ปี 2016 ถือเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟนครั้งสำคัญมากมาย โดยหนึ่งในนั้นก็คือ ASUS ZenFone Zoom กับสมาร์ทโฟนที่ได้ชื่อว่าเป็น “ยุคใหม่ของการถ่ายภาพบนมือถือ” เพราะกล้องหลังถูกออกแบบมาให้ซูมได้จริงถึง 3 เท่า แบบไม่ต้องมีเลนส์ยืดหดเหมือนคู่แข่ง รวมถึงสเปกเครื่อง ฟีเจอร์และราคาที่ยังคงคอนเซปคุ้มค่าคุ้มราคาเช่นเดียวกับรุ่นฮิต ASUS ZenFone 2 (สเปกเครื่องคล้ายกัน)
การออกแบบ/สเปกเด่น
เริ่มจากหน้าจอเหมือน ZenFone 2 แทบทั้งหมด กล่าวคือหน้าจอเป็น IPS ครอบทับด้วยกระจก Corning Gorilla Glass 4 ขนาดหน้าจอ 5.5 นิ้ว ความละเอียด 1,920×1,080 พิกเซล ความหนาแน่น 401 พิกเซลต่อตารางนิ้ว พร้อมกล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล f2.0
ใต้หน้าจอ เป็นที่อยู่ของปุ่มคำสั่ง Navigation Button แบบสัมผัส (ไม่มีไฟ Backlight) ได้แก่ ปุ่มย้อนกลับ, ปุ่มเรียกโฮมสกรีน และปุ่มเรียก Recent Apps
ขอบเครื่องทั้งหมดจะผลิตจากเฟรมอลูมิเนียมขึ้นรูปชิ้นเดียว ซึ่งมีความแข็งแรงและหนามาก
ส่วนขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 158.9 x 78.84 มิลลิเมตร หนา 11.95 มิลลิเมตร น้ำหนัก 185 กรัม เมื่อเทียบกับคู่เหมือน ZenFone 2 จะอยู่ที่ 152.5 x 77.2 มิลลิเมตร หนา 10.9 มิลลิมเตร น้ำหนัก 170 กรัม ซึ่งนับว่าขนาดใกล้เคียงกันมากแม้ ZenFone Zoom จะมีกลไกเลนส์ซูมเพิ่มเข้ามาก็ตาม
ด้านหลัง ส่วนนี้ได้รับการออกแบบใหม่หมด ฝาหลังถูกครอบทับด้วยหนัง (Premium Leather) ผิวสัมผัสนุ่มและป้องกันรอยขีดข่วนได้ระดับหนึ่ง โดยใต้โลโก้ ASUS จะถูกปั้มเป็นสันนูนแนวยาวพร้อมด้ายเย็บด้วยเข็มจริง เพื่อช่วยการจับถือที่กระชับเวลาถือถ่ายภาพ
นอกจากนั้นฝาหลังยังสามารถถอดออกได้ โดยจะพบกับช่องใส่ซิมการ์ดแบบ Micro Sim และช่องใส่การ์ดความจำ Micro SD สูงสุด 128GB ส่วนแบตเตอรีมีขนาด 3,000 mAh ไม่สามารถถอดออกได้
มาถึงเรื่องกล้องถ่ายภาพ ขอกล่าวถึงสเปกภาพรวมกันก่อน อันดับแรกเรื่องเซ็นเซอร์รับภาพ น่าเสียดายเอซุสไม่ได้พัฒนาขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่เลือกใช้เซ็นเซอร์รับภาพตัวเดียวกับที่อยู่ใน ZenFone 2 (คาดว่าใช้เซ็นเซอร์ขนาด 1/3.06”) รองรับความละเอียดภาพสูงสุด 13 ล้านพิกเซล มาโครได้ใกล้สุด 5 เซนติเมตร ประกบเทคโนโลยี PixelMaster 2.0 ช่วยให้การถ่ายภาพในที่แสงน้อยทำได้ดีขึ้น
อันดับต่อไปเรื่องเลนส์กล้อง ส่วนนี้มีการปรับเปลี่ยนใหม่หมด โดยเอซุสส่งไม้ต่อให้ HOYA เป็นผู้ผลิตชิ้นเลนส์
สำหรับการออกแบบเลนส์ซูมออปติคอลสไตล์เอซุสคือ การซ่อนชิ้นเลนส์ 10 ชิ้นไว้ภายใน แต่เปลี่ยนจากการจัดวางชิ้นเลนส์แบบแนวนอนซ้อนทับกันเหมือนกล้องดิจิตอลที่เลนส์สามารถยืดหดได้ เป็นแนวตั้งด้วยหลักการแบบเดียวกับการผลิตกล้องเพอริสโคป ที่ใช้เลนส์ปริซึมในการสะท้อนภาพ (Periscope – ยกตัวอย่างคล้ายกล้องเรือดำน้ำ) พร้อมเพิ่มมอเตอร์ขยับระยะเลนส์ไว้ภายในอย่างแนบเนียน ทำให้เลนส์ซูมใน ZenFone Zoom ไม่ต้องใช้พื้นที่ภายนอกในการติดตั้งเลนส์ซูมแบบยืดหดขนาดใหญ่ ช่วยให้การออกแบบสมาร์ทโฟนทำได้บางเบาเหมือนปกติ
ในส่วนระยะเลนส์เมื่อเทียบกับกล้อง 35 มิลลิเมตรจะอยู่ที่ 28-84 มิลลิเมตร (3x Optical Zoom) รูรับแสงเป็นแบบแปรผันตามระยะซูมเหมือนกล้องดิจิตอลติดเลนส์ซูมทั่วไปคือ ที่ระยะกว้างสุด รูรับแสงจะอยู่ที่ f2.7 ส่วนเมื่อเริ่มซูม รูรับแสงจะไหลไปได้มากถึง f4.8
นอกจากนั้นตัวกล้องยังมาพร้อมไฟแฟลช Dual LED พร้อมเทคโนโลยีป้องกันภาพสั่นไหว OIS (Optical Image Stabilizer) ถึง 4 สตอป และ Laser Auto Focus ที่เอซุสเครมว่าจับโฟกัสได้รวดเร็วเพียง 0.03 วินาทีเท่านั้น
มาดูในส่วนของปุ่มกดและพอร์ตเชื่อมต่อรอบตัวเครื่อง เริ่มจากด้านขวา เป็นที่อยู่ของปุ่มเพิ่ม-ลดระดับเสียง (เมื่ออยู่ในโหมดกล้องจะเปลี่ยนเป็นปุ่มซูมเข้าออก) ถัดมาเป็นปุ่มเปิดปิดเครื่อง ขวามือเริ่มจากปุ่มวงกลม (มีจุดสีแดง) คือปุ่มลัดเข้าสู่โหมดบันทึกวิดีโอ (กดค้างไว้เมื่อหน้าจอปิดอยู่หรือขณะอยู่หน้าโฮมสกรีนจะเข้าโหมดวิดีโอ) ถัดมาเป็นปุ่มชัตเตอร์กล้อง สามารถกดลงครึ่งหนึ่งเพื่อจับโฟกัสได้
ด้านล่างของตัวเครื่อง ตรงกลางเป็นพอร์ตเชื่อมต่อข้อมูลและชาร์จไฟ Micro USB 2.0 ถัดไปเป็นช่องไมโครโฟนหลัก ที่มุมเครื่องจะเป็นช่องสำหรับใส่สายคล้องข้อมือ
ส่วนด้านบนจะเป็นที่อยู่ของช่องเชื่อมต่อหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรและช่องไมโครโฟนตัวที่สองสำหรับตัดเสียงรบกวนเวลาสนทนาโทรศัพท์
มาถึงสเปกของ ASUS ZenFone Zoom เลือกใช้ซีพียู Intel Atom Z3580/Z3590 Quad Core 64 บิต โดยรุ่นที่ทำตลาดในประเทศไทยจะมีสองโมเดล ต่างราคากัน ได้แก่ รุ่นแรกความเร็วซีพียู 2.3GHz (Z3580) พร้อมความจุ 64GB และรุ่นที่สองที่เราได้รับมารีวิวกับความเร็วซีพียู 2.5GHz (Z3590) พร้อมความจุ 128GB
ในส่วนสเปกกราฟิกการ์ดใช้ PowerVR Rogue G6430 รองรับ OpenGL 3.0 แรมระบบเอซุสให้มาเต็มที่ 4GB แบบ Dual Channel (หลังจากโหลดระบบแล้วเหลือให้ใช้ประมาณ 2GB) ระบบปฏิบัติการเป็นแอนดรอยด์ 5.0 Lollipop (รออัปเดตเป็น 6.0 Marshmallow) ครอบทับด้วย ASUS ZenUI 2.0
ด้านการรองรับเครือข่าย ครอบคลุม 2G/3G และ 4G cat4+ (ความเร็วสูงสุด 250Mbps) ในบ้านเราทั้งหมด ส่วน WiFi รองรับมาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac (ความเร็วสูงสุด 433Mbps), บลูทูธ 4.0, มี NFC, GPS รองรับ GLONASS/QZSS/SBAS/BDS ส่วนเซ็นเซอร์ตรวจจับภายในมีให้ครบครันไม่ว่าจะเป็น Accelerator/E-Compass/Gyroscope/Proximity/Ambient Light Sensor/Hall Sensor
อีกส่วนที่น่าสนใจคือ “ระบบชาร์จไฟอย่างรวดเร็ว (Boost Master)” โดยอะแดปเตอร์ชาร์จไฟที่แถมมาให้สามารถเลือกจ่ายไฟได้ทั้ง 5V 2A และ 9V 2A แบบเดียวกับระบบชาร์จไฟของ Qualcomm ทำให้เวลาชาร์จทำได้รวดเร็วขึ้น ยกตัวอย่าง 0-60% ใช้เวลาชาร์จประมาณ 30-40 นาที และ 0-100% ใช้เวลาชัวโมงกว่าๆเท่านั้นเอง
สุดท้ายกับระบบเสียง Sonic Master 2.0 ที่นอกจากการออกแบบลำโพง 1 ตัว ให้สามารถกระจายเสียงได้กว้างแล้ว ระบบ Audio Wiazard ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเลือกโปรไฟล์เสียงและเลือกปรับแต่งได้หลากหลายด้วย
ยูสเซอร์อินเตอร์เฟสและแอปพลิเคชัน
ASUS ZenFone Zoom มาพร้อมระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 5.0 Lollipop และถูกครอบทับด้วยอินเตอร์เฟส ASUS ZenUI 2.0 พร้อมปรับแต่งให้การแสดงผลและอัตราการตอบสนองของหน้าจอกับการสัมผัสทำได้ลื่นไหลมากขึ้นระดับ 60 มิลลิวินาที อีกทั้งยังรองรับการสัมผัสเมื่อผู้ใช้สวมถุงมือด้วย
ในส่วนแอปพลิเคชัน ยังคงคอนเซปเอซุสคือให้มาแบบจริงใจจัดเต็มครบทุกการใช้งานเหมือน ZenFone ทุกรุ่น รวมถึงแอปฯ โซเชียลของเอซุสอย่าง ZenCircle ก็มีให้เลือกใช้ แต่ในรีวิวนี้ทีมงานจะขอคัดเลือกเฉพาะแอปฯที่น่าสนใจมานำเสนอ
แอปฯจัดการพลังงาน – เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สมารถเลือกหรือสร้างโปรไฟล์จัดการพลังงานและซีพียูได้ด้วยตัวเอง เพื่อยืดอายุแบตเตอรีให้นานขึ้น นอกจากนั้นระบบยังสามารถปรับเลือกใช้โปรไฟล์แบบอัตโนมัติตามรูปแบบการใช้งานได้ด้วย
File Manager – แอปฯจัดการไฟล์ในเครื่อง เป็นอีกหนึ่งแอปฯที่เอซุสพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก เพราะนอกจากช่วยในเรื่องการจัดการไฟล์ต่างๆในหน่วยเก็บข้อมูลทั้งหมดได้แล้ว แอปฯนี้ยังรองรับระบบจัดการไฟล์แบบไร้สายกับคอมพิวเตอร์ที่บ้านผ่าน WiFi ได้ รวมถึงยังสามารถซิงค์การทำงานระหว่างสมาร์ทโฟนกับคอมพิวเตอร์ที่บ้าน (PC) ผ่าน USB ได้หลากหลายฟังก์ชัน ไม่ว่าจะเป็น PC Link แชร์หน้าจอไปยังคอมพิวเตอร์หรือเปลี่ยน ZenFone คุณให้เป็น Wireless TouchPad เพื่อควบคุมแทนเมาส์ได้
บันทึกสายสนทนาได้ – เป็นฟีเจอร์ที่ไม่ต้องหาแอปฯติดตั้งเพิ่ม เพราะเอซุสจัดมากับระบบ ZenUI โดยระหว่างโทรศัพท์คุณสามารถกดปุ่ม REC เพื่อบันทึกเสียงสนทนาได้ทันทีในรูปแบบไฟล์เสียง 3GP ปกติ (บันทึกเสร็จแล้วไฟล์จะอยู่ที่โฟลเดอร์ callrecordings)
Keyboard – ปรับแต่ง เลือกธีมได้ และมาพร้อมฟีเจอร์ Write to Type เขียนตัวอักษรด้วยลายมือและระบบจะแปลงเป็นตัวพิมพ์ให้ (รองรับภาษาไทย)
Kid Mode – ผู้ปกครองสามารถเลือกอนุญาตให้เด็กเข้าถึงแอปฯต่างๆในเครื่องได้ตามต้องการ
Gallery – นอกจากใช้รับชมภาพแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถกดรูปม้วนฟิล์มเพื่อรวมภาพนิ่งตัดต่อเป็นวิดีโอพร้อมใส่ดนตรี ข้อความประกอบผ่านแอปฯ MiniMovie หรือจะกดปุ่มสีส้มเพื่อทำ PhotoCollage ก็ได้
กล้องถ่ายภาพ
แอปฯควบคุมกล้องถ่ายภาพของ ZenFone Zoom ใช้งานง่ายมาก และในโหมดอัตโนมัติจะมีระบบแนะนำการถ่ายภาพด้วย ส่วนการซูมภาพสามารถกดซูมเข้าออกที่ปุ่มเพิ่มลดเสียงหรือใช้นิ้วสัมผัสหน้าจอแล้วถ่างออกก็ได้
คลิปวิดีโอแสดงการซูมภาพตั้งแต่ระยะกว้างสุดจนถึง Optical Zoom 3x และ Digital Zoom 12x
โดยขีดซูมสีฟ้าที่ 1x-3x จะเป็นระยะออปติคอลซูมด้วยการเคลื่อนที่ของเลนส์ภายใน แต่พอพ้นระยะ 3x ไปจนถึง 12x ส่วนนี้จะเป็น Digital Zoom
ระยะกว้างสุด 28 มิลลิเมตร
ซูม 3 เท่าที่ (ระยะ 84 มิลลิเมตร)
เข้าสู่ Digital Zoom 12 เท่า
มาดูในส่วนการตั้งค่า จุดที่ทุกคนจำเป็นต้องทราบรายละเอียดก่อนกดถ่ายภาพก็คือ คุณสามารถเปิดระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบซอฟต์แวร์ให้ทำงานควบคู่กับ OIS ในกล้องได้ เพียงแต่ในโหมดวิดีโอ จะถ่ายได้ที่ความละเอียด 720p เท่านั้น อีกทั้งคุณยังสามารถเลือกความละเอียดของไฟล์ภาพได้จากเมนู “คุณภาพของภาพ” ได้สองระดับคือ มาตรฐานกับเน้นคุณภาพ โดยการเลือกแบบหลังจะให้ไฟล์ที่มีขนาดใหญ่แต่คุณภาพไฟล์จะดีกว่ามาก
โหมดถ่ายภาพแนะนำ
ภาพระยะจริงถ่ายด้วย Super resolution mode
ลองครอปภาพจาก 50 ล้านพิกเซลเหลือ 30 ล้านพิกเซล
ลองครอปภาพจาก 50 ล้านพิกเซลเหลือ 15 ล้านพิกเซล
ลองครอปภาพจาก 50 ล้านพิกเซลเหลือ 3 ล้านพิกเซล
Super resolution mode – เป็นโหมดความละเอียดสูง 50 ล้านพิกเซล เหมาะแก่การใช้งานในสถานการณ์ที่ไม่สามารถซูมถึงสิ่งที่ต้องการถ่าย โหมดนี้จะช่วยให้การครอปภาพทำได้ง่ายและให้คุณภาพดีขึ้น ตามตัวอย่างด้านบน
ในส่วนขนาดไฟล์ภาพที่ความละเอียดปกติ 13 ล้านพิกเซลจะตกไฟล์ละประมาณ 4.5-5.2MB ส่วนที่ความละเอียด Super resolution ตกไฟล์ละประมาณ 6.7-7.2MB
HDR – โหมดนี้สมาร์ทโฟนทั่วไปในปัจจุบันมีเกือบทุกรุ่น แต่ใน ZenFone จะแตกต่างตรงที่เอซุสเลือกใช้เทคโนโลยี PixelEnhancing ที่พัฒนาขึ้นมาเป็นตัวจัดการภาพ HDR โดยเฉพาะ ทำให้ภาพ HDR ส่วนที่มืดจะถูกดึงให้สว่างและไม่สูญเสียรายละเอียดใดๆเลย
Manual Mode – โหมดถ่ายภาพสุดท้ายที่น่าจะถูกใจช่างภาพมืออาชีพ เพราะระบบจะอนุญาตให้เราสามารถปรับตั้งค่ากล้องถ่ายภาพด้วยตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่ความเร็วชัตเตอร์ (Long exposure ตั้งได้ช้าสุดถึง 32 วินาที) สามารถปรับความไวแสง ชดเชยแสง +/- สมดุลแสงสีขาวและเลือกล็อกโฟกัสได้
นอกจากนั้นในโหมดนี้ บริเวณจุดโฟกัสยังมาพร้อมขีดวัดระดับความลาดเอียงและมี Histogram ด้วย รวมถึง Laser Auto Focus ยังสามารถนำไปประยุกต์เป็นไม้บรรทัดวัดขนาดสิ่งของได้ผ่านแอปฯ Laser Ruler
ตัวอย่างภาพถ่ายจาก ASUS ZenFone Zoom
สรุปผลทดสอบกล้องถ่ายภาพ
เริ่มจากส่วนถ่ายภาพนิ่ง เรื่องออปติคอลซูมและฮาร์ดแวร์ทั้งหมด ส่วนนี้ขอชมเชยเอซุสว่าออกแบบและพัฒนามาได้ดี ใช้งานได้จริง ซูมออปติคอล 3 เท่าให้คุณภาพที่ดีเหมือนกล้องดิจิตอลตัวเล็ก
แต่ทั้งนี้ก็มีข้อสังเกตในเรื่องซอฟต์แวร์ควบคุมกล้องเล็กน้อย โดยเฉพาะเรื่องระบบ OIS ที่ฟังจากสเปกแล้วป้องกันภาพสั่นไหวได้ถึง 4 สตอปแต่พอทดลองใช้จริงกลับพบว่า OIS ทำงานไม่ค่อยเสถียรนัก บางจังหวะใช้งานได้ดี บางจังหวะขนาดถ่ายในที่แสงปกติ ไม่ใช่ที่มืด ภาพที่ได้กลับสั่นไหวอย่างไม่น่าเชื่อ
อีกทั้งเรื่องของ ออโต้โฟกัสที่ทำงานเร็วจริง แต่พอกดชัตเตอร์ลงไปเท่านั้น บางครั้งระบบโฟกัสกับวิ่งวืดวาดไปมาจนพลาดเป้าบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในที่แสงน้อยและซูม 3 เท่า ออโต้โฟกัสจะทำงานช้า เหมือนหาโฟกัสไม่พบ รวมถึงอาการ Shutter Lag และการบันทึกภาพที่ล่าช้าระดับวินาทีที่ทีมงานพบเจอตลอด
ครอป 100% จากภาพทดสอบ Super resolution ด้านบน
ส่วนโหมด Super resolution ก็ถือเป็นลูกเล่นที่น่าสนใจ เหมาะสำหรับคนที่ชอบครอปภาพลงโซเชียลเท่านั้น เพราะถ้าตั้งใจจะใช้โหมดนี้ถ่ายภาพเพื่อทำโปสเตอร์ ทีมงานแนะนำให้ชมภาพตัวอย่างด้านบนก่อน
และอีกเรื่องสำคัญก็คือ ZenFone Zoom ไม่มีคุณภาพไฟล์แบบ RAW ให้เลือกเหมือนคู่แข่ง
สรุปเรื่องฮาร์ดแวร์ถือว่าพัฒนามาได้ดีและน่าจะเป็นอีกหนึ่งต้นแบบสมาร์ทโฟนเน้นกล้องในอนาคตได้ เพียงแต่เอซุสต้องปรับปรุงเรื่องเฟริมแวร์และระบบซอฟต์แวร์ควบคุมกล้องให้ดีกว่านี้
ตัวอย่างวิดีโอจาก ASUS ZenFone Zoom และสรุปผลทดสอบ
มาถึงการทดสอบวิดีโอ ส่วนนี้ถือเป็นข้อสังเกตใหญ่สุดที่เอซุสควรเรียบปรับปรุง โดยเฉพาะคุณภาพไฟล์วิดีโอที่ไม่ค่อยคมชัดนัก อีกทั้งการเลือกออปชันเน้นคุณภาพยังให้ภาพวิดีโอที่กระตุกเกินไป จนไม่น่าเชื่อว่าเป็นวิดีโอที่ถ่ายจากสมาร์ทโฟนระดับกลางที่มีฮาร์ดแวร์กล้องไม่แพ้ไฮเอนด์
ส่วนระบบป้องกันภาพสั่นไหว OIS เมื่ออยู่ในโหมดวิดีโอเหมือนระบบดังกล่าวจะทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพหรือไม่ทำงานก็ไม่ทราบ เพราะเท่าที่ทดลองเปิดฟังก์ชันป้องกันภาพสั่นไหว ระบบจะเลือกใช้ความสามารถจากซอฟต์แวร์มากกว่า ถึงทำให้สามารถเลือกความละเอียดวิดีโอได้สูงสุดแค่ 720p อีกทั้งคุณภาพที่ได้ก็อยู่ในเกณฑ์ต้องปรับปรุงด่วน
ทดสอบประสิทธิภาพด้านการประมวลผล
AnTuTu Benchmark – ทำคะแนนได้ 62,673 คะแนน, Multitouch 10 จุด
PC Mark – ทำคะแนนได้ 5,679 คะแนน
3D Mark Sling Shot – ทดสอบไม่ผ่าน เพราะกราฟิกไม่รองรับ OpenGL ES เวอร์ชัน 3.1
3D Mark Ice Storm – ทำคะแนนชุดทดสอบ Unlimited ได้ 21,073 คะแนน Extreme ได้ 10,461 คะแนน
Vellamo – Chrome Browser ได้คะแนน 3,119 คะแนน Metal ได้ 1,543 คะแนน และ Multicore ได้ 1,569 คะแนน
Geekbench 3 – Single-Core ได้ 957 คะแนน Multi-core ได้ 2,888 คะแนน
Quadrant Standard – ได้คะแนน 15,189 คะแนน
PassMark Performance Test – System ได้ 5,573 คะแนน CPU Tests ได้ 28,347 คะแนน Disk Tests ได้ 19,799 คะแนน Memory Tests ได้ 5,843 คะแนน 2D Graphics Tests ได้ 4,119 คะแนน และ 3D Graphics Tests ได้ 1,568 คะแนน
ทดสอบแบตเตอรี ตั้งโปรไฟล์พลังงาน “ปกติ (Normal)” ทำเวลาได้ 5 ชั่วโมง 9 นาที 10 วินาที คิดเป็นคะแนนได้ 3,089 คะแนน
ตั้งโปรไฟล์ “โหมดสมรรถนะ (Performance)” ทำเวลาได้ 4 ชั่วโมง 25 นาที คิดเป็นคะแนน 2,650 คะแนน
ตั้งโปรไฟล์ “ประหยัดพลังงาน (Power Save)” ทำเวลาได้ 5 ชั่วโมง 21 นาที คิดเป็นคะแนน 3,210 คะแนน
สรุปโดยภาพรวมในส่วนการทดสอบประสิทธิภาพการประมวลผล ทั้ง ZenUI 2.0 และประสิทธิภาพของซีพียู Intel Atom 64 บิต รวมถึงการใส่แรมมามากถึง 4GB Dual Channel ซึ่งเพียงพอต่อการรันแอปฯเบื้องหลังจำนวนมาก จนทำให้การใช้งานทั่วไปลื่นไหลดีมาก แอปฯที่ติดตั้งมาจากโรงงานครอบคลุมทุกการใช้งาน
จุดนี้เอซุสยังคงรักษามาตรฐานตัวเองได้ดีมาก คุณเคยประทับใจ ZenFone 2 ยังไง ZenFone Zoom ก็ไม่ต่างกัน
สรุป
สำหรับราคาค่าตัว ASUS ZenFone Zoom ในประเทศไทยมีการแยกขายเป็นสองรุ่น ได้แก่
- รุ่นแรกความเร็วซีพียู 2.3GHz (Z3580) พร้อมความจุ 64GB ราคาอยู่ที่ 16,990 บาท
- ส่วนรุ่นที่สองความเร็วซีพียู 2.5GHz (Z3590) พร้อมความจุ 128GB และแถม ZenFlash (ไฟแฟลชแยก) มาให้ด้วยในราคา 18,990 บาท
เรื่องประสิทธิภาพทีมงานขอไม่กล่าวสรุปถึงเพราะได้ความรู้สึกไม่ต่างจาก ZenFone 2 ที่ได้ทดสอบไปเมื่อปีก่อนนัก แต่สิ่งที่ทีมงานอยากกล่าวถึงเป็นบทสรุปมากที่สุดก็คือเรื่องจุดประสงค์หลักของ ASUS ZenFone Zoom นั่นก็คือกล้องถ่ายภาพซูมแบบออปติคอล ชนิดซูมจริง ชัดจริง ซึ่งถามว่าเอซุสทำได้ดีคุ้มค่าคุ้มราคาหมื่นปลายๆหรือไม่ ทีมงานขอเรียนตามตรงว่าถ้ามองในแง่ฮาร์ดแวร์ แนวคิดและการต่อยอด ส่วนนี้เอซุสทำได้ดีเกินราคาไปมากแล้ว แต่ในเรื่องความลงตัวของซอฟต์แวร์ควบคุม ไปถึงคุณภาพไฟล์ภาพ โดยเฉพาะการถ่ายวิดีโอส่วนนี้ ZenFone Zoom ยังทำได้ไม่ดี คงต้องรอการอัปเดตแก้ไขในอนาคตต่อไปหรือไม่ก็อาจต้องรอรุ่น 2 หลายๆสิ่งน่าจะลงตัวมากกว่านี้
สุดท้ายเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านที่กำลังสนใจ ZenFone Zoom คงตั้งความคาดหวังไว้สูง เอาเป็นว่าอย่าเชื่อคำวิจารณ์ของทีมงานทั้งหมด อยากให้ลองไปทดสอบด้วยตัวเองครับ ถ้าชอบก็ซื้อได้เลย เนื่องจากถ้ามองในภาพรวม ประสิทธิภาพหลายส่วนของ ZenFone Zoom ก็ดีไม่แพ้ใครในตลาดระดับเดียวกัน แม้หน้าตาอินเตอร์เฟสจะรกไปสักหน่อยก็ตาม