Moto Z2 Play – CBIZ Reviews – MGR Online https://cyberbiz.mgronline.com เว็บไซต์รีวิวอุปกรณ์ ไอที ไฮเทค เป็นส่วนหนึ่งของผู้จัดการออนไลน์ Mon, 14 Aug 2017 07:21:50 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.0 Review : Moto Z2 Play รุ่นรองท็อป เน้นแบตอึด สเปกเกือบสุด https://cyberbiz.mgronline.com/review-moto-z2-play/ Mon, 14 Aug 2017 07:20:36 +0000 http://www.cyberbiz.in.th/?p=26776

ไม่รู้ว่า Motorola มองตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยเป็นอย่างไร แต่คงเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญมากๆ ดังจะเห็นได้จากการที่นำสมาร์ทโฟนในตระกูล Z ซีรีส์ อย่าง Moto Z2 Play เข้ามาเปิดตัวระดับภูมิภาคในประเทศไทย พร้อมเชิญสื่อมวลชนจากประเทศเพื่อนบ้านมาร่วมงานเปิดตัวด้วย

เมื่อเป็นเช่นนั้น ความคาดหวังของ Motorola กับการจำหน่าย Moto Z2 Play ในประเทศไทยคงไม่ใช่เล่นๆ และคิดว่าผลตอบรับจะดีเหมือนในรุ่น Z Play ปีที่ผ่านมา ที่กลายเป็นรุ่นสร้างรายได้ให้แก่ Motorola ในประเทศไทย ด้วยการชูเรื่องของแบตที่อึดมาก

แต่พอมาเป็น Z2 Play ไม่รู้ว่า Motorola คิดอย่างไรถึงได้มีการปรับลดแบตเตอรีลง เหลือ 3,000 mAh จากในรุ่น Z Play ที่ให้มาแบบจุใจถึง 3,510 mAh ขณะที่ในส่วนของสเปกตัวเครื่องก็ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จากซีพียู Snapdragon 625 เป็น Snapdragon 626 ที่แรงกว่าเดิมราว 10%

การออกแบบ

ในแง่ของการออกแบบ Moto Z2 Play ถอดแบบมาจากในรุ่นก่อนหน้าอย่าง Z และ Z Play ที่กลับมานำภาพของ Moto Razr มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบให้เครื่องเน้นความบางมาก โดยมีขนาดเครื่องที่ 156 x 76.2 x 5.99 มิลลิเมตร น้ำหนัก 145 กรัม

ด้านหน้าหลักๆเลยคือหน้าจอ Super AMOLED 5.5 นิ้ว ความละเอียด 1920 x 1080 พิกเซล 441 ppi โดยมีลำโพงสนทนา โลโก้ Moto กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล และไฟแฟลชอยู่ขอบบน ส่วนบอล่างจะมีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมืออยู่เท่านั้น

ด้านหลังตัวเครื่องจะดูเปลือยๆ เพราะออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับ Moto Mods ที่เป็นอุปกรณ์เสริมอย่างฝาหลัง หรือแบตเสริมที่สามารถหาซื้อเพิ่มเติมได้ ทำให้จะเห็นว่าบริเวณกล้องหลัก 12 ล้านพิกเซล และไฟแฟลชจะนูนขึ้นมาจากตัวเครื่อง ส่วนล่างก็จะมีขั้วทองแดงสำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริม

ด้านซ้ายตัวเครื่องถูกปล่อยว่างไว้ ด้านขวาจะมีปุ่มเปิดปิดเครื่อง และปุ่มปรับระดับเสียง

ด้านบนมีช่องใส่ถาดซิม 2 ซิม และไมโครเอสดีการ์ด ที่สามารถใช้งานพร้อมกันได้ทั้งหมด กับช่องไมโครโฟนที่ 2 ด้านล่างมีพอร์ต USB-C และช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม.

สำหรับอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องจะประกอบไปด้วยตัวเครื่อง อะเดปเตอร์ สาย USB-C และหูฟังแบบ in-Ear

สเปก

สำหรับสเปกภายในของ Moto Z2 Play จะมากับหน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 626 Octa-Core 2.2 GHz RAM 4 GB พื้นที่เก็บข้อมูลในตัวเครื่อง 64 GB สามารถใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มได้สูงสุด 256 GB ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 7.1 (Nougat)

ด้านการเชื่อมต่อตัวเครื่องรองรับ 3G/4G แบบ 2 ซิม ที่แยกช่องกับไมโครเอสดีการ์ด ทำให้สามารถใส่ซิมหลักใช้งาน 4G ซิมรองสแตนบาย 3G ได้ ส่วน WiFi มาตรฐาน 802.11 a/b/g/n บลูทูธ 4.2 พร้อม NFC แบตเตอรีภายในอยู่ที่ 3,000 mAh

ฟีเจอร์เด่น

อย่างที่รู้กันว่า Motorola เคยเข้าไปอยู่ภายใต้ร่มธงของกูเกิลมาพักหนึ่ง ก่อนที่จะทางเลอโนโวจะซื้อออกมา ทำให้สิ่งหนึ่งที่ติดตัวมาด้วยคือการเป็น Pure Android Phone ที่ไม่ได้มีการนำอินเตอร์เฟสมาครอบ และในขณะเดียวกันก็ทำให้ตัวเครื่องได้รับการอัปเดตแอนดรอยด์เวอร์ชันใหม่ได้เร็วขึ้นด้วย

โดยในหน้าแรกของ Z2 Play จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆคือ ส่วนบนที่เป็นแถบแจ้งเตือน ซึ่งสามารถลากลงมาเพื่อเข้าไปตั้งค่าด่วนต่างๆได้ ถัดลงมาตรงกลางหน้าจอไว้สำหรับนำวิตเจ็ตต่างๆมาใส่ ส่วนล่างจะเป็นแถบเมนู (แสดง 5 ไอค่อนลัด) เมื่อปาดนิ้วขึ้นก็จะเข้าสู่หน้ารวมแอป

เบื้องต้นแอปที่ติดตั้งมาให้ในเครื่องจะเป็นแอปพลิเคชันพื้นที่ ที่เพิ่มเข้ามาก็จะมีพวกตัวจัดการพลังงาน Moto Actions และ Moto Mods ต่างๆ ที่เป็นส่วนเสริมของทาง Motorola รวมกับบริการต่างๆของกูเกิลที่เป็นพื้นฐาน

ดังนั้น Moto Actions จึงกลายเป็นจุดขายเดียวของ Z2 Play รวมถึงเครื่องรุ่นอื่นๆของ Moto อย่างการเขย่าเครื่องเพื่อเปิดใช้งานไฟฉาย บิดเครื่องไปมาเข้าโหมดกล้อง ปัดหน้าจอเพื่อย่อหน้าต่างลง ยกเครื่องเพื่อปิดเสียงสายเรียกเข้า พลิกเครื่องให้เข้าโหมดห้ามรบกวน

รวมถึง Moto Display อย่างการตั้งค่าให้ตัวเครื่องเข้าสู่โหมดตัดแสงสีฟ้า เพื่อถนอมสายตาในช่วงที่ใช้งานตอนกลางคืน โดยสามารถตั้งระยะเวลาได้เอง สุดท้ายก็คือ Moto Voice หรือการใช้คำสั่งเสียง ร่วมกับทาง Google Assistance ในการสั่งงานเครื่อง

ที่เหลือก็จะเป็นฟังก์ชันที่มากับฮาร์ดแวร์ตัวเครื่อง อย่างการที่เครื่องรองรับการใช้งาน 2 ซิม พร้อมกับใส่ไมโครซิมการ์ดได้พร้อมกัน ไม่ได้เป็นถาดแบบไฮบริดที่จะเลือกใส่งาน โดยตัวซิม 2 ก็จะสแตนบายใข้งานบน 3G ได้ตามปกติ หรือจะสลับใช้งาน 4G/3G กับซิมแรกก็ทำได้

สุดท้ายในส่วนของโหมดกล้อง Z2 Play ทำออกมาได้กลางๆ ไม่ได้โดดเด่นมากนัก โดยในโหมดมืออาชีพจะเปิดให้สามารถปรับตั้งค่าได้ส่วนหนึ่ง แต่จะเน้นไปที่การใช้งานบนโหมดอัตโนมัติมากกว่า ตัวอินเตอร์เฟสกล้องก็จะเน้นใช้งานง่ายๆเป็นหลัก

ทดสอบประสิทธิภาพ

Antutu Benchmark = 68,285 คะแนน
Quadrant Standard = 21,415

Geekbench 4
Single-Core = 914 คะแนน
Multi-Core = 4,642 คะแนน
Compute = 3,267 คะแนน

PassMark PerformanceTest
System = 5,671 คะแนน
CPU Tests = 137,932 คะแนน
Memory Tests = 6,598 คะแนน
Disk Tests = 43,593 คะแนน

2D Graphics Tests = 3,894 คะแนน
3D Graphics Tests = 1,380 คะแนน

PC Mark
Work 2.0 = 4,979 คะแนน
Computer Vision = 2,557 คะแนน
Storage = 5,626 คะแนน
Work = 6,008 คะแนน

3D Mark
Sling Shot Extreme Unlimited = 515 คะแนน
Sling Shot Unlimited = 460 คะแนน
Sling Shot Extreme = 866 คะแนน
Sling Shot = 848 คะแนน
Ice Storm Extreme = 8,425 คะแนน
Ice Storm Unlimited = 14,123 คะแนน
Ice Storm = 12,699 คะแนน

ส่วนระยะเวลาการใช้งานบนแบตเตอรีทั่วๆไปจะอยู่ที่ราวเกือบๆ 11 ชั่วโมง ในการใช้งานต่อเนื่อง ซึ่งถามว่าแบตอึดไหมก็ยอมรับว่าอึด แต่ถ้าเทียบกับรุ่นก่อนอย่าง Z Play ยังทำได้ไม่เทียบเท่า ขณะที่ระยะเวลาในการชาร์จแบตจนเต็มจะอยู่ราว 2 ชั่วโมงนิดๆ

สรุป

ถ้าไม่นำ Moto Z2 Play ไปเทียบกับรุ่นก่อนหน้าอย่าง Z Play ที่ทำได้ครบถ้วนรอบด้าน แต่พอมาใน Z2 Play กลับไม่ได้มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเท่าที่ควร เพราะสิ่งที่ Motorola ทำคือการเปลี่ยนซีพียู ที่โอเวเอร์คล็อกความเร็วให้สูงขึ้น ส่วนสเปกรวมๆด้านอื่นๆ มีการพัฒนาเพิ่มเติมเล็กน้อยเท่านั้น และที่สำคัญคือเปิดตัวมาในราคาเท่ากันที่ 15,900 บาท

จุดเด่นที่เคยมีใน Z Play อย่างแบตอึด พอลดขนาดแบตลง แม้ว่าจะมีการบริหารจัดการแบตเตอรีที่ดีขึ้น แต่ก็ช่วยยืดระยะเวลาใช้งานได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประกอบกับการที่เป็น Pure Android ที่ไม่ได้มีอินเตอร์เฟสครอบให้ใช้งาน แต่เน้นไปที่การเพิ่มความสะดวกในการใช้จาก Actions ต่างๆแทน

ที่ยังพึ่งพาได้ก็จะเหลือแต่ Moto Mods ที่มีอุปกรณ์ให้เลือกเล่นเพิ่มมากขึ้น แต่แน่นอนว่าเมื่อเป็นอุปกรณ์เสริมก็ต้องซื้อเพิ่ม ในจุดนี้คงต้องดูว่าจะมีผู้บริโภคสักกี่คนที่อินกับอุปกรณ์เสริมที่จะมาช่วยทำให้ Z2 Play น่าสนใจขึ้น

ข้อดี

  • ตัวเครื่องส่วนที่บางสุด 5.99 มม.
  • เป็นรุ่นรองท็อปที่เน้นความครบเครื่อง มากกว่าสเปกแรงๆ
  • Moto Actions ที่มาช่วยให้ใช้งานบางฟีเจอร์สะดวกขึ้น
  • รองรับการใช้งาน Moto Mods เพิ่มเติม

ข้อสังเกต

  • สเปกอัปขึ้นมาจากรุ่นปีที่แล้วนิดเดียว
  • แบตเตอรี่น้อยลง เปลี่ยนไปใช้การบริหารทรัพยากรเครื่องให้แบตอึดแทน
  • ไม่มี Moto Shell แถมมาให้ ทำให้หลังเครื่องโล้นๆ
  • ถ้าไม่ได้ซื้อ Moto Mods มาใช้เพิ่มก็ไม่มีจุดเด่นอะไรต่างจากแบรนด์อื่น

Gallery

]]>