คอนเซปต์ของ Mesh Wi-Fi เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น เมื่ออุปกรณ์พกพามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการมาของยุค IoT ที่ใกล้ตัวขึ้น ทำให้วันนี้ผู้ผลิตเราเตอร์ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์เริ่มออกมาให้ข้อมูลส่วนนี้กันมากขึ้น
อีกเรื่องก็คือมีการสำรวจพบว่าปัญหาหลักของผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในบ้าน เวลามีการร้องเรียนว่าอินเทอร์เน็ตช้า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากอยู่ไกลจากตัวเราเตอร์ที่ปล่อยสัญญาณทำให้สัญญาณไวไฟอ่อน และเน็ตวิ่งได้ไม่เต็มความเร็ว
เมื่อมี Painpoint เหล่านี้ การนำระบบ Mesh Wi-Fi เข้ามาจึงกลายเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยเหลือให้ผู้ใช้ได้ประสบการณ์ใช้งานอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ได้เต็มความเร็ว แม้ว่าจะอยู่ในจุดไหนของบ้านก็ตาม
จุดเด่นของ Nokia Wi-Fi Beacon 3 คือเรื่องของความฉลาดในการบริหารจัดการ และความสามารถในการเพิ่มเราเตอร์จุดที่ 2-3 ภายในบ้าน เพื่อรองรับปริมาณอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตภายในบ้าน และขณะเดียวกันก็ช่วยให้ได้สัญญาณที่ดีที่สุดด้วยเช่นเดียวกัน
ติดตั้งง่ายเสียบปลั๊ก–โทรแจ้ง
เนื่องจากการนำ Nokia Wi-Fi Beacon 3 มาต่อใช้งานภายในบ้าน จะไม่ได้มีพนักงานเข้ามาช่วยติดตั้งให้ เพราะมีขั้นตอนง่ายๆ ไม่กี่ขั้นตอน ก็สามารถติดตั้งใช้งานได้ด้วยตัวเอง เพียงแต่จะมีขั้นตอนสำคัญคือต้องแจ้งให้ทาง Call Center ช่วยปรับระบบจากโมเด็มเราเตอร์เดิมที่ใช้มาเป็นแบบ PPPoE
ขั้นตอนเหล่านี้ ผู้บริโภคที่ซื้อ Nokia Wi-Fi Beacon 3 มาติดตั้งใช้งานกับ AIS Fibre สามารถโทรเข้าไปสอบถามกับทาง Call Center เมื่อพร้อมติดตั้งได้เลย อย่างตอนที่ทีมงานนำมาทดสอบ เมื่อต่อ Nokia Wi-Fi Beacon 3
เข้ากับโมเด็มไฟเบอร์ เรียบร้อย ก็โทรแจ้งทาง Call Center ให้เปลี่ยนการเชื่อมต่อสัญญาณ หลังจากนั้นไม่นานก็สามารถใช้เน็ตได้ทันที
หรือในกรณีที่ไม่ต้องการยกเลิกระบบไวเลสเดิมที่ใช้อยู่ แต่นำ Nokia Wi-Fi Beacon 3 มาเสริมเป็นไวเลสอีกวงหนึ่ง ผู้ใช้สามารถเสียบสายแลน (Lan) จากเราเเตอร์เครื่องเดิม มาต่อกับ Nokia Wi-Fi Beacon 3 แล้วเริ่มปล่อยสัญญาณไวไฟใช้งานได้ทันที
โดยในการติดตั้งใช้งาน Nokia Wi-Fi Beacon 3 ผู้ใช้จำเป็นต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Nokia WiFi เมื่อเปิดแอปพลิเคชันขึ้นมาจะเข้าสู่หน้าการตั้งค่า หลังจากนั้นทำตามขั้นตอน อย่างการเสียบปลั้ก Nokia Wi-Fi Beacon 3 เพื่อให้แอปทำการค้นหาตัวเครื่อง ในกรณีที่ต่อตรงกับโมเด็ม ทาง AIS จะแจ้งยูสเซอร์เนมให้กรอกใน WAN Setting ส่วนของ PPPoE เมื่อกรอกเสร็จ ระบบจะทำการตั้งค่าอัตโนมัติให้ใช้งานทันที
ถัดมาในการเพิ่มตัวขยายสัญญาณจุดที่ 2 หรือการเพิ่ม Beacon เมื่อกดเลือกเพิ่มแล้ว แอปจะให้ทำการสแกน QR Code ที่อยู่ใต้ตัวเครื่อง เพื่อระบุว่า Nokia Wi-Fi Beacon 3 ชิ้นนี้ จะเป็นจุดกระจายสัญญาณ หลังจากนั้นก็ให้เลือกว่าจุดนี้ ตั้งอยู่บริเวณใดภายในบ้าน
หลังจากนั้น Nokia Wi-Fi Beacon 3 จุดแรกที่เชื่อมต่อกับเราเตอร์ และ Nokia Wi-Fi Beacon 3 จุดที่ 2 จะเชื่อมต่อกันผ่านสัญญาณไวเลสโดยอัตโนมัติ ทำช่วยลดจุดอัปสัญญาณไวไฟภายในบ้านได้ และในกรณีที่ 2 จุดไม่เพียงพอ ผู้ใช้สามารถซื้อเครื่องมาเพิ่มจุดต่อไปได้อีกเรื่อยๆ
เบื้องต้น การจับสัญญาณไวเลส ที่ Nokia Wi-Fi Beacon 3 เลือกใช้จะตั้งค่าแบบอัตโนมัติ 2.4 GHz และ 5 GHz เป็นมาตรฐาน ภายใต้ชื่อเดียวกัน ในจุดนี้ ถ้าภายในบ้านยังมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับไวเลสบนคลื่น 2.4 GHz อยู่ แนะนำให้เข้าไปตั้งค่าเพิ่มเติม เพื่อแยกเน็ตเวิร์กออกจากกัน
เพราะเท่าที่ลองใช้แบบอัตโนมัติแล้วเครื่องที่จับ 2.4 GHz จะเจอปัญหาเน็ตหลุดบ่อย แต่เมื่อแยกเครือข่ายออกจากกันแล้วปัญหาดังกล่าวก็หายไป ส่วนกรณีที่ภายในบ้านอุปกรณ์ทั้งหมดรองรับ 5 GHz อยู่แล้วก็สามารถใช้งานได้เลย
นอกจากนี้ ภายในแอปพลิเคชัน ยังสามารถใช้ตรวจสอบ และกำหนดค่าการเชื่อมต่อเบื้องต้นได้ โดยจะมีหน้าจอให้ดูว่าปัจจุบันเครื่องใดเชื่อมต่ออยู่กับ Nokia Wi-Fi Beacon 3 จุดไหนบ้าง ผ่านการเชื่อมต่อไวเลส หรือสายแลน ได้ความเร็วสูงสุดในการเชื่อมต่อเท่านั้น
รวมถึงสามารถตั้งได้ว่า จะให้เครื่องนั้นๆ เข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วยหรือไม่ หรือใช้เฉพาะเชื่อมต่อภายในเครือข่ายเท่านั้น นอกจากนี้ ยังสามารถตั้งให้แจ้งเตือนได้ด้วยว่าอุปกรณ์ดังกล่าว หลุดจากการเชื่อมต่อหรือไม่ ถ้าหลุดจะมีการแจ้งเตือนขึ้นมา
คำสั่งพวกนี้จะเหมาะกับอุปกรณ์อย่างกล้องวงจรปิด หรือ IoT ภายในบ้าน เพื่อทำให้เจ้าของได้รับรู้ว่า มีอุปกรณ์ชิ้นใดที่หลุดออกจากการเชื่อมต่อ จะได้เข้าไปตรวจสอบแก้ไขให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม
ดีไซน์ โมเดิร์น วางเป็นเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน
อีกสิ่งที่น่าสนใจของ Nokia Wi-Fi Beacon 3 คือเรื่องของการออกแบบ ที่ถูกออกแบบมาให้เป็นเหมือนเฟอร์นิเจอร์ 1 ชิ้นภายในบ้าน ไม่ได้มีเสาๆ เหมือนเราเตอร์ทั่วๆไป ทำให้สามารถนำไปวางเป็นส่วนหนึ่งของบ้านได้สบายๆ
ตัว Nokia Wi-Fi Beacon 3 จะมีลักษณะเป็นทรงกระบอกขนาด 94 x 160 มิลลิเมตร น้ำหนัก 650 กรัม มีไฟแจ้งเตือนอยู่ส่วนบนของเครื่อง ด้านหน้ามีโลโก้ Nokia อยู่ ข้างใต้จะมีรายละเอียดอธิบายมาตรฐานต่างๆ และสัญลักษณ์ QR Code ไว้ใช้ในการติดตั้ง
ส่วนด้านหลังก็จะเป็นพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ทั้งช่องเสียบไฟกับอะเดปเตอร์ที่ให้มาในกล่อง ช่องเสียบสาย WAN (ต่ออินเทอร์เน็ตจากโมเด็ม) พอร์ตแลน 3 พอร์ต ให้สามารถนำไปเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ปุ่ม WPS สำหรับการล็อกอินใช้งานแบบง่ายๆ และปุ่มเปิด–ปิดเครื่อง
ข้อดีของการที่มีพอร์ต LAN มาให้ด้วยก็คือ ผู้ใช้สามารถนำ Nokia Wi-Fi Beacon 3 ไปวางไว้บริเวณสมาร์ททีวี กล่อง Playbox Apple TV หรือเครื่องเกมคอนโซลอย่าง PS4 แล้วใช้สาย LAN เชื่อมต่อเข้าไป ก็จะทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของอุปกรณ์เหล่านี้สเถียรมากขึ้น
สรุป
Nokia Wi-Fi Beacon 3 จะเหมาะกับผู้ใช้งาน AIS Fibre ที่ต้องการขยายพื้นที่ใช้งานภายในบ้านให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบ้านขนาดใหญ่ที่มีหลายชั้น หรือบริเวณกว้าง แล้วเราเตอร์จุดเดียวที่ติดตั้งให้มาไม่เพียงพอ เพราะข้อดีหลักๆ ของ Mesh-WiFi คือเมื่อติดตั้งครั้งเรียบร้อย จะเดินไปตรงจุดไหนในบ้านก็สามารถเล่นเน็ตได้
อีกเรื่องก็คือความสามารถในการบริหารจัดการข้อมูลของ Nokia Wi-Fi Beacon 3 ที่จะทำให้การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่างๆไร้รอยต่อ ด้วยการผสมผสานคลื่น 2.4 GHz และ 5 GHz ร่วมกัน ทำให้เวลาอุปกรณ์สลับการต่อจากจุดหนึ่ง ไปอีกจุดหนึ่งจะไม่เกิดอาการสะดุด หรือเน็ตหลุดให้เห็น
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของ Nokia Wi-Fi Beacon 3 คือในช่วงนี้จะเป็นการทำตลาดร่วมกับทาง AIS แบบเอ็กซ์คลูซีฟอยู่ ดังนั้นถ้าใช้เน็ตค่ายอื่นแล้วต้องการซื้อไปติดตั้งใช้งาน เป็นเราเตอร์ตัวหลักอาจจะใช้งานได้ไม่สมบูรณ์แบบ กับอีกเรื่องคือราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับรุ่นอื่นๆในท้องตลาด