แมคบุ๊ก – CBIZ Reviews – MGR Online https://cyberbiz.mgronline.com เว็บไซต์รีวิวอุปกรณ์ ไอที ไฮเทค เป็นส่วนหนึ่งของผู้จัดการออนไลน์ Mon, 01 Feb 2021 03:49:16 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.0 Review : Apple MacBook Pro M1 จุดเริ่มต้นของแมคยุคใหม่ https://cyberbiz.mgronline.com/review-apple-macbook-pro-m1/ Fri, 29 Jan 2021 06:54:18 +0000 https://cyberbiz.mgronline.com/?p=34666

นับตั้งแต่ Apple เปิดตัวชิปเซ็ตสำหรับแมคบุ๊กรุ่นใหม่อย่าง Apple M1 ออกมา ได้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดโน้ตบุ๊กพอสมควร ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพในการทำงานที่แรงกว่าซีพียูหลักๆ ที่ใช้งานกันในปัจจุบัน จนถึงเรื่องของการใช้พลังงานที่น้อยลง และกลายเป็นจุดที่ทำให้ประทับใจกับชิปเซ็ตนี้มากที่สุด

หลังจากใช้งาน MacBook Pro M1 มาเกือบ 2 เดือน ทำให้เห็นถึงภาพรวมการใช้งานของ MacBook รุ่นใหม่ที่นำความสามารถของชิปเซ็ตนี้มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจ ทั้งเรื่องของฮาร์ดแวร์ และระบบปฏิบัติการที่ปรับปรุงให้รองรับการใช้งานได้เป็นอย่างดี

แม้ว่า MacBook Air และ MacBook Pro จะยังคงใช้โมเดลเครื่องเดิม แต่การที่เปลี่ยนแปลงชิปเซ็ตในครั้งนี้ ช่วยให้ตัวเครื่องแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และกลายเป็น MacBook 2 รุ่น เริ่มต้น ที่เหมาะกับการใช้งานทั่วไปมากที่สุดในเวลานี้

ข้อดี

  • ประสิทธิภาพในการทำงานของชิปเซ็ต ร่วมกับระบบปฏิบัติการ macOS BigSur
  • แบตเตอรีใช้งานได้ต่อเนื่องทั้งวันสบายๆ
  • ตัวเครื่องร้อนน้อยกว่ารุ่น Intel อย่างเห็นได้ชัด

ข้อสังเกต

  • การใช้งานโปรแกรมเก่า บนชิปเซ็ตรุ่นใหม่ยังไม่ 100%
  • ตัวเครื่องยังใช้โมเดลเดิม และคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในปีนี้
  • ในช่วงแรกที่ใช้งานมีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อบลูทูธไม่เสถียร

เปลี่ยนชิป แต่ดีไซน์เดิม

ทั้ง MacBook Air และ MacBook Pro ที่ใช้งาน Apple M1 รุ่นแรกที่ออกมาทำตลาดนั้น ต้องมองว่าแอปเปิล เลือกที่จะนำชิปเซ็ตรุ่นใหม่มาใช้งานกับฟอร์มเฟคเตอร์แบบเดิมก่อน แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วชิปเซ็ต M1 จะมีขนาดเล็กลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับการใช้เมนบอร์ดที่ทำงานร่วมกับซีพียูของ Intel

ดังนั้น เครื่องรุ่นแรกนี้จึงเหมือนเป็นรุ่นทดสอบแรก ของ Apple ในช่วงการเปลี่ยนผ่านหน่วยประมวลผลจาก Intel ที่ทำงานบนสถาปัตยกรรมแบบ x86/x64 ไปยังสถาปัตยกรรมแบบ ARM ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้

โดยใน MacBook Pro 13” (late 2020) จะใช้ดีไซน์เดิมของ MacBook Pro with TouchBar รุ่นเริ่มต้น ที่มีพอร์ต Thunderbolt 3 (USB-C) 2 พอร์ต มาให้ใช้งาน โดยมีขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 304.1 x 212.4 x 15.6 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 1.4 กิโลกรัม

สิ่งที่พัฒนาขึ้นมาคือเรื่องของการแสดงผลบนจอ Retina Display ขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด 2560 x 1600 พิกเซ ที่ให้ความสว่างหน้าจอ 500 nit แสดงผลสีแบบ True Tone ที่รองรับขอบเขตสีกว้างระดับ P3 ทำให้การแสดงผลทำได้สวยงาม

พอร์ตเชื่อมต่อที่ให้มาทางซ้ายจะมีเพียง Thunderbolt 3 ที่เป็น USB 4 ใช้สำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมต่างๆ ต่อจอภาพ รวมถึงชาร์จแบตฯ มาให้ 2 พอร์ต และทางขวาจะมีช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. มาให้ใช้งาน

คีย์บอร์ดของ MacBook Pro 13.3 นี้ปรับมาใช้งาน Magic Keyboard แล้วจากรุ่นก่อนหน้าที่ใช้งานเป็น Butterfly Keyboard และเริ่มนำมาใช้งานใน MacBook Pro 16” ก่อนทยอยอัปเดตให้ MacBook Pro รุ่นใหม่ใช้งานแทนที่ของเดิม

เทียบ Butterfly Keyboard ในรุ่นเก่า กับ Magic Keyboard ในรุ่นใหม่

บริเวณคีย์บอร์ดยังให้ Touch Bar มาไว้สำหรับสั่งงานร่วมกับโปรแกรมต่างๆ ได้สะดวกขึ้น โดยทางขวาสุดของ Touch Bar จะเป็น Touch ID ไว้สแกนลายนิ้วมือในการปลดล็อกเครื่อง รวมถึงการทำธุรกรรมต่างๆ บน MacBook ด้วย

ตัวแทร็กแพดที่ให้มายังคงใช้งานเป็น Force Touch ที่ใช้ไฟฟ้าสถิตมาคำนวนแรงกดของปุ่มช่วยให้มีความแม่นยำ และรองรับการใช้งานแบบมัลติทัชได้สมบุรณ์แบบเช่นเดิม

แบตเตอรีที่ให้มาภายใน MacBook Pro 13.3 นิ้ว เป็นขนาด 58.2 Whr ซึ่งทำให้ MacBook Pro รุ่นนี้ สามารถใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ได้นานถึง 17 ชั่วโมง และใช้ดูภาพยนต์ได้ต่อเนื่องถึง 20 ชั่วโมงด้วยกัน

ภายในของ MacBook Pro M1 ยังมีจุดที่พัฒนาขึ้นอีกหลายๆ ด้านทั้งเรื่องของกล้อง FaceTime HD ที่ปรับปรุงให้รับแสงได้ดีขึ้น ลำโพงสเตอริโอที่ให้เสียงกว้างขึ้น รองรับ Dolby Atmos เพิ่มไมโครโฟนตัดเสียงรบกวน รับกับเทรนด์ของการใช้งานวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มากยิ่งขึ้น

ในขณะที่การเชื่อมต่อจะรองรับ WiFi 6 (802.11ax) เรียบร้อยแล้ว พร้อมบลูทูธ 5.0 ทำงานบนระบบปฏิบัติการ macOS BigSur ภายในกล่องจะให้อะเดปเตอร์แปลงไฟ USB-C ขนาด 61W มาให้พร้อมสาย USB-C ยาว 2 เมตร

ทำความเข้าใจ Apple M1

ในส่วนของสเปกตัวเครื่อง MacBook Pro 13.3 นิ้ว รุ่นใหม่นี้ จะมากับชิป Apple M1 ที่เปลี่ยนการออกแบบของหน่วยประมวลผลจากเดิมที่แยกกันในยุคของ Intel มารวมกันอยู่ในชิปเดียว (SOC : System on Chip) ช่วยให้แต่ละส่วนสื่อสารกันได้เร็วขึ้น และทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภายในชิป M1 นี้ จะเป็นการรวมทั้งซีพียู ชิปโมเด็มสำหรับเชื่อมต่อ หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) หน่วยความจำ (RAM) ชิปประมวลผล AI (Neural Engine) เข้ามาอยู่รวมกัน

ขณะเดียวกัน ด้วยการผลิตบนสถาปัตยกรรมแบบ 5 นาโนเมตร ทำให้ Apple M1 กลายเป็นชิปรุ่นแรกที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ที่มีการนำทรานซิสเตอร์ 1.6 หมื่นล้านตัวมาไว้ในชิปเดียวกัน

ในส่วนของซีพียูนั้น จะทำงานในแบบของ Octa-Core หรือ 8 คอร์ ที่แบ่งเป็นคอร์ประสิทธิภาพสูงจำนวน 4 คอร์ ออกแบบมาให้เรียกใช้การประมวลผลได้อย่างเต็มที่ และอีก 4 คอร์ สำหรับการใช้งานเบาๆ ช่วยให้รวมๆ แล้วสามารถประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างมาก

ถัดมาคือความสามารถในการประมวลผลภาพ ที่กลายเป็นว่าเมื่อ GPU สามารถดึงหน่วยความจำมาใช้งานได้เต็มที่ก็จะช่วยทำให้ความเร็วในการประมวลผลเพิ่มขึ้นด้วย ตามด้วยการเติมชิป Neural Engine มาช่วยเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งาน และปรับรูปแบบการใช้งานให้เหมาะสมด้วย

ในภาพรวมชิปเซ็ต Apple M1 ถือว่าให้พลังในการประมวลผลที่เร็วขึ้น และประหยัดพลังงานขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับซีพียู Intel ที่แอปเปิลเลือกใช้ก่อนหน้านี้ ถือว่าพัฒนามาอย่างก้าวกระโดด

โดยปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากๆ ในการเปลี่ยนผ่านซีพียูครั้งนี้เกิดขึ้นได้ไร้รอยต่อก็คือการที่ทีมนักพัฒนาของแอปเปิล ปรับปรุง macOS BigSur ให้รองรับการทำงานร่วมกับชิปที่ใช้ ARM ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และปลดล็อกรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นบน MacBook ด้วย

ภายใต้การนำ Rosetta 2 ที่จะช่วยแปลงโปรแกรมที่ใช้ x86/x64 มาใช้งานบน M1 ได้รวดเร็วขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถนำแอปพลิเคชันที่พัฒนาให้ใช้งานบน iPhone และ iPad มาใช้งานบน MacBook ได้ด้วย เพราะถือว่าเป็นแอปที่พัฒนาบนพื้นฐานเดียวกันเรียบร้อยแล้ว

MacBook Air / Pro ที่ใช้ M1 เหมาะกับใคร

แน่นอนว่า ด้วยการที่เป็นรุ่นเปลี่ยนผ่านจาก Intel สู่ Apple M1 ทำให้ในการใช้งานจะมีจุดที่ต้องคำนึงถึงหลายๆ อย่าง เช่นผู้ที่ต้องทำงานร่วมกับโปรแกรมที่เป็น legacy ทั้งหลาย ที่หยุดพัฒนาไปแล้ว อาจจะไม่รองรับการทำงานได้อย่างเต็มที่บน M1

รวมถึงผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้งาน Bootcamp เพื่อรัน Windows ใช้งานบางส่วน บน Mac ที่ใช้ M1 ก็จะไม่สามารถใช้งาน Bootcamp ได้ ทำให้มีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่พอสมควร

แต่กลับกันถ้าเป็นผู้ที่อยู่บนอีโคซิสเตมส์ของ Apple อยู่แล้ว โปรแกรมทั้งหลายที่ใช้เพื่อทำงาน ครีเอเตอร์ ทำงานเกี่ยวกับการตกแต่งภาพ ตัดต่อวิดีโอ ตลอดจนเรื่องของความบันเทิงต่างๆ ต้องยอมรับว่าประมวลผลได้เร็วขึ้นอย่างชัดเจน

เช่นเดียวกับเรื่องของแบตเตอรี ที่กลายเป็นว่าจากเดิม MacBook Pro ที่ใช้งาน Intel แทบจะต้องชาร์จแบตฯ เพื่อใช้งานทุกวัน แต่เมื่อใช้งานบน Apple Silicon ของ M1 แล้วกลายเป็นว่าใช้งานได้ต่อเนื่องยาวๆ เรียกได้ว่าไม่ต้องพกพาอะเดปเตอร์ออกนอกบ้านก็ทำงานได้ต่อเนื่องตลอดทั้งวัน

เรียกได้ว่าถ้าใครมีแผนที่จะซื้อ MacBook เครื่องใหม่ในช่วงนี้ เพื่อใช้ในการเรียน ทำงาน เน้นใช้โปรแกรมของ Apple และโปรแกรมใหม่ๆ ที่มีให้ดาวน์โหลดผ่าน App Store รุ่นที่ใช้งาน M1 จะตอบโจทย์อย่างแน่นอน

อีกข้อได้เปรียบของ MacBook ที่ใช้ Apple M1 คือภายใน App Store สามารถเลือกติดตั้งแอปพลิเคชันที่เปิดให้ใช้งานบน iPad และ iPhone ได้ด้วย ซึ่งถ้าแอปมีการอัปเดตให้รองรับก็จะใช้งานได้ไม่ต่างจากใช้งานบน iOS ได้เลย ช่วยอำนวยความสะดวกเพิ่มมากขึ้น

เลือก MacBook Air หรือ MacBook Pro

กลับมาที่อีกคำถามสำคัญคือ Apple เลือกเปิดตัว MacBook Air และ MacBook Pro ที่ใช้ชิป Apple M1 ออกมาพร้อมกัน ซึ่งประสิทธิภาพในการประมวลผลของทั้ง 2 รุ่นแทบไม่แตกต่างกัน

จุดต่างหลักๆ คือถ้าเป็น MacBook Air รุ่นเริ่มต้น 32,900 บาท จะเป็นชิป M1 ที่ใช้ GPU แบบ 7 คอร์ ความจุ 256 GB แต่ถ้าเป็นรุ่นที่ใช้ GPU 8 คอร์ ราคาจะอยู่ที่ 41,400 บาท ได้ความจุ 512 GB ซึ่งราคาจะไปใกล้กับ MacBook Pro M1 รุ่นเริ่มต้นที่ 42,900 บาท แต่ได้ความจุแค่ 256 GB

ถ้ามองในแง่ของความคุ้มค่าในการใช้งานจริงๆ MacBook Air M1 รุ่น 512 GB ถือว่าเพียงพอกับการใช้งานแล้ว ถ้าไม่ได้นำมาใช้ในการตัดต่อที่ต้องใช้พลังการประมวลผลยาวนาน แต่ถ้าใช้งานหนักๆ ต่อเนื่อง MacBook Pro ก็จะเหมาะกว่า

เหตุผลหลักก็คือ MacBook Air จะไม่มีพัดลมระบายอากาศ ในขณะที่ MacBook Pro จะมีพัดลม ทำให้ช่วยคุมอุณหภูมิของซีพียู เพื่อให้ใช้งานแบบประสิทธิภาพสูงสุดได้ต่อเนื่อง แต่ถ้าเป็นการประมวลผลในช่วงระยะเวลาสั้นๆ MacBook Air ก็พอกับการทำงานแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถ้ายังไม่ได้มีความจำเป็นต้องซื้อเครื่องใหม่ในเวลานี้ ก็อยากแนะนำให้รอ MacBook รุ่นใหม่ที่จะออกในปี 2021 นี้มากกว่า เพราะคาดว่าจะมีการปรับปรุงในแง่ของดีไซน์ใหม่

เพราะขนาดของชิปเซ็ต และชิ้นส่วนต่างๆ ที่ใช้งานกับ Apple M1 นั้นเล็กลงมา แต่กลายเป็นว่าในรุ่นนี้ยังใช้ดีไซน์เดิมอยู่ การออกรุ่นใหม่ในปีนี้อย่าง Apple M1x อาจจะมาพร้อมกับดีไซน์ใหม่ และปลดล็อกประสิทธิภาพการใช้งานขึ้นไปอีก

สรุป

MacBook Pro 13 นิ้ว ที่มากับชิปเซ็ต Apple M1 ถือว่าทำออกมาได้ประทับใจในเรื่องประสิทธิภาพในการประมวลผล ที่เร็วขึ้นอย่างรู้สึกได้ ทั้งการใช้งานทั่วไป หรือแม้แต่การตกแต่งรูป ตัดต่อวิดีโอต่างๆ

อีกจุดที่สร้างความประทับใจเป็นอย่างมาก คือเรื่องของประหยัดพลังงานที่สามารถพกเครื่องนี้ออกไปทำงานนอกบ้านได้สบายๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของแบตเตอรีเลย แม้ว่าจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตใช้งานตลอดเวลาก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกที่ใช้งานพบเจอปัญหาจากความไม่เสถียรของรับบบ้าง อย่างเช่นการส่ง AirDrop ระหว่างอุปกรณ์ Apple ด้วยกัน หรือปัญหาการเชื่อมต่อบลูทูธหลายอุปกรณ์พร้อมๆ กัน ทำให้ Magic Mouse เกิดอาการหน่วง หรือ AirPods เสียงขาดๆ ซึ่งถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นแล้วในการอัปเดต BigSur เวอร์ชันปัจจุบัน

]]>
Review : Apple MacBook Air (2020) รุ่นเริ่มต้น ใช้งานได้แค่ไหน https://cyberbiz.mgronline.com/review-macbook-air-2020/ Thu, 23 Apr 2020 05:40:18 +0000 https://cyberbiz.mgronline.com/?p=32657

แอปเปิล (Apple) ออกอัปเดต MacBook Air รุ่นใหม่ในปีนี้ โดยมีจุดเปลี่ยนแปลงหลักๆ อยู่ที่ซีพียูที่ใช้เป็น Intel Core i Gen 10 พร้อมกับการเปลี่ยนมาใช้งาน Magic Keyboard เหมือนกับ MacBook Pro 16” ที่เพิ่งวางจำหน่ายในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ยังมีการปรับราคารุ่นเริ่มต้นลงมาเหลือ 32,900 บาท จากเดิมรุ่นเริ่มต้นของ MacBook Air ในปี 2019 จะอยู่ที่ 35,900 บาท ซึ่งทำให้ผู้ที่สนใจสามารถซื้อหามาใช้งานได้ง่ายขึ้น

จุดที่น่าสนใจอีกอย่างคือรุ่นใหม่นี้ จะเพิ่มพื้นที่เก็บข้อมูลมาเริ่มต้นที่ 256 GB แล้วทำให้เพียงพอกับการใช้งานในระดับเบื้องต้นได้ทันที ส่วนใครที่ต้องการพื้นที่เก็บมากขึ้น ก็สามารถเลือกเพิ่มพื้นที่เก็บข้อมูลได้สูงสุดถึง 2 TB (เพิ่มไปอีก 28,000 บาท)

ข้อดี

  • ดีไซน์ตัวเครื่องทรงยอดนิยม น้ำหนักเบา
  • จอ Retina พร้อมเทคโนโลยี True Tone ช่วยปรับสีหน้าจออัตโนมัติ
  • Magic Keyboard ที่พิมพ์สนุกขึ้น

ข้อสังเกต

  • รุ่นเริ่มต้นที่ใช้ Core i3 ร้อนค่อนข้างง่าย
  • พอร์ต Thunderbolt 3 (USB-C) 2 พอร์ต อาจจะไม่เพียงพอถ้าเชื่อมต่อกับหลายอุปกรณ์
  • กล้องหน้าความละเอียดแค่ HD เช่นเดิม
  • ยังไม่รองรับ WiFi 6

มีอะไรใหม่บ้าง?

MacBook Air รุ่นปี 2020 นี้ ถือเป็นรุ่นที่ 3 ของ MacBook Air ที่หันมาใช้หน้าจอ Retina รุ่นที่ 3 ซึ่งเปิดตัวมาครั้งแรกในปี 2018 ซึ่งในเวลานั้น ได้ยกเลิกรุ่นหน้าจอ 11 นิ้ว ออกไปก่อนแล้ว และเหลือเพียงรุ่น 13 นิ้วเท่านั้น

ก่อนที่ในปี 2019 ที่ผ่านมามีการอัปเกรดซีพียูเพียงเล็กน้อย จนถึงรุ่นล่าสุดในปี 2020 ที่มีการปรับปรุง MacBook Air รุ่นจอ Retina ให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น

สำหรับสิ่งที่ปรับปรุงเพิ่มขึ้นจากรุ่นที่แล้วจะมีอยู่ด้วยกัน 5 จุดหลักๆ เริ่มกันจาก 1.หน่วยประมวลผล ที่หันมาใช้เป็น Intel Core i Gen 10 พร้อมกับมีตัวเลือกซีพียูเริ่มต้นที่ Core i3 ตามด้วยรุ่นกลาง Core i5 และสามารถเลือกปรับไปใช้เป็น Core i7 ได้ด้วย

2.พื้นที่เก็บข้อมูลเริ่มต้นที่ 256 GB จากก่อนหน้าจะเริ่มต้นที่ 128 GB ทำให้กลายเป็นว่ารุ่นเริ่มต้นก็เพียงพอกับการใช้งานแล้ว และยังสามารถเลือกเพิ่มพื้นที่เก็บข้อมูลได้สูงสุดถึง 2 TB

3.ราคาเริ่มต้นปรับลงมา 3,000 บาท ทำให้ในปีนี้ราคาเริ่มต้นของ MacBook Air 2020 เริ่มต้นที่รุ่น Core i3 ในราคา 32,900 บาท จากที่ปกติจะเริ่มต้นในรุ่น Core i5 ราคา 35,900 บาท (สามารถเพิ่มเงิน 3,000 บาท เพื่อกลับมาราคาเดิม และใช้งาน Core i5 ได้)

4.Magic Keyboard หลังจากที่ Apple นำ Magic Keyboard กลับมาใช้งานกับ MacBook Pro 16 นิ้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาที่ MacBook Air รุ่นใหม่จะหันมาใช้งาน Magic Keyboard เช่นเดียวกัน ทำให้ใครที่กำลังคิดถึงคีย์บอร์ดแบบ MacBook Air ดีไซน์เดิม กลับมาใช้งานได้อย่างมั่นใจแล้ว

5.น้ำหนัก เมื่อมีการปรับเปลี่ยนคีย์บอร์ดทำให้น้ำหนักของ MacBook Air มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดย MacBook Air รุ่นปี 2018 จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 1.23 กิโลกรัม ในขณะที่รุ่นปี 2020 น้ำหนักจะเพิ่มมาเป็น 1.27 กิโลกรัม

รุ่นเริ่มต้นใช้เพียงพอหรือไม่?

แน่นอนว่าหลายคนอาจจะสงสัยเรื่องการประมวลผลของ MacBook Air รุ่นเริ่มต้นที่ปรับลงมาเป็น Intel Core i3 ที่เป็นแบบ Dual-Core 1.1 GHz ซึ่งสามารถ Turbo Boost ขึ้นไปเป็น 3.2 GHz ได้ เมื่อเทียบกับรุ่นปี 2018 ที่เป็น Core i5 แบบ Dual-Core 1.6 GHz Turbo Boost 3.6 GHz

กลับพบว่า Core i3 สามารถให้พลังในการประมวลผลได้ดีกว่า นั่นแปลว่าถ้าเป็นการใช้งานโน้ตบุ๊กทั่วไป อย่างการทำงานด้านเอกสาร ใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ โซเชียลมีเดีย ติดต่อสื่อสารในการทำงาน

จนถึงการแต่งรูปภาพ และตัดต่อในระดับเริ่มต้นในขนาดไฟล์ที่ไม่ใหญ่มากนัก MacBook Air 2020 รองรับการทำงานได้สบายๆ แต่อาจจะไม่ได้ลื่นไหลมากนัก

ซึ่งถ้าต้องการใช้งานตัวเครื่องที่หนักขึ้น การเพิ่มเงินอีก 3,000 บาท เพื่อปรับสเปกเพิ่มเป็น Core i5 จะตอบโจทย์การใช้งานในระยะยาวมากกว่า และถือว่าคุ้มค่าที่จะจ่ายมากกว่ารุ่นเริ่มต้น

อีกจุดที่พบว่ารุ่น Core i3 ทำได้ไม่ค่อยดีคือเรื่องของการระบายความร้อนสะสม เพราะเมื่อใช้เป็นหน่วยประมวลผลรุ่นนี้ เวลาเครื่องทำงานหนักๆ ระบบ Turbo Boost จะทำงานตลอดเวลา ทำให้อุณหภูมิของเครื่องร้อนขึ้นมาก จนทำให้ไม่สามารถวางใช้งานบนหน้าตัก ในอุณหภูมิห้องทั่วไปได้

แต่กลายเป็นว่าปัญหาดังกล่าวไม่เกิดขึ้นกับรุ่น Core i5 เนื่องจากเมื่อหน่วยประมวลผลแรงขึ้น เวลาประมวลผลหนักๆ จะสั้นลงทำให้ระยะเวลาที่ Turbo Boost ลดลง ความร้อนก็จะไม่สะสมที่ตัวเครื่อง

อย่างไรก็ตาม ข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนของ MacBook Air เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กบางเบาหลายๆ รุ่น คือเรื่องเสียงของพัดลมระบายความร้อน ที่ค่อนข้างเบา จากการใช้งานพัดลมขนาดเล็ก แต่ก็แลกมากับการระบายความร้อนที่ไม่ดีเท่านั่นเอง

ดีไซน์ที่ยังคงน่าใช้เหมือนเดิม

เนื่องจากดีไซน์ภายนอกของ MacBook Air รุ่นปี 2020 นั้นแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจาก MacBook Air รุ่นปี 2018 ด้วยการที่มีให้เลือก 3 สีคือ ทอง (รุ่นที่นำมารีวิว) เทาสเปซเกรย์ และเงิน

ขนาดของตัวเครื่องจะอยู่ที่ 304.1 x 212.4 x 41-16.1 มิลลิเมตร น้ำหนักตามหน้าเว็บไซต์ระบุว่าอยู่ที่ 1.29 กิโลกรัม (ทีมงานลองชั่งเครื่องที่ได้มาอยู่ที่ 1.27 กิโลกรัม)

รอบๆ ตัวเครื่องทางซ้ายจะมีพอร์ต Thunderbolt 3 (USB-C) จำนวน 2 พอร์ต สำหรับเสียบสายชาร์จ เชื่อมต่อกับอะเดปเตอร์ต่างๆ โดยในรุ่นนี้ได้ปรับปรุงให้รองรับการเชื่อมต่อจอแสดงผลความละเอียด 6K หรือ 5K ได้ 1 จอ กรณีที่ต่อกับจอ 4K จะสามารถต่อได้ 2 จอพร้อมกัน ส่วนทางฝั่งขวาเป็นพอร์ตหูฟัง และไมโครโฟนขนาด 3.5 มม.

เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาจะเจอกับ Retina Display ขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด 2560 x 1600 พิกเซล ให้ความละเอียดเม็ดสี 227 ppi ในอัตราส่วนภาพ 16:10 มาพร้อมกับเทคโนโลยีปรับแสงอัตโนมัต (True Tone)

MacBook Air รุ่นปี 2020

MacBook Air รุ่นปี 2018

มาในส่วนของจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ Magic Keyboard ที่ปรับมาใช้กลไกแบบกรรไกร (Scissor) แทนปีกผีเสื้อ (Butterfly) ทำให้ตัวคีย์บอร์ดจะมีความหนาเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย พร้อมกับมีการปรับปุ่มลูกศรให้เป็นแบบตัว T คว่ำแทน

Touch ID รุ่นใหม่ผิวจะด้าน รุ่นเดิมจะเคลือบมัน

ปุ่มลูกศรตัว T คว่ำ

นอกจากนี้ บริเวณเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ (TouchID) และปุ่มเปิดเครื่อง จะเปลี่ยนผิวสัมผัสจากที่มีความมันเงา กลายเป็นผิวสัมผัสด้านเหมือนปุ่มคีย์บอร์ดปกติแทน

ส่วนแทร็กแพดยังคงเป็นแบบ Force Touch เช่นเดิม โดยถ้าเทียบกับ MacBook Air ดีไซน์เก่า จะมีขนาดใหญ่ขึ้น 20% และมีความแม่นยำมากขึ้น รองรับการใช้งาน Multi-Touch ได้สะดวกขึ้นด้วย

สำหรับอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องนอกจากตัวเครื่อง MacBook Air แล้วก็จะมีอะเดปเตอร์ 30W ที่มีขนาดเล็กพกพาง่าย สาย USB-C และกล่องคู่มือที่มีสติกเกอร์แอปเปิลอยู่ข้างในเช่นเดิม

สรุป

MacBook Air รุ่นใหม่นี้ ถือว่าเป็นการปรับปรุง MacBook Air Retina ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งถ้าใครยังใช้งาน MacBook Air ดีไซน์เดิมอยู่ การตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้เป็นรุ่นใหม่ในปีนี้ จะถือว่าได้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุดอย่างแน่นอน

ประกอบกับระดับราคาเริ่มต้นที่ต่ำลง (32,900 บาท) ทำให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ถ้าต้องการโน้ตบุ๊กที่พกพาง่าย และชื่นชอบอีโคซิสเตมส์ของ Apple อยู่แล้วน่าจะตัดสินใจได้ไม่ยาก

Gallery

]]>
Review : Apple MacBook Pro 16” ไม่ใช่แค่จอใหญ่ขึ้น แต่ฟังเสียงผู้ใช้มากขึ้นด้วย https://cyberbiz.mgronline.com/review-apple-macbook-pro-16/ Fri, 06 Dec 2019 12:22:20 +0000 https://cyberbiz.mgronline.com/?p=31796

ด้วยการที่ MacBook Pro 16” เป็นโน้ตบุ๊กที่จับตลาดเฉพาะกลุ่มมากๆ ทำให้เครื่องรุ่นนี้อาจจะไม่ได้เป็นที่สนใจของตลาดคอนซูเมอร์ทั่วไป แต่กลับกันถ้าเป็นผู้ที่อยู่ในสายงานอาชีพที่ต้องการเครื่องมือมาช่วยในการสร้าง Productivity เมื่อได้ลองสัมผัสกับ MacBook Pro 16” เครื่องนี้แล้ว จะพร้อมใจกันยกให้เป็น MacBook รุ่นที่ดีที่สุดของปีนี้

โดยการมาของ MacBook Pro 16” ทำให้แอปเปิล (Apple) ยุติการทำตลาด MacBook Pro 15” โดยปริยาย พร้อมกับปรับราคาเครื่องให้ได้สเปกที่ดีขึ้น ในราคาที่ใกล้เคียงกับรุ่น 15” และมีตัวเลือกสเปกให้ผู้ใช้งานได้เลือกมากขึ้น รับกับตลาดที่ต้องการเครื่องประสิทธิภาพสูงไปช่วยในการประมวลผล

จุดเด่นของ MacBook Pro 16” หลักๆ เลยคือเรื่องการปรับขนาดหน้าจอ เปลี่ยนคีย์บอร์ดกลับมาใช้เป็น Magic Keyboard เพิ่มคุณภาพของลำโพง เพิ่มประสิทธิภาพตัวเครื่องจากหน่วยประมวล และกราฟิกการ์ดรุ่นใหม่ ดังนั้น ถ้าอยู่ในแวดวงการใช้งานเครื่องหนักๆ ในการทำงาน การลงทุนเพื่อให้ได้เครื่องรุ่นใหม่ที่แรงขึ้น ช่วยลดระยะเวลาในการทำงานได้น้อยลง MacBook Pro 16″ จึงเป็นรุ่นที่ไม่ควรพลาด

ข้อดี

  • ขนาดหน้าจอใหญ่ขึ้นเป็น 16″ ให้ความสว่างสูงสุด 500nit
  • กลับมาใช้คีย์บอร์ดแบบกลไกกรรไกร ที่หลายคนคุ้นเคย
  • ปรับปรุงประสิทธิภาพ การระบายความร้อนให้ดีขึ้น

ข้อสังเกต

  • ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ขึ้น และหนักขึ้นเมื่อเทียบกับ 15″
  • พอร์ตเชื่อมต่อยังมีเฉพาะ USB-C / Thunderbolt 3
  • คีย์บอร์ดสกรีนตัวอักษรสลับจากรุ่นก่อนหน้า

MacBook Pro 16” ไม่ใช่เครื่องที่เหมาะกับทุกคน

หนาขึ้น และหนักขึ้น เมื่อเทียบกับรุ่น 15″

ด้วยการที่ MacBook Pro เน้นกลุ่มผู้ใช้งานระดับมืออาชีพเป็นหลัก ด้วยการพัฒนาเครื่องรุ่น 16” ขึ้นมา จากการรับฟังเสียงของผู้ใช้งานไปปรับปรุงเครื่องรุ่น 15” เดิม ทำให้พอมาเป็น 16” แล้วอาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน

หนึ่งเลยคือด้วยการที่ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ ทำให้ไม่เหมาะกับการพกพาเหมือนอย่าง MacBook Air หรือ MacBook Pro 13” ดังนั้น กลุ่มผู้ใช้ที่ต้องการเครื่อง 16” จึงกลายเป็น Heavy User ที่ต้องการเครื่องประสิทธิภาพสูงเป็นหลัก

โดยเฉพาะในกลุ่มของช่างภาพมืออาชีพทั้งภาพนิ่ง และภาพวิดีโอ จนถึงนักตัดต่อ ที่ต้องการเครื่องประมวลผลแรงๆ มาช่วย แม้กระทั่งกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นนักพัฒนาที่นำไปใช้กับการเขียนโปรแกรม ผู้ที่ทำงานกราฟิกต่างๆ

เพราะนอกจากประสิทธิภาพ และขนาดหน้าจอแล้ว หลายๆ จุดบน MacBook Pro 16” ยังได้มีการปรับปรุงมาให้เหมาะกับการใช้งานมากขึ้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่ใช้งานทั่วๆ ไป ถ้าต้องการเครื่องจอใหญ่มาใช้งาน และไม่ยึดติดกับขนาดเครื่องรุ่น 16” ก็น่าสนใจ แต่ถ้าต้องการพกพาง่าย แนะนำให้มองไปรุ่นอย่าง Air หรือ Pro 13” ดีกว่า

จอเปิดให้ปรับ Refresh Rate ได้

เริ่มกันจากเรื่องของขนาดหน้าจอที่ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 16 นิ้ว จากรุ่นเดิมที่อยู่ 15.4 นิ้ว แม้ว่าจะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่ที่เห็นชัดเจนเลยคือขอบจอ (Bezel) ของเครื่องบางลงกว่ารุ่นเดิม และสเปกจอสูงขึ้น

โดยจอของ MBP 16” นอกจากรองรับมาตรฐานสี P3 แล้วยังให้ความสว่างหน้าจอเพิ่มขึ้นเป็น 500nit ช่วยให้สามารถใช้งานในที่แสงจ้าได้สะดวกขึ้น ความละเอียดหน้าจออยู่ที่ 3072 x 1920 พิกเซล 5.9 ล้านสี ความละเอียดเม็ดสีอยู่ที่ 226 ppi

ความพิเศษของ MacBook Pro 16” คือเปิดให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปตั้งอัตราการรีเฟรชหน้าจอ (Refresh Rate) ได้ด้วยตนเอง ในจุดนี้จะเหมาะกับผู้ใช้งานที่ทำงานทางด้านตัดต่อ เพราะสามารถปรับการแสดงผลหน้าจอให้เหมาะกับผลิตวิดีโอคอนเทนต์ที่ใช้งาน

ที่สามารถเลือกได้ตั้งแต่ 47.95, 48, 50, 59.94 และ 60 Hertz ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าไฟล์วิดีโอที่นำมาใช้งานบันทึกมาในรูปแบบของ 25 เฟรม 30 เฟรม หรือ 60 เฟรม แล้วก็เลือกใช้ Refresh Rate ตามช่องทางที่นำไปใช้ เพื่อให้แสดงผลได้แม่นยำที่สุด

ปรับปรุงคีย์บอร์ด กลับมาใช้ Magic Keyboard

จุดที่ 2 คือการปรับปรุงคีย์บอร์ด จากรุ่นก่อนหน้านี้ใช้กลไกปีกผีเสื้อ (Butterfly) ซึ่งเริ่มต้นงานมาตั้งแต่ MacBook ปี 2015 กลับมาใช้กลไกแบบกรรไกร (Scissor) ของ Magic Keyboard ที่ให้สัมผัสในการพิมพ์ที่ดีขึ้น และเสียงปุ่มกดเบาลง

นอกจากนี้ ยังมีการปรับในส่วนของ Touch Bar จากเดิมที่เป็นแถบสัมผัสทั้งหมด ด้วยการเพิ่มปุ่มกด Esc และแยกปุ่มเปิดเครื่อง ที่รองรับการสแกนลายนิ้วมือ (Touch ID) ออกจากกัน แต่ก็ไม่ได้ลดขนาดของ Touch Bar ลงแต่อย่างใด

ในจุดนี้ แอปเปิล ระบุว่า ได้รับการเรียกร้องจากผู้ใช้ในกลุ่มของนักพัฒนา ที่เวลาเขียนโค้ด มักจะต้องการปุ่ม Esc ไว้ใช้งาน รวมถึงการปรับดีไซน์ปุ่มลูกศร ให้แยกปุ่มใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการทำงานเอกสาร หรือใช้เล่นเกม

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคีย์บอร์ดไม่รู้ว่าเป็นความตั้งใจที่จะทำให้เวลามองจากภายนอกแล้วเห็นความต่างระหว่างเครื่องรุ่นเก่า และใหม่ หรือไม่อย่างไร เพราะกลายเป็นว่า การสกรีนตัวอักษรบนคีย์บอร์ดที่ปกติตัวอักษรภาษาอังกฤษจะอยู่ทางซ้าย ภาษาไทยอยู่ทางขวา แต่กลายเป็นสลับกันบนเครื่องรุ่นนี้

ปรับสเปกสูงขึ้นยกชุด

ตามมาด้วยเรื่องของหน่วยประมวลผล และระบบระบายความร้อน เนื่องจาก MacBook Pro 15” ในช่วงแรกที่ออกมาจำหน่ายพร้อมกับรุ่นของ Core i9 ช่วงแรกๆ เจอปัญหาเรื่องของการระบายความร้อนไม่ทัน ทำให้ตัวเครื่องมีการปรับลดการทำงานของซีพียูลงทำให้เครื่องช้า

ด้วยเหตุนี้ใน MacBook Pro 16” เลยมีการออกแบบพัดลมระบายอากาศใหม่ ที่สามารถระบายอากาศได้เพิ่ม 28% และเพิ่มขนาดจุดสัมผัสของ heat sink ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น 35% ซึ่งทำให้ตัวเครื่องหนาขึ้นเล็กน้อย แต่ผู้ใช้จะไม่เจอปัญหาเรื่องของการปรับการทำงานของซีพียูอีกแน่นอน

ส่วนของซีพียูที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้งานได้สูงสุดที่ Core i9 แบบ 8 Core ทำให้การประมวลผลบน MacBook Pro 16” แรงขึ้นกว่ารุ่น 15” เช่นเดียวกับระบบไฟที่เมื่อทำงานคู่กับระบบระบายความร้อนจะช่วยให้ใช้พลังงานได้สูงขึ้น 12 วัตต์ ทำให้ประมวลผลได้แรงไม่มีตก

ไม่ใช่แค่ซีพียูที่เปลี่ยนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ในส่วนของกราฟิกการ์ด ก็ปรับมาใช้ AMD Radeon Pro 5000M ซีรีส์ เช่นเดียวกับ RAM ที่เป็น DDR 4 ทำให้ความเร็วในการใช้งานเพิ่มสูงขึ้น ส่วนพื้นที่เก็บข้อมูลแบบ SSD เลือกได้สูงสุดถึง 8 TB

สำรวจตัวเครื่อง

เทียบขนาดกับรุ่น 13″

ในแง่ของดีไซน์ตัวเครื่อง MacBook Pro 16” ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก มีเพียงขนาดตัวเครื่องที่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 35.79 x 24.59 x 1.62 เซนติเมตร นำ้หนัก 2 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับ 15” จะอยู่ที่ 34.93 x 24.07 x 1.55 เซนติเมตร น้ำหนัก 1.8 กิโลกรัม

ส่วนพอร์ตการเชื่อมต่อที่ให้มาจะเป็น Thunderbolt 3 4 พอร์ต รองรับการเชื่อมต่อจอภาพภายนอก (6K 2 จอ / 4K 4 จอ) และช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. ดังนั้นในการใช้งานหลักๆ แล้วจำเป็นต้องใช้คู่กับอะเดปเตอร์อยู่เช่นเดิม

ทั้งนี้ กล้องของ MacBook Pro 16” ยังคงเป็นกล้อง FaceTime 720p เช่นเดิม เช่นเดียวกับแทร็กแพดแบบ Force Touch ที่รองรับแรงกด และการใช้งานแบบมัลติทัช เหมือนเดิม ด้านการเชื่อมต่อยังรองรับ WiFi 5 (802.11ac) เท่านั้น ยังไม่รองรับ WiFi 6 บลูทูธ 5.0

สำหรับอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง นอกจากตัวเครื่องก็จะมีอะเดปเตอร์ชาร์จไฟขนาด 96w ที่ใหญ่ขึ้นจากรุ่น 15” ที่ให้มาแบบ 87w และสาย USB-C ยาว 2 เมตร โดยแบตเตอรีของ MBP 16” จะใช้งานได้ต่อเนื่องราว 11 ชั่วโมง ถ้าใช้งานทั่วๆไป อย่างท่องเว็บ หรือดูหนัง

เทียบอะเดปเตอร์รุ่น 13″ 15″ และ 16″

สรุป

MacBook Pro 16” จะเหมาะกับสายที่เน้นการทำงานเป็นหลัก ต้องการเครื่องมือที่มาช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น โดยไม่ได้กังวลกับเรื่องราคาของตัวเครื่อง เพราะสามารถปรับแต่งเพิ่มเติมได้ ซึ่งจากทิศทางที่แอปเปิล ฟังเสียงจากผู้ใช้ไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ถือเป็นแนวโน้มที่ดีกับเครื่องรุ่นอื่นๆ ที่จะทยอยอัปเดตในอนาคตด้วย

หลังจากนี้คงต้องรอดูกันว่า แอปเปิล จะนำ Magic Keyboard กลับมาใช้กับ MacBook รุ่นอื่นๆ ต่อหรือไม่ รวมถึงเสียงเรียกร้องให้นำช่องอ่าน SD Card กลับมา ด้วยเช่นกัน เพราะปัจจุบันผู้ที่ใช้ทำงานอย่างช่างภาพ หรือวิดีโอต่างต้องใช้งานคู่กับการ์ดรีดเดอร์ ทำให้ไม่สะดวกเท่าที่ควร

สำหรับราคาจำหน่ายของ MacBook Pro 16” รุ่น Core i7 เริ่มต้นที่ 75,900 บาท ส่วนรุ่น Core i9 เริ่มต้นที่ 89,900 บาท โดยสามารถปรับแต่งขึ้นไปได้ถึง Core i9 2.4 GHz RAM 64 GB กราฟิกการ์ด 8 GB SSD 8 TB ในราคา 221,900 บาท

Gallery

]]>
Review : Apple MacBook Pro 13″ (2019) อัปเกรดรุ่นเริ่มต้นให้มี Touch Bar https://cyberbiz.mgronline.com/review-macbook-pro-13-2019/ Wed, 18 Sep 2019 00:19:13 +0000 https://cyberbiz.mgronline.com/?p=31242

การออกอัปเดตไลน์สินค้าในตระกูล MacBook Pro ช่วงกลางปีที่ผ่านมาของแอปเปิล จะไม่ได้เน้นในแง่ของการเปลี่ยนรูปแบบตัวเครื่อง แต่จะเน้นเปลี่ยนสเปกภายในของตัวเครื่อง พร้อมกับอัปเดตไลน์ของสินค้าใหม่แทน

จุดเด่นของ MacBook Pro (2019) ยังคงเป็นเรื่องของประสิทธิภาพตัวเครื่อง ที่แรงกว่า MacBook Air และมีการปรับราคาเริ่มต้นลงมาอยู่ที่ 42,900 บาท สำหรับรุ่น TouchBar และตัดรุ่นที่ไม่มี Touch Bar ออกไป

ข้อดี

ประสิทธิภาพสูง ในราคาเริ่มต้นที่ถูกลง

แบตเตอรีใช้งานได้ต่อเนื่องราว 10 ชั่วโมง

Touch Bar – Touch ID ช่วยเพิ่มความสะดวกเวลาใช้งาน

ข้อสังเกต

พอร์ต Thunderbolt 3 ให้มาแค่ 2 พอร์ต

แป้นคีย์บอร์ดแบบ Butterfly ยังถูกตั้งคำถามเรื่องความทนทานอยู่

ปรับไลน์ MacBook ใหม่

การออกวางจำหน่าย MacBook Pro 13” (Mid 2019) ของแอปเปิลในครั้งนี้ ถือเป็นการปรับไลน์สินค้าที่น่าสนใจครั้งหนึ่ง เพราะจากเดิมรุ่นเดิมต้นของ MacBook Pro 13” จะเป็นรุ่นแบบที่ไม่มี Touch Bar มาด้วย แต่ปีนี้รุ่นเริ่มต้นของ MacBook Pro 13” จะเป็น Touch Bar ทั้งหมด

ประกอบกับการที่แอปเปิลมีการยกเลิกไลน์ MacBook ธรรมดาออกไป ทำให้ในเวลานี้ภาพรวมของไลน์ MacBook จะเหลือเป็นเริ่มต้นที่ MacBook Air 13” ตามมาด้วย MacBook Pro 13” และ MacBook Pro 15” เท่านั้น

โดย MacBook Pro 13” จะมีให้เลือก 2 รุ่นด้วยกันคือรุ่นเริ่มต้นที่ใช้ซีพียู Intel Core i5 ที่เป็น Quad Core 1.4 GHz มากับพอร์ต Thunderbolt 3 2 พอร์ต ในราคาเริ่มต้นที่ 42,900 บาท และรุ่น Intel Core i5 Quad Core 2.4 GHz ที่มากับ Thunderbolt 3 4 พอร์ต ในราคาเริ่มต้น 59,900 บาท

จึงกลายเป็นการเพิ่มตัวเลือกในการใช้งาน MacBook Pro 13” พร้อม Touch Bar ให้แก่ผู้ใช้งานที่กว้างขึ้นในรุ่น 2 พอร์ต แต่ในรุ่นเริ่มต้นก็จะมีสเปกที่ต่ำกว่าอยู่ ดังนั้นถ้าเน้นใช้งานสเปกสูงๆ ประมวลผลหนักๆ อาจจะต้องหันไปมองรุ่น 4 พอร์ต แทน

ภาพรวมตัวเครื่อง

ในแง่ของการดีไซน์ MacBook Pro 13” (2019) ยังคงใช้โมเดลของ MacBook Pro ตั้งแต่รุ่นปี 2017 ที่มีการปรับปรุงตัวเครื่องให้บางลง เหลือเฉพาะพอร์ต Thunderbolt 3 และช่องเสียบหูฟังเท่านั้น

หน้าจอยังคงใช้งานจอ Retina ขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด 2560 x 1600 พิกเซล ความละเอียดเม็ดสี 227 ppi ให้ความสว่างหน้าจอสูงสุด 500 นิต การแสดงผลสีมาตรฐาน P3 พร้อมกับเทคโนโลยี True Tone ในการปรับแสงหน้าจอให้เหมาะสมกับแต่ละสภาพแวดล้อม

ขอบบนหน้าจอยังคงใช้กล้องหน้า FaceTime HD ความละเอียด 720p เช่นเดิม ส่วนชอบล่างก็จะมีสกรีน MacBook Pro ไว้ ตรงส่วนของข้อพับหน้าจอก็จะเป็นช่องระบายอากาศไว้เหมือนเดิม

ถัดลงมาในส่วนของตัวแป้นพิมพ์ เนื่องจากรุ่นเริ่มต้นของ MacBook Pro 13” จะเปลี่ยนมาเป็นปุ่มควบคุมแบบ Touch Bar ทั้งหมดแล้ว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่ามอง Touch Bar เป็นตัวช่วยเวลาใช้งานหรือไม่ ถ้ามองว่าทำให้ใช้งานเครื่อง และโปรแกรมต่างๆได้สะดวกขึ้น Touch Bar ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่อย่างดี แต่ถ้ามองว่าเป็นแค่กิมมิคหรือลูกเล่นก็อาจจะไม่ได้ใช้งานมากนัก

มุมขวาของ Touch Bar ที่นอกจากเป็นปุ่มเปิดเครื่องแล้ว ก็ยังเป็นส่วนของเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ (Touch ID) เช่นเดิม ส่วนคีย์บอร์ดที่ใช้ยังคงเป็นแบบ Butterfly ที่ปุ่มคีย์บอร์ดบางอยู่ ซึ่งถ้าใครที่ใช้งานแล้วชอบก็จะรู้สึกว่าสะดวกดี

สุดท้ายคือแทร็กแพด ที่มากับ Force Touch ทำให้สามารถรับรู้แรงกด และการใช้งานคำสั่งแบบมัลติทัชได้ ซึ่งแทร็กแพดของแอปเปิล ก็ยังคงจุดเด่นในแง่ของการตอบสนองได้ดีที่สุดเช่นเดิม

สำหรับการเชื่อมต่อไร้สาย MacBook Pro 13” จะรองรับ WiFi มาตรฐาน 802.11ac บลูทูธ 5.0 ขณะที่พอร์ตการเชื่อมต่อในตัวเครื่องรุ่นเริ่มต้นจะมี Thunderbolt 3 อยู่ทางซ้ายเครื่อง 2 พอร์ต และพอร์ตหูฟัง 3.5 มม. อยู่ทางขวา

สเปกเครื่อง

MacBook Pro 13” รุ่นเริ่มต้นจะมากับหน่วยประมวลผล Interl Core i5 1.4 GHz ที่สามารถเลือกอัปเกรดเป็น Core i7 1.7 GHz ได้ (เพิ่มเงิน 12,000 บาท) RAM ที่ให้มาเป็น 8 GB สามารถเพิ่มเป็น 16 GB (เพิ่มเงินอีก 8,000 บาท)

เช่นเดียวกับตัวจัดเก็บข้อมูลที่ให้มาเป็น SSD ความจุ 128 GB ถ้าต้องการเพิ่มเป็น 256 GB (7,000 บาท) ไปจนถึงสูงสุดที่ 2TB (35,000 บาท)

ถ้าให้แนะนำว่าควรจะซื้อแบบไหน ถ้างบประมาณไม่ใช่ปัญหาหลัก แนะนำให้ดูรุ่นเริ่มต้นที่เพิ่มพื้นที่เก็บข้อมูลเป็น 256 GB แทน เพราะ 128 GB จะไม่เพียงพอกับการใช้งานในระยะยาว ในยุคที่คอนเทนต์ต่างๆ มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะไฟล์วิดีโอความละเอียดสูง

ในขณะที่การประมวลผลสำหรับรุ่นเริ่มต้นที่เป็น Core i5 1.4 GHz ถือว่าเพียงพอกับการทำงานทั่วไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแต่งรูปผ่าน Photoshop หรือ Lightroom รวมถึงการตัดต่อวิดีโอผ่าน Final Cut

เพราะซีพียูสามารถ Turbo Boost ไปได้ถึง 3.9 GHz ทำให้การประมวลผลของเครื่องรุ่นนี้เพียงพอกับการใช้งานหนักๆได้เลย แต่ถ้าต้องการลดระยะเวลาในการเรนเดอร์สำหรับตัดต่อวิดีโอให้เร็วขึ้น ก็อาจจะต้องมองรุ่นที่ใช้หน่วยประมวลผล Core i5 2.4 GHz แทน

โลกของ Thunderbolt 3 หลังผ่านมา 4 ปี

ย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้วแอปเปิล เริ่มนำเสนอพอร์ต Thunderbolt 3 หรือ USB-C ออกสู่ไลน์สินค้าในตระกูล MacBook ก่อนทยอยอัปเดตมาให้ใช้งานทั้งบน MacBook Pro และ MacBook Air ซึ่งในช่วงเริ่มต้น Thunderbolt 3 อาจจะเป็นข้อจำกัดในการใช้งาน

แต่หลังจากผ่านมา 4 ปีแล้ว Thunderbolt 3 ได้กลายเป็นพอร์ตมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น ทั้งการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนในกลุ่มของ Android ที่หันมาใช้พอร์ต USB-C กันทั้งหมด

หรือถ้าเป็นผู้ใช้ iPhone ก็มีสาย USB-C to lightning มาให้ใช้งาน หรือแม้แต่ผู้ใช้ iPad Pro ก็เปลี่ยนมาเป็น USB-C กันทั้งหมดแล้ว โลกของ Thunderbolt 3 จึงสะดวกมากขึ้น

เพราะความสามารถของ Thunderbolt 3 นอกจากใช้เพื่อชาร์จไฟแล้ว ยังใช้เป็น DisplayPort เพื่อเชื่อมต่อกับจอภายนอกได้ รองรับการรับส่งข้อมูลที่เร็วขึ้น (Thunderbolt สูงสุด 40 Gbps USB 3.1 สูงสุด 10 Gbps)

อย่างไรก็ตาม ในการใช้งาน Thunderbolt 3 ก็จำเป็นต้องพกพา USB Hub มาช่วยเพิ่มพอร์ตในการใช้งานอยู่เช่นเดิม ในกรณีที่ต้องการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ที่มากขึ้น อย่างธัมป์ไดรฟ์ หรือเอสดีการ์ด ซึ่งถ้าเริ่มใช้งานมาแล้วสุดท้ายก็จะเข้ามาอยู่อีโคซิสเตมส์ของ Thunderbolt 3 ที่ช่วยให้การใช้งานสะดวก และรวดเร็วขึ้นอยู่ดี

สรุป

การปรับราคารุ่นเริ่มต้นของ MacBook Pro 13” (2019) ลงมาอยู่ที่ 42,900 บาท และได้รุ่นที่มี Touch Bar กับ Touch ID ทำให้เป็นเครื่องที่น่าสนใจมากขึ้น เพราะจากเดิมถ้าต้องการรุ่นที่มีทั้ง 2 อย่างนี้จะต้องเสียเงินเกือบ 6 หมื่นบาท

และกลายเป็นรุ่นที่มาอุดช่องว่างระหว่างผู้ที่ต้องการซื้อ MacBook Air ที่มองว่าสเปกไม่เพียงพอกับการใช้งาน และ MacBook Pro 4 พอร์ต ที่ระดับราคาสูงเกินไปด้วย ดังนั้น MacBook Pro 13” (2019) จะกลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้งาน MacBook ประสิทธิภาพสูงในราคาที่ไม่สูงเกินไป

Gallery

]]>
Review : Apple MacBook Air 13″ Retina ในที่สุดก็ปรับโฉม https://cyberbiz.mgronline.com/review-apple-macbook-air-13/ Thu, 14 Feb 2019 06:08:53 +0000 https://cyberbiz.mgronline.com/?p=30233

หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีการปรับโฉมใหม่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาของ Apple หลังจากที่ใช้โมเดลเดิมมานานกว่าสิบปี ก็คือ MacBook Air ที่ในรอบนี้มีการปรับให้เบา และพกพาได้ง่ายขึ้น พร้อมกับใส่พอร์ต USB-C มาให้ใช้งานกัน

อย่างที่ทราบกันว่าปัจจุบันไลน์สินค้าของ MacBook จะเหลืออยู่หลักๆคือ MacBook (รุ่นจอ 12”) ที่ถือเป็นรุ่นขนาดเล็กที่สุดมาแทน MacBook Air 11” ตามมาด้วย MacBook Air 13” รุ่นนี้ ก่อนขยับขึ้นไปเป็น MacBook Pro 13” และ 15” ตามลำดับ

โดยจุดเด่นหลักของ MacBook Air 13” ก็ยังคงเป็นเรื่องของดีไซน์ที่ดูทันสมัย ที่มาจอ Retina ขนาด 13 นิ้ว ที่ขนาดตัวเครื่องเล็กลง เพื่อให้พกพาได้ง่ายขึ้น พร้อมใส่เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้ง Touch ID คีย์บอร์ด แทร็กแพดต่างๆ

ข้อดี

แมคบุ๊กจอ Retina 13 นิ้ว ที่พกพาง่ายขึ้น

มี Touch ID มาให้ใช้ในการปลดล็อกเครื่อง

คีย์บอร์ด และแทร็กแพดที่ใช้งานได้ดีขึ้น

ข้อสังเกต

พอร์ต Thunderbolt 3 (USB-C) ให้มาแค่ 2 พอร์ต

ราคาเริ่มต้นสูงขึ้นจากรุ่นก่อนหน้า (42,900 บาท)

ประสิทธิภาพยังถูกจำกัดอยู่ให้ใช้กับงานทั่วๆไป

MacBook Air 13” เหมาะกับใคร

เมื่อดูถึงไลน์สินค้าของ MacBook ทั้งหมดในปัจจุบัน MacBook Air 13” ถือเป็นเครื่องที่ระดับราคาเข้าถึงได้ง่ายมากที่สุด โดยราคารุ่นเริ่มต้นจะอยู่ที่ 42,900 บาท เมื่อเทียบกับ MacBook รุ่นเริ่มต้นจะอยู่ที่ 47,900 บาท ไม่นับ MacBook Air 13” รุ่นเดิมที่ยังขายในราคา 35,900 บาท อยู่

ถ้าต้องเลือกซื้อระหว่าง MacBook และ MacBook Air 13” ว่าควรเลือกซื้อรุ่นไหน ก็ต้องมองที่รูปแบบของการใช้งานเป็นหลัก ถ้าเน้นเครื่องที่การพกพา ใช้งานทั่วๆไป MacBook รุ่นจอ 12 นิ้วจะพกพาได้สะดวกสบายมากกว่า

ในมุมกลับกัน MacBook Air 13” ก็จะได้เปรียบในเรื่องของสเปกเครื่อง ที่ให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น และบางคนอาจจะมองว่าจอ 12 นิ้วเล็กเกินไปเมื่อใช้ทำงานเป็นเวลานาน ในจุดนี้ MacBook Air 13” ก็จะเหมาะกว่า แต่ถ้าต้องการเครื่องที่ใช้ประมวลผลหนักๆ การขยับขึ้นไปเป็น MacBook Pro ก็จะตอบโจทย์กว่า

ดังนั้น MacBook Air 13” จึงเหมาะกับผู้ที่ไม่ได้เน้นนำมาใช้งานเป็นเครื่องหลัก แต่เป็นเครื่องที่ใช้พกพาเวลาเดินทาง หรือออกไปประชุมนอกสถานที่ ใช้ในการพรีเซนต์งาน เขียนงาน ทำรูปภาพบ้างนิดหน่อย ที่มีจุดขายหลักคือเรื่องของแบตเตอรีที่สามารถใช้งานได้ตลอดวันสบายๆ

ปรับดีไซน์ครั้งแรกในรอบ 10 ปี

ในวันที่แอปเปิล เปิดตัว MacBook Air เมื่อปี 2008 ดีไซน์ของตัวเครื่องที่ถูกออกแบบมาเรียกได้ว่า เปลี่ยนโฉมรูปแบบของโน้ตบุ๊กในท้องตลาดเวลานั้นไปได้อย่างสิ้นเชิง ด้วยการมาของโน้ตบุ๊กที่บางเบา และพกพาง่าย

กลับมาในปี 2018 แอปเปิลมีการปรับโฉม MacBook Air ครั้งแรก ด้วยการนำดีไซน์ของ MacBook และ MacBook Pro ที่เปิดตัวในช่วง 3-4 ปีหลัง มาใช้งานใน MacBook Air รุ่นนี้ ดังนั้นถ้าจะมองว่าเป็นดีไซน์ใหม่หมด ก็ไม่เชิง แต่ถือเป็นการเปลี่ยนโฉม MacBook Air หลังจากที่ใช้ดีไซน์เดิมมานาน

การปรับโฉมใหม่ในครั้งนี้ ถือเป็นการปรับใหญ่ที่สุด ของสินค้าในตระกูลนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาแอปเปิลเลือกที่จะอัปสเปกของซีพียูเป็นหลัก มาในรอบนี้จึงได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่คิดค้นขึ้นมาในช่วงหลังใส่เข้ามาให้ใช้งานใน MacBook Air รุ่นนี้

MacBook Air 13” Retina จะมีให้เลือกด้วยกัน 3 สี คือ สีทอง สีเงิน และสีเทาสเปซเกรย์ มีขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 304.1 x 212.4 x 4.1-15.6 มิลลิเมตร น้ำหนักจะอยู่ที่ราว 1.25 กิโลกรัม เบาลง 100 กรัมเมื่อเทียบกับ 13 นิ้วรุ่นเดิม และขนาดตัวเครื่องลดลงเกือบๆ 20 ..

โดยจุดที่เปลี่ยนแปลงหลักๆ คือหน้าจอที่ปรับมาใช้เป็น Retina Display ขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด 2560 x 1600 พิกเซล 227 ppi ที่ถูกออกแบบมาให้มีขนาดขอบจดเล็กลง ส่วนกล้องหน้ารองรับการใช้งาน FaceTime HD ที่ความละเอียด 720p

ต่อมาคือปุ่มคีย์บอร์ด ที่นำคีย์บอร์ดแบบปีกผีเสื้อ (Butterfly) มาใช้งาน เช่นเดียวกับแทร็กแพดแบบไฟฟ้าสถิตย์ (Force Touch) ที่เริ่มนำมาใช้ครั้งแรกใน MacBook รุ่นปี 2015 และพัฒนาเรื่อยมา ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ก็จะมีเซ็นเซอร์ Touch ID ที่ใส่มาไว้มุมขวาบน เพื่อใช้ในการปลดล็อกตัวเครื่องด้วยลายนิ้วมือ ซึ่งจะทำงานคู่กับชิปเซ็ต Apple T2 ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการรักษาความปลอดภัย ด้วยการเข้ารหัสข้อมูล ทำให้ถ้าไม่มีการถอดรหัสที่ถูกต้องข้อมูลที่อยู่ภายใน MacBook Air เครื่องนี้ก็จะไม่มีใครสามารถนำไปใช้งานได้

ในส่วนของพอร์ตเชื่อมต่อ เรียกได้ว่าเป็นการใช้งาน Thunderbolt 3 (USB-C) อย่างต่อเนื่อง นับจากในปี 2015 เช่นเดียว โดยในเวลานี้อุปกรณ์ไอทีในท้องตลาดหลายๆ ชนิดเริ่มรองรับการใช้งาน USB-C แล้ว ช่วยให้สะดวกในการใข้งานมากขึ้น

แต่ก็น่าเสียดายที่ให้พอร์ต USB-C มาเพียง 2 พอร์ต ซึ่งกลายเป็นว่าในการใช้งานจริง ผู้ใช้ก็จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอย่าง USB-C Hub เพื่อต่อกับอุปกรณ์อื่นๆอยู่ดี แต่ก็ถือเป็นแนวโน้มที่ดีเพราะใน MacBook มีให้มาเพียงพอร์ตเดียว

อีกพอร์ตที่แอปเปิลยังเลือกเก็บไว้ก็คือช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. เพื่อให้สามารถต่อหูฟังใช้งานได้เช่นเดิม ส่วนการเชื่อมต่อไร้สายของรุ่นนี้ ถือว่ารองรับตามมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น WiFi 5 (802.11ac) บลูทูธ 4.2

สำหรับสเปกภายใน MacBook Air 13” รุ่นเริ่มต้น จะมากับหน่วยประมวลผล 8th Gen Intel Core i5 ที่ให้ความเร็ว 1.6 GHz Turbo Boost ไปได้สูงสุด 3.6 GHz RAM 8 GB (สูงสุด 16 GB) และพื้นที่เก็บข้อมูลแบบ SSD เริ่มต้น 128 GB (สูงสุด 1.5 TB)

Gallery

ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก

อีกหนึ่งข้อมูลที่ถูกนำเสนอออกมาในช่วงการเปิดตัวคือ MacBook Air 13” เป็น 1 ใน 2 ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล (คู่กับ Mac Mini) ที่ใช้วัสดุอะลูมิเนียมรีไซเคิล 100% มาผลิต ที่นอกจากได้เรื่องความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์แล้ว ยังเป็นการช่วยลดคาร์บอนฟุตปริ้นให้แก่โลกด้วย

ครบแต่ยังไม่สุด

ในส่วนของการใช้งาน เท่าที่ได้นำมาใช้งานเป็นเครื่องหลักในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นคนที่ติดกับเครื่องแรงๆ ประมวลผลได้เร็วๆ หรือเคยใช้งาน MacBook Pro ที่ซีพียูแรงกว่ามาก่อน พอมาใช้งานบน MacBook Air ก็จะรู้สึกว่าเครื่องประมวลผลช้าลงอย่างเห็นได้ชัด

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งานด้วย ถ้านำมาใช้ทำพรีเซ็นเทชัน เล่นเน็ต พิมพ์งาน ดูหนัง ฟังเพลงทั่วๆไป MacBook Air 13” รุ่นนี้รองรับได้อยู่แล้ว แต่ถ้าจะเลยไปถึงขั้นทำรูปไฟล์ขนาดใหญ่ๆ ไปจนถึงตัดต่อวิดีโอ ก็อาจจะต้องมองข้ามไป เพราะทำได้เล็กๆน้อยๆ เท่านั้น

เทียบความหนากับ MacBook Pro 13″

สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งานมากกว่า อย่างที่กล่าวไปว่า ถ้าต้องการเครื่องจอขนาด 13” ที่พกพาง่าย ไม่ได้เน้นใช้งานหนักมาก MacBook Air 13” จะตอบโจทย์ แต่ถ้าต้องการเครื่องเล็กกว่านี้ก็จะมี MacBook ให้เลือก ถ้าต้องการประสิทธิภาพสูงก็เพิ่มเงินเลือก MacBook Pro ไป

]]>