เป็นอีกหนึ่งแบรนด์จากจีนที่เข้ามาทำตลาดในบ้านเราอย่างจริงจังเมื่อปีก่อน และทำให้สมาร์ทโฟนตระกูล “Ascend” “Honor” และ “Mate” ประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักในบ้านเราไปหลายรุ่น
มาในปีนี้ หัวเว่ย กลับมาเพิ่มความร้อนแรงให้ตลาดมือถือกันตั้งแต่ต้นปี ด้วยการปล่อยสมาร์ทโฟนสุดหรู Mate 8 ไปทำตลาดไฮเอนด์ก่อนจะมาพบกับสมาร์ทโฟนสุดไฮโซ “Huawei GR5” (หรืออีกชื่อ Huawei Honor 5X) ที่เรานำมารีวิวให้ชมกันในวันนี้ กับจุดเด่นสุดเซอร์ไพรส์คือเป็นสมาร์ทโฟนราคาไม่ถึงหมื่นบาทที่มาพร้อมตัวเครื่องอลูมิเนียมและสแกนลายนิ้วมืออัจฉริยะด้วยสโลแกน “The Power of Touch” ที่เหนือกว่าหลายคู่แข่งไฮเอนด์หลายรุ่น
การออกแบบ
จุดเด่นด้านการออกแบบของ Huawei GR5 ก็คือวัสดุฝาหลัง และเฟรมเครื่องผลิตจากอลูมิเนียมมี 3 สีให้เลือกได้แก่ สีทอง เงินและดำ ขนาดตัวเครื่องหนา 8.15 มิลลิเมตร หนัก 158 กรัม
ในส่วนหน้าจอเป็น IPS LCD ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด Full HD 1,920×1,080 พิกเซล พร้อมกล้องหน้าฟิกซ์โฟกัสความละเอียด 5 ล้านพิกเซล และมีเซ็นเซอร์ตรวจจับแสงแบบอัจฉริยะ (Apical Assertive) ที่ช่วยปรับความสว่างของหน้าจอแบบไดนามิคระหว่างใช้งานในทุกสภาพแสง
ด้านหลัง ผิวสัมผัสจะเป็นอลูมิเนียมขัดหยาบชิ้นเดียว (ไม่สามารถถอดฝาหลังเปลี่ยนแบตฯได้) จุดที่น่าสนใจอยู่ที่กล้องถ่ายภาพความละเอียด 13 ล้านพิกเซล พร้อมเลนส์มุมกว้าง 28 มิลลิเมตร รูรับแสง f2.0 และไฟแฟลช LED ถัดลงมาเป็นส่วนสแกนลายนิ้วมือรุ่นใหม่ล่าสุดในชื่อ “Fingerprint ID 2.0”
ด้านข้าง เริ่มจากขวาเป็นปุ่มเพิ่มลดระดับเสียงและปุ่มเปิดปิดเครื่อง ด้านซ้าย เป็นส่วนของช่องใส่ซิมการ์ด Micro Sim ถัดมาช่องไฮบริดสามารถใส่ได้ทั้งซิมการ์ดโทรศัพท์แบบ Nano Sim และการ์ดเพิ่มความจุ MicroSD สูงสุด 128GB
มาดูด้านบนและล่างของตัวเครื่องกันบ้าง เริ่มจากด้านบนจะเป็นที่อยู่ของช่องหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรพร้อมไมโครโฟนตัวที่ 2 สำหรับตัดเสียงรบกวน
ด้านล่าง ช่องซ้ายจะเป็นไมโครโฟนหลักสำหรับรับเสียงสนทนา ช่องขวาเป็นส่วนของลำโพง (Internal Speaker) ตรงกลางเป็นพอร์ตเชื่อมต่อข้อมูลและชาร์จไฟ (MicroUSB 2.0)
สเปก
สำหรับหน่วยประมวลผลขับเคลื่อน Huawei GR5 จะใช้ชิปใหม่ Qualcomm MSM8939 Snapdragon 615/616 Octa-core 64 บิต ความเร็วแบ่งเป็น 4 คอร์ชุดแรกวิ่งที่ความเร็ว 1.5GHz 4 คอร์ชุดหลังวิ่งที่ความเร็ว 1.2 GHz พร้อมกราฟิก Adreno 405 ในส่วนแรมระบบให้มา 2GB และแบตเตอรีให้มา 3,000 mAh รองรับ Quick Charge 2.0
ด้านความจุภายในตัวเครื่องอยู่ที่ 16GB เหลือให้ใช้งานจริงประมาณ 10.5GB ระบบปฏิบัติการเริ่มต้นเป็น Android 5.1 Lollipop เครือข่ายโทรศัพท์รองรับ 2G/3G และ 4G ทุกคลื่นความถี่ที่ใช้ในประเทศไทยทั้งหมด
ในส่วน WiFi รองรับมาตรฐาน 802.11 b/g/n 2.4GHz (ไม่รองรับ 5GHz), บลูทูธ 4.1, GPS รองรับทั้ง AGPS และ GLONASS
ด้านเซ็นเซอร์ตรวจจับภายในมีตั้งแต่ Accelerometer, Proximity sensor, Ambient Light Sensor พร้อมเข็มทิศดิจิตอล (Digital Compass) และเซ็นเซอร์ตรวจวัดแม่เหล็ก (Magnetometer)
ฟีเจอร์เด่น
Fingerprint ID 2.0 เป็นการพัฒนาต่อยอดจาก Fingerprint ID เวอร์ชันแรกที่อยู่ใน Honor 7 โดยในรุ่น 2.0 หัวเว่ยเพิ่มความอัจฉริยะและความรวดเร็วในการอ่านลายนิ้วมือที่ดีขึ้น โดยใช้เวลาอ่านและปลดล็อกหน้าจอเพียง 0.5 วินาที หรือแม้ขณะนิ้วมือเราเปียกน้ำเล็กน้อย เซ็นเซอร์ก็ยังสามารถอ่านลายนิ้วมือเราได้ด้วย
นอกจากนั้น Fingerprint ID 2.0 ยังสามารถใช้เป็นปุ่มสั่งงานแทนคำสั่งต่างๆในตัวเครื่องได้หลากหลาย (สามารถเข้าไปตั้งเปิดใช้ความสามารถเหล่านี้ได้จากหน้า Settings) เช่น
“เมื่อเราอยู่ในหน้าโฮมสกรีน เพียงผู้ใช้ลากนิ้วผ่านตัวอ่านลายนิ้วมือจากบนลงล่าง จะเป็นการเรียกแถบแจ้งเตือนลงมา หรือแม้แต่การสัมผัสตัวอ่านลายนิ้วมือค้างไว้ จะกลายเป็นคำสั่งพาเรากลับไปหน้าหลัก และที่เด็ดสุดก็คือ เมื่อเราอยู่ในแอปฯกล้องถ่ายภาพและต้องการถ่ายเซลฟี เพียงนำนิ้วเป็นแตะที่ตัวอ่านลายนิ้วมือจะกลายเป็นคำสั่งลั่นชัตเตอร์กล้องทันที”
กล้องถ่ายภาพ ไม่ใช่แค่หัวเว่ยจะเน้นแต่เรื่องสแกนลายนิ้วมือตัวใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ในเรื่องของฟีเจอร์กล้องก็มีการใส่ลูกเล่นมาได้น่าสนใจไม่แพ้กัน เริ่มตั้งแต่จุดโฟกัสที่สามารถแยกส่วนวัดแสงออกมาได้ โหมดถ่ายภาพที่มีให้เลือกหลากหลาย โดยมีโหมดถ่ายภาพน่าสนใจดังนี้
“โหมดใส่ลายน้ำให้ภาพแบบเรียลไทม์” ที่คุณสามารถเลือกใส่ลายน้ำทั้งบอกอุณหภูมิ วันที่ถ่าย ไปถึงสถานที่ไปบนรูปได้ทันที
“โหมดอาหารน่าอร่อย” จะเน้นเพิ่มความสดของสีและคอนทราสต์เวลาถ่ายภาพอาหาร
“Perfect Selfie” ช่วยปรับแต่งภาพเซลฟีให้สวยงาม
ตัวอย่างภาพ “โหมดใส่ลายน้ำ”
ตัวอย่างภาพ “โหมดอาหารน่าอร่อย (Good Food)”
Slow Motion 120fps เป็นลูกเล่นเล็กๆที่หัวเว่ยใส่มาให้พอใช้งานสนุกสนาน เพราะโหมดสโลโมชันนี้สามารถถ่ายได้ที่ความละเอียดเพียง 640×480 พิกเซลเท่านั้น แถมการเล่นผ่านโหมดสโลโมชันบน GR5 ยังทำได้ไม่ค่อนข้างกระตุก จนทีมงานต้องดึงไฟล์ดิบมาจัดการสโลโมชันเองผ่านแอปฯตัดต่อวิดีโอภายนอก (คุณภาพไฟล์เป็นอย่างไรลองคลิกชมคลิปวิดีโอด้านบนได้เลย)
Power Management ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสมาร์ทโฟนหัวเว่ย แต่ทีมงานก็ต้องยกมากล่าวถึงทุกครั้งที่ได้รีวิว เพราะระบบจัดการพลังงานและระบบปิดเปิดแอปพลิเคชันทำงานเบื้องหลังถือเป็นจุดขายมาโดยตลอดของสมาร์ทโฟนหัวเว่ย เนื่องจากช่วยให้ผู้ใช้สามารถจัดการพวกแอปฯที่แอบบริโภคพลังงานอยู่เบื้องหลังได้ง่ายขึ้น
นอกจากนั้นเมื่อแบตเตอรีสมาร์ทโฟนใกล้หมดและเรามีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ต่อไป หัวเว่ยยังได้ให้ “โหมดประหยัดพลังงานขั้นสูง” ที่ระบบจะตัดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและแอปฯที่ทำงานเบื้องหลังออกทั้งหมด เหลือเพียงฟังก์ชันโทรออก รับสายและส่งข้อความเท่านั้น
ยูสเซอร์อินเตอร์เฟสและแอปพลิเคชัน
Huawei GR5 ขับเคลื่อนด้วย Android 5.1 Lollipop ที่ถูก EMUI 3.1 ครอบทับอีกที โดยจุดเด่นหลักของหน้าตาแบบ EMUI ก็คือความเรียบง่าย หน้าโฮมสกรีนและ App Drawer ถูกรวมเป็นหน้าเดียวกันเพื่อความลดความซับซ้อนในการค้นหาและจัดหมวดหมู่ รวมถึงหน้าล็อกสกรีนแบบปกแมกกาซีนที่เป็นเอกลักษณ์ของหัวเว่ย
ด้านแอปฯที่ติดมากับตัวเครื่องมีดังนี้
Facetune (ทดลองใช้งาน) ไว้ปรับแต่งภาพเซลฟีให้สวยงามฟรุ้งฟริ้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลบสิว ทำหน้าเด้ง หน้าเนียน สามารถจัดการได้ผ่านแอปฯนี้
หน้าตาคีย์บอร์ด Huawei Swype
แอปฯแว่นขยายที่ใช้รูปแบบของการถ่ายมาโครร่วมกับดิจิตอลซูม
แอปฯเล่นเพลง Music จุดที่น่าสนใจคือตัวกรองโฟลเดอร์ สามารถเลือกได้ว่าจะให้ระบบสแกนหาเพลงจากส่วนใดบ้าง
นอกจากนั้นยังมีแอปฯอำนวยความสะดวกอีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น เครื่องบันทึกเสียง แอปฯเคลียร์ไฟล์ขยะ แอปฯสำรองข้อมูล จัดการธีม Shazam เป็นต้น
สุดท้ายในส่วนตั้งค่าระบบยังมีฟีเจอร์ที่ซ่อนอยู่ให้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็น ความสามารถในการเปลี่ยนแป้นพิมพ์สำหรับใช้งานมือเดียวหรือส่วนของ Gestures เมื่อหน้าจอดับอยู่ ผู้ใช้สามารถกำหนดการวาดตัวอักษรเพื่อเปิดใช้งานแอปฯได้ เช่น วาดตัว C ลงไปที่จอภาพขณะหน้าจอดับอยู่ จะเป็นการเรียกใช้งานแอปฯกล้องถ่ายภาพ เป็นต้น
ทดสอบประสิทธิภาพ
– AnTuTu Benchmark ได้ 34,481 คะแนน, มัลติทัชพร้อมกันได้ 10 จุด
– PC Mark ได้ 3,599
– 3D Mark ชุดทดสอบ Sling Shot ได้คะแนน 199 คะแนน Ice Storm Unlimited ได้คะแนน 7,625 คะแนน Ice Storm Extreme ได้คะแนน 5,494 คะแนน
– Vellamo ชุดทดสอบ Chrome Browser ได้คะแนน 2,092 คะแนน Metal 1,121 คะแนน Multicore ได้คะแนน 1,693 คะแนน
– PassMark PerformanceTest คะแนนส่วน System 4,494 คะแนน CPU Tests 95,761 คะแนน Disk Test 22,876 คะแนน Memory Tests 4,501 คะแนน 2D Graphics Tests 3,297 คะแนน 3D Graphics Tests 1,128 คะแนน
– Quadrant Standard Edition ได้คะแนน 26,169 คะแนน
– Geekbench 3 Single-Core ได้คะแนน 695 คะแนน Multi-Core ได้คะแนน 3,047 คะแนน
คะแนนทดสอบแบตเตอรี 3,260 คะแนน ทำเวลาได้ 5 ชั่วโมง 26 นาที คิดเป็นเวลาใช้งานทั่วไปประมาณ 10-12 ชั่วโมง
ในส่วนการทดสอบประสิทธิภาพ Huawei GR5 (แรม 2GB) ในภาพรวมสำหรับการใช้งานทั่วไปถือว่าสอบผ่าน ใช้งานได้ลื่นไหลดี EMUI 3.1 ถูกปรับปรุงได้ลงตัวมากขึ้น แต่ทั้งนี้มีข้อสังเกตเล็กน้อยในเรื่องแรมที่ให้มา 2GB บางครั้งระบบดึงแรมไปใช้เป็นจำนวนมาก (มากสุดเหลือแรมให้ใช้เพียง 400MB จาก 2GB) ทำให้เครื่องมีอาการช้าหน่วงให้เห็นบ้าง แต่ก็แก้ไขได้ด้วยการกดเข้า Recent Apps แล้วสไลด์บริเวณด้านล่างเพื่อปิดแอปฯทั้งหมดลงไป เครื่องก็จะกลับมาเร็วขึ้นโดยไม่ต้องรีสตาร์ทเครื่องใหม่ให้เสียเวลา
ทดสอบเกม MORTAL KOMBAT X
ทดสอบเกม Traffic Raider
ในส่วนการเล่นเกม ส่วนใหญ่ทำได้ลื่นไหลดี แต่แบตเตอรีหมดค่อนเร็ว และก่อนเล่นทุกครั้งเพื่อป้องกันปัญหาแอปฯเด้งหลุด แนะนำให้เคลียร์แรมก่อนเริ่มเล่นจะดีที่สุด
ตัวอย่างภาพจากกล้องหลังและหน้า
กล้องถ่ายภาพน่าจะเป็นอีกหนึ่งจุดขายของสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ เพราะนอกจากการใช้งานที่ง่ายแล้ว ระบบกล้องยังทำงานรวดเร็ว ลื่นไหล และคุณภาพที่ได้ก็อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ทีเดียว อีกทั้งลูกเล่นต่างๆที่ใส่เข้ามาก็น่าจะถูกใจเหล่าวัยรุ่นและคนชอบถ่ายภาพอาหารแน่นอน
ทดสอบถ่ายวิดีโอ 1080p จะเห็นว่าคุณภาพวิดีโออยู่ในเกณฑ์ปานกลางเท่านั้น
สรุป
สำหรับราคาค่าตัว Huawei GR5 อยู่ที่ 8,990 บาท เทียบกับฟังก์ชัน ฟีเจอร์และภาพรวมทั้งหมด ถือว่าครั้งนี้หัวเว่ยทำได้น่าสนใจไม่แพ้ตอนเปิดตัว P8 เมื่อปีก่อน จุดเด่นที่ทำให้ GR5 ดูดีเหนือคู่แข่งในราคาระดับไม่เกินหมื่นบาทก็คือส่วนอ่านลายนิ้วมือที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ปลอดภัยกว่าเดิม อีกทั้งเรื่องงานประกอบ วัสดุที่เลือกใช้ รวมถึงกล้องถ่ายภาพ GR5 ทำได้โดดเด่นเหนือคู่แข่งระดับเดียวกัน (ช่วงราคาไม่เกิน 1 หมื่นบาท) หลายเจ้า โดยเฉพาะส่วนลูกเล่นกล้องถ่ายภาพที่มีให้เลือกหลากหลายคุ้มค่าคุ้มราคาและใช้งานได้จริง (ยกเว้นสโลโมชันที่คุณภาพยังไม่ผ่านมาตรฐาน)
แต่ GR5 จะสมบูรณ์กว่านี้ถ้าในอนาคตหัวเว่ยปรับปรุง EMUI และเฟริมแวร์ระบบอีกสักนิด เพราะตัวเครื่องรุ่นทดสอบที่ทีมงานได้รับมา ระบบค่อนข้างบริโภคแรมมากเกินไปจนไปเบียดเบียนการใช้งานแอปฯอื่นๆบ่อยครั้ง