Review: Parrot Bebop Drone โดรน WiFi ระดับกลาง ใช้ง่าย ฉลาด น้ำหนักเบา

3908

558000011452802

จากเดิม “โดรน” หรือ “อากาศยานไร้คนขับติดกล้อง” ถูกนำไปใช้ในงานทหารเพื่อลดความเสี่ยงต่อชีวิตของเหล่าทหารในการเข้าถึงพื้นที่ที่ยากลำบากหรือเสี่ยงอันตรายมาก

แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีของกล้องถ่ายภาพที่สูงขึ้น โดรนถูกพัฒนาต่อยอดใหม่ให้มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และราคาถูกลง ไปถึงรูปแบบการใช้งานที่ง่ายและฉลาดขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโดรนรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆได้ดีขึ้น

จึงไม่แปลกที่ปัจจุบันเราจะได้เห็นโดรนถูกใช้ในงานถ่ายภาพ งานถ่ายทำภาพยนตร์และบางครั้งก็ถูกใช้สำรวจพื้นที่ที่เข้าถึงยากลำบากแทนการใช้เฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กแบบเก่า

และในวันนี้ทีมงานไซเบอร์บิซก็ได้รับโดรนรุ่นใหม่จากแบรนด์ยอดฮิตมารีวิวในชื่อ ”Parrot Bebop (แพร์รอท บีบ๊อป)” ที่พัฒนาต่อยอดมาจากรุ่น AR.Drone 2.0

การออกแบบและสเปก

558000011452803

Parrot Bebop Drone ถูกออกแบบใหม่หมดให้มีขนาดเล็กและน้ำหนักน้อยลง โดยทางแพร์รอทเน้นใช้วัสดุเป็นพลาสติก ABS ความยืดหยุ่นสูงร่วมกับโฟมกันกระแทก โดยตัวโดรนมีขนาด กว้างxยาวxสูง อยู่ที่ 33x38x3.6 เซนติเมตร น้ำหนักอยู่ที่ 420 กรัม

558000011452804558000011452805

ในส่วนใบพัดมี 4 ชุด 4 มอเตอร์ (ใบพัดสามารถถอดเปลี่ยนได้เมื่อชำรุด) ผลิตจากวัสดุพลาสติกโพลีคาร์บอเนต พร้อม Bumper โฟมกันกระแทกเกรด EPP เมื่อต้องใช้บินในที่ร่ม

นอกจากนั้นมอเตอร์ควบคุมใบพัดยังมาพร้อมระบบป้องกันมอเตอร์ไหม้เมื่อใบพัดหมุนไปติดกับวัตถุใดก็แล้วแต่ ใบพัดจะหยุดหมุนทันที

558000011452806

สำหรับสเปกโดรน การควบคุมต้องทำผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต รองรับระบบปฏิบัติการ iOS, Android และ Windows Phone ร่วมกับสัญญาณ WiFi 802.11 a/b/g/n/ac รองรับทั้งความถี่ 2.4GHz และ 5GHz โดยภายในตัวโดรนมาพร้อมเสาสัญญาณ WiFi MIMO dual-band จำนวน 2 เสา

ในส่วนการรับส่งสัญญาณระหว่างโดรนกับสมาร์ทโฟนมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

558000011452807

1.ถ้าเชื่อมต่อโดรนกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตผ่าน WiFi โดยตรง ระยะเชื่อมต่อสูงสุดคือ 250 เมตร แต่ทางผู้ผลิตแนะนำไว้ไม่ควรบินไกลเกิน 50-100 เมตร และเมื่อบินในแนวตั้งฉากไม่ควรสูงเกิน 10-20 เมตร

แต่ทั้งนี้เงื่อนไขของข้อนี้ขึ้นอยู่กับความแรงของ WiFi ในสมาร์ทโฟนของผู้ใช้และสภาพแวดล้อมด้วย เช่น ทีมงานทดสอบแถวชายทะเล ปากน้ำระยองด้วย iPhone 6 จะสามารถส่งสัญญาณในแนวตั้งฉากได้สูงถึง 90 เมตรเลยทีเดียว

558000011452808

2.ถ้าเชื่อมต่อโดรนกับสมาร์ทโฟนผ่าน Sky Controller (ซื้อแยก) ระยะเชื่อมต่อสูงสุดคือ 2,000 เมตร แต่ทางผู้ผลิตแนะนำไว้ไม่ควรบินไกลเกิน 300 เมตร และเมื่อบินในแนวตั้งฉากไม่ควรสูงเกิน 120 เมตร

แต่ทั้งนี้ทีมงานขอแนะนำว่า การหาระยะบินสูงสุดและไกลสุดของโดรนรุ่นนี้ เมื่อผู้อ่านซื้อมาใช้งานครั้งแรก ควรมองหาลานกว้างโล่งแจ้งทดสอบหาระยะบินในแนวต่างๆด้วยตัวเองจะดีที่สุด

558000011452809

มาดูในเรื่องสเปกหน่วยประมวลผลและกล้องถ่ายภาพกันบ้าง เริ่มจากสเปกหน่วยประมวลผลที่ทางผู้ผลิตเครมว่าเร็วกว่ารุ่นเดิมถึง 8 เท่าด้วยซีพียู Parrot P7 Dual-Core (บนสถาปัตยกรรมซีพียู Cortex 9) ประกบหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) แบบ Quad-core บนระบบปฏิบัติการ Linux

ในส่วนหน่วยเก็บข้อมูลภายในเป็น Flash memory ขนาด 8 GB ไม่สามารถเพิ่มการ์ดความจุได้ โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บอยู่ใน Flash memory ผู้ใช้สามารถโอนถ่ายไปยังสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ได้สองวิธีคือ โอนไฟล์ผ่าน WiFi และผ่านทางสาย MicroUSB

558000011452810

ด้านสเปกกล้องถ่ายภาพ มาพร้อมเซนเซอร์รับภาพ CMOS ขนาด 1/2.3 นิ้ว เลนส์กล้องมี 6 ชิ้นเลนส์ เป็นเลนส์มุมกว้างพิเศษ Fisheye สามารถเก็บภาพได้ 180 องศา พร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหวฮาร์ดแวร์แบบ 3 แกนทำงานสอดประสานกับซอฟต์แวร์และเซนเซอร์ Gyroscope, Magnetometer, Accelerometer, Optical flow sensor และ Ultrasound sensor ที่ช่วยให้งานวิดีโอออกมานิ่งแม้โดรนจะแกว่งไปมาจากแรงลมเมื่อบินขึ้นสูง รวมถึงช่วยประคองและสั่งถ่ายเทความแรงของมอเตอร์ใบพัดทั้ง 4 มุมให้โดรนบินได้ตรงและบังคับทิศทางได้แม่นยำ ลื่นไหล

สำหรับความละเอียดของภาพ รองรับการบันทึกวิดีโอความละเอียด 1,920×1,080 พิกเซล ที่ความเร็ว 30 เฟรมต่อวินาที ในรูปแบบไฟล์ H264 ภาพนิ่งสามารถบันทึกที่ความละเอียด 14 ล้านพิกเซล (4,096×3,072 พิกเซล) รองรับฟอร์แมตภาพ JPEG และ RAW แบบ DNG

558000011452811

แบตเตอรี ในชุดให้มาจำนวน 2 ก้อน เป็นแบบ Lithium Polymer ความจุ 1,200 mAh สำหรับการบันทึกวิดีโอต่อเนื่องทำได้นาน 11-12 นาทีต่อแบตเตอรี 1 ก้อน

ด้านสเปกอื่นๆ ระบบ GPS เลือกใช้ GPS+GLONASS และความเร็วสูงสุดที่บินได้คือ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ฟีเจอร์เด่น

558000011452812

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า Parrot Bebop Drone ใช้การควบคุมจากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตบนระบบปฏิบัติการ iOS, Android และ Windows Phone เป็นหลัก โดยแอปฯที่เป็นตัวกลางในการใช้ควบคุมมีชื่อว่า ”FreeFlight 3” (ดาวน์โหลดฟรี) ซึ่งภายในแอปฯสามารถแบ่งส่วนใช้งานได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ๆดังต่อไปนี้

558000011452813

1.FreeFlight หน้าใช้งานหลักเพื่อควบคุมโดรนทั้งหมด ซึ่งในส่วนของปุ่มควบคุมจะใช้ปุ่มทิศทางแบบเสมือนในการบังคับการบินไปในทิศทางต่างๆของโดรน แบ่งเป็นด้านซ้ายควบคุมมุมกล้องขึ้น-ลง หมุนกล้องไปทางซ้ายหรือขวา ส่วนด้านขวาเป็นปุ่มบังคับให้โดรนบินไปข้างหน้าหรือถอยหลัง

558000011452814

โดยค่าเริ่มต้นสำหรับปุ่มบังคับโดรนด้านขวา จะตั้งให้เหมือนการเล่นเกมรถแข่งหรือเกมเครื่องบินบนสมาร์ทโฟนซึ่งใช้เซนเซอร์ตรวจจับความลาดเอียงของสมาร์ทโฟนเป็นหลัก เช่น ถ้าต้องการให้โดรนบินไปข้างหน้า ผู้ใช้ต้องกดปุ่มด้านขวาค้างไว้ จากนั้นเอียงเครื่องไปข้างหน้า โดรนก็จะบินไปข้างหน้า เป็นต้น

แต่ทั้งนี้สำหรับผู้ใช้ที่ไม่ถนัดการควบคุมด้วยลักษณะนี้ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้จากเมนู Piloting Settings โดยจะมีให้เลือกเลย์เอาท์ส่วนควบคุมเพิ่มอีก 2 แบบได้แก่ ACE และ Joypad พร้อมสามารถปรับองศาความลาดเอียงของโดรนเวลาบินไปข้างหน้าได้ด้วย

กลับมาดูหน้าจอหลักอีกครั้ง สำหรับการใช้งานครั้งแรกหลังจากวางโดรนในพื้นที่ที่ต้องการบินได้แล้ว ให้กดปุ่ม Take Off วิดีโอจะเริ่มบันทึกและโดรนจะเริ่มบินขึ้น ส่วนเมื่อเลิกบินต้องการให้โดรนลดระดับลงมาก็เพียงกดปุ่ม Landing เท่านั้น หรือถ้าโดรนบินไปไกลเกินตาจะมองเห็นและต้องการให้โดรนบินกลับมาหาที่จุดเริ่มต้นก็เพียงกดปุ่ม Settings (รูปเฟืองมุมขวาบน) จากนั้นกดเลือก Return Home โดรนจะบินกลับมาจุดเริ่มต้นอัตโนมัติ

สำหรับปุ่ม Emergency หรือปุ่มฉุกเฉิน เมื่อกดปุ่มนี้ระบบจะตัดการทำงานของมอเตอร์ใบพัดทั้ง 4 ในทันที ควรกดใช้เวลาจำเป็นจริงๆเท่านั้น

558000011452815
เมื่อแบตเตอรีกำลังจะหมดลง จะมีข้อความแจ้งเตือนปรากฏขึ้นและโดรนจะบินกลับมายังจุดเริ่มต้นอัตโนมัติทันที

ด้านแถบสถานะที่ปรากฏให้หน้าจอหลัก เริ่มจากด้านบน ซ้ายมือรูปฟันเฟืองคือ ปุ่ม Settings ถัดมาเป็นปุ่ม Flat trim กดเวลาโดรนโคลงเคลงไปมา โดรนจะนิ่งขึ้น มาด้านขวาของจอภาพเริ่มจากคำสั่งแรกจะเป็นปุ่มสั่งพลิกโดรน ถัดมาเป็นปุ่มบันทึกวิดีโอ ถ่ายภาพ และสุดท้ายเป็นปุ่มดูเส้นทางการบินของโดรน

ส่วนด้านล่าง จากซ้ายจะเป็นความเร็วหน่วยเป็นเมตรต่อวินาที, ความสูงหน่วยเป็นเมตร ด้านขวาเป็นสถานะของ GPS และสุดท้ายสถานะแบตเตอรี (อย่าลืมสังเกตตลอดเวลา เพราะแบตเตอรีหมดเร็วมาก)

สำหรับการบินทุกครั้งระบบจะมีการบันทึกพิกัดจุด Take off และพิกัดการบินตลอดเวลา โดยเมื่อระหว่างใช้งานและเกิดเหตุ WiFi หลุดจนไม่สามารถควบคุมโดรนได้ โดรนจะไม่ปิดการทำงานในทันที แต่จะบินค้างบนท้องฟ้าจนแบตเตอรีเริ่มหมด (ใช้เวลาประมาณ 12 นาที) และหลังจากนั้นโดรนจะบินกลับมายังจุดเริ่มต้นและค่อยๆลดระดับลงมาจนถึงพื้นดินอย่างช้าๆ

558000011452816

2.ส่วนของ Settings ปรับแต่งโดรนที่น่าสนใจ เริ่มจาก Recording Settings ที่นอกจากโดรนจะบันทึกวิดีโอและถ่ายภาพนิ่งได้แล้ว ระบบยังรองรับการถ่ายภาพนิ่งแบบ Timelapse และถ่ายรูป 180 องศาได้ด้วย

558000011452817

นอกจากนั้นระบบยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งความสว่าง ชดเชยแสงและ White Balance ได้ด้วย

558000011452818

Flight Limit เป็นอีกหนึ่งออปชันที่ผู้ใช้ควรให้ความสนใจเป็นอันดับแรก เพื่อป้องกันการบังคับโดรนเพลินจนหลุดออกจากเขตเชื่อมต่อ โดยออปชันส่วนนี้จะช่วยจำกัดระยะบินในส่วนความสูงและระยะทางได้ เมื่อโดรนบินไปถึงระยะที่กำหนดไว้ โดรนจะไม่บินต่อไปข้างหน้าหรือบินขึ้นสูงกว่าระยะที่กำหนดไว้

558000011452819558000011452820558000011452821

3.Drone Academy ส่วนสำคัญส่วนสุดท้าย เพราะส่วนนี้จะช่วยให้เราเห็นสถิติการบินของเราทั้งหมดในแผนที่ตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปถึงจุดสุดท้ายที่บิน นอกจากนั้นแอปฯยังมีการสรุปความสูง ระยะทางบินและความเร็วที่ใช้บินไว้ในส่วนของ Graphics ด้วย

อีกทั้งในส่วน Drone Academy ยังมาพร้อมบริการ Parrot Cloud ที่ช่วยเก็บสถิติการบินรวมถึงวิดีโอหรือรูปภาพนิ่งที่ถ่ายได้แชร์ไปยังเครือข่ายสังคม รวมถึง Facebook และ Youtube ด้วย

นอกจากนั้นสำหรับผู้ใช้ที่อยากได้ซอฟต์แวร์ควบคุมโดรนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทางผู้ผลิตก็มี in-app purchase ให้เลือกซื้อผ่านสโตร์ของ Parrot ไม่ว่าจะเป็น Flight Plan ที่ช่วยกำหนดเส้นทางบินก่อนจะปล่อยให้โดรนบินตามเส้นทางที่กำหนดไว้อัตโนมัติแบบเดียวกับระบบ Auto Pilot ของเครื่องบินปกติ เป็นต้น

ทดสอบประสิทธิภาพ

วิดีโอส่งตรงจาก Parrot Bebop Drone แบบไม่ผ่านการตกแต่งใดๆ

ถือเป็นโดรนรุ่นกลางๆที่ใช้การควบคุมผ่านสมาร์ทดีไวซ์เป็นหลักและให้ Controller เป็นส่วนซื้อแยกต่างหาก แน่นอนข้อดีของโดรนลักษณะนี้คือมีราคาที่ไม่สูงมาก ในขณะโดรนรุ่นท็อปที่มาพร้อม Controller ส่วนใหญ่จะมีราคาเกิน 3-4 หมื่นบาท

แต่ทั้งนี้การใช้โดรนด้วยการควบคุมผ่านสมาร์ทดีไวซ์จะมีปัญหาหลักอยู่ในเรื่องความเสถียรของสัญญาณ WiFi ที่ปล่อยมาจากสมาร์ทดีไวซ์แต่ละรุ่นที่แตกต่างกัน สมาร์ทดีไวซ์บางรุ่นรับส่งสัญญาณ WiFi ไม่ดีก็จะทำให้ระยะใช้งานโดรนสั้นลงและไม่เสถียรเท่ากับการควบคุมโดรนผ่าน Controller หรือแม้กระทั่งส่วนของซอฟต์แวร์ควบคุมหลักเองที่บางครั้งก็อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แอปฯค้างระหว่างใช้งานจนไม่สามารถควบคุมโดรนได้

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทีมงานพบเจออยู่บ้างขณะทดสอบ Parrot Bebop Drone โดยปราศจาก Sky Controller (ชื่อเรียก Controller ของทางแพร์รอท) โดยเฉพาะปัญหาการเชื่อมต่อ WiFi ที่ไม่เสถียรและไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่ามาจากตัวโดรนหรือสมาร์ทดีไวซ์ (ทีมงานใช้ iPhone 6 และ Sony Xperia M5 Dual ในการทดสอบ) บางครั้งบินๆอยู่ในระยะความสูง 10 เมตร WiFi หลุดทำให้ทีมงานต้องเชื่อมต่อ WiFi ใหม่อีกครั้งด้วยอาการหวาดวิตกว่าโดรนจะมีปัญหาตกมากระแทกพื้นหรือไม่ แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี

จุดที่ต้องชื่นชม Bebop Drone ที่แม้ว่าระหว่างทำงานจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นบ้างแต่โดรนก็ไม่เกิดปัญหาให้ทีมงานต้องสูญเงินหมื่นบาทไป ส่วนนี้ต้องยกความดีให้กับเรื่องระบบเก็บพิกัดคล้ายกล่องดำบนเครื่องบิน ทันทีที่การเชื่อมต่อมีปัญหา โดรนจะยังคงรักษาเพดานบินอยู่บนท้องฟ้าในตำแหน่งสุดท้ายก่อนการเชื่อมต่อหลุดออก จนกว่าผู้ใช้จะเชื่อมต่อใหม่ได้ ระบบก็จะสามารถทำงานต่อเนื่องได้อย่างไร้รอยต่อ

แต่ทั้งนี้ถ้าการเชื่อมต่อหลุดไปแบบถาวร โดรนก็จะบินอยู่บนท้องฟ้าจนแบตเตอรีหมดแล้วจะค่อยๆ Landing ลงมายังพื้นดินให้อัตโนมัติ หรืออีกกรณีถ้าระหว่างใช้งาน ผู้ใช้บินโดรนเพลินไปในระยะทางไกล เมื่อแบตเตอรีหมดโดรนจะพยายามบินกลับมายังจุดเริ่มต้นให้อัตโนมัติ แต่ถ้าบินไปไกลมากจนเกินไป การพยายามบินกลับจุดเริ่มต้นอาจทำได้ไม่สำเร็จ โดยโดรนอาจตกกระแทกพื้นบริเวณใดก็ได้ (ส่วนนี้ก็แล้วแต่โชค…)

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงตัวโปรแกรมมิ่งของ Parrot Bebop ที่เขียนมาได้ค่อนข้างฉลาดและช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดจากความไม่ตั้งใจได้ส่วนหนึ่ง (อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่ผู้ใช้ต้องวางแผนการบินให้ดีก่อนนำโดรนขึ้นบินทุกครั้ง)

ในส่วนการควบคุมและคุณภาพงานวิดีโอ ขอแบ่งการวิจารณ์เป็นส่วนควบคุมจากหน้าจอสมาร์ทดีไวซ์ที่ถือว่าทำได้ค่อนข้างยาก เพราะใช้การควบคุมเป็นปุ่มเสมือนด้วยการสัมผัส ต้องฝึกฝนอยู่พักหนึ่งถึงจะสั่งโดรนบินได้อย่างไม่ติดขัด

ส่วนคุณภาพวิดีโอ 1080p ที่ความเร็ว 30 เฟรมต่อวินาที ให้คุณภาพกลางๆ ตามราคา (ถ้าต้องการคุณภาพวิดีโอที่สูงกว่านี้อาจต้องมองหาโดรนที่มีราคาแพงขึ้น) แต่เรื่องระบบกันสั่นต้องขอชื่นชมเป็นพิเศษเพราะทำได้ยอดเยี่ยมมาก ไม่ว่าโดรนจะเหวี่ยงไปมาเพราะกระแสลม แต่งานภาพวิดีโอที่ได้จะนิ่งมาก

ไม่เชื่อลองดูตัวอย่างจากวิดีโอที่ทีมงานได้ทดลองนำไปลำดับภาพและเกลี่ยสีในรูปแบบภาพยนตร์พร้อมลดการสั่นไหวอีกครั้งด้วยซอฟต์แวร์ Adobe After Effect จะเห็นว่าไฟล์สามารถนำไปต่อยอดได้ยอดเยี่ยมมาก และพอจะเห็นแนวทางการนำโดรนไปใช้ในงานถ่ายทำภาพยนตร์มากขึ้น

สำหรับงานถ่ายภาพนิ่ง ข้อดีคงอยู่ที่สามารถถ่าย RAW (.DNG) และนำไปปรับแต่งต่อยอดได้ แต่คุณภาพไฟล์เทียบได้แค่กล้องสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ที่วางขายในปัจจุบันเท่านั้น ไม่โดดเด่นน่าสนใจเท่ากล้องวิดีโอ

สรุป

สุดท้ายสำหรับภาพรวม Parrot Bebop ก็ถือเป็นโดรนขนาดเล็กอีกหนึ่งตัวที่มีพลังในตัวสูง คุณภาพวิดีโอกลางๆแต่ภาพรวมแล้วสมราคา 21,900 บาท สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย สามารถถ่ายได้ทั้งในบ้าน นอกบ้าน โรงถ่ายต่างๆ ด้วยขนาดตัวที่เล็กและน้ำหนักเบามาก สามารถใช้ร่วมกับสมาร์ทดีไวซ์เพียวๆ ที่ถึงแม้จะบินได้ไม่สูงมาก แต่ก็สามารถนำไปบินถ่ายวิวทิวทัศน์เล็กๆน้อยๆ หรือใช้ในงานถ่ายทำภาพยนตร์ขนาดเล็ก ถ่ายทำรายการได้

หรือถ้าต้องการใช้งานแบบมืออาชีพขึ้นมา ผู้ใช้ก็สามารถหามาใช้งานร่วมกับ Sky Controller ซึ่งจะช่วยให้ Parrot Bebop บินได้สูงขึ้น สามารถเข้าสำรวจพื้นที่ที่เข้าถึงยากลำบากได้ง่ายขึ้น

แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ลืมว่าโดรนเป็นอุปกรณ์ที่มีอันตรายและสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นได้ การจะเลือกบินโดรนในพื้นที่ต่างๆควรมีการวางแผน ดูความเหมาะสม ไม่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลผู้อื่น และที่สำคัญก่อนนำโดรนขึ้นบินทุกครั้งต้องเช็คความเรียบร้อย โดยเฉพาะระยะสัญญาณ WiFi ไม่ควรบินสูงหรือไกลเกินระยะที่ทางผู้ผลิตแนะนำไว้ รวมถึงแบตเตอรีที่ควรตรวจให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานทุกครั้ง

ในส่วนกฏหมายควบคุมการใช้โดรนในประเทศไทย กรุณาคลิกอ่านลิงก์ดังต่อไปนี้ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/D/086/6.PDF

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
9
สเปก/ฟีเจอร์เด่น
8.5
ความสามารถโดยรวม
8
ความคุ้มค่า
8
SHARE