพื่อรับนำ้หนักในการบีบสั่งงาน ด้วยการใส่เซ็นเซอร์แรงกดที่ไว้ใช้ทั้งการควบคุมเพลง บีบเพื่อรับโทรศัพท์ และเปลี่ยนโหมดใช้งาน

ภายในของ AirPods Pro จะมีชิปเซ็น Apple H1 ที่คอยประมวลผลเรื่องของเสียง ซึ่งทำงานร่วมกับไดรเวอร์ของลำโพง ในการตัดเสียงรบกวน จนถึงการสั่งงานด้วยเสียงผ่าน Siri ด้วย

ส่วนของเคส AirPods Pro เมื่อเทียบกับ AirPods ปกติ จะมีลักษณะกว้างขึ้น แต่สั้นลง ขนาดเคสจะอยู่ที่ 45.2 x 60.6 x 21.7 มิลลิเมตร นำ้หนัก 45.6 กรัม ส่วนขนาดเคสของ AirPods จะอยู่ที่ 53.5 x 44.3 x 21.3 มิลลิเมตร น้ำหนัก 40 กรัม

โดยตัวเคสจะมากับระบบชาร์จไร้สายอยู่แล้ว สามารถนำไปวางบนแท่นชาร์จมาตรฐาน Qi เพื่อชาร์จได้เลย หรือจะเลือกชาร์จผ่านพอร์ต Lightning ก็ได้เช่นกัน

สรุป

AirPods Pro น่าจะเป็นหูฟังไร้สายที่ผู้ใช้งาน iPhone ส่วนใหญ่ต้องหารซื้อหามาใช้งาน ทั้งผู้ที่มี AirPods เดิมอยู่แล้ว และยังไม่มี เพราะถือว่ามาช่วยในเรื่องของการตัดเสียงรบกวนจากภายนอกเวลาใช้งานได้

แม้ว่าระดับราคาของ AirPods Pro จะค่อยข้างสูง (9,490 บาท) แต่เมื่อเทียบกับหูฟังไร้สายแบบตัดเสียงรบกวนคุณภาพสูงในท้องตลาดแล้ว ถือว่าใกล้เคียงกัน ถ้าใครที่อยากซื้อแล้วจบก็แนะนำ

แต่ถ้ามองว่าระดับราคานี้ค่อนข้างสูงเกิดไป ก็อาจจะมองตัวเลือกอย่าง AirPods ที่ปรับลดราคาลงมา แต่ก็แลกกับไม่มีระบบตัดเสียงรบกวน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานของผู้ใช้แต่ละรายด้วย เพราะหูฟังแบบ In Ears อาจจะชอบไม่เหมือนกัน

Gallery

]]>
Review : Sony WF1000XM3 หูฟัง TrueWireless เด่นที่ตัดเสียงรบกวนได้ https://cyberbiz.mgronline.com/review-sony-wf1000xm3/ Mon, 09 Sep 2019 04:17:57 +0000 https://cyberbiz.mgronline.com/?p=31195

โซนี่ (Sony) กลับมาทำให้เห็นแล้วว่าการออกโปรดักส์ที่มีนวัตกรรม และจับกลุ่มเฉพาะ สามารถช่วยให้ได้รับความนิยม จนสินค้าขายตลาดในช่วงแรกที่วางจำหน่ายได้ กับหูฟังไร้สาย WF1000XM3 ซึ่งถือเป็นหูฟังแบบ True Wireless รุ่นแรกๆ ที่มากับระบบตัดเสียงรบกวน

ด้วยการนำจุดเด่นของหูฟัง True Wireless ที่มีขนาดเล็ก พกพาง่ายใส่ติดหู มาผสมกับเรื่องการตัดเสียงรบกวนที่โซนี่มุ่งพัฒนามาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มหูฟังครอบหูตั้งแต่ยุคของ MDR1000X มาจนถึง WH1000X ที่ได้รับความนิยมต่อเนื่อง

ข้อดี

หูฟัง TrueWireless แบบ In-Ears พร้อมระบบตัดเสียงรบกวน

ใช้งานต่อเนื่องได้  5-6 ชั่วโมง ไม่รวมเคสชาร์จทำให้รวมแล้วได้ราว 24 ชั่วโมง

มีระบบ Adaptive Sound เลือกรับเสียงจากภายนอก หรือตัดเสียงรบกวน

สั่งงานสมาร์ทโฟนด้วยระบบเสียงได้ผ่านหูฟังทั้ง Siri และ Google Assistant

พอร์ตชาร์จเป็น USB-C และรองรับ NFC ให้เชื่อมต่อง่ายขึ้น

 

ข้อสังเกต

เคสชาร์จมีขนาดค่อนข้างใหญ่ทำให้พกติดตัวยาก

ปุ่มควบคุมแบบสัมผัสที่ค่อนข้างไว ทำให้บางทีจับหูฟังให้แน่นขึ้นกลายเป็นกดสั่งงาน

ถ้าต้องการปรับเสียงต้องสั่งที่อุปกรณ์เชื่อมต่อ หรือใช้ผู้ช่วยส่วนตัวปรับให้

ไม่เหมาะกับใส่ออกกำลัง เพราะตัวหูฟังไม่กันน้ำ

หูฟัง In-Ears ไร้สาย ตัดเสียงได้

ด้วยการที่โซนี่ ออกแบบหูฟังรุ่นนี้มาให้เป็นแบบ In-Ears ในลักษณะของ True Wireless คือใช้การเชื่อมต่อด้วยบลูทูธระหว่างหูฟังข้างซ้ายขวา กับดีไวซ์ต่างๆ ทำให้ลักษณะการใช้งานจะเน้นไปที่ความสะดวกในการพกพา และใส่ใช้งานเป็นหลัก

ขนาดของตัวหูฟังจึงมีขนาดเล็ก ที่ใส่ไปแล้วจะไม่รู้สึกหนักหู หรือทำให้ล้าเวลาใส่ใช้งานนานๆ ประกอบกับภายในกล่องมีขนาดของจุกยาง และจุกโฟมให้เลือกใช้ตามความต้องการ ดังนั้นใครที่มีปัญหาการใช้หูฟังแบบ In-Ears แล้วรู้สึกไม่สบายหู อาจจะต้องคิดภาพใหม่

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตัวเคสใส่หูฟัง ที่เป็นที่ชาร์จในตัว มีพอร์ต USB-C สำหรับเสียบสายชาร์จ และมี NFC ให้สามารถนำสมาร์ทโฟนที่รองรับมาแสกนเพื่อเชื่อมต่อกับหูฟังได้ทันที เมื่อเปิดฝาขึ้นมาก็จะเจอกับหูฟังทั้ง 2 ข้างเสียบชาร์จอยู่

ที่ตัวหูฟังจะมีเซ็นเซอร์หลักๆ อยู่ 2 ส่วน คือบริเวณภายในไว้ใช้ตรวจจับการสวมใส่ของผู้ใช้ ทำให้เวลาใช้งานอยู่ ถ้าถอดหูฟังออกมา 1 ข้าง เพลงก็จะหยุด และถ้าใส่กลับเข้าไปเพลงก็เล่นต่อ โดยจะอยู่บริเวณที่ครอบพลาสติกสีข้างๆ จุกหูฟัง

กับเซ็นเซอร์รับสัมผัสในการสั่งงานที่อยู่ภายนอก บริเวณที่เป็นพลาสติกเป็นผิวเรียบๆ ทรงกลมๆ ที่สามารถแตะเพื่อสั่งงานแยกกันได้ทั้งหูซ้าย และหูขวา โดยผู้ใข้สามารถปรับตั้งค่าเพิ่มเติมได้จากแอปที่ติดตั้งบนสมาร์ทโฟน

การใช้งาน Sony WF1000M3

ในการใช้งาน Sony WF1000M3 เริ่มต้นขั้นแรกเลยคือทำการเชื่อมต่อ ถ้าใช้งาน Android ที่มีระบบ NFC สามารถนำสมาร์ทโฟนมาแตะบริเวณสัญลักษณ์ หลังจากที่เปิดฝาขึ้นมาเพื่อทำการเชื่อมต่อได้เลย

ส่วนถ้าเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆที่ไม่มี NFC จะต้องใส่หูฟังเข้าไปทั้งสองข้าง และแตะบริเวณเซ็นเซอร์ทั้ง 2 ข้าง ค้างไว้พร้อมๆ กัน เพื่อเข้าสู่โหมดการเชื่อมต่อ (Pairing Mode) จากนั้นก็เข้าไปเชื่อมต่อผ่านการตั้งค่า บลูทูธบนสมาร์ทโฟนได้ทันที

หลังจากเชื่อมต่อเสร็จ แนะนำให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Headphones ของทาง Sony มาติดตั้ง เพื่อใช้ควบคุม และดูสถานะต่างๆ ของหูฟัง ไม่ว่าจะเป็นเปอเซนต์แบตเตอรีที่เหลืออยู่ การอัปเดตเฟิร์มแวร์ของหูฟังต่างๆ จะทำผ่านแอปพลิเคชันนี้ทั้งหมด

นอกจากนี้ ภายในยังมีให้ตั้งโหมด Adaptive Sound Control ที่จะมีทั้งหมด 4 โหมดหลักๆ ด้วยกัน ตั้งแต่การใช้งานเมื่อนั่งอยู่กับที่ ขณะเดิน วิ่ง หรืออยู่บนรถโดยสาร เพื่อควบคุมการตัดเสียง (Noise Canceling) และเลือกรับเสียงจากภายนอก (Ambient Sound) ที่มีให้เลือกทั้งหมด 20 ระดับ

การทำงานของ Ambient Sound คือจะใช้ไมโครโฟนที่ติดตั้งอยู่บริเวณหูฟังรับเสียงจากภายนอก เพื่อทำให้เวลาที่ใส่หูฟังแล้วเดินอยู่บนถนน จะได้ยินเสียงรถ หรือบรรยากาศรอบๆตัว ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือในกรณีที่ต้องการฟังเสียงคนที่มาพูดด้วยก็เปิดใช้โหมดนี้ได้

การสั่งงานระหว่างโหมดตัดเสียง และรับเสียงภายนอก ผู้ใช้สามารถนำนิ้วไปแตะที่หูฟังข้างซ้าย เพื่อสลับโหมดใช้งานได้ทันที และยังมีฟีเจอร์อย่างถ้าแตะนิ้วค้างไว้ที่หูฟังจะเป็นการเปิดฟังเสียงภายนอกในทันทีด้วย

ส่วนการแตะสั่งงานที่หูฟังทางขวาเบื้องต้นจะตั้งมาเป็นการควบคุมการเล่นเพลง แตะเพื่อหยุด และเล่นต่อ ถ้ากดค้างจะเป็นการเรียกใช้งานผู้ช่วยส่วนตัวอย่าง Siri และ Google Assistant ขึ้นมาให้สั่งงาน แต่ทั้งหมดนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามการตั้งค่าภายในแอป

อีกจุดที่คิดว่าน่าสนใจ คือผู้ใช้เลือกได้ว่าอยากเน้นคุณภาพเสียง หรือความต่อเนื่องในการใช้งาน เพราะต้องรับรู้กันก่อนว่าเวลาใช้งานหูฟังแบบ True Wirless ปัญหาที่มักจะพบเจอกันคือเมื่อใช้งานภายในห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ที่มีคลื่นรบกวนเยอะๆ จะเกิดปัญหาหูฟังติดๆ ดับๆ

กับ Sony WF1000M3 ก็เจอปัญหานี้เช่นเดียวกัน แต่ดีที่มีโหมดให้สามารถเลือกได้ว่า ถ้าต้องการเน้นคุณภาพเสียงดีๆ ก็อาจจะเจอปัญหาดังกล่าว แต่ถ้าต้องการเชื่อมต่อให้สเถียรมากที่สุด ก็จะปรับลดคุณภาพเสียงลงเพื่อให้หูฟังเน้นการใช้งานที่ไม่กระตุก หรือติดๆ ดับๆ

ในจุดนี้ถือว่าโซนี่ พัฒนาออกมาได้ดี เพราะเมื่อทดลองใช้โหมดที่เน้นความสเถียรเดินใช้งานภายในห้างสรรพสินค้า ที่หูฟัง True Wireless รุ่นอื่นๆ เจอปัญหา แต่กับ Sony WF1000M3 ยังเชื่อมต่อได้ความสเถียรดี

สรุป

โซนี่ ทำการบ้านมาเป็นอย่างดีกับการออก Sony WF1000M3  เพราะในการใช้งานหูฟังแบบ True Wireless ผู้ใช้หลายๆ รายเวลานี้คือจะเจอปัญหาเรื่องเสียงรบกวนจากภายนอก ดังนั้นเมื่อนำนวัตกรรมที่โซนี่มีมาช่วย จึงทำให้ Sony WF1000M3 ได้รับความนิยม

ขณะเดียวกัน ด้วยราคาเปิดตัวที่ 8,990 บาท ในมุมหนึ่งถือว่าเป็นระดับราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหูฟังไร้สายจากแบรนด์มือถืออย่าง AirPods (6,500) Galaxy Buds (4,990) แต่ถ้าไปเทียบกับแบรนด์หูฟังในระดับเดียวกันอย่าง B&O Sennheiser หรือ Boss ในระดับหมื่นกว่าบาท กลายเป็นว่าโซนี่ทำราคาออกมาได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว

Gallery

]]>