น่าสนใจว่าความโดดเด่นของ Sony Xperia XZ Premium จะกลับมาเรียกศรัทธาให้แก่สาวกอารยะธรรมโซนี่ ได้หรือไม่ เพราะด้วยการที่วางตัวเป็นแฟลกชิปสมาร์ทโฟนประจำปีนี้ XZ Premium จึงรับภาระหนักในการรุกตลาดไฮเอนด์ไปโดยปริยาย
ที่ผ่านมา โซนี่ ค่อนข้างจะโฟกัสในตลาดสมาร์ทโฟนระดับพรีเมียมเป็นหลัก และถือว่าทำได้ค่อนข้างดี แต่พอช่วงหลังๆมีการขยายไลน์สินค้าลงไประดับหมื่นบาทเพิ่มมากขึ้น แม้จะทำให้ไลน์สินค้ากว้างขึ้น ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย แต่ก็เจอกับปัญหาว่าในเมื่อสามารถหาเครื่องที่ให้ฟังก์ชันใกล้เคียงกันได้ในราคาต่ำกว่า จะเลือกรุ่นแฟลกชิปไปทำไม
โซนี่จึงได้เวลาคิดใหม่ทำใหม่ ด้วยการนำสุดยอดเทคโนโลยีที่มีทั้งด้านภาพ เสียง และกล้อง มารวมกับความสามารถในการประมวลผลของ Qualcomm Snapdragon 835 ที่ขึ้นชื่อว่าแรงที่สุดในเวลานี้ และรองรับการใข้งาน 4.5G ในไทยได้อย่างสมบูรณ์แบบ จนออกมาเป็น Sony Xperia XZ Premium ในทุกวันนี้
การออกแบบ
เอกลักษณ์ในการใช้ Omni Design ยังกลายเป็นจุดสำคัญของ XZ Premium ที่คราวนี้หันมาใช้ ตัวเครื่องโลหะ ผสมกับกระจกหน้าหลัง เพื่อสร้างให้เครื่องดูหรูหรามากขึ้น งานประกอบทำได้แข็งแรง แน่นหนา เมื่อสัมผัสแล้วจะรู้สึกถึงความพรีเมียมของตัวเครื่องอย่างแน่นอน
ในส่วนของขนาดตัวเครื่อง จะอยู่ที่ 156 x 77 x 7.9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 191 กรัม มีให้เลือกด้วยกัน 2 สีคือ ดำ (Deepsea Black) และเงิน (Luminous Silver) เมื่อเทียบกันในท้องตลาดแล้ว XZ Premium จะมีขนาดใกล้เคียงกับ Samsung Galaxy S8+ แต่หน้าจอของ S8+ จะใหญ่กว่าที่ 6.4 นิ้ว
ส่วนหน้าจอของ Xperia XZ Premium จะอยู่ที่ 5.5 นิ้ว แต่ก็ชดเชยได้ด้วยความละเอียดหน้าจอที่โซนี่ อัดมาให้เต็มเป็นแบบ 4K HDR ซึ่งเรียกได้ว่าละเอียดที่สุดในตลาดเวลานี้ และโซนี่ก็ยังคงช่องว่างระหว่างขอบบน และขอบล่างเครื่องอยู่เช่นเดิม แต่ก็ถือเป็นข้อดี เพราะทำให้จับใช้งานถนัดมือมากขึ้น
ด้านหน้า – ขอบบนจะมีช่องลำโพงสนทนา อยู่กึ่งกลาง โดยมีการสกรีนแบรนด์ Sony อยู่ข้างล่าง ขนาบไปด้วยกล้องหน้าความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ที่เป็นเลนส์มุมกว้าง f/2 ทำงานด้วยเซ็นเซอร์ Exmor RS 1/3.06” อีกฝั่งเป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับใบหน้า วัดแสง
ส่วนไฟแจ้งสถานะต่างๆจะขยับไปอยู่ที่บริเวณขอบซ้าย ขอบล่างก็จะมีลำโพงอีกตัว เพื่อให้เสียงที่ออกมาเป็นแบบสเตอริโอ เมื่อใช้ดูภาพยนตร์ ในแนวนอน ซึ่งถือว่าโซนี่ยังรักษาคุณภาพของเสียงที่ออกจากลำโพงได้เป็นอย่างดี
ด้านหลัง – เนื่องจากหันมาใช้กระจกครอบทำให้ฝาหลังที่เป็นกระจก เมื่อไม่ได้ใส่เคสใช้งานจะเต็มไปด้วยรอยนิ้วมือได้ค่อนข้างง่าย ประกอบกับฝาหลังถูกปล่อยให้โล่งๆ มีการติดซับแบรนด์ Xperia อยู่ตรงกึ่งกลาง พร้อมสัญลักษณ์ NFC ภายในมีแบตเตอรีขนาด 3,230 mAh
ส่วนมุมซ้ายบนจะเป็นที่อยู่ของทีเด็ดอย่างหกล้องหลัง ที่โซนี่เลือกใช้เทคโนโลยี Motion Eye มาใช้งานเหมือนใน Xperia XZs ที่ออกมาก่อนหน้านี้ โดยจะเป็นกล้องความละเอียด 19 ล้านพิกเซล ที่ใช้เลนส์ G มาใช้งาน ให้รูรับแสง f/2.0 ตัวเซ็นเซอร์เป็น Exmor RS 1/2.3” ความละเอียดเม็ดพิกเซล 1.22 um พร้อมกับระบบโฟกัสแบบไฮบริดจ์ และไฟ LED
ด้านบน – จะมีช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. ให้เลือกใช้อยู่ ด้านล่าง – เป็นพอร์ต USB-C
ด้านซ้าย – จะมีฝาปิดช่องใส่ซิมการ์ด และไมโครเอสดีการ์ด โดยแยกออกเป็น 2 ถาด ถาดแรกที่ถอดออกมาจะไว้ใส่ซิม 2 หรือเลือกใส่ไมโครเอสดีการ์ด ส่วนถาดซิมแรกจะอยู่ซ้อนเข้าไปด้านในอีก ด้านขวา – มีปุ่มปรับระดับเสียง ปุ่มเปิด–ปิดเครื่อง ที่เป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ สุดท้ายคือปุ่มชัตเตอร์กล้อง ที่ใช้เปิดโหมดกล้องได้ทันที
ที่น่าสนใจคือตัวเครื่องกันน้ำกันฝุ่น มาตรฐาน IP 65/68 เพียงแต่ต้องดูการปิดถอดซิมให้แนบสนิทมากที่สุด อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องจะประกอบไปด้วยตัวเครื่อง คู่มือการใช้งาน สาย USB-C อะเดปเตอร์ และหูฟังแบบ In-Ear
สเปก
ในส่วนของฮาร์ดแวร์ Xperia XZ Premium มากับหน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 835 ที่เป็น Octa-Core (Quad 2.45 GHz Kryo + Quad 1.9 GHz Kryo) หน่วยประมวลผลภาพ Adreno 540 RAM 4 GB พื้นที่เก็บข้อมูลภายในตัวเครื่อง 64 GB ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 7.1.1
ด้านการเชื่อมต่อรองรับการใช้งาน 2 ซิม 2G/3G/4G โดยเฉพาะในระบบ 4G ที่ตัวเครื่องรองรับ LTE Cat 16 หรือ 4.5G ที่เอไอเอส และทรูมูฟ เอช ให้บริการอยู่ในเวลานี้ WiFi มาตรฐาน 802.11ac บลูทูธ 5.0 มี NFC GPS มาให้ครบถ้วน แต่ไม่มีวิทยุ FM
ฟีเจอร์เด่น
ความโดดเด่นของ Xperia XZ Premium แทบทั้งหมดจะมาจากฮาร์ดแวร์ที่ใส่มาให้เป็นหลัก ส่วนอินเตอร์เฟส และฟีเจอร์การใช้งานภายใน ถือเป็นส่วนเสริมที่ได้มาจากฮาร์ดแวร์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแสดงผล XZ Premium เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่มีหน้าจอความละเอียดระดับ 4K
ผลที่ตามมาคือผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ 4K ได้จากในเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้งาน Youtube เพื่อรับชมไฟล์ความละเอียดสูง 4K ภาพที่ได้ออกมาเมื่อใช้คอนเทนต์ที่รองรับจะแสดงให้เห็นความแตกต่างในการใช้งานที่ชัดเจน
โดยถ้าไล่ดูก็จะมาจากการที่โซนี่นำเทคโนโลยีอย่างจอแสดงผล TRILUMINOS ระบบประมวลผลภาพ X-Reality พร้อมปรับการแสดงผลให้เป็นแบบ sRGB 138% ทำให้ภาพที่ได้ออกมาค่อนข้างสมจริง และให้สีสันทีสวยงาม
ถัดมาในแง่ของกล้อง Motion Eye ที่เคยพูดถึงกันไปแล้วใน Review : Sony Xpreria XZs สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาใน XZ Premium คือระบบการถ่ายวิดีโอแบบ 4K ที่โซนี่พัฒนาขึ้นในรุ่นนี้อย่างชัดเจน แต่เดิมตัวเครื่องจะเกิดปัญหาความร้อนในการถ่ายวิดีโอทำให้ถ่ายได้ไม่เกิน 15-30 นาที แต่พอมาเป็น XZ Premium ทดลองถ่ายต่อเนื่องไปราว 1 ชั่วโมง ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ส่วนในแง่ของภาพนิ่ง ด้วยการที่โซนี่เลือกใช้เลนส์มุมกว้าง (มาก) ทำให้ตอนนี้เกิดปัญหาขึ้นเล็กน้อยเมื่อถ่ายภาพในระยะใกล้ๆ ทำให้เกิดอาการภาพบิดเบี้ยว (Distortion) ซึ่งถือเป็นปัญหากับเลนส์มุมกว้างในกล้องโปรมาก่อน จนช่างภาพส่วนใหญ่เข้าใจถึงธรรมชาติดังกล่าวแล้ว
(เทียบให้เห็นระหว่าง XZ Premium กับ S8+ ว่าเมื่อถ่ายภาพใกล้ๆบริเวณขอบภาพจะโค้งๆ)
แต่พอมาเกิดในสมาร์ทโฟน ผู้ที่ไม่เคยมีความรู้เรื่องการถ่ายภาพมาก่อน อาจจะมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ แต่เชื่อว่าเมื่อโซนี่ได้รับทราบปัญหาดังกล่าวแล้ว จะมีการออกเฟิร์มแวร์แก้ไขออกมาได้ไม่ยาก แน่นอนว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่เกิดเมื่อถ่ายภาพในระยะไกล
ส่วนถ้าถามว่าคุณภาพของภาพนิ่ง Xperia XZ Premium ทำได้ดีแค่ไหน สามารถเข้าไปดูได้จากคอนเทนต์ก่อนหน้านี้อย่าง “เทียบกันยาวๆ ภาพจาก 4 สมาร์ทโฟนเรือธง” โดยรวมแล้วสีที่ได้จากกล้องของโซนี่จะสมจริงมากที่สุด เมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นๆ
แต่ก็จะมีในส่วนของระบบถ่ายภาพแบบมือโปร ที่โซนี่ ตั้งมาให้ปรับได้แค่ความเร็วชัตเตอร์ระหว่าง 1/4000 – 1 วินาที ระบบโฟกัส ไวท์บาลานซ์ และปรับค่าชดเชยแสง (EV) เท่านั้น ถ้าต้องการตั้ง ISO ก็สามารถตั้งได้ตั้งแต่ 50-3200 แต่ไม่สามารถตั้งคู่กับชัตเตอร์สปีดได้
ส่วนการปรับตั้งค่าอื่นๆ ของกล้องถือว่ามีอิสระมาก ผู้ใช้สามารถเข้าไปปรับองศาเคลวินเพื่อคุมโทนสีของภาพได้ พร้อมกับเข้าไปเลือกคุณภาพของการบันทึกวิดีโอสโลว์โมชันว่าจะถ่ายแบบสโลว์ปกติ แล้วกดซ้ำเพื่ออัดซูเปอร์สโลว์โมชัน หรือจะเลือกถ่ายเป็นช็อตซูเปอร์สโลว์โมชันเลยก็ได้
ขณะที่การบันทึกวิดีโอ 4K ที่ให้สามารถ จะต้องเข้าไปเลือกที่โหมดถ่ายภาพ 4K แทน ไม่ได้อยู่กับโหมดถ่ายวิดีโอปกติ โดยผู้ใช้สามารถเลือกการเข้ารหัสไฟล์มาตรฐานให้เป็น .h264 หรือ .h265 ก็ได้ พร้อมความสามารถในการปรับสมดุลแสงให้เหมาะสม เลือกไวท์บาลานซ์ได้ปกติ
อีกจุดที่น่าสนใจคือเรื่องของการเชื่อมต่อบนเครือข่าย 4.5G ที่จะเห็นว่าตอนนี้ทั้งเอไอเอส และ ทรูมูฟ เอช เริ่มมีการโฆษณา เรื่องการรวมคลื่น และปรับปรุงอุปกรณ์ส่งสัญญาณให้ทันสมัยมากขึ้น Xperia XZ Premium ที่มากับโมเด็ม X16 LTE ของ Qualcomm จึงกลายเป็นรุ่นแรกที่รองรับสมบูรณ์แบบ (ไม่นับ U11 เพราะรุ่นที่ขายในไทย เป็นตัว RAM 6 GB ไม่ได้ใช้ชิปเซ็ต X16)
กล่าวคือถ้าเข้าไปอยู่ในพื้นที่ ที่มีการปล่อยสัญญาณ 4.5G 3CA (รวม 3 คลื่น 900 1800 2100 MHz มาให้ใช้งาน) พร้อมกับ 4×4 MIMO 256 qam (เทคโนโลยีที่ทำให้ตัวเครื่องสามารถรับสัญญาณพร้อมๆ 5 เท่ามาช่วยเพิ่มความแรงของคลื่น) โดยความเร็วที่ทำได้จะเกิน 200 Mbps ขึ้นไป
ในส่วนของระบบเสียง ที่ผ่านมาชื่อชั้นของโซนี่ ถือว่าเป็นผู้นำในการก้าวเข้าสู่เสียงระดับ Hi-Res อยู่แล้ว ดังนั้นการที่นำการสังเคราะห์เสียงดิจิตอลคุณภาพสูง (DSEE HX) มาใช้ ร่วมกับ Clear Audio+ และ Clear Bass ทำให้เสียงที่ได้ออกมาอยู่ในระดับสูง
อีกจุดที่พัฒนากันต่อของเสียงคือ การเชื่อมต่อแบบไร้สายผ่านบลูทูธที่ปัจจุบันก้าวเข้าสู่ยุคของ Bluetooth 5.0 แล้ว คุณภาพของการส่งผ่านสัญญาณไร้สาย ไปยังหูฟัง หรือเครื่องเล่นเพลงสามารถให้คุณภาพไม่แตกต่างจากการใช้สายเชื่อมต่อ ดังนั้นถ้ามีหูฟังบลูทูธ Hi-Res อยู่แล้วเอามาเชื่อมต่อฟังเพลงก็ได้รายละเอียดที่ครบถ้วน
ส่วนที่เหลือไม่ว่าจะเป็นแอปที่บันเดิลมาให้ในเครื่อง ระบบการตั้งค่าต่างๆ ยังคงยึดเอกลักษณ์ของโซนี่ จึงไม่ได้มีความแตกต่างจากเครื่องรุ่นก่อนๆมากนัก ดังนั้นผู้ที่เคยใช้งานสมาร์ทโฟนโซนี่มาก่อน พอมาใช้งานบนอินเตอร์เฟสของแอนดรอยด์ 7.1.1 ก็อาจจะมีการปรับตัวเพียงนิดเดียว แต่ที่เหลือเรียนรู้ได้ไม่ยาก
ทดสอบประสิทธิภาพ
Antutu Benchmark = 144,953 คะแนน
Quadrant Standard = 38,632
Multi-touch Test = 10 จุด
Geekbench 4
Single-Core = 1,784 คะแนน
Multi-Core = 5,529 คะแนน
Compute = 7,927 คะแนน
PassMark PerformanceTest
System = 12,568 คะแนน
CPU Tests = 232,048 คะแนน
Memory Tests = 13,975 คะแนน
Disk Tests = 67,829 คะแนน
2D Graphics Tests = 7,745 คะแนน
3D Graphics Tests = 3,294 คะแนน
PC Mark
Work 2.0 = 6,507 คะแนน
Computer Vision = 3,448 คะแนน
Storage = 4,181 คะแนน
Work = 7,883 คะแนน
3D Mark
Sling Shot Extreme Unlimited = 4,021 คะแนน
Sling Shot Unlimited = 4,987 คะแนน
Sling Shot Extreme = 3,108 คะแนน
Sling Shot = 3,685 คะแนน
Ice Storm Extreme = 13,509 คะแนน
Ice Storm Unlimited = 39,128 คะแนน
Ice Storm = 14,522 คะแนน
ส่วนการทดสอบแบตเตอรี่ แม้ว่า XZ Premium จะให้แบตมาที่ 3,230 mAh และมากับหน้าจอความละเอียดระดับ 4K แต่ถือว่าระบบบริหารจัดการแบตเตอรีทำได้ดี ทดสอบจาก PC Mark ใช้งานได้ต่อเนื่อง 7 ชั่วโมง 52 นาที ถือว่าอยู่ในระดับบนๆ ส่วนถ้าใช้งานปกติ ทั่วๆไป สามารถใช้ได้เกินวันสบายๆ
สรุป
ต้องยอมรับว่าการรอคอยของสาวกโซนี่ ที่ตั้งตารอสมาร์ทโฟนในตระกูล Xperia ที่ครบเครื่อง ถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว กับความสามารถของ Xperia XZ Premium ที่ออกมาตอกย้ำการเป็นสมาร์ทโฟนที่ครบเครื่องในหลายๆด้าน
ที่สำคัญคือด้วยราคาเปิดตัวที่ 25,990 บาท เมื่อสมัครใช้แพกเกจพร้อมชำระค่าบริการล่วงหน้ากับโอเปอเรเตอร์ผู้บริโภคจะสามารถหาเครื่องมาใช้ได้ในราคา 19,990 บาท จึงนับได้ว่า Xperia XZ Premium ถือเป็นสมาร์ทโฟนที่คุ้มค่า กับประสิทธิภาพของตัวเครื่องที่ได้รับ
เพียงแต่ว่า ถ้าเป็นคนที่ชื่นชอบดีไซน์ของสมาร์ทโฟนที่ให้ความโฉบเฉี่ยวแหวกแนว และโหมดถ่ายโปรที่มีข้อจำกัดในการตั้งค่า Xperia XZ Premium อาจจะไม่ใช่ แต่ถ้ารับได้กับรูปทรง และขอบบน–ขอบล่างหน้าจอที่กินพื้นที่ไปสักหน่อย ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในตลาดเวลานี้