หลังจาก OPPO (ออปโป้) เปิดตัวสมาร์ทโฟนเรือธง R9s Plus ไปเมื่อต้นปี (พร้อมขายแล้ว) วันนี้ก็ถึงคิวของน้องรอง R9s กับว่าที่สมาร์ทโฟนรองท็อปที่มีความโดดเด่นอยู่ที่สเปกกล้องหน้าและหลัง เอาใจทั้งขาเซลฟีและคนชอบถ่ายภาพ โดยในรุ่น R9s และ R9s Plus มีจุดขายที่น่าสนใจอยู่ในเรื่องราคาค่าตัวไม่เกิน 2 หมื่นบาท แต่สเปกและฟังก์ชันการใช้งานเทียบกับคู่แข่งเรือธงในท้องตลาดได้แน่นอน โดยเฉพาะรุ่นรอง R9s ที่ออปโป้คาดหวังจะให้เป็นสมาร์ทโฟนเน้นความคุ้มค่าคุ้มราคามากที่สุด
การออกแบบ
สำหรับ OPPO R9s จะมาพร้อมหน้าจอ AMOLED ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด 1,920×1,080 พิกเซล ครอบทับด้วยกระจกจอ 2.5D Gorilla Glass 5 พร้อมรองรับการสัมผัสขณะสวมถุงมือหรือแม้กระทั่งนิ้วเปียกก็สามารถจิ้มสั่งงานหน้าจอได้
ด้านกล้องถ่ายภาพด้านหน้า ติดตั้งอยู่ข้างลำโพงสนทนาโทรศัพท์ มาพร้อมความละเอียดภาพ 16 ล้านพิกเซล รูรับแสงกว้าง f2.0
น้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 147 กรัม บาง 6.58 มิลลิเมตร มีสีให้เลือก 2 สี ได้แก่ Gold และ Rose Gold
ในส่วนปุ่มโฮมจะใช้ระบบ Solid-State เป็นเซ็นเซอร์อ่านลายนิ้วมือ (ไม่ใช่ปุ่มกด) คล้ายกับ iPhone 7/7 Plus เพียงผู้ใช้นำนิ้วมาสัมผัสเบาๆ (ไม่ต้องออกแรงกด) ระบบจะอ่านลายนิ้วมือและปลดล็อกหน้าจอทันที หรือระหว่างใช้งานเพียงสัมผัสเบาๆที่ปุ่มนี้ ระบบจะพากลับมาที่หน้าโฮมสกรีนทันที
มาถึงจุดที่น่าสนใจและถือเป็นครั้งแรกของกลุ่มสมาร์ทโฟนราคาไม่เกิน 2 หมื่นบาทก็คือ “ออปโป้ได้ฝังเสาสัญญาณ Ultra-fine บาง 0.3 มิลลิเมตรมาให้จำนวน 6 เสา” แบ่งเป็น 2 ชุด (ด้านบน 3 เสา ด้านล่าง 3 เสา) ทำให้ทั้ง OPPO R9s และ R9s Plus จะสามารถจับทั้งสัญญาณ WiFi และ 4G ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
พลิกเครื่องมาดูรายละเอียดด้านหลัง นอกจากเสาสัญญาณ 6 เสา พาดผ่านดึงดูดสายตาแล้ว เรื่องของกล้องถ่ายภาพหลังยังถูกกล่าวเป็นจุดขายหลังของ R9s อีกด้วย โดยกล้องหลังจะมาพร้อมความละเอียด 16 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์รับภาพ Sony IMX398 รูรับแสงกว้าง f1.7 พร้อมเทคโนโลยีโฟกัส Dual PDAF แบบเดียวกับ Dual Pixel บน Samsung Galaxy S7 โดยระบบดังกล่าวจะทำให้กล้องสามารถจับโฟกัสได้เร็วขึ้น 40% แม้ในที่แสงน้อย รวมถึงความแม่นยำที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งในรุ่น R9s Plus จะมาพร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหว OIS+ (R9s รุ่นที่ทีมงานทดสอบ ไม่มีระบบป้องกันภาพสั่นไหวเชิงฮาร์ดแวร์ แต่ใช้ซอฟต์แวร์เป็นตัวจัดการแทน)
ส่วนไฟแฟลชจะเป็น Dual LED True Tone
กลับมาดูพอร์ตเชื่อมต่อและปุ่มกดรอบตัวเครื่อง เริ่มจากด้านขวาของเครื่อง จะเป็นช่องใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์ รองรับ 2 ซิมแบบนาโน โดยช่องใส่ซิมที่ 2 จะแชร์กับช่อง MicroSD Card (รองรับความจุสูงสุด 256GB)
ถัดลงมาเป็นปุ่มเปิดปิดเครื่อง
อีกด้านเป็นปุ่มเพิ่มลดเสียง
ด้านล่าง เริ่มจากซ้ายมือจะเป็นช่องลำโพง ตรงกลางเป็นพอร์ต MicroUSB ไมโครโฟนและขวามือเป็นช่องหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร
ด้านบน ไม่มีพอร์ตเชื่อมต่อและปุ่มกดใดๆ นอกจากช่องไมโครโฟนตัวที่ 2 สำหรับตัดเสียงรบกวนและใช้บันทึกวิดีโอ
ในส่วนระบบชาร์จไฟยังคงเอกลักษณ์ออปโป้ VOOC Flash Charge เช่นเดิม (สาย MicroUSB จะออกแบบพิเศษ สังเกตพอร์ตเชื่อมต่อจะเป็นสีเขียว) โดยการใช้เวลาชาร์จไฟ 30 นาทีจะเพิ่มระดับแบตเตอรีได้มากสุด 75% หรือคิดเป็น 4 เท่าของระบบชาร์จไฟปกติ พร้อมระบบตรวจวัดแรงดันไฟและตรวจจับความร้อนขณะชาร์จ ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรได้ด้วย
สเปก
สเปก OPPO R9s จะมาพร้อมหน่วยประมวลผล Qualcomm MSM8953 ‘Snapdragon 625’ Octa-core ความเร็ว 2.02GHz กราฟิก Adreno 506 มาพร้อมแรม 4GB (R9s Plus จะเพิ่มแรมเป็น 6GB) รอมความจุ 64GB เหลือให้ใช้งานจริงประมาณ 52GB
ด้านระบบปฏิบัติการเลือกใช้ Android 6.0.1 ประกบ ColorOS 3.0 จากออปโป้
ในส่วนสเปกอื่นๆ เริ่มจากการเชื่อมต่อเครือข่ายโทรศัพท์รองรับ 3G/4G ทุกเครือข่ายในประเทศไทย WiFi รองรับมาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac บลทูธ 4.1, GPS/aGPS และไม่มี NFC
ยูสเซอร์อินเตอร์เฟสและฟีเจอร์เด่น
OPPO R9s มาพร้อมยูสเซอร์อินเตอร์เฟส ColorOS 3.0 ที่ในครั้งนี้ออปโป้เน้นปรับปรุง UI ให้มีความเรียบง่ายและเบาเข้าถึงได้เร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะรูปแบบและฟังก์ชันการใช้งานจะคล้ายกับ iOS ใน iPhone อย่างมาก โดยในส่วนความลื่นไหลถือว่าออปโป้ปรับปรุงมาได้ดี ไม่พบปัญหาอาการหน่วงหรือแรมหมดระหว่างใช้งานแต่อย่างใด
นอกจากนั้น ทางออปโป้ยังเพิ่มโหมด Simple UI หรือหน้าอินเตอร์เฟสแบบเน้นปุ่มกดขนาดใหญ่และคัดเฉพาะแอปฯและฟังก์ชันเน้นโทรศัพท์กับรับข้อความเท่านั้น (แอปฯไม่สำคัญต่างๆจะถูกซ่อนไว้) โดย Simple UI ถูกออกแบบมาให้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุเป็นสำคัญ
ในส่วนแอปฯติดตั้งมาจากโรงงาน ที่น่าสนใจจะเป็น “File safe” หรือตู้นิรภัยเก็บไฟล์ ที่ระบบจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถป้องกันไฟล์ส่วนตัว เช่น เอกสาร รูปภาพต่างๆด้วยรหัสผ่าน และนอกจากนั้น ColorOS 3.0 ยังมาพร้อมระบบตรวจจับการทำงานของแอปฯขยะหรือแม้กระทั่งไวรัสต่างๆพร้อมจำกัดออกจากตัวเครื่องโดยไม่ต้องติดตั้งแอปฯเสริมจากภายนอกแต่อย่างใด
กล้องถ่ายภาพ
แอปฯควบคุมกล้องถ่ายภาพ ถือเป็นอีกส่วนที่ออปโป้ปรับปรุงใหม่ให้ทำงานได้รวดเร็วและมาพร้อมหน้าตาที่เรียบง่ายมากขึ้น (ออกแบบแนวเดียวกับ iOS บน iPhone อย่างมาก)
โดยโหมดถ่ายภาพจะมีให้เลือกตั้งแต่ Time Lapse, วิดีโอ, รูปถ่าย, สวยงาม (Beauty Mode) – สามารถปรับความเนียนของใบหน้าได้ตามต้องการ และพาโนรามา โดยในโหมดถ่ายภาพปกติจะมีโหมดย่อยให้เลือกใช้ตั้งแต่ UltraHD สูงสุด 64 ล้านพิกเซล, ตัวกรองสี – ถ่ายภาพแบบติดฟิลเตอร์สี, GIF Animation, Double Exprosure ถ่ายภาพซ้อนภาพ และที่ขาดไม่ได้คือโหมดผู้เชี่ยวชาญ (Professional Mode) ที่ระบบจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถปรับตั้งค่ากล้องด้วยตัวเองได้ตั้งแต่ ความเร็วชัตเตอร์ ค่าความไวแสง จุดโฟกัสและปรับเพิ่มลดชดเชยแสง
แต่น่าเสียดายที่ระบบไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเลือกปรับตั้งความละเอียดภาพและเปิดใช้ RAW File ได้เหมือนโหมดกล้องในแอนดรอยด์หลายๆรุ่น โดยภาพที่ถ่ายในโหมดถ่ายภาพปกติจะมีความละเอียดเต็ม 16 ล้านพิกเซลทั้งกล้องหน้าและหลัง
ถ่ายในโหมด UltraHD 64 ล้านพิกเซล
ครอป 100% จากภาพบน เหลือความละเอียด 10 ล้านพิกเซล ความคมชัดอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ โพสต์ลงโซเชียลคมชัด แต่ถ้าเน้นพิมพ์ภาพขนาดใหญ่ภาพจะติดเบลอเล็กน้อย เนื่องจากเทคโนโลยี 64 ล้านพิกเซลใช้การประมวลผลผ่านซอฟต์แวร์ไม่ใช่ฮาร์ดแวร์ถ่ายเป็น 64 ล้านฯจริงๆ
Beauty Mode ปรับตามค่ามาตรฐานจากโรงงาน
ภาพถ่ายในที่แสงน้อย ด้วยรูรับแสงกว้าง f1.7 ทำให้ภาพที่ได้มีนอยซ์ที่ต่ำ และคุณภาพไฟล์ภาพไม่ต่างจาก Samsung Galaxy S7/S7 edge แต่อย่างใด
ส่วนการถ่ายในสภาพแสงกลางวันปกติ แม้รูรับแสงจะกว้าง f1.7 แต่ภาพที่ได้ก็ถือว่ายังให้คุณภาพที่ดี ภาพอาจติดแสงฟุ้งเล็กๆเมื่อถ่ายในที่แสงแดดจัดมาก แต่เรื่องความคมชัดถือว่าาสอบผ่าน
ในส่วนของวิดีโอ ทีมงานได้ลองทดสอบถ่ายที่ความละเอียด 4K พบว่าระบบป้องกันภาพสั่นไหวจะไม่ทำงาน (ถ้าสังเกตในวิดีโอจะเห็นว่าภาพมีอาการไหวเล็กน้อย) แต่ถ้าใช้ความละเอียด 1080p ระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบซอฟต์แวร์จะทำงาน แต่ก็ยังใช้งานได้ไม่ดีเท่ากับวิดีโอบน R9s Plus ที่ใช้ฮาร์ดแวร์ป้องกันภาพสั่นไหว OIS
ส่วนระบบออโต้โฟกัส Dual PDAF ถือว่าทำงานได้ดีมาก โฟกัสจับได้เร็ว แม่นยำและนุ่มนวลเหมือนกับ Dual Pixel ในสมาร์ทโฟนซัมซุง Galaxy S7
สรุปโดยภาพรวมสำหรับกล้องถ่ายภาพใน OPPO R9s ถือว่าให้ผลลัพท์ที่ดีเกินคาดหมายมาก ถ้าเปรียบเทียบแล้วเรียกได้ว่ากล้องหลัง OPPO R9s จะให้คุณภาพไฟล์ภาพไม่ต่างจากเรือธงอย่าง Samsung Galaxy S7/S7 edge แต่อย่างใด ความรวดเร็วในการจับโฟกัสและมิติภาพใกล้เคียงกันมาก จะต่างกันก็ในเรื่องโทนสีเท่านั้น
ทดสอบประสิทธิภาพ
ตามความจริง สเปก R9s จะเป็นรองสมาร์ทโฟนเรือธงในปีนี้หลายรุ่น แต่ถ้ามองเฉพาะกลุ่มราคาไม่เกิน 2 หมื่นบาทและมองเรื่องการใช้งานจริงเป็นหลัก R9s ถือว่าสอบผ่านแทบทุกอย่าง โดยเฉพาะการปรับระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จากออปโป้ที่ทำได้ดีและน่าประทับใจ
ColorOS 3.0 ใช้งานได้ลื่นไหล ไม่พบอาการหน่วงให้รำคาญใจ แรม 4GB ถือว่าเพียงพอแล้ว และทีมงานเชื่อว่าหลายคนที่ได้ลองสัมผัสทั้ง R9s และ R9s Plus น่าจะชื่นชอบส่วนของ UI ใหม่จากออปโป้ไม่ต่างจากทีมงาน แม้จะมีข้อสังเกตเล็กน้อยในเรื่องการจัดวางเลย์เอาท์และออกแบบ UI ที่ไปเหมือน iOS บน iPhone มากจนขาดเอกลักษณ์ของออปโป้ก็ตาม
มาถึงแบตเตอรี R9s ให้ความจุแบตเตอรีมา 3,010mAh ในขณะที่ R9s Plus ให้ความจุแบตเตอรีมามากถึง 4,000mAh โดยเมื่อทดสอบผ่านซอฟต์แวร์ PC Mark พบว่าแบตเตอรีใน R9s สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง (เปิดหน้าจอ 4G+WiFi ตลอดการทดสอบ) ถึง 11 ชั่วโมง 49 นาที แบตเตอรีจะเหลือประมาณ 10% แต่ถ้าใช้จนแบตเตอรีเหลือ 0% จะทำเวลาได้ประมาณ 12-13 ชั่วโมง ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานตลอดทั้งวันแน่นอน
สรุป
สำหรับราคา OPPO R9s อยู่ที่ 14,990 บาท ส่วน R9s Plus (สเปกแรงกว่า R9s + แรม 6GB + แบตเตอรี 4,000mAh และกล้องมี OIS) อยู่ที่ 16,990 บาท
ทั้งสองรุ่นสำหรับทีมงานถือว่าเป็นการเปิดประสบการณ์สมาร์ทโฟนเรือธงไล่ไปถึงสมาร์ทโฟนระดับกลางครั้งใหม่ของออปโป้ที่ยังคงโดดเด่นในเรื่องราคาขายที่ตั้งมาได้โดนใจคนไทยอย่างมาก ส่วนเรื่องประสิทธิภาพแม้ในส่วนหน่วยประมวลผลจะใส่รุ่นระดับกลางมาให้ แต่ออปโป้ก็สามารถปรับฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จนสามารถทำงานสอดประสานกันได้ลื่นไหลไม่ต่างจากพวกเรือธงสองหมื่นบาท ถือเป็นการกลับมาของออปโป้ที่น่าจับตามองและถือเป็นอีกหนึ่งสมาร์ทโฟนสุดคุ้ม ไม่ควรมองข้ามประจำปี 2017 ได้เลย
แต่ทีมงานแอบเสียดายเล็กน้อยในเรื่องดีไซน์ตัวเครื่องและ UI หลายส่วนที่ขาดเอกลักษณ์ความเป็นออปโป้ไปเหมือนกับดีไซน์ของ iPhone และระบบปฏิบัติการ iOS มากเกินไป