MacBook Pro – CBIZ Reviews – MGR Online https://cyberbiz.mgronline.com เว็บไซต์รีวิวอุปกรณ์ ไอที ไฮเทค เป็นส่วนหนึ่งของผู้จัดการออนไลน์ Mon, 01 Feb 2021 03:49:16 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.0 Review : Apple MacBook Pro M1 จุดเริ่มต้นของแมคยุคใหม่ https://cyberbiz.mgronline.com/review-apple-macbook-pro-m1/ Fri, 29 Jan 2021 06:54:18 +0000 https://cyberbiz.mgronline.com/?p=34666

นับตั้งแต่ Apple เปิดตัวชิปเซ็ตสำหรับแมคบุ๊กรุ่นใหม่อย่าง Apple M1 ออกมา ได้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดโน้ตบุ๊กพอสมควร ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพในการทำงานที่แรงกว่าซีพียูหลักๆ ที่ใช้งานกันในปัจจุบัน จนถึงเรื่องของการใช้พลังงานที่น้อยลง และกลายเป็นจุดที่ทำให้ประทับใจกับชิปเซ็ตนี้มากที่สุด

หลังจากใช้งาน MacBook Pro M1 มาเกือบ 2 เดือน ทำให้เห็นถึงภาพรวมการใช้งานของ MacBook รุ่นใหม่ที่นำความสามารถของชิปเซ็ตนี้มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจ ทั้งเรื่องของฮาร์ดแวร์ และระบบปฏิบัติการที่ปรับปรุงให้รองรับการใช้งานได้เป็นอย่างดี

แม้ว่า MacBook Air และ MacBook Pro จะยังคงใช้โมเดลเครื่องเดิม แต่การที่เปลี่ยนแปลงชิปเซ็ตในครั้งนี้ ช่วยให้ตัวเครื่องแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และกลายเป็น MacBook 2 รุ่น เริ่มต้น ที่เหมาะกับการใช้งานทั่วไปมากที่สุดในเวลานี้

ข้อดี

  • ประสิทธิภาพในการทำงานของชิปเซ็ต ร่วมกับระบบปฏิบัติการ macOS BigSur
  • แบตเตอรีใช้งานได้ต่อเนื่องทั้งวันสบายๆ
  • ตัวเครื่องร้อนน้อยกว่ารุ่น Intel อย่างเห็นได้ชัด

ข้อสังเกต

  • การใช้งานโปรแกรมเก่า บนชิปเซ็ตรุ่นใหม่ยังไม่ 100%
  • ตัวเครื่องยังใช้โมเดลเดิม และคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในปีนี้
  • ในช่วงแรกที่ใช้งานมีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อบลูทูธไม่เสถียร

เปลี่ยนชิป แต่ดีไซน์เดิม

ทั้ง MacBook Air และ MacBook Pro ที่ใช้งาน Apple M1 รุ่นแรกที่ออกมาทำตลาดนั้น ต้องมองว่าแอปเปิล เลือกที่จะนำชิปเซ็ตรุ่นใหม่มาใช้งานกับฟอร์มเฟคเตอร์แบบเดิมก่อน แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วชิปเซ็ต M1 จะมีขนาดเล็กลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับการใช้เมนบอร์ดที่ทำงานร่วมกับซีพียูของ Intel

ดังนั้น เครื่องรุ่นแรกนี้จึงเหมือนเป็นรุ่นทดสอบแรก ของ Apple ในช่วงการเปลี่ยนผ่านหน่วยประมวลผลจาก Intel ที่ทำงานบนสถาปัตยกรรมแบบ x86/x64 ไปยังสถาปัตยกรรมแบบ ARM ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้

โดยใน MacBook Pro 13” (late 2020) จะใช้ดีไซน์เดิมของ MacBook Pro with TouchBar รุ่นเริ่มต้น ที่มีพอร์ต Thunderbolt 3 (USB-C) 2 พอร์ต มาให้ใช้งาน โดยมีขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 304.1 x 212.4 x 15.6 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 1.4 กิโลกรัม

สิ่งที่พัฒนาขึ้นมาคือเรื่องของการแสดงผลบนจอ Retina Display ขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด 2560 x 1600 พิกเซ ที่ให้ความสว่างหน้าจอ 500 nit แสดงผลสีแบบ True Tone ที่รองรับขอบเขตสีกว้างระดับ P3 ทำให้การแสดงผลทำได้สวยงาม

พอร์ตเชื่อมต่อที่ให้มาทางซ้ายจะมีเพียง Thunderbolt 3 ที่เป็น USB 4 ใช้สำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมต่างๆ ต่อจอภาพ รวมถึงชาร์จแบตฯ มาให้ 2 พอร์ต และทางขวาจะมีช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. มาให้ใช้งาน

คีย์บอร์ดของ MacBook Pro 13.3 นี้ปรับมาใช้งาน Magic Keyboard แล้วจากรุ่นก่อนหน้าที่ใช้งานเป็น Butterfly Keyboard และเริ่มนำมาใช้งานใน MacBook Pro 16” ก่อนทยอยอัปเดตให้ MacBook Pro รุ่นใหม่ใช้งานแทนที่ของเดิม

เทียบ Butterfly Keyboard ในรุ่นเก่า กับ Magic Keyboard ในรุ่นใหม่

บริเวณคีย์บอร์ดยังให้ Touch Bar มาไว้สำหรับสั่งงานร่วมกับโปรแกรมต่างๆ ได้สะดวกขึ้น โดยทางขวาสุดของ Touch Bar จะเป็น Touch ID ไว้สแกนลายนิ้วมือในการปลดล็อกเครื่อง รวมถึงการทำธุรกรรมต่างๆ บน MacBook ด้วย

ตัวแทร็กแพดที่ให้มายังคงใช้งานเป็น Force Touch ที่ใช้ไฟฟ้าสถิตมาคำนวนแรงกดของปุ่มช่วยให้มีความแม่นยำ และรองรับการใช้งานแบบมัลติทัชได้สมบุรณ์แบบเช่นเดิม

แบตเตอรีที่ให้มาภายใน MacBook Pro 13.3 นิ้ว เป็นขนาด 58.2 Whr ซึ่งทำให้ MacBook Pro รุ่นนี้ สามารถใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ได้นานถึง 17 ชั่วโมง และใช้ดูภาพยนต์ได้ต่อเนื่องถึง 20 ชั่วโมงด้วยกัน

ภายในของ MacBook Pro M1 ยังมีจุดที่พัฒนาขึ้นอีกหลายๆ ด้านทั้งเรื่องของกล้อง FaceTime HD ที่ปรับปรุงให้รับแสงได้ดีขึ้น ลำโพงสเตอริโอที่ให้เสียงกว้างขึ้น รองรับ Dolby Atmos เพิ่มไมโครโฟนตัดเสียงรบกวน รับกับเทรนด์ของการใช้งานวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มากยิ่งขึ้น

ในขณะที่การเชื่อมต่อจะรองรับ WiFi 6 (802.11ax) เรียบร้อยแล้ว พร้อมบลูทูธ 5.0 ทำงานบนระบบปฏิบัติการ macOS BigSur ภายในกล่องจะให้อะเดปเตอร์แปลงไฟ USB-C ขนาด 61W มาให้พร้อมสาย USB-C ยาว 2 เมตร

ทำความเข้าใจ Apple M1

ในส่วนของสเปกตัวเครื่อง MacBook Pro 13.3 นิ้ว รุ่นใหม่นี้ จะมากับชิป Apple M1 ที่เปลี่ยนการออกแบบของหน่วยประมวลผลจากเดิมที่แยกกันในยุคของ Intel มารวมกันอยู่ในชิปเดียว (SOC : System on Chip) ช่วยให้แต่ละส่วนสื่อสารกันได้เร็วขึ้น และทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภายในชิป M1 นี้ จะเป็นการรวมทั้งซีพียู ชิปโมเด็มสำหรับเชื่อมต่อ หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) หน่วยความจำ (RAM) ชิปประมวลผล AI (Neural Engine) เข้ามาอยู่รวมกัน

ขณะเดียวกัน ด้วยการผลิตบนสถาปัตยกรรมแบบ 5 นาโนเมตร ทำให้ Apple M1 กลายเป็นชิปรุ่นแรกที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ที่มีการนำทรานซิสเตอร์ 1.6 หมื่นล้านตัวมาไว้ในชิปเดียวกัน

ในส่วนของซีพียูนั้น จะทำงานในแบบของ Octa-Core หรือ 8 คอร์ ที่แบ่งเป็นคอร์ประสิทธิภาพสูงจำนวน 4 คอร์ ออกแบบมาให้เรียกใช้การประมวลผลได้อย่างเต็มที่ และอีก 4 คอร์ สำหรับการใช้งานเบาๆ ช่วยให้รวมๆ แล้วสามารถประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างมาก

ถัดมาคือความสามารถในการประมวลผลภาพ ที่กลายเป็นว่าเมื่อ GPU สามารถดึงหน่วยความจำมาใช้งานได้เต็มที่ก็จะช่วยทำให้ความเร็วในการประมวลผลเพิ่มขึ้นด้วย ตามด้วยการเติมชิป Neural Engine มาช่วยเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งาน และปรับรูปแบบการใช้งานให้เหมาะสมด้วย

ในภาพรวมชิปเซ็ต Apple M1 ถือว่าให้พลังในการประมวลผลที่เร็วขึ้น และประหยัดพลังงานขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับซีพียู Intel ที่แอปเปิลเลือกใช้ก่อนหน้านี้ ถือว่าพัฒนามาอย่างก้าวกระโดด

โดยปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากๆ ในการเปลี่ยนผ่านซีพียูครั้งนี้เกิดขึ้นได้ไร้รอยต่อก็คือการที่ทีมนักพัฒนาของแอปเปิล ปรับปรุง macOS BigSur ให้รองรับการทำงานร่วมกับชิปที่ใช้ ARM ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และปลดล็อกรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นบน MacBook ด้วย

ภายใต้การนำ Rosetta 2 ที่จะช่วยแปลงโปรแกรมที่ใช้ x86/x64 มาใช้งานบน M1 ได้รวดเร็วขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถนำแอปพลิเคชันที่พัฒนาให้ใช้งานบน iPhone และ iPad มาใช้งานบน MacBook ได้ด้วย เพราะถือว่าเป็นแอปที่พัฒนาบนพื้นฐานเดียวกันเรียบร้อยแล้ว

MacBook Air / Pro ที่ใช้ M1 เหมาะกับใคร

แน่นอนว่า ด้วยการที่เป็นรุ่นเปลี่ยนผ่านจาก Intel สู่ Apple M1 ทำให้ในการใช้งานจะมีจุดที่ต้องคำนึงถึงหลายๆ อย่าง เช่นผู้ที่ต้องทำงานร่วมกับโปรแกรมที่เป็น legacy ทั้งหลาย ที่หยุดพัฒนาไปแล้ว อาจจะไม่รองรับการทำงานได้อย่างเต็มที่บน M1

รวมถึงผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้งาน Bootcamp เพื่อรัน Windows ใช้งานบางส่วน บน Mac ที่ใช้ M1 ก็จะไม่สามารถใช้งาน Bootcamp ได้ ทำให้มีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่พอสมควร

แต่กลับกันถ้าเป็นผู้ที่อยู่บนอีโคซิสเตมส์ของ Apple อยู่แล้ว โปรแกรมทั้งหลายที่ใช้เพื่อทำงาน ครีเอเตอร์ ทำงานเกี่ยวกับการตกแต่งภาพ ตัดต่อวิดีโอ ตลอดจนเรื่องของความบันเทิงต่างๆ ต้องยอมรับว่าประมวลผลได้เร็วขึ้นอย่างชัดเจน

เช่นเดียวกับเรื่องของแบตเตอรี ที่กลายเป็นว่าจากเดิม MacBook Pro ที่ใช้งาน Intel แทบจะต้องชาร์จแบตฯ เพื่อใช้งานทุกวัน แต่เมื่อใช้งานบน Apple Silicon ของ M1 แล้วกลายเป็นว่าใช้งานได้ต่อเนื่องยาวๆ เรียกได้ว่าไม่ต้องพกพาอะเดปเตอร์ออกนอกบ้านก็ทำงานได้ต่อเนื่องตลอดทั้งวัน

เรียกได้ว่าถ้าใครมีแผนที่จะซื้อ MacBook เครื่องใหม่ในช่วงนี้ เพื่อใช้ในการเรียน ทำงาน เน้นใช้โปรแกรมของ Apple และโปรแกรมใหม่ๆ ที่มีให้ดาวน์โหลดผ่าน App Store รุ่นที่ใช้งาน M1 จะตอบโจทย์อย่างแน่นอน

อีกข้อได้เปรียบของ MacBook ที่ใช้ Apple M1 คือภายใน App Store สามารถเลือกติดตั้งแอปพลิเคชันที่เปิดให้ใช้งานบน iPad และ iPhone ได้ด้วย ซึ่งถ้าแอปมีการอัปเดตให้รองรับก็จะใช้งานได้ไม่ต่างจากใช้งานบน iOS ได้เลย ช่วยอำนวยความสะดวกเพิ่มมากขึ้น

เลือก MacBook Air หรือ MacBook Pro

กลับมาที่อีกคำถามสำคัญคือ Apple เลือกเปิดตัว MacBook Air และ MacBook Pro ที่ใช้ชิป Apple M1 ออกมาพร้อมกัน ซึ่งประสิทธิภาพในการประมวลผลของทั้ง 2 รุ่นแทบไม่แตกต่างกัน

จุดต่างหลักๆ คือถ้าเป็น MacBook Air รุ่นเริ่มต้น 32,900 บาท จะเป็นชิป M1 ที่ใช้ GPU แบบ 7 คอร์ ความจุ 256 GB แต่ถ้าเป็นรุ่นที่ใช้ GPU 8 คอร์ ราคาจะอยู่ที่ 41,400 บาท ได้ความจุ 512 GB ซึ่งราคาจะไปใกล้กับ MacBook Pro M1 รุ่นเริ่มต้นที่ 42,900 บาท แต่ได้ความจุแค่ 256 GB

ถ้ามองในแง่ของความคุ้มค่าในการใช้งานจริงๆ MacBook Air M1 รุ่น 512 GB ถือว่าเพียงพอกับการใช้งานแล้ว ถ้าไม่ได้นำมาใช้ในการตัดต่อที่ต้องใช้พลังการประมวลผลยาวนาน แต่ถ้าใช้งานหนักๆ ต่อเนื่อง MacBook Pro ก็จะเหมาะกว่า

เหตุผลหลักก็คือ MacBook Air จะไม่มีพัดลมระบายอากาศ ในขณะที่ MacBook Pro จะมีพัดลม ทำให้ช่วยคุมอุณหภูมิของซีพียู เพื่อให้ใช้งานแบบประสิทธิภาพสูงสุดได้ต่อเนื่อง แต่ถ้าเป็นการประมวลผลในช่วงระยะเวลาสั้นๆ MacBook Air ก็พอกับการทำงานแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถ้ายังไม่ได้มีความจำเป็นต้องซื้อเครื่องใหม่ในเวลานี้ ก็อยากแนะนำให้รอ MacBook รุ่นใหม่ที่จะออกในปี 2021 นี้มากกว่า เพราะคาดว่าจะมีการปรับปรุงในแง่ของดีไซน์ใหม่

เพราะขนาดของชิปเซ็ต และชิ้นส่วนต่างๆ ที่ใช้งานกับ Apple M1 นั้นเล็กลงมา แต่กลายเป็นว่าในรุ่นนี้ยังใช้ดีไซน์เดิมอยู่ การออกรุ่นใหม่ในปีนี้อย่าง Apple M1x อาจจะมาพร้อมกับดีไซน์ใหม่ และปลดล็อกประสิทธิภาพการใช้งานขึ้นไปอีก

สรุป

MacBook Pro 13 นิ้ว ที่มากับชิปเซ็ต Apple M1 ถือว่าทำออกมาได้ประทับใจในเรื่องประสิทธิภาพในการประมวลผล ที่เร็วขึ้นอย่างรู้สึกได้ ทั้งการใช้งานทั่วไป หรือแม้แต่การตกแต่งรูป ตัดต่อวิดีโอต่างๆ

อีกจุดที่สร้างความประทับใจเป็นอย่างมาก คือเรื่องของประหยัดพลังงานที่สามารถพกเครื่องนี้ออกไปทำงานนอกบ้านได้สบายๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของแบตเตอรีเลย แม้ว่าจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตใช้งานตลอดเวลาก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกที่ใช้งานพบเจอปัญหาจากความไม่เสถียรของรับบบ้าง อย่างเช่นการส่ง AirDrop ระหว่างอุปกรณ์ Apple ด้วยกัน หรือปัญหาการเชื่อมต่อบลูทูธหลายอุปกรณ์พร้อมๆ กัน ทำให้ Magic Mouse เกิดอาการหน่วง หรือ AirPods เสียงขาดๆ ซึ่งถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นแล้วในการอัปเดต BigSur เวอร์ชันปัจจุบัน

]]>
Review : Apple MacBook Pro 13″ (2019) อัปเกรดรุ่นเริ่มต้นให้มี Touch Bar https://cyberbiz.mgronline.com/review-macbook-pro-13-2019/ Wed, 18 Sep 2019 00:19:13 +0000 https://cyberbiz.mgronline.com/?p=31242

การออกอัปเดตไลน์สินค้าในตระกูล MacBook Pro ช่วงกลางปีที่ผ่านมาของแอปเปิล จะไม่ได้เน้นในแง่ของการเปลี่ยนรูปแบบตัวเครื่อง แต่จะเน้นเปลี่ยนสเปกภายในของตัวเครื่อง พร้อมกับอัปเดตไลน์ของสินค้าใหม่แทน

จุดเด่นของ MacBook Pro (2019) ยังคงเป็นเรื่องของประสิทธิภาพตัวเครื่อง ที่แรงกว่า MacBook Air และมีการปรับราคาเริ่มต้นลงมาอยู่ที่ 42,900 บาท สำหรับรุ่น TouchBar และตัดรุ่นที่ไม่มี Touch Bar ออกไป

ข้อดี

ประสิทธิภาพสูง ในราคาเริ่มต้นที่ถูกลง

แบตเตอรีใช้งานได้ต่อเนื่องราว 10 ชั่วโมง

Touch Bar – Touch ID ช่วยเพิ่มความสะดวกเวลาใช้งาน

ข้อสังเกต

พอร์ต Thunderbolt 3 ให้มาแค่ 2 พอร์ต

แป้นคีย์บอร์ดแบบ Butterfly ยังถูกตั้งคำถามเรื่องความทนทานอยู่

ปรับไลน์ MacBook ใหม่

การออกวางจำหน่าย MacBook Pro 13” (Mid 2019) ของแอปเปิลในครั้งนี้ ถือเป็นการปรับไลน์สินค้าที่น่าสนใจครั้งหนึ่ง เพราะจากเดิมรุ่นเดิมต้นของ MacBook Pro 13” จะเป็นรุ่นแบบที่ไม่มี Touch Bar มาด้วย แต่ปีนี้รุ่นเริ่มต้นของ MacBook Pro 13” จะเป็น Touch Bar ทั้งหมด

ประกอบกับการที่แอปเปิลมีการยกเลิกไลน์ MacBook ธรรมดาออกไป ทำให้ในเวลานี้ภาพรวมของไลน์ MacBook จะเหลือเป็นเริ่มต้นที่ MacBook Air 13” ตามมาด้วย MacBook Pro 13” และ MacBook Pro 15” เท่านั้น

โดย MacBook Pro 13” จะมีให้เลือก 2 รุ่นด้วยกันคือรุ่นเริ่มต้นที่ใช้ซีพียู Intel Core i5 ที่เป็น Quad Core 1.4 GHz มากับพอร์ต Thunderbolt 3 2 พอร์ต ในราคาเริ่มต้นที่ 42,900 บาท และรุ่น Intel Core i5 Quad Core 2.4 GHz ที่มากับ Thunderbolt 3 4 พอร์ต ในราคาเริ่มต้น 59,900 บาท

จึงกลายเป็นการเพิ่มตัวเลือกในการใช้งาน MacBook Pro 13” พร้อม Touch Bar ให้แก่ผู้ใช้งานที่กว้างขึ้นในรุ่น 2 พอร์ต แต่ในรุ่นเริ่มต้นก็จะมีสเปกที่ต่ำกว่าอยู่ ดังนั้นถ้าเน้นใช้งานสเปกสูงๆ ประมวลผลหนักๆ อาจจะต้องหันไปมองรุ่น 4 พอร์ต แทน

ภาพรวมตัวเครื่อง

ในแง่ของการดีไซน์ MacBook Pro 13” (2019) ยังคงใช้โมเดลของ MacBook Pro ตั้งแต่รุ่นปี 2017 ที่มีการปรับปรุงตัวเครื่องให้บางลง เหลือเฉพาะพอร์ต Thunderbolt 3 และช่องเสียบหูฟังเท่านั้น

หน้าจอยังคงใช้งานจอ Retina ขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด 2560 x 1600 พิกเซล ความละเอียดเม็ดสี 227 ppi ให้ความสว่างหน้าจอสูงสุด 500 นิต การแสดงผลสีมาตรฐาน P3 พร้อมกับเทคโนโลยี True Tone ในการปรับแสงหน้าจอให้เหมาะสมกับแต่ละสภาพแวดล้อม

ขอบบนหน้าจอยังคงใช้กล้องหน้า FaceTime HD ความละเอียด 720p เช่นเดิม ส่วนชอบล่างก็จะมีสกรีน MacBook Pro ไว้ ตรงส่วนของข้อพับหน้าจอก็จะเป็นช่องระบายอากาศไว้เหมือนเดิม

ถัดลงมาในส่วนของตัวแป้นพิมพ์ เนื่องจากรุ่นเริ่มต้นของ MacBook Pro 13” จะเปลี่ยนมาเป็นปุ่มควบคุมแบบ Touch Bar ทั้งหมดแล้ว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่ามอง Touch Bar เป็นตัวช่วยเวลาใช้งานหรือไม่ ถ้ามองว่าทำให้ใช้งานเครื่อง และโปรแกรมต่างๆได้สะดวกขึ้น Touch Bar ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่อย่างดี แต่ถ้ามองว่าเป็นแค่กิมมิคหรือลูกเล่นก็อาจจะไม่ได้ใช้งานมากนัก

มุมขวาของ Touch Bar ที่นอกจากเป็นปุ่มเปิดเครื่องแล้ว ก็ยังเป็นส่วนของเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ (Touch ID) เช่นเดิม ส่วนคีย์บอร์ดที่ใช้ยังคงเป็นแบบ Butterfly ที่ปุ่มคีย์บอร์ดบางอยู่ ซึ่งถ้าใครที่ใช้งานแล้วชอบก็จะรู้สึกว่าสะดวกดี

สุดท้ายคือแทร็กแพด ที่มากับ Force Touch ทำให้สามารถรับรู้แรงกด และการใช้งานคำสั่งแบบมัลติทัชได้ ซึ่งแทร็กแพดของแอปเปิล ก็ยังคงจุดเด่นในแง่ของการตอบสนองได้ดีที่สุดเช่นเดิม

สำหรับการเชื่อมต่อไร้สาย MacBook Pro 13” จะรองรับ WiFi มาตรฐาน 802.11ac บลูทูธ 5.0 ขณะที่พอร์ตการเชื่อมต่อในตัวเครื่องรุ่นเริ่มต้นจะมี Thunderbolt 3 อยู่ทางซ้ายเครื่อง 2 พอร์ต และพอร์ตหูฟัง 3.5 มม. อยู่ทางขวา

สเปกเครื่อง

MacBook Pro 13” รุ่นเริ่มต้นจะมากับหน่วยประมวลผล Interl Core i5 1.4 GHz ที่สามารถเลือกอัปเกรดเป็น Core i7 1.7 GHz ได้ (เพิ่มเงิน 12,000 บาท) RAM ที่ให้มาเป็น 8 GB สามารถเพิ่มเป็น 16 GB (เพิ่มเงินอีก 8,000 บาท)

เช่นเดียวกับตัวจัดเก็บข้อมูลที่ให้มาเป็น SSD ความจุ 128 GB ถ้าต้องการเพิ่มเป็น 256 GB (7,000 บาท) ไปจนถึงสูงสุดที่ 2TB (35,000 บาท)

ถ้าให้แนะนำว่าควรจะซื้อแบบไหน ถ้างบประมาณไม่ใช่ปัญหาหลัก แนะนำให้ดูรุ่นเริ่มต้นที่เพิ่มพื้นที่เก็บข้อมูลเป็น 256 GB แทน เพราะ 128 GB จะไม่เพียงพอกับการใช้งานในระยะยาว ในยุคที่คอนเทนต์ต่างๆ มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะไฟล์วิดีโอความละเอียดสูง

ในขณะที่การประมวลผลสำหรับรุ่นเริ่มต้นที่เป็น Core i5 1.4 GHz ถือว่าเพียงพอกับการทำงานทั่วไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแต่งรูปผ่าน Photoshop หรือ Lightroom รวมถึงการตัดต่อวิดีโอผ่าน Final Cut

เพราะซีพียูสามารถ Turbo Boost ไปได้ถึง 3.9 GHz ทำให้การประมวลผลของเครื่องรุ่นนี้เพียงพอกับการใช้งานหนักๆได้เลย แต่ถ้าต้องการลดระยะเวลาในการเรนเดอร์สำหรับตัดต่อวิดีโอให้เร็วขึ้น ก็อาจจะต้องมองรุ่นที่ใช้หน่วยประมวลผล Core i5 2.4 GHz แทน

โลกของ Thunderbolt 3 หลังผ่านมา 4 ปี

ย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้วแอปเปิล เริ่มนำเสนอพอร์ต Thunderbolt 3 หรือ USB-C ออกสู่ไลน์สินค้าในตระกูล MacBook ก่อนทยอยอัปเดตมาให้ใช้งานทั้งบน MacBook Pro และ MacBook Air ซึ่งในช่วงเริ่มต้น Thunderbolt 3 อาจจะเป็นข้อจำกัดในการใช้งาน

แต่หลังจากผ่านมา 4 ปีแล้ว Thunderbolt 3 ได้กลายเป็นพอร์ตมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น ทั้งการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนในกลุ่มของ Android ที่หันมาใช้พอร์ต USB-C กันทั้งหมด

หรือถ้าเป็นผู้ใช้ iPhone ก็มีสาย USB-C to lightning มาให้ใช้งาน หรือแม้แต่ผู้ใช้ iPad Pro ก็เปลี่ยนมาเป็น USB-C กันทั้งหมดแล้ว โลกของ Thunderbolt 3 จึงสะดวกมากขึ้น

เพราะความสามารถของ Thunderbolt 3 นอกจากใช้เพื่อชาร์จไฟแล้ว ยังใช้เป็น DisplayPort เพื่อเชื่อมต่อกับจอภายนอกได้ รองรับการรับส่งข้อมูลที่เร็วขึ้น (Thunderbolt สูงสุด 40 Gbps USB 3.1 สูงสุด 10 Gbps)

อย่างไรก็ตาม ในการใช้งาน Thunderbolt 3 ก็จำเป็นต้องพกพา USB Hub มาช่วยเพิ่มพอร์ตในการใช้งานอยู่เช่นเดิม ในกรณีที่ต้องการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ที่มากขึ้น อย่างธัมป์ไดรฟ์ หรือเอสดีการ์ด ซึ่งถ้าเริ่มใช้งานมาแล้วสุดท้ายก็จะเข้ามาอยู่อีโคซิสเตมส์ของ Thunderbolt 3 ที่ช่วยให้การใช้งานสะดวก และรวดเร็วขึ้นอยู่ดี

สรุป

การปรับราคารุ่นเริ่มต้นของ MacBook Pro 13” (2019) ลงมาอยู่ที่ 42,900 บาท และได้รุ่นที่มี Touch Bar กับ Touch ID ทำให้เป็นเครื่องที่น่าสนใจมากขึ้น เพราะจากเดิมถ้าต้องการรุ่นที่มีทั้ง 2 อย่างนี้จะต้องเสียเงินเกือบ 6 หมื่นบาท

และกลายเป็นรุ่นที่มาอุดช่องว่างระหว่างผู้ที่ต้องการซื้อ MacBook Air ที่มองว่าสเปกไม่เพียงพอกับการใช้งาน และ MacBook Pro 4 พอร์ต ที่ระดับราคาสูงเกินไปด้วย ดังนั้น MacBook Pro 13” (2019) จะกลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้งาน MacBook ประสิทธิภาพสูงในราคาที่ไม่สูงเกินไป

Gallery

]]>
Review : Apple MacBook Pro 15″ (2018) เครื่องโปรที่ตอบโจทย์มืออาชีพมากขึ้นอีก https://cyberbiz.mgronline.com/review-apple-macbook-pro-2018/ Wed, 01 Aug 2018 12:07:19 +0000 https://cyberbiz.mgronline.com/?p=28989

เป็นที่รู้กันว่าเครื่อง Macbook Pro ถือเป็นโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูงที่ออกมาสำหรับผู้ใช้งานในกลุ่มของช่างภาพ ตัดต่อวิดีโอ ทำแอนิเมชัน 3 มิติ ไปจนถึงการเขียนโปรแกรมมิ่งขั้นสูง ที่ต้องใช้การประมวลผลของตัวเครื่องมาช่วย และในขณะเดียวกันก็เน้นที่ความสะดวกในการพกพาด้วย

ข้อดี

ปรับปรุงประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากซีพียูรุ่นใหม่ โดยเฉพาะรุ่น Core i9

จอแสดงผลแบบ True Tone ทำให้การแสดงผลเป็นธรรมชาติมากขึ้น

– Touch Bar เริ่มมีโปรแกรมรองรับเพิ่มมากขึ้น

ข้อสังเกต

ราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง

ข้อจำกัดของพอร์ต USB-C ที่ต้องพกอุปกรณ์เสริมเพิ่ม

ไม่ได้มีการปรับปรุงในแง่ของดีไซน์ตัวเครื่องตั้งแต่ปี 2016

5 จุดน่าสนใจของ MacBook Pro 2018

ในภาพใหญ่แล้ว MacBook Pro with Touch Bar (2018) ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมใน 5 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน ประกอบไปด้วย 1.สเปกภายใน ที่เปลี่ยนมาใช้ซีพียูรุ่นที่ 8 จากอินเทล คอร์ ไอ (Intel Core i) เลือกได้ตั้งแต่ i5 i7 และ i9 RAM สูงสุด 32 GB พื้นที่เก็บข้อมูล SSD สูงสุด 4 TB

โดยในเครื่องรุ่น 13 นิ้ว ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ 65,900 บาท โดยมาพร้อมหน่วยประมวลผล Intel Core i5 2.3 GHz และถ้าต้องการปรับสเปกเพิ่มเป็น Core i7 RAM 8 GB SSD 256 GB แต่ถ้าต้องการเพิ่มสเปกสูงสุดเป็น Core i7 2.7 GHz RAM 16 GB และ SSD 2 TB ราคาจะขึ้นไปอยู่ที่ 134,900 บาท

ส่วนในรุ่น 15 นิ้ว ราคาเริ่มต้นที่ 85,900 บาท สำหรับรุ่น Intel Core i7 2.2 GHz RAM 16 GB การ์ดจอ Radeon Pro 555X SSD 256 GB แน่นอนว่าสามารถปรับสเปกขึ้นไปเป็น Core i9 2.9 GHz RAM 32 GB การ์ดจอ Radeon Pro 560X และ SSD 4 TB ได้ในราคา 256,900 บาท

ทั้งนี้ รุ่นที่ได้มาทดสอบจะเป็น MacBook Pro 15 นิ้ว ที่มากับหน่วยประมวลผล 8th Gen Intel Core i9 RAM 32 GB การ์ดจอ Radeon Pro 560X SSD 2 TB ที่วางจำหน่ายในราคา 176,900 บาท ตัวเครื่องรองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi มาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac บลูทูธ 5.0

2.มีการนำชิป Apple T2 ซึ่งเป็นชิปสำหรับเพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล ร่วมกับแต่เดิมที่มีการนำเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ (Touch ID) มาใช้งานในการปลดล็อกเครื่อง ผสมผสานกับการจัดการตัวควบคุมเสียง ทำให้ผู้ใช้สามารถสั่งเรียกใช้งาน Siri ได้ทันทีโดยไม่ต้องกดปุ่มเรียกใช้งาน

ดังนั้น ผู้ใช้ MacBook Pro (2018) จึงสามารถใช้เสียง เรียก Siri ขึ้นมาเพื่อเปิดเพลง ตั้งแจ้งเตือน ค้นหาข้อมูลได้ทันที ในขณะที่กำลังใช้งานอย่างอื่นอยู่ อย่างกรณีที่พิมพ์งานอยู่ ไม่อยากสลับหน้าจอไปเปิดเพลง ก็สั่ง ‘หวัดดี Siri’ เปิดเพลงได้ทันที

3.การปรับปรุงหน้าจอแสดงผลที่ใช้จอ Retina 15.4 นิ้ว ความละเอียด 2880 x 1800 พิกเซล เช่นเดิม แต่เพิ่มความสามารถของ True Tone เข้ามาช่วยปรับสีการแสดงผลหน้าจอให้ธรรมชาติมากขึ้น โดยเทคโนโลยีนี้เริ่มนำมาใช้บน iPhone และ iPad รุ่นปีที่ผ่านมา ก่อนถูกนำมาใช้บนแมคบุ๊กในปีนี้

ขณะเดียวกันความสว่างของหน้าจอก็ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 500 nit รองรับการแสดงผลสีบนมาตรฐาน P3 ที่ใช้ในวงการถ่ายภาพด้วย และในอนาคตเมื่อมีการปรับเดต macOS เป็น Mojave เมื่อทำงานร่วมกับ Dark Mode หรือ Dynamic Desktop ก็จะช่วยให้มีลูกเล่นเพิ่มมากขึ้น

4..คีย์บอร์ด Butterfly 3 ที่ปรับปรุงให้นุ่มขึ้น ทำให้เสียงในการพิมพ์เงียบกว่าเดิม และในขณะเดียวกันแอปเปิลก็พัฒนาคีย์บอร์ดรุ่นนี้มาเพื่อแก้ไขปัญหาปุ่มคีย์บอร์ดรุ่นเดิมที่มีปัญหากดไม่ติด หรือกดแล้วเบิ้ลหลังจากใช้งานไปสักพักด้วย

โดยในแง่ความรู้สึกในการพิมพ์ ถ้าเป็นผู้ที่เคยใช้งานคีย์บอร์ดแบบ Butterfly มาก่อน จะรับรู้ได้ถึงสัมผัสที่นุ่มขึ้นได้ชัดเจน แต่แน่นอนว่าถ้าไม่เคยใช้มาก่อน ในช่วงแรกที่ใช้งานน่าจะเจอปัญหาความไม่คุ้นชินในการใช้งาน เพราะจะรู้สึกเหมือนไม่ได้กดปุ่มคีย์บอร์ดจริงๆ

ส่วนแถบสัมผัส Touch Bar เหนือคีย์บอร์ด แม้จะไม่ได้มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อนหน้า แต่เนื่องจากถูกนำเสนอมาในตลาดสักพักแล้ว ทำให้มีโปรแกรมที่ถูกพัฒนามารองรับการใช้งานเพิ่มมากขึ้น และช่วยให้ใช้งานเครื่องมือต่างๆได้สะดวกขึ้นด้วย

ต่อมาในส่วนของแทร็กแพด (TrackPad) ก็มากับระบบ Force Touch เช่นเดิม โดยยังคงความสามารถในการ Force Click (กดแทร็กแพดแรงขึ้นจากเดิมเล็กน้อย) เพื่อใช้ในการเปิดโหมด Quick Look หรือสั่งงานเพิ่มเติมในโปรแกรมต่างๆอยู่เช่นเดิม

สุดท้ายคือ การปรับปรุงพอร์ต Thunderbolt 3 ให้รองรับการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ในรูปแบบของ USB-C ที่สามารถใช้ทั้งชาร์จไฟกับพอร์ตไหนก็ได้ โอนถ่ายข้อมูล เชื่อมต่อกับหน่วยประมวลผลภาพภายนอก (eGPU) ได้พร้อมกัน 4 เครื่อง รวมถึงต่อจอภาพความละเอียดระดับ 5K ได้สูงสุด 2 จอภาพ

โดยที่รู้สึกได้อีกอย่างคือเรื่องของการเสียบสายในการใช้งาน จะแน่นขึ้นกว่าในรุ่นก่อนหน้า ถ้าเสียบเข้าไปแล้วจะมีรู้สึกถึงเสียงคลิก และรับรู้ได้ว่าแน่นแล้ว แต่แน่นอนว่า ปัญหาของการพกพาอุปกรณ์เสริม USB-C เพื่อเชื่อมต่อใช้งานยังคงมีอยู่แน่นอน

การออกแบบตัวเครื่อง

สำหรับ MacBook Pro (2018) รุ่นจอ 15 นิ้ว จะมีให้เลือกด้วยกัน 2 สีคือสีเงิน และสีเทา โดยรุ่นที่นำมารีวิวคือสีเทา (Space Gray) ดีไซน์ภายนอกของรุ่นนี้จะยังคงใช้คอนเซปต์เดิมกับการปรับโฉมครั้งใหญ่ของ MacBook ในปี 2016

ดังนั้น ภาพลักษณ์ภายนอกของเครื่องรุ่นนี้จึงไม่ได้มีจุดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยที่ฝายังมากับโลโก้ Apple ที่ถูกเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นไฟ มาเป็นวัสดุเงาๆ ขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 34.93 x 24.07 x 1.55 เซนติเมตร น้ำหนัก 1.83 กิโลกรัม

เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาก็จะพบกับหน้าจอขนาด 15.4 นิ้ว โดยมีกล้อง Facetime อยู่ด้านบน พื้นที่ขอบจอที่บางขึ้น ล่างหน้าจอมีอักษรระบุ ‘MacBook Pro’ อยู่ ถัดลงไปบริเวณข้อต่อก็จะเป็นช่องระบายอากาศสำหรับเครื่องรุ่นนี้

ถัดมาบริเวณตัวเครื่อง ก็จะไล่ตั้งแต่แถบ Touch Bar ที่บริเวณปลายสุดทางขวาเป็น Touch ID ที่ใช้เป็นปุ่มเปิดปิดเครื่องด้วย ลงมาก็เป็นแผงคีย์บอร์ด Butterfly 3 ที่ขนาบไปด้วยลำโพงทั้ง 2 ฝั่ง ส่วนล่างก็จะเป็นแทร็กแพดขนาดใหญ่ให้ใช้งาน

หลังเครื่องก็จะตามสไตล์เดิมคือปล่อยไว้เรียบๆ โดยมีจุกยาง 4 จุด เพื่อยกให้เครื่อไม่แนบสนิทกับพื้น บริเวณขอบก็จะมีเว้นช่องไว้เป็นช่องระบายอากาศ และให้เสียงออกด้วย ส่วนการยึดเครื่องก็จะใช้น็อตพิเศษ 6 จุดรอบเครื่อง

ส่วนพอร์ตใช้งานรอบเครื่องก็จะมีพอร์ต Thunderbolt 3 หรือ USB-C ข้างละ 2 พอร์ต โดยทางฝั่งขวาจะมีช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. มาให้เช่นเดิม

สำหรับอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง จะประกอบไปด้วยตัวเครื่อง MacBook Pro 15 นิ้ว สาย USB-C ความยาว 2 เมตร และอะเดปเตอร์ 87 วัตต์ ที่เหลือก็จะเป็นคู่มือเบื้องต้น และสติกเกอร์แอปเปิลอยู่ในกล่องอีกที

ทดสอบประสิทธิภาพ

ในส่วนของการทดสอบประสิทธิภาพของ MacBook Pro 2018 ทีมงานทดสอบผ่านโปรแกรมทดสอบหลักๆอย่าง GekkBench 4 และ Cinebench R15 ก็พบว่าอยู่ในระดับท็อปๆของหน่วยประมวลผลใกล้เคียงกัน

ขณะที่เมื่อทดสอบกับการนำไปใช้งานแต่งภาพไฟล์ RAW หรือตัดต่อวิดีโอระดับ 4K พบว่า ทำได้ลื่นไหลกว่ารุ่นก่อนหน้าแบบเห็นได้ชัด ซึ่งแน่นอนว่าถือเป็นเครื่องที่ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการโน้ตบุ๊กพกพาประสิทธิภาพสูงไว้ใช้งานอย่างแน่นอน (แต่ราคาก็สูงตามไปด้วย)

หลังจากที่ ลองอัปเดต macOS Mojave เรียบร้อยแล้ว กลับมาทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องจาก Geekbench อีกครั้ง พบว่าคะแนนมีการปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของตัวเครื่องเมื่อทำงานบน macOS รุ่นใหม่ จะประมวลผลได้เร็วขึ้นกว่าเดิม

 

Gallery

]]>