หนึ่งในอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นอุปกรณ์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เนื่องจากหลังๆจะได้เห็นข่าวผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหักโหมเกินไปจนถึงขั้นเสียชีวิตกันมากขึ้น ดังนั้นการที่จะได้รู้ข้อมูลการเต้นของหัวใจขณะออกกำลังกาย จะถือเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการออกกำลังกาย
ก่อนหน้านี้การ์มินเคยออกอุปกรณ์ที่เป็นนาฬิกาสำหรับนักวิ่งมากแล้ว เพียงแต่ว่าในการใช้งานฟังก์ชันอย่างการวัดอัตราการเต้นของหัวใจจะต้องทำการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ อย่างสายคาดอกที่ไว้วัดการเต้นของหัวใจโดยเฉพาะ
แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันที่สามารถนำเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นมาไว้ภายในนาฬิกาได้แล้ว ทำให้ Garmin Forerunner 225 กลายเป็นนาฬิกาสำหรับนักวิ่งที่ถือเป็นรุ่นแรกๆในตลาดที่มาพร้อมกับการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อบอกโซนต่างๆ
การออกแบบและสเปก
ด้วยการที่ออกแบบมาให้เป็นนาฬิกาที่เกือบจะกึ่งสมบุกสมบัน ทำให้ตัวเรือนของนาฬิกาจะดูแล้วแข็งแรง โดยมีขนาดรอบตัวเครื่องอยู่ที่ 287 x 48 x 16 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 54 กรัม เพื่อให้สวมใส่สบาย ไม่รู้สึกเกะกะเวลาใส่ใช้งานในชีวิตประจำวัน
ตัวหน้าจอจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว ความละเอียดหน้าจอ 180 x 180 พิกเซล โดยผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน เพื่อปรับตั้งค่าการแสดงผลต่างๆได้ตามต้องการ
รอบตัวเรือนจะมีปุ่มกดด้วยกันทั้งหมด 5 ปุ่ม เริ่มจากฝั่งซ้ายบนเป็นปุ่มเปิดไฟแสดงผลที่หน้าจอ ถัดลงมาเป็นปุ่มเลื่อนขึ้นและลง ส่วนฝั่งขวาจะมีปุ่ม เริ่มวิ่ง (ตกลง) ที่มีสีแดงเด่นชัด รวมถึงใช้ในการปลดล็อกนาฬิกาด้วยการกดปุ่มนี้ 2 ครั้งด้วย ส่วนอีกปุ่มไว้สำหรับกดย้อนกลับ
ด้านหลังตัวเรือนจะมียางหุ่มบริเวณตัวเรือนเพื่อให้สามารถปิดกั้นแสงที่จะส่งผลกระทบต่อเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ พร้อมกับข้อความระบุรายละเอียดต่างๆ ที่สำคัญคือตัวเครื่องกันน้ำได้ลึก 50 เมตร (5ATM)
สำหรับแบตเตอรีที่ติดตั้งมาภายในจะเป็น Li-ion ที่การ์มินระบุว่าสามารถใช้งานในโหมดนาฬิกาได้ต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ และใช้งานในโหมดบันทึกการออกำลังกายที่วัดทั้งการเต้นหัวใจ และบันทึกพิกัด (GPS) ได้ต่อเนื่อง 10 ชั่วโมง โดยใช้การเชื่อมต่อทางบลูทูธกับสมาร์ทโฟน
ฟีเจอร์เด่น
ถ้าถามถึงฟีเจอร์หลักในการเป็นนาฬิกาของนักวิ่งก็อย่างที่รู้กันว่า ตัวเรือนนาฬิกาจะสามารถใช้ในการบอกระยะเวลาในการวิ่ง บอกระยะทาง ความเร็ว ซึ่งสามารถหาข้อมูลได้จากรีวิว Garmin Forerunner 620 ที่เคยได้รีวิวไว้ เพราะความสามารถหลักเหล่านี้ยังคงอยู่เหมือนเดิม
แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาใน Forerunner 225 คือแสดงผลอัตราการเต้นของหัวใจในขณะที่ออกกำลังกาย (Workout) โดยเมื่อกดเข้าสู่โหมดออกกำลังกาย ตัวเซ็นเซอร์ที่นาฬิกาจะเริ่มทำงานเพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจ มาแสดงผลบนหน้าจอในทันที
สำหรับวิธีการวัดอัตราการเต้นของหัวใจใน Forerunner 225 จะใช้เซ็นเซอร์ออปติคอลเพื่อส่องแสงเข้าไปในผิวของผู้ใช้เพื่อวัดปริมาณแสงที่สะท้อนกลับมาคำนวนการเต้นของหัวใจที่แม่นยำ ในขณะที่การแสดงผลอัตราการเต้นของหัวใจ จะใช้โซนสีในการบอกสถานะ ไล่สีจากเทา ฟ้า เขียว ส้ม และ แดง เพื่อให้ผู้ที่ออกกำลังกายสามารถรับรู้ได้อย่างรวดเร็ว
โดยผู้ใช้สามารถเข้าไปตั้ง โซน ของอัตรการเต้นของหัวใจได้จากหน้าจอการตั้งค่า เพื่อให้ได้ค่าที่ตรงกับผู้ใช้งานมากที่สุด
ที่สำคัญ ภายใน Forerunner 225 ยังมีการติดตั้งมาตรวัดความเร่ง ที่นำมาใช้ในการวัดระยะทางกรณีที่ออกกำลังกายภายในร่ม (วิ่งบนลู่วิ่ง) โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติมอย่าง foot pod ทำให้สามารถใช้บันทึกการวิ่งได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ ก็ยังสามารถใช้ในการนับก้าว ติดตามการนอน แจ้งเตือนเมื่อไม่มีการเคลื่อนไหวด้วยระบบสั่นที่ติดตั้งมาภายในเครื่อง ได้อีกด้วย
สุดท้ายคือ การเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนทั้งบนแอนดรอยดื และ iOS สามารถติดตั้งแอปพลิเคชัน Garmin Connect เพื่อใช้ในการแสดงผลการออกกำลังกายได้ทันที รวมถึงการสรุปกิจกรรมต่างๆที่ทำด้วย
อีกจุดที่น่าสนใจคือ ผู้ใช้สามารถซิงค์ข้อมูลการวิ่ง หรือออกกำลังกายต่างๆ ที่บันทึกจากอุปกรณ์ของการ์มิน เข้าไปไว้ในแอปพลิเคชันสำหรับการออกกำลังกายโดยเฉพาะอย่าง Strava หรือ Endomondo ที่มีกลุ่มผู้ใช้งานจำนวนมากก็ได้เช่นเดียวกัน
สรุป
กับราคาค่าตัวที่ 10,900 บาท ถ้าเป็นนักวิ่งที่ใช้งานเป็นประจำ และต้องการอุปกรณ์ที่สามารถบันทึกข้อมูลการวิ่งได้สะดวก และละเอียดกว่าการพกสมาร์ทโฟนเปิดแอปติดตัวไปวิ่ง Foreruner 225 ถือเป็นอุปกรณ์ที่น่าสนใจ ยิ่งนับรวมกับการวัดอัตราการเต้นของหัวใจที่เป็นฟีเจอร์หลักในรุ่นนี้ ก็จะยิ่งช่วยให้การออกกำลังกายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
[usrlist “การออกแบบ:9” “สเปก/ฟีเจอร์เด่น:9” “ความสามารถโดยรวม:8” “ความคุ้มค่า:8″ avg=”true”]>หลักเกณฑ์การให้คะแนนรีวิว<