Review : Apple MacBook Pro 15″ (2018) เครื่องโปรที่ตอบโจทย์มืออาชีพมากขึ้นอีก

16265

เป็นที่รู้กันว่าเครื่อง Macbook Pro ถือเป็นโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูงที่ออกมาสำหรับผู้ใช้งานในกลุ่มของช่างภาพ ตัดต่อวิดีโอ ทำแอนิเมชัน 3 มิติ ไปจนถึงการเขียนโปรแกรมมิ่งขั้นสูง ที่ต้องใช้การประมวลผลของตัวเครื่องมาช่วย และในขณะเดียวกันก็เน้นที่ความสะดวกในการพกพาด้วย

ข้อดี

ปรับปรุงประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากซีพียูรุ่นใหม่ โดยเฉพาะรุ่น Core i9

จอแสดงผลแบบ True Tone ทำให้การแสดงผลเป็นธรรมชาติมากขึ้น

– Touch Bar เริ่มมีโปรแกรมรองรับเพิ่มมากขึ้น

ข้อสังเกต

ราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง

ข้อจำกัดของพอร์ต USB-C ที่ต้องพกอุปกรณ์เสริมเพิ่ม

ไม่ได้มีการปรับปรุงในแง่ของดีไซน์ตัวเครื่องตั้งแต่ปี 2016

5 จุดน่าสนใจของ MacBook Pro 2018

ในภาพใหญ่แล้ว MacBook Pro with Touch Bar (2018) ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมใน 5 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน ประกอบไปด้วย 1.สเปกภายใน ที่เปลี่ยนมาใช้ซีพียูรุ่นที่ 8 จากอินเทล คอร์ ไอ (Intel Core i) เลือกได้ตั้งแต่ i5 i7 และ i9 RAM สูงสุด 32 GB พื้นที่เก็บข้อมูล SSD สูงสุด 4 TB

โดยในเครื่องรุ่น 13 นิ้ว ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ 65,900 บาท โดยมาพร้อมหน่วยประมวลผล Intel Core i5 2.3 GHz และถ้าต้องการปรับสเปกเพิ่มเป็น Core i7 RAM 8 GB SSD 256 GB แต่ถ้าต้องการเพิ่มสเปกสูงสุดเป็น Core i7 2.7 GHz RAM 16 GB และ SSD 2 TB ราคาจะขึ้นไปอยู่ที่ 134,900 บาท

ส่วนในรุ่น 15 นิ้ว ราคาเริ่มต้นที่ 85,900 บาท สำหรับรุ่น Intel Core i7 2.2 GHz RAM 16 GB การ์ดจอ Radeon Pro 555X SSD 256 GB แน่นอนว่าสามารถปรับสเปกขึ้นไปเป็น Core i9 2.9 GHz RAM 32 GB การ์ดจอ Radeon Pro 560X และ SSD 4 TB ได้ในราคา 256,900 บาท

ทั้งนี้ รุ่นที่ได้มาทดสอบจะเป็น MacBook Pro 15 นิ้ว ที่มากับหน่วยประมวลผล 8th Gen Intel Core i9 RAM 32 GB การ์ดจอ Radeon Pro 560X SSD 2 TB ที่วางจำหน่ายในราคา 176,900 บาท ตัวเครื่องรองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi มาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac บลูทูธ 5.0

2.มีการนำชิป Apple T2 ซึ่งเป็นชิปสำหรับเพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล ร่วมกับแต่เดิมที่มีการนำเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ (Touch ID) มาใช้งานในการปลดล็อกเครื่อง ผสมผสานกับการจัดการตัวควบคุมเสียง ทำให้ผู้ใช้สามารถสั่งเรียกใช้งาน Siri ได้ทันทีโดยไม่ต้องกดปุ่มเรียกใช้งาน

ดังนั้น ผู้ใช้ MacBook Pro (2018) จึงสามารถใช้เสียง เรียก Siri ขึ้นมาเพื่อเปิดเพลง ตั้งแจ้งเตือน ค้นหาข้อมูลได้ทันที ในขณะที่กำลังใช้งานอย่างอื่นอยู่ อย่างกรณีที่พิมพ์งานอยู่ ไม่อยากสลับหน้าจอไปเปิดเพลง ก็สั่ง ‘หวัดดี Siri’ เปิดเพลงได้ทันที

3.การปรับปรุงหน้าจอแสดงผลที่ใช้จอ Retina 15.4 นิ้ว ความละเอียด 2880 x 1800 พิกเซล เช่นเดิม แต่เพิ่มความสามารถของ True Tone เข้ามาช่วยปรับสีการแสดงผลหน้าจอให้ธรรมชาติมากขึ้น โดยเทคโนโลยีนี้เริ่มนำมาใช้บน iPhone และ iPad รุ่นปีที่ผ่านมา ก่อนถูกนำมาใช้บนแมคบุ๊กในปีนี้

ขณะเดียวกันความสว่างของหน้าจอก็ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 500 nit รองรับการแสดงผลสีบนมาตรฐาน P3 ที่ใช้ในวงการถ่ายภาพด้วย และในอนาคตเมื่อมีการปรับเดต macOS เป็น Mojave เมื่อทำงานร่วมกับ Dark Mode หรือ Dynamic Desktop ก็จะช่วยให้มีลูกเล่นเพิ่มมากขึ้น

4..คีย์บอร์ด Butterfly 3 ที่ปรับปรุงให้นุ่มขึ้น ทำให้เสียงในการพิมพ์เงียบกว่าเดิม และในขณะเดียวกันแอปเปิลก็พัฒนาคีย์บอร์ดรุ่นนี้มาเพื่อแก้ไขปัญหาปุ่มคีย์บอร์ดรุ่นเดิมที่มีปัญหากดไม่ติด หรือกดแล้วเบิ้ลหลังจากใช้งานไปสักพักด้วย

โดยในแง่ความรู้สึกในการพิมพ์ ถ้าเป็นผู้ที่เคยใช้งานคีย์บอร์ดแบบ Butterfly มาก่อน จะรับรู้ได้ถึงสัมผัสที่นุ่มขึ้นได้ชัดเจน แต่แน่นอนว่าถ้าไม่เคยใช้มาก่อน ในช่วงแรกที่ใช้งานน่าจะเจอปัญหาความไม่คุ้นชินในการใช้งาน เพราะจะรู้สึกเหมือนไม่ได้กดปุ่มคีย์บอร์ดจริงๆ

ส่วนแถบสัมผัส Touch Bar เหนือคีย์บอร์ด แม้จะไม่ได้มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อนหน้า แต่เนื่องจากถูกนำเสนอมาในตลาดสักพักแล้ว ทำให้มีโปรแกรมที่ถูกพัฒนามารองรับการใช้งานเพิ่มมากขึ้น และช่วยให้ใช้งานเครื่องมือต่างๆได้สะดวกขึ้นด้วย

ต่อมาในส่วนของแทร็กแพด (TrackPad) ก็มากับระบบ Force Touch เช่นเดิม โดยยังคงความสามารถในการ Force Click (กดแทร็กแพดแรงขึ้นจากเดิมเล็กน้อย) เพื่อใช้ในการเปิดโหมด Quick Look หรือสั่งงานเพิ่มเติมในโปรแกรมต่างๆอยู่เช่นเดิม

สุดท้ายคือ การปรับปรุงพอร์ต Thunderbolt 3 ให้รองรับการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ในรูปแบบของ USB-C ที่สามารถใช้ทั้งชาร์จไฟกับพอร์ตไหนก็ได้ โอนถ่ายข้อมูล เชื่อมต่อกับหน่วยประมวลผลภาพภายนอก (eGPU) ได้พร้อมกัน 4 เครื่อง รวมถึงต่อจอภาพความละเอียดระดับ 5K ได้สูงสุด 2 จอภาพ

โดยที่รู้สึกได้อีกอย่างคือเรื่องของการเสียบสายในการใช้งาน จะแน่นขึ้นกว่าในรุ่นก่อนหน้า ถ้าเสียบเข้าไปแล้วจะมีรู้สึกถึงเสียงคลิก และรับรู้ได้ว่าแน่นแล้ว แต่แน่นอนว่า ปัญหาของการพกพาอุปกรณ์เสริม USB-C เพื่อเชื่อมต่อใช้งานยังคงมีอยู่แน่นอน

การออกแบบตัวเครื่อง

สำหรับ MacBook Pro (2018) รุ่นจอ 15 นิ้ว จะมีให้เลือกด้วยกัน 2 สีคือสีเงิน และสีเทา โดยรุ่นที่นำมารีวิวคือสีเทา (Space Gray) ดีไซน์ภายนอกของรุ่นนี้จะยังคงใช้คอนเซปต์เดิมกับการปรับโฉมครั้งใหญ่ของ MacBook ในปี 2016

ดังนั้น ภาพลักษณ์ภายนอกของเครื่องรุ่นนี้จึงไม่ได้มีจุดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยที่ฝายังมากับโลโก้ Apple ที่ถูกเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นไฟ มาเป็นวัสดุเงาๆ ขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 34.93 x 24.07 x 1.55 เซนติเมตร น้ำหนัก 1.83 กิโลกรัม

เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาก็จะพบกับหน้าจอขนาด 15.4 นิ้ว โดยมีกล้อง Facetime อยู่ด้านบน พื้นที่ขอบจอที่บางขึ้น ล่างหน้าจอมีอักษรระบุ ‘MacBook Pro’ อยู่ ถัดลงไปบริเวณข้อต่อก็จะเป็นช่องระบายอากาศสำหรับเครื่องรุ่นนี้

ถัดมาบริเวณตัวเครื่อง ก็จะไล่ตั้งแต่แถบ Touch Bar ที่บริเวณปลายสุดทางขวาเป็น Touch ID ที่ใช้เป็นปุ่มเปิดปิดเครื่องด้วย ลงมาก็เป็นแผงคีย์บอร์ด Butterfly 3 ที่ขนาบไปด้วยลำโพงทั้ง 2 ฝั่ง ส่วนล่างก็จะเป็นแทร็กแพดขนาดใหญ่ให้ใช้งาน

หลังเครื่องก็จะตามสไตล์เดิมคือปล่อยไว้เรียบๆ โดยมีจุกยาง 4 จุด เพื่อยกให้เครื่อไม่แนบสนิทกับพื้น บริเวณขอบก็จะมีเว้นช่องไว้เป็นช่องระบายอากาศ และให้เสียงออกด้วย ส่วนการยึดเครื่องก็จะใช้น็อตพิเศษ 6 จุดรอบเครื่อง

ส่วนพอร์ตใช้งานรอบเครื่องก็จะมีพอร์ต Thunderbolt 3 หรือ USB-C ข้างละ 2 พอร์ต โดยทางฝั่งขวาจะมีช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. มาให้เช่นเดิม

สำหรับอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง จะประกอบไปด้วยตัวเครื่อง MacBook Pro 15 นิ้ว สาย USB-C ความยาว 2 เมตร และอะเดปเตอร์ 87 วัตต์ ที่เหลือก็จะเป็นคู่มือเบื้องต้น และสติกเกอร์แอปเปิลอยู่ในกล่องอีกที

ทดสอบประสิทธิภาพ

ในส่วนของการทดสอบประสิทธิภาพของ MacBook Pro 2018 ทีมงานทดสอบผ่านโปรแกรมทดสอบหลักๆอย่าง GekkBench 4 และ Cinebench R15 ก็พบว่าอยู่ในระดับท็อปๆของหน่วยประมวลผลใกล้เคียงกัน

ขณะที่เมื่อทดสอบกับการนำไปใช้งานแต่งภาพไฟล์ RAW หรือตัดต่อวิดีโอระดับ 4K พบว่า ทำได้ลื่นไหลกว่ารุ่นก่อนหน้าแบบเห็นได้ชัด ซึ่งแน่นอนว่าถือเป็นเครื่องที่ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการโน้ตบุ๊กพกพาประสิทธิภาพสูงไว้ใช้งานอย่างแน่นอน (แต่ราคาก็สูงตามไปด้วย)

หลังจากที่ ลองอัปเดต macOS Mojave เรียบร้อยแล้ว กลับมาทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องจาก Geekbench อีกครั้ง พบว่าคะแนนมีการปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของตัวเครื่องเมื่อทำงานบน macOS รุ่นใหม่ จะประมวลผลได้เร็วขึ้นกว่าเดิม

 

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น