อย่างที่รู้กันว่าซีรีส์ Mate ของ Huawei ถือเป็นตระกูลที่เน้นในแง่ของประสิทธิภาพ การใช้งาน และเทคโนโลยีใหม่เป็นหลัก ที่จะกลายเป็นตัวต้นแบบให้รุ่นอื่นๆที่จะตามออกมาในอนาคต ซึ่งใน Mate 10 Pro ที่เพิ่งวางจำหน่ายนี้ก็เช่นกัน
Huawei Mate 10 Pro จะเคลมถึงการเป็นสมาร์ทโฟนที่มากับหน่วยประมวลผล Kirin 970 ที่มีการแยกหน่วยประมวลผลที่เป็น AI ออกมาด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของการที่รองรับ 4.5G แบบ 2 ซิมที่สามารถใช้งานได้พร้อมกัน และที่ไม่เคยมีใน Huawei มาก่อนคือ Desktop Mode ในการต่อสมาร์ทโฟนกับจอเพื่อใช้งานเป็นคอมพิวเตอร์
ไม่นับรวมกับเรื่องที่ถูกปรับปรุงจากรุ่นก่อนหน้าอย่างกล้องหลังคู่ที่ยังคงคอนเซปต์ Leica เช่นเดิม เพิ่มเติมด้วยเลนส์ชนิดใหม่ที่ให้รูรับแสงขนาดใหญ่มากขึ้น ขณะเดียวกันการมาของ AI ช่วยทำให้เครื่องมีการเรียนรู้ และปรับการใช้งานให้เหมาะกับผู้ใช้ด้วย ในราคา 27,900 บาท
การออกแบบ
ตัวเครื่องของ Mate 10 Pro จะมากับดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์อย่างอย่างวัสดุอะลูมิเนียมที่ใช้ ให้ความคงทนแข็งแรง ประกอบกับมีการใช้หน้าจอ Full View Display ทำให้ตัวเครื่องไม่กว้างจนเกินไป แม้จะให้จอที่มีขนาดใหญ่ โดยตัวเครื่องจะอยู่ที่ 154.2 x 74.5 x 7.9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 178 กรัม วางจำหน่ายด้วยกัน 2 สีคือ น้ำเงิน และน้ำตาล
ด้านหน้า – จะมีการเว้นขอบบนและล่างไว้ในขนาดที่สมมาตร โดยขอบบนจะเป็นที่อยู่ของลำโพงสนทนา กล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ที่ให้ f/2.0 เซ็นเซอร์ต่างๆ และไฟแสดงสถานะเครื่อง ถัดลงมาเป็นหน้าจอ OLED Full View Display ขนาด 5.9 นิ้ว Full HD+ (2160 x 1080 พิกเซล) ส่วนขอบล่างเป็นตรา Huawei
ด้านหลัง – ที่เห็นหลักๆเลยคือกล้องเลนส์ Leica คู่ที่เป็นเลนส์ขาวดำความละเอียด 20 ล้านพิกเซล และเลนส์สี 12 ล้านพิกเซล ที่ f/1.6 ทั้งคู่ (Summilux-H) โดยมีไฟแฟลช Dual LED อยู่ข้างๆ ซึ่งตรงนี้จะมีการเล่นลายสีของเครื่องที่เข้มกว่าพาดผ่านอยู่
ลงมาเป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ ซึ่งเมื่อวางตำแหน่งอยู่ข้างล่างเลนส์กล้อง ถือเป็นจุดที่เหมาะมาก เพราะช่วยให้สามารถใช้นิ้วชี้ปลดล็อกได้พอดี ลงมาด้านล่างก็จะมีโลโก้ Huawei อยู่ ทั้งนี้ด้วยการที่ฝาหลังจะใช้วัสดุเงามันทำให้เวลาใช้งานจะมีรอยนิ้วมือติดค่อนข้างง่าย ภายในจะมีแบตเตอรีขนาด 4,000 mAh อยู่
ด้านซ้าย – จะมีเพียงช่องถาดใส่ซิมการ์ด ที่ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะใส่ 1 นาโนซิม + ไมโครเอสดีการ์ด หรือจะเลือกใส่นาโนซิมทั้ง 2 ช่อง ด้านขวา – เป็นปุ่มปรับระดับเสียง และปุ่มเปิด–ปิดเครื่อง
ด้านบน – จะมีเซ็นเซอร์อินฟาเรดอยู่ กับไมโครโฟนตัดเสียง และลายเสาอากาศ ด้านล่าง – จะมีลำโพง ไมโครโฟนสนทนา และพอร์ต USB-C โดยมีลายเสาอากาศขนาบอยู่เช่นกัน
สำหรับอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องประกอบไปด้วย ตัวเครื่อง อะเดปเตอร์ สาย USB-C เคสใส คู่มือ และอะเดปเตอร์แปลงพอร์ต USB-C เป็นช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. มาให้ด้วย
สเปก
Huawei Mate 10 Pro จะทำงานบนหน่วยประมวลผล Kirin 970 ที่เป็น Octa Core (2.36 GHz x 4, 1.8 GHz x 4) หน่วยประมวลผลกราฟิกเป็น Mali-G72 MP12 มี NPU เพิ่มเติมมาด้วย RAM 6GB พื้นที่เก็บข้อมูลภายในตัวเครื่อง 128 GB ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 8.0 Oreo
ในส่วนของการเชื่อมต่อ Mate 10 Pro จะเป็นเครื่องรุ่นแรกในโลกที่รองรับ 4G 2 ซิม ที่ใช้งานได้พร้อมกัน และยังมาพร้อมการเชื่อมต่อไวไฟ 802.1.1 a/b/g/n/ac บลูทูธ 4.2 โดยตัวพอร์ต USB-C ยังสามารถใช้ต่อกับจอเพื่อเข้าใช้งาน Desktop Mode ได้ด้วย
ฟีเจอร์เด่น
สำหรับจุดเด่นหลักๆของ Huawei Mate 10 Pro จะเริ่มกันจากตัวของอินเตอร์เฟสที่เป็น EMUI 8.0 ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เน้นการใช้งานที่ลื่นไหลมากขึ้น ด้วยการที่ไม่มีหน้ารวมแอป แต่จะเป็นการแสดงไอค่อนที่หน้าจอหลักทั้งหมด ทำให้การใช้งานไม่ซับซ้อน
รูปแบบการแจ้งเตือนก็จะเป็นตามปกติของแอนดรอยด์ทั่วไปที่บริเวณแถบ Notification จะมีไอค่อนลัดสำหรับการตั้งค่าด่วนต่างๆ ซึ่งจะมีที่น่าสนใจอย่างการจับภาพหน้าจอ การบันทึกภาพหน้าจอเป็นวิดีโอ โหมดถนอมสายตา มาให้เลือกใช้ด้วย
ส่วนในแง่ของแอปพลิเคชันที่บันเดิลมาให้ นอกจากเครื่องมือพื้นฐานทั่วไป และบริการของกูเกิลเซอร์วิสแล้ว จะมีเครื่องมืออย่างพยากรณ์อากาศ เครื่องคิดเลข ไฟฉาย กระจก รีโมทอัจฉริยะ (ใช้อินฟาเรตควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้า) เข็มทิศ
มาถึงในแง่ของการใช้งานเริ่มจากจุดเด่นหลักๆกันก่อน คือเรื่องของการเชื่อมต่อที่ Mate 10 Pro รองรับการใช้งาน 4G 2 ซิม กล่าวคือจากเดิมสมาร์ทโฟนที่รองรับ 2 ซิมเวลาซิมหลักเชื่อมต่อ 4G ซิมรองจะสแตนบายในโหมด 3G หรอื 2G แต่พอมาเป็นใน Mate 10 Pro ตัวเครื่องถูกทำมาให้สามารถเชื่อมต่อ 4G ได้พร้อมกันทั้ง 2 ซิม
เมื่อเชื่อมต่อ 4G ได้ทั้ง 2 ซิมแล้วดีอย่างไร ก็คือในเรื่องของการใช้งานโทรศัพท์ที่จะได้เสียงที่คมชัดขึ้นจาก VoLTE และการสลับการใช้งานดาต้าทำให้ง่ายขึ้น ประกอบกับการที่รองรับ 4G LTE Cat 18 ทำให้สามารถเชื่อมต่อได้สูงสุดถึง 1.2 Gbps (บนเครือข่ายที่รองรับ)
ถัดมาในแง่ของการที่ตัวเครื่องมี AI มาให้ หลักๆแล้วจะถูกนำไปใช้งานกับโหมดการถ่ายภาพอัตโนมัติ ที่จะตรวจจับวัตถุที่ถ่ายและเลือกโหมดใช้งานที่เหมาะสมให้ ซึ่งถือว่าทำให้กล้องอัตโนมัติของหัวเว่ยฉลาดขึ้น ถ่ายภาพได้ง่ายขึ้น
ในขณะเดียวกันด้วยกล้องใหม่ทำให้การใช้งานในโหมดโปรทำได้สนุกขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้ที่ชอบการถ่ายภาพ และปรับแต่งได้เอง มีไฟล์ RAW ไปให้ Process ภาพให้ดีขึ้นอีก Mate 10 Pro จะไม่ทำให้ผิดหวัง
อีกระบบหนึ่งที่ AI ถูกนำไปใช้คือตัวบริหารจัดการแบตเตอรี ที่ตัวเครื่องจะคอยทำการสแกนแอปที่เปิดใช้งาน เมื่อพบแอปที่มีการใช้พลังงานมากกว่าปกติก็จะมีการแจ้งเตือน เพื่อให้ปิดแอป หรือตรวจสอบการใช้งาน (ในอีกมุมหนึ่งผู้ใช้อาจจะรู้สึกรำคาญได้เพราะจะมีแจ้งเตือนขึ้นมาเรื่อยๆ)
ทำให้แบตเตอรีที่ให้มาขนาด 4,000 mAh สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องทั้งวันสบายๆ ไม่ต้องกังวลว่าแบตเตอรีจะหมดระหว่างวัน ซึ่งเท่าที่ลองใช้มาเเดือนกว่าๆ ก็พบว่า Mate 10 Pro เป็นสมาร์ทโฟนที่แบตอึดมาก เมื่อเทียบกับเรือธงหลายๆรุ่นในช่วงปลายปีนี้
ส่วนฟีเจอร์อื่นๆที่ให้มา เนื่องจาก Mate 10 Pro จะไม่มีช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. ทำให้ถ้าไม่ใช้งานหูฟัง USB-C ที่แถมมาให้ ก็สามารถใช้อะเดปเตอร์แปลง USB-C ไปเป็นพอร์ต 3.5 มม.ได้เช่นเดียวกัน โดยในการใช้งานผู้ใช้สามารถเข้าไปตั้งค่าหูฟังที่ใช้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานได้
ในส่วนของการตั้งค่า หัวเว่ยจะใช้การรวมการตั้งค่าในลักษณะเดียวกันเข้าไปอยู่ในหัวข้อเดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อเครือข่าย เชื่อมต่ออุปกรณ์ ตั้งค่าแอป การแจ้งเตือน จัดการแบตเตอรี ตั้งค่าหน้าจอ เสียง จัดการพื้นที่เก็บข้อมูล ระบบรักษาความปลอดภัย
โดยในส่วนของการแจ้งเตือนผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้มีการแสดงไฟแจ้งเตือน แสดงชื่อโอเปอเรเตอร์ที่เชื่อมต่อ ความเร็วในการเชื่อมต่อ และเปอเซนต์แบตเตอรี นอกจากนี้ ก็ยังมีฟีเจอร์ App Twin ที่จะทำให้สามารถใช้งานเฟซบุ๊ก ไลน์ ได้ 2 บัญชีในเครื่องเดียว
การแสดงผลนอกจากปรับตั้งค่าความสว่างอัตโนมัติแล้ว ยังสามารถเข้าไปตั้งค่าอุณหภูมิสี เปิดโหมดถนอมดวงตา ตั้งขนาดตัวอักษรได้ สำหรับแถบควบคุมด้านล่างก็ยังสารถเลือกจัดเรียงปุ่มต่างๆได้ และโหมดช่วยในการใช้งานอย่างการใช้งานมือเดียว การควบคุมด้วยท่าทางต่างๆ
คีย์บอร์ดที่ให้มากับตัวเครื่องคือ SwifKey ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ใช้ แต่โดยส่วนตัวแล้วเลือกที่จะโหลดแอปคีย์บอร์ดอย่าง Gboard ที่เป็นของกูเกิลมาใช้งาน และถนัดมากกว่า
สุดท้ายในส่วนของ PC Mode หรือการเปลี่ยน Mate 10 Pro ให้กลายเป็นพีซี เมื่อเชื่อมต่อกับจอแสดงผล ด้วยการเชื่อมต่ออะเดปเตอร์ USB-C to HDMI โดยเมื่อเชื่อมต่อแล้วตัวหน้าจอ Mate 10 Pro ก็จะทำหน้าที่แทนเมาส์ หรือคีย์บอร์ดให้ใช้งานกัน
กรณีที่มีคีย์บอร์ด หรือเมาส์บลูทูธ ก็ยังสามารถเชื่อมต่อกันเพื่อใช้งานแบบไร้สายได้ หรือถ้าตัวอะเดปเตอร์มีพอร์ต USB แยกมาให้ก็สามารถเสียบสายเพื่อใช้งานได้ทันทีเช่นเดียวกัน
ในการใช้งาน PC Mode นอกจากแอปที่ติดตั้งมาให้ในเครื่องอย่างตัวจัดการไฟล์ โครม อีเมล โน้ต อัลบั้มภาพ และวิดีโอ ผู้ใช้ยังสามารถเรียกใช้งานแอปที่ดาวน์โหลดมาติดตั้งเพิ่มเติมได้ ช่วยให้สามารถใช้งานบนหน้าจอขนาดใหญ่ได้สะดวกขึ้น
ยกตัวอย่างเช่นถ้าต้องการดูหนังจากจอขนาดใหญ่ เปิด Netflix ขึ้นมา ก็สามารถเลือกดูซีรีส์เรื่องโปรดได้ทันที
ทดสอบประสิทธิภาพ
Antutu Benchmark = 177,816 คะแนน
Multi-Touch = 10 จุด
AndroBench Read = 803.58 MB/s Write 229.62 MB/s
PC Mark
Work 2.0 = 6,888 คะแนน
Computer Vision = 4,595 คะแนน
Storage = 14,615 คะแนน
Work = 8,086 คะแนน
3D Mark
Sling Shot Extreme Unlimited = 3,017 คะแนน
Sling Shot Extreme = 2,929 คะแนน
Sling Shot Unlimited = 3,297 คะแนน
Sling Shot = 3,385 คะแนน
Ice Storm Extreme = 14,145 คะแนน
Ice Storm Unlimited = 32,043 คะแนน
Ice Storm = 14,269 คะแนน
PassMark PerformanceTest
System = 12,798 คะแนน
CPU Tests = 178,344 คะแนน
Memory Tests = 9,052 คะแนน
Disk Tests = 71,384 คะแนน
2D Graphics Tests = 8,028 คะแนน
3D Graphics Tests = 3,892 คะแนน
Geekbench 4
Single-Core = 1,899 คะแนน
Multi-Core = 6,773 คะแนน
Compute = 7,486 คะแนน
ในส่วนของการทดสอบแบตเตอรีจาก PC Mark เปิดใช้งานตลอดเวลาจนแบตเตอรีลดลงเหลือ 20% จะได้ระยะเวลาประมาณ 11 ชั่วโมง 18 นาที ซึ่งถือว่าสูงมาก เพราะเป็นการทดสอบใช้งานต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับการใช้งานจริงจึงสามารถใช้งานได้วันถึง 2 วันสบายๆ
สรุป
หลังจากได้ลองใช้งาน Hauwei Mate 10 Pro มาเกือบๆ 2 เดือน สิ่งที่พบหลักๆเลยคือตัวเครื่องค่อนข้างครบ และคุ้มเมื่อเทียบกับระดับราคาตามที่หัวเว่ยเคลมไว้ เพราะตอบโจทย์การใช้งานได้ทั้งการใช้งานหนักๆ การถ่ายภาพ แบตเตอรี ประกอบกับหน้าจอขนาดใหญ่ รวมๆจึงตอบโจทย์ทั้งหมด
เพียงแต่ว่าด้วย EMUI ของ Mate 10 Pro อาจจะยังไม่สมบูรณ์มากนัก เวลาใช้งานบางทีจะเจออาการแอปเด้ง หรือแอปค้างให้เห็นบ้าง ประกอบกับสัดส่วนหน้าจอเป็น 18:9 แต่ในบางแอป (ที่เจอคือ 1-2 แอปฯ) ไม่สามารถเลือกปรับสัดส่วนได้เอง ทำให้กลายเป็นไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่
แต่ด้วยการที่เป็นรุ่นเรือธงของปีอยู่แล้วเชื่อว่าจะมีการอัปเดตเฟิร์มแวร์ออกมาต่อเนื่อง รวมถึงเมื่อแอปมีการอัปเดตให้รองรับสัดส่วนใหม่ก็จะใช้งานได้อย่างราบรื่น อีกจุดที่ค่อนข้างประทับใจคือภาครัฐสัญญาณ 4G ที่ใช้งานได้ทั้ง 2 ซิม ถือเป็นจุดที่น่าสนใจจริงๆ
ส่วนในเรื่องของ AI ที่นำมาใช้กับหน่วยประมวลผล ผู้ใช้อาจจะยังไม่รู้สึกถึงการมีอยู่ เพราะยังอยู่ในช่วงการเก็บข้อมูลใช้งาน แต่ถ้าใช้งานไปสักพัก ตัวเครื่องมีการเรียนรู้พฤติกรรมผู้ใช้มากขึ้น ก็จะเข้ามาช่วยโดยเฉพาะในเรื่องของแบตเตอรีที่ไม่เคยหมดระหว่างวัน