Review : Asus ExpertPC D3 เดสก์ท็อปองค์กรรุ่นเริ่มต้น แต่สเปกเทียบรุ่นใหญ่

729

ตลาดเดสก์ท็อปพีซีสำหรับองค์กรธุรกิจในช่วงหลัง เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งจากการที่ไมโครซอฟท์ ประกาศยุติการซัพพอร์ต Windows 7 ทำให้หลายองค์กรใช้ช่วงเวลาดังกล่าวในการเปลี่ยนคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ เพื่อให้รับกับการทำงานในอนาคต บน Windows 10

Asus เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่บุกตลาดเดสก์ท็อปองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง และด้วยรุ่นอัปเกรดล่าสุดที่มีตัวเลือกหลากหลายขึ้นตามความต้องการของธุรกิจ พร้อมกับจุดเด่นเรื่องของประสิทธิภาพ ความปลอดภัย พร้อมใช้งานได้ทันที กับพอร์ตเชื่อมต่อที่ครบครัน

Asus ExpertPC D3401SFF ถือเป็นเดกส์ท็อปราคาประหยัด ที่สามารถเลือกปรับแต่งสเปกได้สูงสุดที่ Intel Core i7 RAM DDR 4 สูงสุด 32 GB เลือกใช้งาน HDD แบบคู่ได้สูงสุด 2 TB + SSD 512 GB ส่วนการ์ดจอสูงสุดเป็น Nvidia GTX 1660 มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home

ข้อดี

  • คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป พร้อมติดตั้งใช้งาน
  • พอร์ตเชื่อมต่อครบถ้วน
  • มีระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลภายในตัวเครื่อง

ข้อสังเกต

  • ขนาดตัวเครื่องค่อนข้างใหญ่ ทำให้ไม่เหมาะกับสำนักงานที่มีพื้นที่จำกัด
  • เสียงพัดลมค่อนข้างดัง เวลาประมวลผลหนักๆ

เสียบปลั้ก ติดตั้งใช้งานได้ทันที

หนึ่งในความสะดวกของ Asus ExpertPC D3 คือการที่แกะกล่องออกมาเสียบปลั้ก ต่อคีย์บอร์ด เมาส์ และจอ เข้าสู่การติดตั้ง Windows 10 หลังจากนั้น ก็พร้อมใช้งานได้ทันที ทำให้ลดความยุ่งยากของฝ่ายไอทีภายในองค์กรที่จะต้องมาคอยอัปเดตไดร์ฟเวอร์ของคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งใหม่

โดยนอกจากตัว Asus ExpertPC D3 ที่ใส่มาให้ในกล่องแล้ว ยังมีคีย์บอร์ด และเมาส์ มาให้ด้วย ดังนั้นแค่เตรียมจอที่รองรับพอร์ต DVI หรือ HDMI ก็สามารถนำมาเชื่อมต่อเพื่อเปิดใช้งานได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปหาอุปกรณ์อื่นๆ มาเสริม ซึ่งแน่นอนว่าถ้าสั่งซื้อกับทางเอซุส ก็มีจอมอนิเตอร์ที่พร้อมจำหน่ายไปแบบครบชุดอยู่แล้ว

อีกหนึ่งความพิเศษของ AsusExpertPC คือการที่มี Asus Business Manager มาให้ใช้งานด้วย ตรงจุดนี้จะเข้าไปช่วยองค์กรธุรกิจที่ต้องการบริหารจัดการคอมพิวเตอร์ภายในองค์กรให้มีการอัปเดตซอฟต์แวร์ เพื่อให้ตัวเครื่องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด โดยไม่ทำให้ผู้ใช้มีความยุ่งยากในการใช้งาน

ความสะดวกอีกอย่างคือ Asus ExpertPC D3 สามารถเพิ่มสเปกในเรื่องของที่จับหูหิ้วด้านบนตัวเครื่อง เพื่อให้เคลื่อนย้ายได้สะดวกมากขึ้น

ตัวเครื่องยังผ่านมาตรฐานความทนทานระดับกองทัพ (MIL-STD-810G) ที่ทำการทดสอบทั้งเรื่องการสั่นสะเทือน แรงกระแทก ทนต่อความชื้น และอุณหภูมิต่างๆ ทำให้มั่นใจได้ว่าจะรองรับการใช้งานอีกหลายปี

นอกจากนี้ ในกรณีที่ต้องการรักษาความปลอดภัยด้านไอที ตัวเครื่องสามารถตั้งให้มีการแจ้งเตือนเมื่อมีการเปิดฝาเครื่อง (ติดตั้งเพิ่มเติม) มีพอร์ตล็อกเครื่องแบบ Kensington เลือกควบคุมการอ่าน / เขียนข้อมูลผ่านพอร์ต USB และการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อความปลอดภัยต่างๆ ด้วย

สุดท้ายคือเรื่องของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ ExpertPC D3 แหล่งจ่ายไฟมีการรับรองแบบ 80 Plus Bronze ซึ่งจะมีพลังงานที่สูญเปล่าน้อยที่สุด ส่งผลให้เกิดความร้อนน้อยลงแถมยังประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว

การออกแบบที่คิดถึงผู้ใช้

เมื่อแกะออกมาจากตัวเครื่อง สิ่งแรกที่สัมผัสได้คือเรื่องของการออกแบบให้มีความเป็นมิตรกับผู้ใช้ อย่างในภาพรวมแม้ว่าตัวเครื่องจะมาในทรงสี่เหลี่ยม แต่บริเวณส่วนบนเครื่องจะมีส่วนให้ใช้มือสอดเข้าไปจับถือตัวพีซีได้ (เป็นออปชันเสริมที่สามารถเลือกใส่เพิ่มได้) ทำให้สะดวกในการยกไปติดตั้ง

โดยขนาดรวมๆ ของ ExpertPC D3 จะอยู่ที่ 160 x 293 x 354.4 มิลลิเมตร น้ำหนัก 5.59 กิโลกรัม หรือเทียบเท่าประมาณ 15 ลิตร ซึ่งถือว่าเป็นขนาดกลางๆ ของคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปในปัจจุบัน แต่ความพิเศษของ ExpertPC คือเมื่อทางเอซุส เป็นผู้ออกแบบเอง ทำให้สามารถคำนวนพื้นที่การใช้งานคู่กับเมนบอร์ดได้อย่างแม่นยำ ทำให้ประหยัดพื้นที่เมื่อเทียบกับเดกส์ท็อปทั่วไป

ด้านหน้าของเครื่องที่มุมซ้ายบนจะมีการสกรีนตัวอักษร Asus ExpertPC อยู่ ถัดลงมาเป็นปุ่มเปิดเครื่อง และไฟแสดงสถานะ ตามด้วยช่องใส่ซีดีการ์ด เยื้องๆ ไปทางขวาจะเป็นพอร์ตเชื่อมต่ออเนกประสงค์ ที่ตามจริงแล้วสามารถเลือกได้ว่าต้องการพอร์ตอะไรใช้งานบ้าง (เฉพาะตรงพอร์ต USB ทั้ง 4 พอร์ต)

อย่างในรุ่นที่ได้มาทดสอบนี้ ทางเอซุส ได้เลือกใส่พอร์ต USB 3.1 มาให้พร้อมกับพอร์ต USB-C และ USB 2.0 อีก 2 พอร์ตตามด้วยช่วงเสียบหูฟัง และไมโครโฟน ที่ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐาน ในจุดนี้การที่เลือกวางพอร์ตเชื่อมต่อไว้ส่วนบนเพื่อเวลาที่นำเครื่องไปวางไว้ใต้โต๊ะ ผู้ใช้จะสามารถเสียบใช้งานได้สะดวกขึ้น

ในส่วนของหลังเครื่องต้องยอมรับว่า เมนบอร์ดของเอซุสที่ให้มาเป็นแบบมาตรฐานอยู่แล้ว ดังนั้นการที่มีพอร์ตเชื่อมต่อทั้ง ช่องต่อเมาส์ และคีย์บอร์ดแบบ PS/2 พอร์ต USB 2.0 / USB 3.1 / DVI-D / HDMI / VGA / Serial / LAN ช่องเสียบไมโครโฟน เสียงเข้า เสียงออก ครบถ้วน

ที่พิเศษขึ้นมาในรุ่นที่ได้มาทดสอบคือมากับการ์ดจอ NVIDIA GeForce GT1660 ทำให้มีพอร์ต DVI-D และ HDMI เพิ่มเข้ามาเป็นพอร์ตหลักในการเชื่อมต่อจอมอนิเตอร์แทน กับอีกส่วนคือ Wireless Card ที่ติดตั้งมาให้ใช้งานด้วย หลังเครื่องก็จะมีช่องให้เชื่อมต่อไปยังเสารับสัญญาณภายนอกด้วย

เมื่อแกะฝาเคสออกมา เพื่อดูภายในของเดสก์ท็อป จะเห็นการจัดวางภายในไล่ตั้งแต่ Power Supply ที่มุมซ้ายบน ทางขวาเป็นที่อยู่ของฮาร์ดดิสก์ และ SSD ภายในเป็นเมนบอร์ด ซีพียู พัดลม พร้อมกับมีลำโพงติดตั้งภายในมาให้ด้วย เพื่อที่จะพร้อมใช้งานได้ทันที

เดสก์ท็อปที่ปรับเลือกสเปกได้เอง

ด้วยการที่ออกแบบมาให้เป็นคอมพิวเตอร์สำหรับใช้งานภายในองค์กรรุ่นเริ่มต้น ทำให้ทาง Asus เปิดให้แต่ละองค์กรธุรกิจสามารถเลือกจัดสเปกได้ตามความต้องการในการใช้งาน ตั้งแต่หน่วยประมวลผล ระบบปฏิบัติการ การ์ดจอ RAM ฮาร์ดดิสก์

อย่างในส่วนของหน่วยประมวลผลจะเริ่มต้นที่ Intel Celeron G4930 ไล่มาเป็น Pentium Gold / Core i3 / Core i5 จนถึง Core i7 เพราะในการใช้งานจริง แต่ละองค์กร หรือแม้แต่คนละหน่วยงานภายในองค์กรก็จะมีการใช้งานที่แตกต่างกัน

ถัดมาในส่วนของ Windows 10 ก็สามารถเลือกได้ตั้งแต่ 10 Home หรือ 10 Pro การ์ดจอใส่เพิ่มได้ตั้งแต่ NVIDIA GeForce GT1030 – RTX 2060 RAM ใส่ได้ 2 สล็อต สูงสุดที่ 32 GB

ฮาร์ดดิสก์ สามารถใส่ใช้งานคู่ได้ระหว่าง ฮาร์ดดิสก์ 3.5” เลือกได้สูงสุด 2 TB กับ SSD สูงสุด 512 GB ซึ่งถ้าให้แนะนำ ก็ควรเลือกใช้งานคู่กัน โดยเลือกลงระบบปฏิบัติการไว้บน SSD ที่จะทำให้เครื่องเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ไม่นับรวมการเปิดทางเลือกให้สามารถเลือกได้ว่าจะใส่ DVD ROM เลือกปรับพอร์ตการเชื่อมต่อด้านหน้าที่ จึงทำให้ ExpertPC D3 เหมาะกับการใช้งานที่หลากหลายมากๆ

สำหรับสเปกของ Asus ExpertPC D3401SFF ที่ได้มาทดสอบ จะมากับระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home ทำงานบนซีพียู Intel Core i7 9700 ความเร็ว 3.0 GHz และ Turbo boost ขึ้นไปได้ถึง 4.7 GHz

ยังมาพร้อมกับการ์ดจอ GTX 1660 RAM DDR4 2666 MHz 32 GB พื้นที่เก็บข้อมูล SSD 512 GB + HDD 1 TB พร้อมตัวรับสัญญาณ Wi-Fi 5 และบลูทูธ 4.1

ทดสอบประสิทธิภาพ

ด้วยสเปกที่จัดมาทำให้ ExpertPC D3401SFF รุ่นนี้ รองรับการใช้งานการประมวลผลหนักๆ ได้สบาย หรือแม้กระทั่งทำไปใช้เพื่อเล่นเกมประสิทธิภาพสูงในท้องตลาดเวลานี้ก็ทำได้

ดังนั้น ถ้ามองในแง่ของการเป็นคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งานภายในสำนักงาน ถือว่ารองรับการใช้งานได้สบายๆ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับการเลือกปรับสเปกเพื่อนำไปใช้งานให้เหมาะสมภายในองค์กรด้วย

สำหรับผลการทดสอบผ่าน PCMark10 3DMark10 Geekbench และ Cinebench ดูได้จากอัลบั้มภาพด้านล่าง

สรุป

องค์กรธุรกิจที่มีแผนจะเปลี่ยนเครื่องเดสก์ท็อปใหม่ และต้องการหาโซลูชันที่เหมาะสมในการนำไปใช้งาน Asus ExpertPC D3 ถือเป็นรุ่นเริ่มต้นที่น่าสนใจ เพราะสามารถเลือกปรับสเปกตั้งแต่การใช้งานทั่วไป จนถึงการประมวลผลขั้นสูงได้ทันที

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

SHARE