หูฟัง – CBIZ Reviews – MGR Online https://cyberbiz.mgronline.com เว็บไซต์รีวิวอุปกรณ์ ไอที ไฮเทค เป็นส่วนหนึ่งของผู้จัดการออนไลน์ Thu, 15 Jul 2021 11:20:20 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.0 Review : Huawei Watch 3 – FreeBuds 4 คู่หาสมาร์ทวอทช์สุขภาพ และหูฟังไร้สายตัดเสียงรบกวน https://cyberbiz.mgronline.com/review-huawei-watch-3-freebuds-4/ Thu, 15 Jul 2021 11:14:35 +0000 https://cyberbiz.mgronline.com/?p=35577

กลุ่มผลิตภัณฑ์สมาร์ทวอทช์ และหูฟังไร้สายของหัวเว่ย ถือเป็น 2 IoT ดีไวซ์ที่ หัวเว่ย (Huawei) เปิดตัวมาเป็นกลุ่มแรกๆ ในช่วงที่สมาร์ทโฟนของหัวเว่ย ได้รับความนิยม จนมีผู้บริโภคใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ในปีนี้ หัวเว่ย ได้มีการเพิ่มความสามารถให้กับทั้งสมาร์ทวอทช์ และหูฟังไร้สาย ได้อย่างน่าสนใจ เพราะไม่ได้จำกัดการใช้งานเฉพาะบนอีโคซิสเตมส์ของ HUAWEI เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้งานกับทั้ง Android และ iOS ได้เป็นอย่างดี

Huawei Watch 3 มีจุดเด่นที่น่าสนใจคือรองรับการเชื่อมต่อแบบ eSIM พร้อมการวัดค่าสุขภาพที่ครบถ้วนทั้งการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิ จนถึงค่าออกซิเจนในเลือด ในขณะที่ FreeBuds 4 มากับคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น และตัดเสียงรบกวนได้น่าประทับใจ

สำหรับราคาจำหน่าของ Huawei Watch 3 เริ่มต้นที่ 12,990 บาท ส่วน Huawei FreeBuds 4 ราคาเปิดตัว 5,999 บาท มีโปรโมชันพิเศษเหลือ 4,499 บาท ถึงวันที่ 22 .. นี้

ข้อดี

Huawei Watch 3

  • มีฟีเจอร์ตรวจจับเกี่ยวกับสุขภาพครบถ้วน
  • รองรับการใช้งาน eSIM สามารถใช้สื่อสารแทนสมาร์ทโฟนได้
  • มีโหมดประหยัดแบตเตอรี ใช้งานได้ 14 วัน

HUAWEI FreeBuds 4

  • หูฟังไร้สาย ตัดเสียงรบกวน สวมใส่สบาย
  • รองรับการเชื่อมต่อ 2 อุปกรณ์สลับใช้งานไปมาได้

ข้อสังเกต

  • Huawei Watch 3 ยังมีแอปพลิเคชันที่รองรับค่อนข้างน้อย จาก App Gallery
  • เวลาชาร์จแบตเตอรี ถ้าเครื่องร้อนจะตัดการชาร์จอัตโนมัติ (แนะนำให้ชาร์จในห้องแอร์)
  • HUAWEI FreeBuds 4 อาจจะไม่เหมาะกับรูปทรงหูของทุกคน เพราะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ถ้าใส่ไม่พอดีอาจะหลุดได้

HUAWEI Watch 3 นาฬิกาอัจฉริยะวัดอุณหภูมิได้

การพัฒนาสมาร์ทวอทช์ของ หัวเว่ย ในปีนี้ ค่อนข้างน่าสนใจตรงการเพิ่มฟีเจอร์ที่มีความสำคัญ และได้ใช้งานแน่ๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการวัดค่าออกซิเจนในเลือด (spO2) รวมถึงวัดอุณหภูมิบริเวณผิวหนัง ที่เพิ่มเข้ามา

เนื่องจากทั้ง 2 ค่านี้ สามารถใช้บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ในการเป็นไข้ หรือมีปัญหาในการหายใจ ซึ่งได้กลายเป็นอาการเบื้องต้นของโควิด-19 แต่แน่นอนว่าเมื่อสมาร์ทวอทช์ไม่ใช่เครื่องมือทางการแพทย์ ดังนั้นจึงสามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ในการวินิจฉัยโรคได้

ความน่าสนใจของ Watch 3 ไม่ได้จบแค่ 2 ฟีเจอร์นั้น แต่ภายในยังอัดแน่นมาด้วยความอัจฉริยะที่น่าสนใจหลายๆ เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้ใช้งาน โดยฟีเจอร์พื้นฐานอย่างวัดก้าวเดิน วัดอัตราการเต้นของหัวใจ Huawei Watch รุ่นต่างๆ ทำได้ดีอยู่แล้ว

ที่เพิ่มขึ้นมาในรุ่นนี้ คือรองรับรูปแบบการออกกำลังกายมากขึ้น พร้อมกับเพิ่มโหมดแนะนำในการออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้การใช้ชีวิตในช่วงนี้ของผู้คนยังสามารถรักษาสุขภาพให้แข็งแรงไปได้ด้วย

นอกจากนี้ Huawei Watch 3 ยังรองรับการเชื่อมต่อ eSIM (AIS และ TrueMove H มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม) ทำให้สามารถใช้รับสายโทรศัพท์จากนาฬิกาได้ทันที เวลาไปออกกำลังกายก็จะไม่พลาดการสื่อสารต่างๆ

เมื่อสมาร์ทวอทช์สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ก็จะช่วยปลดล็อกความสามารถอื่นๆ อย่างการฟังเพลง นำทาง โดยที่ไม่ต้องซิงค์กับสมาร์ทโฟนตลอดเวลาก็ได้ ทำให้กลายเป็นนาฬิกาอัจฉริยะที่มีความสามารถรอบด้าน

เบื้องหลังในการทำงานของ Huawei Watch 3 ก็คือการนำระบบปฏิบัติการ HarmonyOS มาใช้งาน ทำให้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับ Huawei App Gallery เพื่อติดตั้งแอปพลิเคชันใช้งานได้ทันที แม้ว่าจะใช้งานร่วมกับ iOS หรือ Android ที่ไม่ใช่ Huawei ก็ตาม

ในแง่ของการออกแบบ Huawei Watch 3 ยังคงเอกลักษณ์ในแง่ของหน้าปัดทรงกลมเช่นเดิม ความรู้สึกที่ได้จะออกแมนๆ เหมาะกับผู้ชายมากกว่า จากขนาดตัวเครื่อง 46.2 x 46.2 x 12.15 มิลลิเมตร น้ำหนักไม่รวมสายจะอยู่ที่ 54 กรัม

ตัวหน้าจอที่ให้สีสันสดใส และสามารถเลือกเปลี่ยนหน้าปัดได้นั้น เลือกใช้จอแบบ AMOLED ขนาด 1.43 นิ้ว ความละเอียด 466 x 466 พิกเซล ให้ความละเอียดเม็ดสีที่ 326ppi วัสดุตัวเรือนทำจากสแตนเลสเป็นหลัก

การควบคุมทำได้ทั้งจากหน้าจอแบบสัมผัส เม็ดมะยมที่สามารถกด และหมุนได้ พร้อมกับปุ่มกดด้านข้าง เพิ่มเติม เพื่อให้เข้าถึงการใช้งานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว นาฬิกายังกันน้ำที่ระดับ 5 ATM ทำให้สามารถใส่ว่ายน้ำที่ไม่ลึกเกิน 50 เมตรได้ด้วย

สำหรับการเชื่อมต่อ นอกจากใส่ eSIM เพื่อใช้งาน 4G LTE แล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อ WiFi 4 (รองรับเฉพาะ 2.4 GHz) มี GPS ในตัว รวมถึง NFC และบลูทูธ 5.2 ทำให้สามารถเชื่อมต่อหูฟังไร้สาย เข้ากับ Watch 3 เพื่อใช้ฟังเพลงจากนาฬิกาโดยตรงได้ด้วย

ในส่วนของระยะเวลาการใช้งาน Huawei Watch 3 เคลมว่าในโหมดอัจฉริยะสามารถใช้งานได้นาน 3 วัน และโหมดประหยัดพลังงานจะอยู่ได้ 14 วัน ซึ่งในโหมดนี้จะยังคงวัดอัตราการเต้นของหัวใจ เชื่อมต่อบลูทูธกับสมาร์ทโฟนรับการแจ้งเตือน ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เชื่อมต่อกับ iOS ผ่านแอป Huawei Health ระยะเวลาการใช้งานจะสั้นลงเหลือ 1.5 วันเท่านั้น เนื่องจากใช้การเชื่อมต่อคนละแบบกับสมาร์ทโฟนที่มีพื้นฐานของ Android ทำให้ใช้พลังงานในการรับส่งข้อมูลมากกว่าเดิม

HUAWEI FreeBuds 4 คุณภาพเสียงตัดเสียงรบกวนเด็ดขึ้น

มาถึง HUAWEI FreeBuds 4 ที่เป็นหูฟังไร้สายชูความโดดเด่นเรื่องการตัดเสียงรบกวน ก่อนหน้านี้ หัวเว่ย เคยออก FreeBuds 4i ที่เป็นหูฟังไร้สายแบบ In-Ears ออกมารองรับการตัดเสียงรบกวนเหมือนกัน FreeBuds 4 รุ่นนี้จึงเหมือนเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้เพิ่มเติม

โดยการออกแบบของ FreeBuds 4 จะเปลี่ยนดีไซน์ใหม่อย่างเคสที่เป็นทรงกลม ขนาด 58 x 21.2 มิลลิเมตร น้ำหนักรวม 38 กรัม ทำให้พกพาได้ง่าย ใส่ในกระเป๋ากางเกงได้สบายๆ มีให้เลือกด้วยกัน 2 สีคือ เงิน Silver Frost และ ขาว Ceramic White มีพอร์ตชาร์จ USB-C อยู่ด้านล่าง และปุ่มกดสำหรับเชื่อมต่อทางขวา

ในส่วนของหูฟัง FreeBuds 4 มาในลักษณะของหูฟังปกติ ที่ไม่ได้ต้องยัดจุกยางเข้าไปในรูหู โดยทางหัวเว่ย ระบุว่า มีการออกแบบให้เหมาะกับสรีระของใบหู ทำให้เมื่อสวมใส่แล้วจะกระชับ พอดี และมีน้ำหนักเบาข้างละ 4.1 กรัมเท่านั้น

นวัตกรรมที่ใส่มาให้ใช้งานใน FreeBuds 4 มีที่น่าสนใจมากมาย ทั้งระบบตัดเสียงรบกวน ANC 2.0 ที่แม้ว่าจะเป็นหูฟังแบบ Open Fit แต่มีการปรับปรุงเทคตัดเสียงรบกวน ที่จะคอยปรับแรงดันอากาศในหูทั้ง 2 ข้างให้สมดุล และทำให้มั่นใจว่าจะได้ยินเสียงจากรอบข้าง

ทำให้ FreeBuds 4 กลายเป็นหูฟังไร้สายตัดเสียงรบกวนที่ใส่สบาย สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง ในแง่ของคุณภาพเสียงให้ไดรเวอร์ขนาด 14.3 มม. มาช่วยขับเสียงให้เสียงที่กว้าง และเติมด้วยเบสได้อย่างน่าสนใจ

ตัวหูฟังยังมากับระบบตรวจจับการสวมใส่ ทำให้เมื่อใช้งานอยู่ ถ้าเปิดเพลงฟัง พอถอดหูฟังเพลงก็จะหยุดโดยอัตโนมัติ เมื่อสวมกลับเข้าไปก็จะเล่นเพลงต่อได้ทันที รวมถึงรองรับการสลับใช้งานระหว่าง 2 อุปกรณ์ไปมาได้ จากการที่ใช้บลูทูธ 5.2 ช่วยให้สะดวกมากขึ้น

ส่วนการควบคุมจะใช้การสัมผัสในการสั่งงานบริเวณก้านหูฟัง โดยแบ่งเป็นการแตะสองครั้งเพื่อเล่น หยุด รับสาย วางสาย เลื่อนขึ้นลงเพื่อเพิ่มลดเสียง และแตะค้างเพื่อเปิดปิดโหมดตัดเสียงรบกวน ซึ่งการควบคุมเหล่านี้สามารถตั้งค่าผ่านแอป Huawei AI Life ได้ทั้งหมด

สำหรับระยะเวลาการใช้งาน FreeBuds 4 ให้แบตเตอรีมาข้างละ 30 mAh เคสชาร์จ 410 mAh เมื่อชาร์จ 1 ครั้ง สามารถเล่นเพลงต่อเนื่องในโหมดตัดเสียงรบกวนอยู่ที่ 2.5 ชั่วโมง และเมื่อปิดจะใช้งานได้ 4 ชั่วโฒง

เมื่อรวมกับแบตเตอรีในเคสชาร์จ จะใช้งานได้ต่อเนื่อง 14-22 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับการเปิดหรือปิดระบบตัดเสียงรบกวน และใช้เวลาในการชาร์จประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าแบตเตอรีหมดค่อนข้างเร็ว เมื่อเทียบกับหูฟังไร้สายหลายๆ รุ่นในท้องตลาด

สรุป

Huawei Watch 3 และ HUAWEI FreeBuds 4 น่าจะเหมาะกับผู้ที่ใช้งานอีโคซิสเตมส์ของ Huawei อยู่แล้ว เพราะจะสามารถเรียกใช้ประสิทธิภาพของดีไวซ์ได้สูงที่สุด ในขณะเดียวกันถ้าเป็นผู้ใช้งาน iOS ก็สามารถใช้งานได้ แต่มีข้อจำกัดพอสมควร

ดังนั้น อาจจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้ iOS มากกว่าว่า ถ้าต้องการนาฬิกาอัจฉริยะที่ไม่ใช่ Apple Watch หรือหูฟังไร้สายที่ไม่ใช่ AirPods มาใช้งาน Huawei ทั้ง 2 รุ่นนี้ ก็น่าสนใจไม่น้อยจากฟีเจอร์ที่ให้มา

]]>
Review : Apple AirPods Max หูฟังครอบหูเน้นใช้ง่าย ปรับเสียงอัตโนมัติ https://cyberbiz.mgronline.com/review-apple-airpods-max/ Thu, 07 Jan 2021 14:17:17 +0000 https://cyberbiz.mgronline.com/?p=34485

การที่ แอปเปิล (Apple) เลือกนำเสนอหูฟังครอบหูแบบไร้สายออกสู่ตลาดในชื่อ AirPods Max พร้อมกับตั้งราคาเปิดตัวไว้ที่ 19,900 บาท ทำให้หลายๆ คนอาจจะมองว่าเป็นระดับราคาที่สูงเกินไป แต่ถ้าลองดูในตลาดแล้ว หูฟังแบบครอบหูคุณภาพเสียงดีๆ ก็จะอยู่ในช่วงระดับราคาเกิน 15,000 บาทขึ้นไปอยู่แล้ว

จุดเด่นของ AirPods Max ไม่ใช่แค่เรื่องของคุณภาพเสียงที่ถูกปรับมาให้แบบอัตโนมัติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความง่ายในการใช้งานร่วมกับอีโคซิสเตมส์ต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ Apple และจุดเด่นเรื่องระบบตัดเสียงรบกวนแบบ Active Noise Cancellation ทำให้กลายเป็นหูฟังที่หยิบมาใช้งานได้อย่างสบายใจ

อย่างไรก็ตาม AirPods Max ไม่ได้เหมาะกับการใช้งานทุกรูปแบบเหมือน AirPods Pro ที่มากับมาตรฐานกันน้ำ ทำให้สามารถใส่ออกกำลังได้ แต่เหมาะกับใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไป หรือระหว่างเดินทาง เพื่อให้เข้าถึงคุณภาพเสียงที่ดีขึ้นมากกว่า

ข้อดี

  • หูฟังครอบหูตัดเสียงรบกวนแบบ Active Noise Cancellation
  • ทำงานกับอีโคซิสเตมส์ของ Apple ได้อย่างไร้รอยต่อ
  • โฟมครอบหูสามารถถอดเปลี่ยนได้

ข้อสังเกต

  • ใช้ที่ชาร์จ Lighting เท่านั้น
  • ไม่มีช่องต่อสาย 3.5 มม. มาให้ (ต้องใช้กับสายแปลง Lighting)
  • น้ำหนักค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับหูฟังครอบหูแบบพลาสติก

ออกแบบเก็บทุกรายละเอียด

แม้ว่า Apple จะผลิต AirPods ทำตลาดมาแล้วหลายปี รวมถึงเคยทำงานร่วมกับ Beats นำชิปประมวลผลทางด้านเสียงไปใส่ใช้งานในหูฟังทั้งแบบครอบหู และหูฟังเกี่ยวหูที่เหมาะกับการออกกำลังกาย

แต่กลายเป็นว่า AirPods Max นับเป็นหูฟังไร้สายแบบครอบหูรุ่นแรกที่ Apple ผลิตออกมา ทำตลาด ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเป็นผลิตภัณฑ์ของ Apple ย่อมมีการเก็บรายละเอียดในการออกแบบทุกส่วนให้ใช้งานได้สบายที่สุด

โครงสร้างหลักๆ ของ AirPods Max มีด้วยกัน 3 ส่วน คือบริเวณโครงหลักที่ใช้วัสดุเป็นสแตนเลสตีล เพื่อให้หูฟังมีความแข็งแรง หุ้มด้วยวัสดุที่มีผิวสัมผัสนุ่ม อย่างบริเวณส่วนก้านครอบศีรษะ จะนำจากตาข่ายถักที่ช่วยระบายอากาศ และลดแรงกดบนศรีษะด้วย

ถัดมาคือในส่วนของก้านยืดหดที่ใช้ปรับขนาดของหูฟัง Apple เรียกส่วนนี้ว่า Telescoping arms ที่ออกแบบมาให้สามารถเลื่อนปรับเข้าออกได้อย่างลื่นไหล แตกต่างจากหูฟังครอบหัวรุ่นอื่นๆ ในท้องตลาดที่จะมีลักษณะเป็นขั้นๆ ให้เลื่อนปรับ

สุดท้ายในส่วนของบริเวณที่ครอบหู จะใช้วัสดุอะลูมิเนียมแบบ Anodised ที่มีคามแข็งแรงสูงเช่นเดียวกัน ส่งผลให้โดยรวมแล้วนำ้หนักของ AirPods Max อยู่ที่ 384 กรัม เมื่อเทียบกับหูฟังครอบหูพลาสติกในระดับราคาใกล้เคียงกันจะอยู่ที่ราว 255 กรัมเท่านั้น

เมื่อเจาะลึกลงมาบริเวณที่ครอบหูด้านในส่วนที่สัมผัสกับศีรษะ Apple ได้นำ เมมโมรี่โฟม มาใช้งานทำให้เมื่อครอบหูแล้วนอกจากปิดกันเสียงภายนอกแล้ว ยังให้ความรู้สึกสบายเวลาสวมใส่ใช้งานด้วย

สำหรับปุ่มควบคุมต่างๆ บน AirPods Max จะมีเพียงปุ่มควบคุมเสียงรบกวน ที่ใช้ในการเลือกปรับโหมดใช้งาน และเม็ดมะยม (Digital Crown) มาใช้ในการหมุนปรับเสียง หรือกดสั่งงานเท่านั้น โดยทั้ง 2 ปุ่ม จะอยู่ที่หูฟังฝั่งขวา

ในขณะที่พอร์ตชาร์จเป็น Lightning ทำให้สามารถนำสายชาร์จ iPhone มาเสียบชาร์จได้ทันที และภายในกล่องก็มีสาย USB-C to Lightning มาให้ใช้งานด้วย นั่นแปลว่าไม่สามารถเสียบใช้งานร่วมกับช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. ได้ถ้าไม่เสียเงินซื้อสายเชื่อมต่อเพิ่ม

AirPods Max จะมาพรอ้มกับ Smart Case หรือซองเก็บหูฟังมาด้วย โดยที่ตัวซองเก็บหูฟังจะมีแม่เหล็กที่ หูฟังจะตรวจจับว่าเมื่อเก็บเข้าซองแล้ว จะเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงานสูงสุด เพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรีในช่วงที่ไม่ได้ใช้งานด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่ Smart Case คลุมแค่บริเวณที่เป็นส่วนของหูฟังเท่านั้น เวลาเก็บใส่กระเป๋าก็อาจจะต้องระวังส่วนอื่นไปสัมผัสกับวัสดุที่มีโอกาสทำให้บริเวณตาข่ายข้างบนขาดได้ หรือแม้แต่ตัวเคส ที่ใช้เป็นผิวสังเคราะห์เมื่อใช้งานไปนานๆ ก็มีโอกาสลอก ซึ่งคาดว่าเป็นวัสดุเดียวกับเคสของ iPad ที่เมื่อใช้งานไปสักพักจะลอกได้ ดังนั้น Smart Case จึงไม่ใช่เคสเก็บ AirPods Max ที่ดีที่สุด

เชื่อมต่อง่าย ใช้งานได้ทุก Apple ดีไวซ์

สำหรับผู้ที่เคยใช้งาน AirPods มาก่อนทั้ง AirPods และ AirPods Pro น่าจะเคยได้สัมผัสถึงความง่ายในการเชื่อมต่อใช้งานหูฟังไร้สายของ Apple มาแล้ว เพราะเพียงแค่เปิดฝา AirPods เท่านั้น iPhone ก็จะตรวจพบทันทีว่า มีอุปกรณ์ใหม่มาอยู่บริเวณใกล้เคียง

หลังจากนั้น เพียงแค่กดเชื่อมต่อ (Connect) ครั้งเดียว ทุกผลิตภัณฑ์ของ Apple ที่ล็อกอินด้วย Apple ID เดียวกัน ก็จะรู้จักหูฟังนี้ทันที ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสลับใช้งานหูฟังร่วมกับ iPhone iPad Mac ได้ โดยไม่ต้องมาคอยเชื่อมต่อใหม่

รวมถึงความสามารถในการโอนย้ายการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องโดยอัตโนมัติ อย่างกรณีที่ฟังเพลงบน iPhone อยู่ แล้วหยุดเล่น เปลี่ยนมาดูหนังบน iPad อีโคซิสเตมส์ของ Apple จะช่วยสลับการใช้งานให้โดยอัตโนมัติ ทำให้สะดวกในการใช้งาน

AirPods Max ก็ยังเป็นอุปกรณ์ที่ได้ความสามารถนี้มาเช่นเดียวกัน และยังเก่งขึ้นด้วย ในเรื่องของการปรับเรื่องการตัดเสียงรบกวน โดยนอกจากสั่งงานที่หูฟังแล้ว ยังสามารถเลือกเปลี่ยนโหมดในเครื่อง Mac ได้ทันที (เมื่ออัปเดตเป็น macOS Big Sur)

ในส่วนของการควบคุม AirPods Max นั้น การกดปุ่มควบคุมการตัดเสียงรบกวน จะเป็นการสลับระหว่างโหมดตัดเสียงรบกวน (Active Noise Cancellation) และโหมดรับฟังเสียงรอบข้าง (Transparency) ในเบื้องต้น ถ้าต้องการให้มีโหมดปกติด้วยจะต้องไปตั้งค่าเพิ่มเติมใน iPhone

ถัดมาในส่วนของปุ่ม Digital Crown สามารถหมุนเพื่อปรับระดับเสียง (เลือกทิศทางหมุนได้) กด 1 ครั้ง เพื่อเล่น/หยุดเพลง และรับสายโทรศัพท์ กด 2 ครั้ง เพื่อเปลี่ยนเพลงไปข้างหน้า กด 3 ครั้ง เพื่อย้อนกลับไปเพลงก่อนหน้า และกดค้าง เพื่อเรียกใช้งาน Siri

สำหรับระยะเวลาการใช้งาน AirPods Max ทาง Apple ระบุว่า สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง 20 ชั่วโมง ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ในการเปิดโหมดป้องกันเสียงรบกวน และระบบเสียง Spatial Audio ซึ่งถ้าปิดโหมดป้องกันเสียงรบกวนก็จะช่วยเพิ่มระยะเวลาในการใช้งานได้อีก ส่วนการชาร์จ มีระบบชาร์จเร็วเมื่อชาร์จ 5 นาที จะใช้งานได้ต่อเนื่อง 90 นาที

คุณภาพเสียงตัดเสียงรบกวน

เรื่องของคุณภาพเสียงที่ได้ถือว่ากลายเป็นหนึ่งจุดที่ผู้สนใจซื้อหา AirPods Max มาใช้งาน คำนึงถึงเป็นส่วนแรกๆ เนื่องจากด้วยระดับราคาเกือบ 2 หมื่นบาท การเลือกซื้อหูฟังคุณภาพเสียงดีๆ สักตัวที่เหมาะกับการใช้งานนั้นมีตัวเลือกที่หลากหลาย

ในจุดนี้ แอปเปิล ยังคงความโดดเด่นในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับการใช้งานสำหรับทุกคนเช่นเดิม กล่าวคือคุณภาพเสียงของ AirPods Max นั้น ไม่ได้มีจุดที่โดดเด่นขึ้นมาเป็นพิเศษ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีจุดที่ให้ตำหนิได้ ทำให้กลายเป็นว่า AirPods Max มอบคุณภาพเสียงที่ดีในระดับพรีเมียมได้อย่างน่าสนใจ

เบื้องหลังของคุณภาพเสียงที่อยู่ในเกณฑ์ดีของ AirPods Max เกิดขึ้นจากการนำความสามารถของชิปเซ็ตประมวลผล Apple H1 มาทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ ในการขับเคลื่อนไดรเวอร์ 40 มม. ภายในหูฟังได้เป็นอย่างดี โดยแอปเปิลเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า Computational Audio

โดยตัวหูฟัง AirPods Max จะมากับระบบ Adaptive EQ ที่จะคอยปรับย่านเสียงใหม่เหมาะสม และให้ประสบการณ์ในการฟังที่ดีที่สุด จึงทำให้ AirPods Max กลายเป็นหูฟังครอบหูที่เหมาะกับผู้ใช้งานทั่วไปทุกคน แต่สำหรับผู้ที่ต้องการเลือกปรับ Equalizer ด้วยตัวเองก็อาจจะผิดหวังได้ เพราะแอปเปิล ไม่ได้เปิดช่องให้ตั้งค่าด้วยตนเองได้

ถัดมาในส่วนของระบบตัดเสียงรบกวน Active Noise Cancellation ก่อนหน้านี้ แอปเปิล เคยนำระบบตัดเสียงรบกวนนี้มาให้ผู้บริโภคใช้งานกันแล้วใน AirPods Pro และใน AirPods Max นี้ก็ได้พัฒนาเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถใส่ไมโครโฟนในการรับเสียงได้เพิ่มขึ้น

ภายใน AirPods Max จะมีการฝังไมโครโฟนไว้ทั้งหมด 9 ตัว โดย 8 ตัวจะถูกนำมาใช้ในการเก็บเสียงทั้งภายนอก ภายในหูฟัง เพื่อให้ชิป H1 นำไปคำนวนคลื่นเสียงที่ส่งเข้ามา และปรับคลื่นเสียงให้เหมาะสมภายในหูฟัง ทำให้ได้ระบบตัดเสียงรบกวนที่ดีที่สุด ในขณะที่ไมโครโฟนตัวที่ 9 จะถูกใช้ในการเก็บเสียงสนทนาเวลาใช้เป็นหูฟังบลูทูธปกติ

นอกเหนือจากโหมดตัดเสียงรบกวน ในโหมดรับเสียงจากภายนอก ก็ได้ใช้ประโยชน์ของไมโครโฟนทั้ง 8 ตัวในการรับ และประมวลผลเสียง ทำให้ผู้ใช้ได้ยินเสียงรอบข้างได้อย่างชัดเจน โดยไม่ต้องเอื้อมมือไปถอดหูฟังออกแต่อย่างใด

Spatial Audio เพิ่มประสบการณ์รับชมคอนเทนต์

อีกหนึ่งเทคโนโลยีเสียงที่ Apple ใส่มาให้ใช้งานใน AirPods Max คือระบบเสียงที่ติดตามทิศทางการหันของศีรษะ Spatial Audio ที่เริ่มเปิดให้ผู้ใช้งาน AirPods Pro บน iOS 14.3 ใช้งานมาแล้วก่อนหน้านี้

เมื่อ AirPods Max วางจำหน่ายก็รองรับระบบนี้เช่นเดียวกัน โดยจะนำข้อมูลจากเซ็นเซอร์ Accelerometers และ Gyroscopes มาผสมผสานกับข้อมูลของดีไวซ์ที่ใช้งานอย่าง iPhone หรือ iPad ในการระบุตำแหน่งของหูฟังที่สวมใส่

ทำให้เวลารับชมคอนเทนต์ที่รองรับระบบเสียง 5.1, 7.1 หรือ Dolby Atmos ทำงานร่วมกับ AirPods Max ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เสียงที่ออกมาเหมือนอยู่รอบๆ ตัวแบบ 360 องศา ช่วยให้การรับชมภาพยนต์สนุกขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สรุป

แน่นอนว่า AirPods Max นั้นต้องเหมาะกับผู้ที่มีอุปกรณ์ของ Apple ใช้งานอยู่แล้ว เพราะถ้าซื้อมาใช้งานคู่กับแอนดรอยด์โฟน ฟีเจอร์อย่าง Spatial Audio หรือการสลับการใช้งานระหว่างอุปกรณ์แบบอัจฉริยะก็จะหายไป ดังนั้นผู้ที่เหมาะกับ AirPods Max คงหนีไม่พ้นผู้ที่มี iPhone iPad ใช้งานเป็นอุปกรณ์หลัก

ในขณะที่คุณภาพของหูฟัง เสียง และเทคโนโลยีที่ได้ เมื่อเทียบกับราคา ต้องยอมรับว่า Apple ทำการบ้านมาได้เป็นอย่างดี ด้วยวัสดุที่เลือกใช้งาน การปรับ Adaptive EQ ที่ฉลาด ระบบตัดเสียงรบกวน Active Noise Cancellation ที่ทำได้ตามมาตรฐานของหูฟังระดับนี้

อย่างไรก็ตาม AirPods Max อาจจะไม่เหมาะกับการนำไปใช้สำหรับการออกกำลังกาย เนื่องจากหูฟังไม่ได้ถูกออกแบบมาให้กันน้ำ เหมือนกับ AirPods Pro หรือนำไปใช้กับการรับฟังเสียงเพื่อใช้งานตัดต่อที่ต้องการความแม่นยำของเสียง เพราะตัวหูฟังจะมีการปรับแต่งเสียงให้ดีที่สุดตลอดเวลา

สุดท้ายก็คือ AirPods Max ไม่ได้มีช่องเสียบสาย 3.5 มม. มาให้ ถ้าต้องการนำไปใช้กับอุปกรณ์อื่นๆ ต้องจ่ายเงินซื้อสาย Lightning to 3.5 มม. อีก 1,290 บาท เช่นเดียวกับการที่ในกล่องไม่มีอะเดปเตอร์ชาร์จมาให้ด้วย

Apple วางจำหน่าย AirPods Max ด้วยกันทั้งหมด 5 สี คือ เงิน เทาสเปซเกรย์ สกายบลู ชมพู และเขียว ในราคา 19,990 บาท ส่วนบริเวณโฟมหูฟัง หรือ Ear Cushions ในกรณีที่อยากสั่งเพิ่มมาสลับสี หรือเปลี่ยนใช้งานจะอยู่ที่ 2,290 บาท มีให้เลือก 5 สีเช่นเดียวกัน

Gallery

]]>
Review : Huawei FreeLace Pro หูฟังคล้องคอพร้อมระบบตัดเสียงรบกวน https://cyberbiz.mgronline.com/review-huawei-freelace-pro/ Thu, 29 Oct 2020 05:44:04 +0000 https://cyberbiz.mgronline.com/?p=34078

หัวเว่ย (Huawei) หันมาให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ในกลุ่มหูฟังบลูทูธมากยิ่งขึ้น หลังจากเริ่มประสบความสำเร็จในการออกหูฟัง True Wireless ตัดเสียงรบกวนอย่าง FreeBuds 3 ในช่วงปีที่ผ่านมา

มาในปีนี้ Huawei อัปเดตไลน์ผลิตภัณฑ์หูฟังเพิ่มเติม อย่าง FreeBuds Pro และอีกรุ่นที่น่าสนใจคือ Huawei FreeLace Pro รุ่นนี้ เนื่องจากเป็นหูฟังไร้สายแบบคล้องคอ  ไว้ใส่ใช้งานในชีวิตประจำวัน แบบไม่ต้องกลัวหลุดหายเหมือนหูฟัง True Wireless

จุดเด่นของ FreeLace Pro คือมากับระบบตัดเสียงรบกวน Active Noise Cancellation แบบแยกไมโครโฟน 2 ตัว พร้อมนำอัลกอริธึมมาช่วยลดเสียงรบกวนขณะคุยโทรศัพท์ สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องสูงสุด 24 ชั่วโมง ในราคา 2,990 บาท

ข้อดี

  • หูฟังบลูทูธตัดเสียงรบกวนแบบ ANC
  • In-Ears สวมใส่สบาย
  • กันน้ำ ใส่ออกกำลังได้
  • ใช้งานต่อเนื่องสูงสุด 24 ชั่วโมง

ข้อสังเกต

  • ไม่รองรับการเชื่อมต่อหลายอุปกรณ์พร้อมกัน
  • พอร์ต USB-C ต้องถอดปลอกก่อนชาร์จ
  • หูฟังจะปิดอัตโนมัติ เมื่อปลายหูฟังติดกันผ่านแม่เหล็ก

หูฟังคล้องคอ ตัดเสียงรบกวนได้

ความโดดเด่นของ Huawei FreeLace Pro นอกจากเรื่องของสีสันที่มีให้เลือกทั้งสีเขียว สีดำ และสีขาว (อมชมพู) แล้ว ที่ขาดไม่ได้เลยคือเรื่องของการสวมใส่สบาย แม้ว่าจะเป็นหูฟังแบบ In-Ears ก็ตาม แต่ด้วยการที่เวลาสวมใส่ไม่ต้องระมัดระวังเหมือนตอนสวมหูฟัง True Wireless เพราะมีสายคล้องคอมาช่วยป้องกันการหล่นหายได้ด้วย

อีกความสามารถที่ขาดไม่ได้เลยคือ เรื่องของการตัดเสียงรบกวนที่ FreeLace Pro ทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการที่ Huawei มีประสบการณ์ในการผลิตหูฟังตัดเสียงรบกวนแบบ Active Noise Cancelling มาก่อนหน้านี้ ยิ่งทำให้การตัดเสียงรบกวนในรุ่นนี้ทำได้ดียิ่งขึ้น

หลักการทำงานของระบบตัดเสียงรบกวนของ FreeLacnce Pro คือการนำไมโครโฟนคู่มาใช้งาน โดยเมื่อสวมใส่แล้วจะมีไมโครโฟนตัวหนึ่งที่อยู่นอกหู คอยตรวจจับเสียงรบกวนต่างๆ มาหักลบกับเสียงจากไมโครโฟนภายในรูหู จึงทำให้การตัดเสียงรบกวนของ FreeLace Pro ทำได้อย่างน่าสนใจ

ขณะเดียวกัน FreeLace Pro ยังมากับไดรเวอร์ของหูฟังขนาด 14 มิลลิเมตร ที่ใหญ่กว่าหูฟังแบบ True Wireless ทั่วไปในท้องตลาด จึงทำให้สามารถขับเสียงได้ดีกว่า โดยเฉพาะเสียงเบส ดังนั้นใครที่ชื่นชอบเสียงเบสหนักๆ หน่อยน่าจะชื่นชอบหูฟังรุ่นนี้เป็นพิเศษ

ทั้งนี้ ในการใช้งาน FreeLace Pro ให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ควรใช้งานคู่กับแอปพลิเคชัน AI Life ที่ผู้ใช้งาน Android สามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งใช้งานได้จาก PlayStore หรือถ้าใช้งานสมาร์ทโฟนหัวเว่ย ก็สามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งจาก Huawei App Gallery ได้เช่นเดียวกัน

ภายในแอปพลิเคชัน AI Life หลังจากทำการเชื่อมต่อหูฟังเข้ากับสมาร์ทโฟนแล้ว ผู้ใช้สามารถเลือกปรับโหมดการใช้งานระหว่างเปิดระบบตัดเสียงรบกวน ANC หรือเล่นเปิดใช้งานโหมด Awareness เพื่อรับฟังเสียงจากรอบข้างได้ ซึ่งถ้าใช้งานหูฟังอยู่ ก็สามารถแตะที่หูฟังเพื่อรับฟังเสียงจากภายนอกได้ทันทีเช่นเดียวกัน

วิธีการเชื่อมต่อกลายเป็นอีกจุดที่ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนหัวเว่ย คู่กับ FreeLace Pro จะได้เปรียบมากกว่า เพราะหูฟังรุ่นนี้ มากับฟีเจอร์อย่าง HiPair ที่ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อพอร์ต USB-C ที่หูฟังเข้ากับสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย เพื่อทำการเชื่อมต่อได้ง่ายๆ ภายในคลิกเดียว

แต่ถ้าใช้งานสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ รวมถึงการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ จะต้องเปิดโหมด Paring ที่ตัวหูฟังด้วยการกดปุ่มเปิดเครื่องค้างไว้ให้เข้าสู่โหมด Pairing ก่อนทำการจับคู่กับอุปกรณ์อื่นๆ ได้ตามปกติ เหมือนการเชื่อมต่อบลูทูธทั่วๆ ไป

ควบคุมได้ครบ โดยไม่ต้องสั่งผ่านสมาร์ทโฟน

ด้วยการที่ Huawei FreeLace Pro เป็นหูฟังบลูทูธแบบคล้องคอ ทำให้หัวเว่ย มีพื้นที่ในการเพิ่มปุ่มควบคุมการสั่งงานต่างๆ มาให้ด้วย โดยจะแบ่งเป็น 2 จุดหลักๆ ด้วยกันคือ บริเวณสายหูฟังด้านขวา จะมีแถบควบคุมอยู่ ผู้ใช้สามารถกดปุ่มด้านข้าง เพื่อเปิดปิดเครื่อง / กดค้าง 4 วินาที เพื่อเข้าโหมดจับคู่ (Pairing) และที่เพิ่มขึ้นมาคือ กดปุ่มนี้ 2 ครั้ง เพื่อสลับการเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์ก่อนหน้า

การที่มีฟีเจอร์ให้สามารถกดปุ่มเพื่อสลับการเชื่อมต่อได้นั้น ช่วยให้ผู้ที่มีอุปกรณ์พกพาหลายเครื่อง สามารถสลับการเชื่อมต่อหูฟังระหว่างอุปกรณ์ได้สะดวกขึ้น ยกตัวอย่างเช่นผู้ที่ใช้งานทั้งสมาร์ทโฟน ร่วมกับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก หรือแท็บเล็ต ในเวลาที่ใช้งานกับหน้าจอใหญ่ๆ แล้วมีการฟังเพลง หรือดูหนังอยู่ ถ้ามีสายเข้าที่โทรศัพท์ ก็สามารถกดสลับมาสนทนาผ่านหูฟังได้ทันที

ฟีเจอร์นี้ จึงเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องของการที่ FreeLace Pro รองรับการเชื่อมต่อทีละ 1 อุปกรณ์ไปได้ เพราะตามปกติแล้วเวลาต้องการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ ผู้ใช้จำเป็นต้องไปยกเลิกการเชื่อมต่อบนสมาร์ทโฟนก่อนกดเชื่อมต่อในอุปกรณ์ใหม่ ปุ่มสลับเครื่องนี้จึงมาช่วยให้ผู้ใช้งานสะดวกขึ้น

ต่อมาคือปุ่มควบคุมพื้นฐาน อย่างปุ่มเพิ่มลดเสียง และปุ่มฟังก์ชัน ที่สามารถกดค้างเพื่อเรียกใช้งานผู้ช่วยส่วนตัว หรือปฏิเสธสาย กด 1 ครั้งเพื่อ เล่นเพลง หยุดเพลง รับสาย วางสาย กด 2 ครั้ง เพื่อเล่นเพลงถัดไป และกด 3 ครั้ง เพื่อเล่นเพลงก่อนหน้า

อีกจุดหนึ่งก็คือบริเวณหูฟังด้านซ้ายที่สามารถแตะค้างเพื่อสลับโหมดการใช้งานระหว่างเปิด ANC โหมด Awareness และ ปิดการตัดเสียงรบกวนได้ จะเห็นได้ว่าในการควบคุมหูฟังนั้น สามารถทำได้ครบจากหูฟังทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์อื่นๆ เลย

ออกแบบมาเหมาะกับการออกกำลังกาย

ถ้าถามว่า FreeLace Pro เหมาะกับใครมากที่สุด คงหนีไม่พ้นผู้ที่ต้องการหูฟังบลูทูธ สำหรับใช้ใส่ออกกำลังกาย ที่ไม่ต้องมาคอยกังวลว่าหูฟัง True Wireless ที่ใส่อยู่จะหลุดหล่นหายระหว่างออกกำลังหรือไม่ และอีกกลุ่มก็คือผู้ใช้งานที่มีไลฟ์สไตล์แบบแอคทีฟ ชอบเดินทาง พกพาหูฟังรุ่นนี้ไปใช้งานระหว่างวันได้ตลอดทุกที่ ทุกเวลา เพราะกันน้ำกันฝุ่นในมาตรฐาน IP55

โดยหูฟัง FreeLace Pro นั้น จะมีลักษณะเป็นหูฟังบลูทูธที่เส้นเดียว มีความยาว 862.4 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 34 กรัม มีให้เลือกด้วยกัน 3 สีคือ ดำ Graphite Black เขียว Spruce Green และ ขาว Dawn White ที่มีความพิเศษคือหูฟังจะไม่พันกันเด็ดขาด เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่วางทิ้งไว้หูฟังจะคลายตัวออกมาเป็นทรงพร้อมคล้องคอโดดอัตโนมัติ

นอกจากนี้ บริเวณปลายหูฟังทั้ง 2 ฝั่ง จะมีแม่เหล็กอยู่ ทำให้เวลาเราถอดหูฟังออกจากหู และปล่อยลงมาคล้องคอ บริเวณปลายหูฟังก็จะเชื่อมต่อติดกันด้วยแม่เหล็ก (Magnetic Snap) ซึ่งเมื่อติดกันแล้วจะเข้าสู่โหมดพักการใช้งานเครื่องโดยอัตโนมัติเพื่อประหยัดแบตเตอรีด้วย

Huawei FreeLace Pro รองรับการเชื่อมต่อแบบบลูทูธ 5.0 และมีพอร์ตชาร์จแบบ USB-C ที่จะซ่อนอยู่บริเวณสายหูฟังทางฝั่งซ้าย ทำให้เวลาต้องการเสียบชาร์จ หรือเชื่อมต่อแบบ HiPair ต้องถอดบริเวณขั้วชาร์จออกมา ซึ่งแน่นอนว่าต้องดูในเรื่องของความคงทนของยางที่ซีลบริเวณขอบของส่วนนี้ด้วย เพราะเวลาใช้ไปนานๆ ถ้ามีการถอดเข้าถอดออกบ่อยๆ ซีลยางอาจจะเสื่อมได้

แบตเตอรี ภายในของหูฟังรุ่นนี้จะอยู่ที่ 150 mAh โดยทางหัวเว่ย ระบุว่า สามารถเปิดใช้งานในโหมดปิดการตัดเสียงรบกวนได้สูงสุด 24 ชั่วโมง และถ้าเปิดใช้งานโหมด ANC จะอยู่ที่ราว 16 ชั่วโมง ส่วนระยะเวลาในการชาร์จจะอยู่ที่ราว 60 นาที แต่ทั้งนี้ เมื่อเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนหัวเว่ย ในโหมด HiPair จะสามารถชาร์จแบตเตอรีใช้งานได้ต่อเนื่อง 5 ชั่วโมง ในเวลา 5 นาที

สำหรับอุปกรณ์ที่ให้มาภายในกล่องของ FreeLace Pro นั้น ประกอบไปด้วย Ear Tips หรือจุกหูฟังให้เลือกเพิ่มอีก 2 ขนาด รวมเป็นทั้งหมด 3 ขนาด มีสายแปลงพอร์ต USB-C ไปเป็น USB-A เพื่อใช้งานร่วมกับอะเดปเตอร์ชาร์จมือถือ และคู่มือการใช้งานต่างๆ

สรุป

Huawei FreeLace Pro นับว่าเป็นหูฟังแบบบลูทูธคล้องคอที่มีฟีเจอร์ในการใช้งานที่น่าสนใจ ทั้งระบบการตัดเสียงรบกวน และฟีเจอร์สลับการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ เพียงแต่ว่าด้วยการที่ปัจจุบันหูฟังแบบ True Wireless ได้รับความนิยมมาก เพราะพกพาใช้งานได้สะดวกกว่า ทำให้อาจจะต้องเลือกตัดสินใจว่า ต้องการหูฟังรูปแบบไหนมาใช้งาน 

ขณะเดียวกัน ด้วยระดับราคา 2,990 บาท คุณภาพเสียงที่ได้ก็จะอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าคุ้มค่ากับราคา แต่ถ้าใครที่ต้องการหูฟังที่ให้รายละเอียดเสียงได้ครบ หรือคุณภาพเสียงดีจริงๆ ก็อาจจะต้องมองข้ามรุ่นนี้ไปหาหูฟังระดับไฮเอนด์แทน ซึ่งถ้าไม่ได้ซีเรียสเรื่องเสียงขนาดนั้น และต้องการหูฟังที่ตัดเสียงรบกวนได้ดี FreeLace Pro ตอบโจทย์อย่างแน่นอน

Gallery

]]>