ด้วยชื่อชั้นของเอซุส ในตลาดโน้ตบุ๊กที่ถือว่าค่อนข้างประสบควมสำเร็จในช่วงหลัง แม้ว่าตลาดพีซีจะมีการเติบโตลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่สินค้าในตระกูล Zenbook กลับมาสร้างความต่างให้แก่ผู้บริโภคในแง่ของผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ดีไซน์สวย ในราคาที่จับต้องได้
จุดเด่นหลักของ Zenbook UX303UB ที่นำมารีวิวกันในวันนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของซีพียูใหม่ ที่ใช้เป็น Intel Core i7 6th Gen (Skylake) ที่มากับ RAM 8 GB และกราฟิกการ์ด Nvidia GT940 แม้ว่าตัวเครื่องจะมีการตัดสเปกในส่วนของจอทัชสกรีนออกไปแต่ก็แลกมาด้วยระดับราคาที่สามารถเอื้อมถึงได้ง่ายขึ้นกับสเปกระดับนี้ที่ 35,990 บาท
การออกแบบ
จุดที่ไม่ค่อยเปลี่ยแปลงไปใน Zenbook จุดใหญ่เลยก็คือเรื่องของดีไซน์ เพราะทางเอซุสหลังจากปรับเปลี่ยนมาใช้การออกแบบในสไตล์ Zen และได้รับความนิยม ก็เน้นไปพัฒนาที่ประสิทธิภาพภายใน และฟังก์ชันอื่นๆเพิ่มเติมแทน ทำให้การออกแบบของ Zenbook UX303UB รุ่นนี้แทบไม่แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้าอย่างชัดเจน
สิ่งหลักๆที่มีเพิ่มขึ้นมาจากรุ่นก่อนคือเรื่องของสี ที่ในรุ่น UX303UB จะมีสีให้เลือกด้วยกันทั้งหมด 3 สี คือ สีน้ำตาล (Smoky Brown) สีทอง (Icicle Gold) และสีชมพูอมทอง (Rose Gold) โดยแต่จะรุ่นก็จะมีรหัสเครื่องที่แตกต่างกันไปนั่นเอง
แน่นอนว่าวัสดุหลักที่ถูกนำมาใช้ใน Zenbook ที่เน้นเรื่องของความบาง และน้ำหนักเบา แต่ยังคงความแข็งแรงคงหนีไม่พ้นอะลูมิเนียม ทำให้ตัวเครื่องรวมแบตเตอรีจะมีน้ำหนักประมาณ 1.45 กิโลกรัม ขณะที่ในแง่ของความบางจุดที่บางที่สุดจะอยู่ที่ 3 มิลลิเมตร แต่ถ้านับรวมขนาดรอบเครื่องก็จะอยู่ที่ 323 x 223 x 19.2 มิลลิเมตร
ด้วยการออกแบบในสไตล์ Zen ทำให้ตัวเครื่องเมื่อมองจากภายนอกจะเห็นถึงความเงา ผสมกับลวดลายแบบก้นหอยเข้าสู่จุดศูนย์กลางที่เป็นตราสัญลักษณ์ ‘ASUS’ สีเงิน โดดเด่นอยู่บนฝาตัวเครื่องสีโรสโกลด์สีเห็นชดเจน แต่ในส่วนของตัวเครื่องสีจะออกเงินอมชมพูมากกว่า ทำให้ตัวเครื่องภายในดูสว่าง และสีไม่สดเท่าบริเวณฝาหน้า
เมื่อเปิดหน้าฝาเครื่องขึ้นมาจะพบกับหน้าจอ LED ขนาด 13.3 นิ้ว ไม่รองรับระบบสัมผัส ความละเอียด Full HD (1,920 x 1,080 พิกเซล) ที่มีสัดส่วน 16 : 9 ที่สำคัญคือเป็นจอ IPS ที่เอซุสเคลมว่า มีมุมมองกว้างกว่าจอโน้ตบุ๊กทั่วไปในท้องตลาด คือสามารถมองจอแบบชัดเจนได้ในมุมองศาได้ถึง 178 องศา ซึ่งเกือบจะเป็นแนวระนาบเดียวกับจอแล้ว
บริเวณส่วนบนของหน้าจอจะมีกล้องความละเอียด HD กับเซ็นเซอร์วัดแสง และไมโครโฟน ส่วนล่างหน้าจอจะมีโลโก้ ‘ASUS’ สีเงินขนาดใหญ่อยู่ ขณะที่บริเวณข้อต่อระหว่างจอและตัวเครื่องจะเชื่อมบริเวณมุมซ้ายและขวา และถือเป็นจุดระบายความร้อนของตัวเครื่องด้วย
ถัดมาในส่วนของคีย์บอร์ด แม้ว่าจะมีขนาดปุ่มเล็กกว่าคีย์บอร์ดปกติเล็กน้อย แต่การรับสัมผัสถือว่าทำได้ค่อนข้างนุ่มนวล ใครที่ชื่นชอบปุ่มคีย์บอร์ดแข็งๆอาจจะรู้สึกแปลกๆไปบ้างตอนใช้งาน โดยแถบบนจะเป็นปุ่มสั่งงานต่างๆร่วมกับปุ่มฟังก์ชัน (fn) โดยจะมีตั้งแต่เปิดโหมดสลีป โหมดเครื่องบิน ปรับไฟคีย์บอร์ด ความสว่างหน้าจอ ปิดหน้าจอ สลับหน้าจอ ปิดทัชแพด ปรับเสียง และจะมีปุ่มปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติที่มาซ่อนอยู่บริเวณปุ่ม A
จุดที่ใช้งานแล้วอาจจะผิดหวังสักหน่อยในคีย์บอร์ดก็คือบริเวณปุ่มเปลี่ยนภาษาที่มีขนาดเล็กลงกว่าปุ่มปกติ ทำให้เวลาสลับภาษาใช้งานอาจกดพลาดได้ เช่นเดียวกับปุ่มลูกศรที่มีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของปุ่มปกติเท่านั้น ดังนั้นเวลาใช้งานจึงต้องระมัดระวังเล็กน้อย
ในส่วนของทัชแพด การรับสัมผัสทำได้ตามมาตรฐานโน้ตบุ๊กทั่วไป แต่ยังไม่สามารถเทียบกับทัชแพดของ แมคบุ๊กได้เช่นเดิม แม้ว่าจะมีการเพิ่มลูกเล่นอย่าง Smart Gesture เข้ามา แต่การรับสัมผัสต่างๆยังไม่ไวเท่า ดังนั้นแนะนำให้ใช้งานร่วมกับเมาส์จะดีกว่า
บริเวณที่วางมือทั้ง 2 ฝั่งจะมีรายละเอียดของอุปกรณ์อย่างเช่นสติกเกอ์ Intel Inside Energy Star HDMI รวมถึงสกรีนบอกระบบเสียงที่ใช้ในเครื่องว่าเป็น Bang & Olufsen ICE Power ด้วย ส่วนไฟแสดงสถานะการทำงานของเครื่องจะอยู่ที่บริเวณมุมขวาบน
ด้านหลังเครื่องจะถูกปล่อยว่างไว้โล่งๆ โดยบริเวณ 4 มุมจะมีฐานยางช่วยยกเครื่องให้สูงขึ้นมาจากการวางบนพื้นเรียบ และมีรายละเอียดชื่อรุ่น ซีเรียล สัญลักษณ์รับรองมาตรฐานต่างๆ รวมถึงสติกเกอร์ระบุว่าเป็นระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 ของแท้
มาถึงบริเวณพอร์ตด้านข้างตัวเครื่อง Zenbook UX303UB ถือว่าให้มาค่อนข้างครบ ไล่จากฝั่งซ้ายจะมีพอร์ตยูเอสบี 3.0 2 พอร์ต กับช่องอ่านเอสดีการ์ด ฝั่งขวาจะเป็นช่องเสียบสายชาร์จ พอร์ต Thunderbolt ยูเอสบี 3 1 พอร์ต ช่องเสียบ HDMI ช่องเสียบหูฟัง และไฟแสดงสถานแบตเตอรี
ที่น่าสนใจของการดีไซน์ตัวเครื่องให้มีพัดลมเป่าออกบริเวณส่วนบนตัวเครื่องที่เชื่อมต่อกับจอ ทำให้เวลาใช้งานมือที่ใช้คีย์บอร์ดจะไม่รู้สึกร้อนมากนัก ทำให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันด้วยการที่มีไฟบริเวณคีย์บอร์ดทำให้สามารถใช้งานในที่มืดได้ ที่สำคัญคือเสียงของพัดลมระบายอากาศไม่ได้ดังมากจนรู้สึกรำคาญเวลาใช้งานในห้องเงียบๆ
สเปก
เมื่อดูถึงสเปกของตัวเครื่องที่ให้มา UX303UB ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home ที่เลือกภาษาใช้งานได้เพียงภาษาเดียว ทำงานบนระบบ 64 บิต ใช้หน่วยประมวลผลจาก 6th Generation Intel Core i7-6500U ที่ให้ความเร็วอยู่ที่ 2.5 GHz และสามารถเร่งความเร็วขึ้นไปอยู่ที่ (Turbo Boot) 3.1 GHz โดยมี L3-Cache ขนาด 4 MB ร่วมกับ RAM ขนาด 8GB ที่สามารถใส่เพิ่มได้เป็น 12 GB
ส่วนของหน่วยประมวลผลภาพ (กราฟิกการ์ด) จะทำงานร่วมกันระหว่าง Nvidia GeForce GT 940 2GB DDR3 กับIntel Graphics HD 530 ที่จะเลือกใช้ตามประเภทของการใช้งานว่าต้องการประสิทธิภาพในการประมวลผลสูงขนาดไหน ในส่วนของฮาร์ดดิสก์ รุ่นที่ได้มาจะเป็นฮาร์ดดิสแบบจานหมุนขนาด 2.5 นิ้ว 5400 rpm ความจุ 1 TB
ด้านการเชื่อมต่อ ตัวเครื่องรองรับการเชื่อมต่อไวเลส มาตรฐาน 802.11 b/g/n บลูทูธ 4.0 ร่วมกับพอร์ตต่างๆไม่ว่าจะเป็น ยูเอสบี 3 ช่อง HDMI Thunderbolt โดยภายในกล่องจะมีสายต่อแลน (เชื่อมกับยูเอสบี) และ VGA (เชื่อมกับ Thunderbolt) มาให้ด้วย
ฟีเจอร์เด่น
การใช้งานของ Asus Zenbook UX303UB หลักๆแล้วก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของวินโดวส์ 10 กับหน่วยประมวลผล Intel Core i7 และกราฟิกการ์ด Nvidia GT940 ซึ่งแน่นอนว่าสามารถนำมาใช้งานประมวลผลหนักๆได้สบาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในการตัดต่อ เล่นเกมที่กินสเปกสูงๆ แต่อย่างไรก็ตามด้วยความที่เป็นโน้ตบุ๊กที่เน้นการพกพาก็ทำให้สเปกบางอย่างอาจจะไม่สูงเท่าที่ต้องการ ซึ่งโดยรวมก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานอยู่แล้ว
ฟีเจอร์ที่เอซุสเสริมเข้ามาให้ใช้งานร่วมกับวินโดวส์ 10 ก็จะมีที่น่าสนใจเริ่มตั้งแต่การแสดงผล ที่มี ASUS Splendid Technology เข้ามาช่วยปรับแสงของหน้าจอ ที่มีให้เลือกใช้งานทั้งโหมดปกติ โหมด Eye Care ที่จะมีการตัดแสงสีฟ้าออกไป โหมด Vivid ที่ช่วยเร่งสีให้สดขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ปรับแต่งอุณหภูมิสีของหน้าจอด้วยตนเอง
ถัดมาในส่วนของเสียง อย่างที่บอกไปว่าตัวเครื่องมาพร้อมกับระบบเสียง ICE Power ของ B&O ดังนั้นจึงมี Audio Wizard มาให้เลือกใช้โดยมีโหมดให้เลือกทั้ง ฟังเพลง ดูหนัง อัดเสียง เล่นเกม และการใช้งานประชุมสายต่างๆบนโน้ตบุ๊ก
Asus Smart Gesture คือโปรแกรมที่มาช่วยเพิ่มความสามารถของทัชแพด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสั่งงานด้วยการสัมผัสนิ้วเดียว สองนิ้ว สามนิ้ว และสี่นิ้ว เลือกตั้งปิดการใช้งานทัชแพดเมื่อมีการเชื่อมต่อเมาส์ และการใช้สมาร์ทโฟนในการควบคุมเมาส์ผ่านแอปพลิเคชัน Remote Link
นอกจากนี้ ก็จะมีโปรแกรมอย่าง Live Update ที่จะคอยตรวจสอบการอัปเดตโปรแกรมต่างๆภายในตัวเครื่องให้ใหม่อยู่เสมอ Asus Installation Wizard สำหรับลงโปรแกรมต่างๆจากเอซุส รวมถึงไดร์ฟเวอร์ต่างๆด้วย สุดท้ายคือ USB Chrger+ ที่ให้ผู้ใช้สามารถเสียบสายชาร์จสมาร์ทโฟนเข้ากับพอร์ตยูเอสบีเพื่อชาร์จโทรศัพท์ได้แม้ปิดเครื่องโน้ตบุ๊ก
ส่วนผู้ที่ต้องการโปรแกรมพิเศษในการใช้งานก็จะมี Asus Giftbox ที่มีราคาพิเศษสำหรับโปรแกรมบางอย่างให้เลือกซื้อผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงการเก็บข้อมูลผ่านระบบคลาวด์ของเอซุส (WebStorage) เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลจากอุปกรณ์ใดก็ได้ผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ทดสอบประสิทธิภาพ
มาถึงในส่วนของการทดสอบประสิทธิภาพตัวเครื่อง เมื่อทำการทดสอบด้วยโปรแกรมทดสอบ PCmark8 Home Conventional ได้ 2,694 คะแนน Creative Conventional ได้ 2,539 คะแนน Work Conventional 2,813 คะแนน Storage ได้ 1,999 คะแนน ส่วนการทดสอบการใช้งานแบตเตอรีในการทำงานทั่วไป จะอยู่ได้ราว 4 ชั่วโมง 37 นาที แต่ถ้าใช้งานไม่หนักไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ปรับความสว่างหน้าจอลดลงระยะเวลาก็จะนานขึ้น
ส่วน 3Dmark Fire Strike Extreme ได้ 691 คะแนน Fire Strike ได้ 1,347 คะแนน Sky Driver 5,042 คะแนน Cloud Gate ได้ 6,220 คะแนน Ice Storm Extreme ได้ 43,060 คะแนน Ice Storm 44,788 คะแนน
GeekBench 32 บิต ได้คะแนน Single Core 3,119 คะแนน Multi Core 6,563 คะแนน ส่วน 64 บิต ได้คะแนน Single Core 3,269 คะแนน Multi Core 6,892 คะแนน
CineBench R15 ได้คะแนน OpenGL 36.05 fps ส่วนคะแนน CPU ได้ 300 cb
สรุป
ถ้ามองหาโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูง ดีไซน์สวยงาม และมีสีให้เลือกแตกต่างจากสีทั่วๆไป Asus Zenbook UX303UB ถือเป็น 1 ในตัวเลือกที่น่าสนใจกับระดับราคา 35,990 บาท เพราะด้วยสเปกทีได้มา ถือว่าเพียงพอกับการใช้งานในแง่ของโน้ตบุ๊กอยู่แล้ว เพียงแต่ถ้าต้องการให้เครื่องเร็วกว่านี้ก็อาจจะใช้การเปลี่ยนจากฮาร์ดดิสก์ขนาด 1 TB เป็น SSD 512 GB แทน ก็จะทำให้เครื่องตอบสนองได้เร็วขึ้น
ในแง่ของการพกพาออกไปใช้งานนอกบ้าน ต้องยอมรับว่าด้วยขนาดตัวเครื่อง และน้ำหนักที่มีอาจจะทำให้ไม่ค่อยสะดวกในการพกพา แต่ก็แลกมากับประสิทธิภาพตัวเครื่องที่แรง เพราะถ้ามองหาสเปกระดับนี้แต่อยากได้ขนาดและน้ำหนักที่ลดลงราคาก็จะขยับสูงขึ้นไปอีก
อีกจุดที่น่าสนใจคือเรื่องของระยะเวลารับประกันที่ช่วงหลังเอซุส ยืดระยะเวลาการรับประกันเพิ่มเป็น 2 ปี จากสมัยก่อนที่รับประกันแค่ 1 ปี ดังนั้นก็ถือว่าเป็นอีกจุดที่แลกมากับระดับราคาดังกล่าว พร้อมกับระบบปฏิบัติการแท้ด้วย