ในปีที่ผ่านมา Apple Macbook ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาสร้างนวัตกรรมให้แก่ตลาดโน้ตบุ๊กอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการเป็นโน้ตบุ๊กที่มีความบางที่สุดในโลก ประกอบกับเป็นเครื่องที่มีหน้าจอขนาด 12 นิ้ว ความละเอียด Retina Display ในขนาดตัวเครื่องใกล้เคียงกับ Macbbok Air 11 นิ้ว เข้ามาตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต้องการโน้ตบุ๊กเครื่องบางเบา และมีประสิทธิภาพในการใช้งาน
การมาของ Macbook (2016) ในรุ่นปีนี้ ที่ถือเป็นไมเนอร์เชนจ์ ด้วยการใช้ดีไซน์ตัวเครื่องแบบเดิม แต่แอปเปิล เลือกที่จะเพิ่มเติมด้วยสีตัวเครื่องใหม่ที่เพิ่มเข้ามาเป็น 4 สี คือ เงิน ทอง เทาสเปซเกรย์ และล่าสุดโรสโกลด์ เข้ามาจับกลุ่มผู้ที่ต้องการสร้างความแตกต่างในการใช้งานโน้ตบุ๊ก
ประกอบกับการที่อินเทล มีการอัปเดตรุ่นหน่วยประมวลผลประหยัดพลังงานอย่าง Intel Core M เป็น Generation ที่ 6 ซึ่งให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า ทำให้สิ่งที่เพิ่มเข้ามาใน Macbook (2016) คือเรื่องของการมีสีใหม่เข้ามา และประสิทธิภาพในการใช้งานที่เพิ่มขึ้น
การออกแบบ
ในแง่ของดีไซน์ Apple Macbook (2016) นั้นถูกใช้โมเดลเดียวกับรุ่นปีที่ผ่านมา ซึ่งถ้ามองในแง่ของการออกแบบแล้วก็ยังถือเป็นโน้ตบุ๊กที่บางอันดับต้นๆอยู่เช่นเดิม ด้วยฟอร์มเฟคเตอร์เครื่องขนาด 11 นิ้ว แต่ให้หน้าจอขนาด 12 นิ้ว พร้อมกับการเพิ่มสี Rose Gold เข้ามาในไลน์ ขณะที่ขนาดยังอยู่ที่ 280.5 x 196.5 x 3.5-13.1 มิลลิเมตร น้ำหนัก 920 กรัม
ด้านหน้า – จะมีสัญลักษณ์ Apple ที่ทำเงาอยู่ตรงกลาง แน่นอนว่าไม่มีไฟแสดงการเปิดเครื่องเหมือน Macbook Air และ Macbook Pro เช่นเดิม
เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นจะก็จะพบกับจอขนาด 12 นิ้ว ความละเอียด 2304 x 1440 พิกเซล ที่แม้ว่าขอบจอจะไม่ได้บางมาก แต่ก็อยู่ในอัตราส่วนที่เกือบเต็มพื้นที่ ส่วนบนหน้าจอจะมีกล้องความละเอียด 480p ส่วนล่างเป็นอักษร ‘MacBook’ ที่สะท้อนสีชมพูขึ้นมาจากตัวเครื่องให้เห็น
ร่องระหว่างหน้าจอและตัวเครื่อง ถือเป็นช่องระบายอากาศที่สำคัญที่สุดของ MacBook ร่วมกับบริเวณปุ่มคีย์บอร์ด เพราะในเครื่องรุ่นนี้จะไม่มีการใช้พัดลมระบายความร้อน เนื่องจากหน่วยประมวลผลที่ใช้งานเป็นแบบ Core M ซึ่งใช้พลังงานต่ำ ทำให้ความร้อนสะสมไม่สูง
จุดเด่นที่สุดของ MacBook ยังคงเป็นแป้นคีย์บอร์ดที่ใช้เป็นกลไกแบบปีกผีเสื้อ (Butterfly) ทำให้ปุ่มกดมีความบาง รับสัมผัสได้ง่ายขึ้น และยังมาพร้อมกับไฟบนคีย์บอร์ดให้ใช้งานในเวลากลางคืนได้ เช่นเดียวกับส่วนของ แทร็กแพด ที่รองรับการกดแบบ Force Touch ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน ความสามารถพิเศษต่างๆของโปรแกรม
ด้านหลัง – พื้นที่ส่วนใหญ่จะถูกปล่อยเรียบไว้ โดยมีการสกรีนสัญลักษณ์ และข้อมูลต่างๆไว้ส่วนหนึ่ง ที่เหลือจะเป็นช่องน็อตสำหรับยึดฝาหลัง และยางรองเพื่อยกเครื่องขึ้นมาจากระนาบพื้น ช่วยให้ตัวเครื่องไม่ลื่นไหล และระบายความร้อนได้ดีขึ้นด้วย
ด้านซ้าย – จะเป็นที่อยู่ของพอร์ต USB-C ที่สามารถเชื่อมต่อสายชาร์จ และอะเดปเตอร์เพื่อเชื่อมต่อพอร์ตอื่นๆได้ ด้านขวา – มีช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม.และช่องไมโครโฟนรับเสียงอยู่
สำหรับอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องจะประกอบไปด้วยตัวเครื่อง สาย USB-C ยาว 2 เมตร อะเดปเตอร์ และคู่มือการใช้งาน ไม่ได้แถมสายยาวสำหรับเชื่อมต่อกับอะเดปเตอร์เหมือนใน MacBook Air และ MacBook Pro
สเปก
ในส่วนของสเปกภายใน Macbook (2016) จะมีให้เลือกด้วยกัน 2 รุ่น ซีพียูคือ ตัวเริ่มต้นจะมาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Intel Core M3 6Y30 ความเร็ว 1.1 GHz (Turbo Boost up to 2.2 GHz) L3 Cache 3 MB SSD 256 GB กับอีกรุ่นคือ Intel Core M5 6Y54 ความเร็ว 1.2 GHz (Turbo Boost up to 2.7 GHz) L3 Cache 3 MB SSD 512 GB ทั้ง 2 รุ่นมาพร้อมกับ RAM LPDDR3 8 GB ให้เลือกใช้งาน
แต่ทั้งนี้ ถ้าต้องการประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ผู้ใช้ยังสามารถที่จะเลือกเปลี่ยนเป็นซีพียูรุ่นสูงสุดในตระกูลคือ Intel Core M7 6Y75 ความเร็ว 1.3 GHz (Turbo Boost up to 3.1 GHz) L3 Cache 3 MB แทนได้ ด้วยการเพิ่มเงินอีก 6,000 – 10,000 บาทได้เช่นเดียวกัน
ทำให้ราคาของ Macbook (2016) แบ่งให้สามารถเลือกเป็น 4 รูปแบบคือ Core M3 1.1 GHz SSD 256 GB 49,900 บาท / 1.2 GHz 512 GB 59,900 บาท / 1.3 GHz 256 GB 59,900 บาท และ 1.3 GHz 512 GB 65,900 บาท นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นแป้นพิมพ์ภาษาไทย หรือ อังกฤษอย่างเดียวสำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทย
ถัดมาในส่วนของหน่วยประมวลผลภาพที่มากับ Core M Gen 6 คือ Intel HD Graphic 515 รองรับการแสดงผลบนตัวเครื่องที่ความละเอียดสูงสุด 2304 x 1440 ตามความละเอียดหน้าจอ และสามารถแสดงความละเอียดได้สูงสุดเมื่อต่อกับจอภายนอกคือ 3840 x 2160 พิกเซล
ด้านการเชื่อมต่อตัวเครื่องรองรับ Wi-Fi 802.11 a/b/g/n/ac พร้อมกับ Bluetooth 4.0 ส่วนพอร์ต USB-C นอกจากใช้ชาร์จแล้ว ยังรองรับ USB 3.1 ที่ให้ความเร็วในการรับ–ส่งข้อมูลสูงสุด 5 Gbps เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่อจอภาพภายนอกทั้ง VGA และ HDMI ได้ผ่านตัวแปลงที่มีวางจำหน่ายแยก ทำงานบนระบบปฏิบัติการ OS X El Capitan
ฟีเจอร์เด่น
สำหรับจุดเด่นที่มากับ MacBook สามารถย้อนกลับไปอ่านกันได้จาก Review Apple MacBook (2015) http://www.cyberbiz.in.th/review-apple-macbook-2015/ เพราะความสามารถโดยรวมทั้งหมดเหมือนกัน เนื่องจากรุ่นนี้มีการปรับเพิ่มในส่วนของหน่วยประมวลผลเพิ่มเติมเท่านั้น แต่ความสามารถอื่นๆยังคงโดดเด่นเหมือนเดิม
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคีย์บอร์ด แทร็กแพดที่รองรับการกดน้ำหนักต่างๆ เรื่องของระยะเวลาการใช้งานบนแบตเตอรี ทำให้เน้นการใช้งานแบบไร้สายมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการพัฒนาของทั้ง OS X El Capitan กับ iOS 9.3 ที่ทำมาให้รองรับการเชื่อมต่อกันมากยิ่งขึ้น ดังนั้นถ้าเป็นผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลอยู่แล้ว ข้อจำกัดเรื่อง USB-C ที่ให้มาพอร์ตเดียวจึงหมดไป
โปรแกรมที่ติดตั้งมาให้เบื้องต้น ถือว่าเป็นโปรแกรมพื้นฐานทั่วไป สามารถใช้งานได้ครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นด้านการทำงานผ่าน Pages Number Keynote ด้านความบันเทิงจาก iTunes พร้อมกับการที่มีแอปสโตร์ให้เข้าไปดาวน์โหลดแอปเพิ่มเติมได้ทันที
ทดสอบประสิทธิภาพ
ในแง่ของประสิทธิภาพที่พัฒนาขึ้นมาคือการแสดงผลภาพของ Intel HD 515 ที่ทางแอปเปิลระบุว่า มีประสิทธิภาพเร็วขึ้น 25% เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า เช่นเดียวกับ SSD ที่อ่านข้อมูลได้เร็วขึ้น 20% และเขียนข้อมูลได้เร็วขึ้น 90% ซึ่งถ้าเทียบกับโน้ตบุ๊กที่ใช้งานฮาร์ดดิสก์ 5400 rpm จะเร็วกว่าถึง 10 เท่า
สิ่งที่น่าสนใจในรุ่น Macbook (2016) คือการพัฒนาของซีพียู ที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น โดยทางแอปเปิลเคลมไว้ว่า สามารถใช้งานเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าใช้เว็บไซต์ได้ต่อเนื่อง 10 ชั่วโมง หรือกรณีที่ไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแต่ใช้เล่นภาพยนตร์ความละเอียดสูง 1080p ผ่าน iTunes จะได้ต่อเนื่องถึง 11 ชั่วโมง
เมื่อทดสอบในการใช้งานจริง ระยะเวลาใช้งานบนแบตเตอรี แม้ว่าจะไม่ได้ตามที่เคลมไว้ แต่ก็ใกล้เคียง ด้วยการใช้งานทั่วๆไป ฟังเพลง เล่นอินเทอร์เน็ต พิมพ์งาน ได้ราวๆ 9-10 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการปรับความสว่างหน้าจอ ยิ่งถ้าไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระยะเวลาใช้งานก็จะนานเพิ่มเข้าไปอีก
ส่วนการทดสอบผ่านโปรแกรมอย่าง GeekBench ในแบบ 32 bit จะได้คะแนน Single-Core 2,417 คะแนน ส่วน Multi-Core 4,584 คะแนน ส่วนการทดสอบแบบ 64 bit จะได้ Single-Core 2,582 คะแนน ส่วน Multi-Core 5,087 คะแนน ซึ่งเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า
Cinebench R15 ได้คะแนน OpenGL 19.93 fps คะแนน CPU 186 cb
สรุป
ในช่วงปีที่ผ่านมา MacBook ได้รับการพิสูจน์มาแล้วค่อนข้างเยอะ ทั้งในแง่ของการใช้งาน ประสิทธิภาพ ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งผู้ที่ชอบ และผู้ที่ไม่ชอบ ดังนั้นถ้าถามว่า MacBook เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าใช้งานหรือไม่ ถ้าเป็นผู้ที่ใช้งาน OS X อยู่แล้ว ต้องการโน้ตบุ๊กที่มีขนาดบางเบา เน้นการใช้งานยาวๆบนแบตเตอรี ไม่ได้เน้นการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆผ่านสาย MacBook ถือว่าค่อนข้างตอบโจทย์การใช้งานได้
แต่ถ้าเป็นผู้ใช้งานที่ต้องการประสิทธิภาพในการประมวลผล มีการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่อพ่วง MacBook อาจจะไม่ตอบโจทย์ เพราะด้วยระดับราคาแล้ว สามารถข้ามไปซื้อ MacBook Pro ได้ด้วยการเพิ่มเงินอีกนิดแต่ได้ประสิทธิภาพที่ดีกว่ามาก แต่ก็แลกกับการที่เครื่องมีขนาด และน้ำหนักมากขึ้น