หลังจากกูเกิลพลิกโฉมแอนดรอยด์ยุคใหม่ในรุ่น 5.0 Lollipop พร้อมเปิดศักราชแอนดรอยด์ดีไวซ์ 64 บิตด้วยชุดรันไทม์ใหม่นามว่า “ART” ครั้งแรก แต่ผลลัพท์ที่ตามมายังไม่น่าพอใจนัก เพราะมีข้อผิดพลาดหลายส่วนเกิดขึ้นกับแอนดรอยด์ 5.0 โดยเฉพาะดีไวซ์ของกูเกิลในตระกูล Nexus ที่เจอปัญหามากสุด จนกูเกิลต้องปล่อยอัปเดตรุ่นย่อยออกมามากมาย
และในวันนี้ตามรอบอัปเดตซอฟต์แวร์ของกูเกิล หลังจากงาน Google I/O ผ่านพ้นไปไม่นาน กูเกิลก็พร้อมปล่อยระบบปฏิบัติการตัวใหม่ออกมาในชื่อ “Marshmallow” ซึ่งเป็นแอนดรอยด์รุ่นที่ 6 ร่วมกับสมาร์ทโฟน Nexus รุ่นใหม่ได้แก่ LG Nexus 5X, Huawei Nexus 6P และแท็บเล็ต Google Pixel C
โดยระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์รุ่นใหม่นี้จะเน้นการปรับปรุง แก้ไขและเพิ่มความสมบูรณ์ของแอนดรอยด์ยุค Material Design ให้มีภาพที่ชัดเจนขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและความฉลาดให้ Google Now ถึงขีดสุดเพื่อไม่ให้เสียชื่อเจ้าพ่อคลังข้อมูล Search Engine ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
สำหรับรอบอัปเดตแอนดรอยด์ 6.0 Marshmallow จะเริ่มต้นจากสมาร์ทโฟนตระกูล Nexus ก่อน ได้แก่ Nexus 5, Nexus 6, Nexus 7, Nexus 9 และ Nexus Player ซึ่งผู้ใช้สามารถอัพเดทผ่านทาง OTA หรืออัปเดตด้วยตัวเองผ่านไฟล์ Factory Images (Google Developers) ได้ตั้งแต่วันนี้ ส่วนแอนดรอยด์โฟนแบรนด์อื่นต้องรอทางผู้ผลิตประกาศรอบอัปเดตอีกครั้ง
ในส่วนการเปลี่ยนแปลงภายใน Android 6.0 Marshmallow เริ่มจากหน้าโฮมสกรีน ภาพรวมจะดูไม่แตกต่างจากแอนดรอยด์ 5.0 Lollipop ตัวก่อนนัก ยกเว้นฟอนต์นาฬิกาหน้าล็อกสกรีนที่ได้รับการปรับใหม่ให้ใหญ่ขึ้นและภาพพื้นหลังที่มีให้เลือกเพิ่มขึ้น
และถ้าลองสัมผัสและใช้งานจริงจะพบว่า กูเกิลมีการปรับเรื่องการแสดงผลส่วน Animation ใหม่ให้มีความลื่นไหลและตอบสนองต่อการกดสั่งงานได้รวดเร็วขึ้นพอสมควร (ทดสอบบน Nexus 5) ส่วนหน้ารวมแอปฯ (App Drawer) ก็มีการปรับการแสดงผลจากเลื่อนในแนวนอนเป็นเลื่อนแนวตั้ง พร้อมแถบแสดงแอปฯที่เปิดใช้งานไปแล้วอยู่เหนือส่วนรวมแอปฯ
มาดูส่วนแจ้งเตือน (Notification) มีการปรับเปลี่ยนไอคอนห้ามรบกวนใหม่ นอกจากนั้นระบบยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งหน้าตั้งค่าด่วนได้ โดยการกดปุ่มเฟืองมุมขวาบนค้างไว้จนเฟืองหมุนแล้วปล่อย ระบบจะพาเข้าสู่หน้าปรับ System UI ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกเปิดตัวแสดงเปอร์เซ็นต์แบตเตอรีได้แล้ว (ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับแอนดรอยด์แบรนด์อื่น)
นอกจากนั้นส่วนควบคุมเสียงที่จะปรากฏขึ้นเมื่อผู้ใช้กดปุ่มเพิ่มลดเสียง จากเดิมจะมีให้ปรับเฉพาะเสียงริงโทนเท่านั้น แต่ในแอนดรอยด์ 6.0 ระบบจะตั้งค่าเริ่มต้นให้ผู้ใช้สามารถปรับเสียงอื่นๆเพิ่มเติมได้เหมือน UI เจ้าอื่นแล้ว
ในส่วนการเปิดโหมดห้ามรบกวนก็เปลี่ยนจากการกด Priority เป็นการกดปุ่มลดเสียงจนไอคอนรูปโทรศัพท์เป็นสีเทาพร้อมมีข้อความ Alarms only ปรากฏขึ้น ซึ่งถือว่าทำได้ง่ายขึ้นและไม่สร้างความสับสนให้ผู้ใช้เหมือนตอนแอนดรอยด์ 5.0
มาถึงการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจที่สุดใน Android 6.0 Marshmallow ก็คือการมาของ Google “Now on Tap” ซึ่งปกติการค้นหาข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลสถานที่ที่ปรากฏในอีเมล์ ชื่อนักร้องจากเพลงที่กำลังฟังอยู่ เราสามารถค้นหาสิ่งเหล่านี้ได้จาก Google Search หรือค้นหาผ่าน Google Now ด้วยวิธีการพิมพ์ค้นหาด้วยตัวเอง ซึ่งกูเกิลมองว่าเป็นวิธีที่ล้าหลังและไม่สะดวกนัก
กูเกิลจึงคิดค้นฟังก์ชัน Now on Tap ขึ้น โดยใช้ความสามารถของ Google Now ที่กูเกิลเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ Android 4.4 KitKat และหลายคนคงได้เห็นความมหัศจรรย์ในการคาดเดาและดึงข้อมูลที่ตรงใจเราโดยที่เราไม่ต้องร้องขอ เช่น ถึงเวลา 9 โมงเช้าซึ่งเป็นเวลาที่เราไปทำงาน Google Now สามารถเรียนรู้และแสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปทำงานอัปเดตเราตลอดทุกเช้า หรือแม้แต่การที่เราเดินทางไปใกล้โรงภาพยนตร์ Google Now สามารถแสดงรอบฉายของโรงภาพยนตร์ที่เราอยู่ใกล้ได้ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้กูเกิลนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นฟีเจอร์ “Now on Tap” ซึ่งระบบสามารถอ่านหน้าแอปฯที่เราเปิดอยู่ได้ เช่น เราเปิดอีเมล์ฉบับหนึ่ง เมื่อเรากดเรียก Now on Tap (กดปุ่มโฮมค้างไว้) ระบบจะอ่านอีเมล์ของเราทั้งฉบับ และจากนั้นระบบจะคาดเดาความต้องการของเราโดยอ้างอิงจากเนื้อความในจดหมาย ตั้งแต่พาดหัวถึงส่วนของข้อความ เช่น ในอีเมล์มีการบอกสถานที่นัดหมาย เมื่อเรากดเรียก Now on Tap ก็จะมีข้อมูลของสถานที่ที่เรานัดหมายปรากฏขึ้น ตั้งแต่ แผนที่เดินทางเชื่อมต่อกับ Google Maps เบอร์โทรศัพท์สอบถามเส้นทาง ภาพสตรีทวิว เป็นต้น
หรือถ้าระหว่างที่เราฟังเพลงอยู่ แล้วเราต้องการทราบรายละเอียดของเพลงและนักร้องที่เรากำลังฟังอยู่ เมื่อกดเรียก Now on Tap ระบบจะดึงข้อมูลศิลปินพร้อมภาพหน้าตานักร้องขึ้นมา นอกจากนั้นยังมีลิงค์ไปยังมิวสิควิดีโอของเพลงที่เรากำลังฟังอยู่ได้ด้วย
ถ้าผู้อ่านยังไม่เห็นภาพการทำงานของ Now on Tap แนะนำให้รับชมคลิปวิดีโอนี้ครับ แล้วจะเข้าใจว่าเหตุใดกูเกิลถึงตั้งสโลแกนฟีเจอร์ Now on Tap ว่า “The smartest shortcut from here to there”
และอีกจุดเด่นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้ Now on Tap ก็คือ ชุดคำสั่งประหยัดแบตเตอรีในชื่อ Doze เพราะหลังจากชาว Nexus โดยเฉพาะ Nexus 5 ได้กร่นด่ากูเกิลว่าแอนดรอยด์ 5 Lollipop บริโภคแบตเตอรีหนักมาก กูเกิลจึงคิดแก้เกมใน Android 6.0 Marshmallow ด้วยชุดคำสั่งใหม่ถอดด้ามนี้
ด้วยหลักการทำงานแบบเดียวกับชื่อร่วมกับชุดคำสั่ง App Standby ก็คือระหว่างที่เราไม่ได้ใช้งานสมาร์ทโฟน (หน้าจอปิดอยู่) แอปฯที่ทำงานอยู่เบื้องหลังทั้งหมดจะถูกตรวจสอบ จากนั้นระบบจะจำกัดการส่งข้อมูลในส่วนแอปฯที่ต้องมีการแจ้งเตือน และบางแอปฯที่ไม่มีการส่งข้อมูลเป็นเวลานานอาจถูกทำให้หลับ (Sleep state)
ผลลัพท์จากการทดสอบ Doze ด้วย Nexus 5 ที่เริ่มเกิดอาการแบตฯเสื่อม ปกติเวลาทีมงานปิดหน้าจอไว้ แบตเตอรีจะหมดลงเร็วและบางครั้งมีอาการเครื่องร้อนแบบไม่ทราบสาเหตุ แต่ใน Android 6.0 Marshmallow ทีมงานชาร์จแบตฯเต็ม 100% เมื่อช่วง 11 โมงเช้า เวลาผ่านไป 8 ชั่วโมง แบตเตอรีลดเหลือ 95% (แจ้งเตือน Facebook เด้งตลอด) และเมื่อดูในส่วนของกราฟคำนวณเวลาใช้งานฟ้องอยู่ที่ 6 วันแบตเตอรีถึงหมด
นอกจากนั้นใน Android 6.0 Marshmallow ยังพร้อมรองรับพอร์ต USB-C ที่จะแนบระบบชาร์จไฟแบบรวดเร็วในอนาคตด้วย
มาถึงการเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆที่น่าสนใจกันบ้าง เริ่มจาก App Permission สำหรับผู้ใช้ที่ชอบจำกัดการติดต่อระหว่างแอปฯกับฮาร์ดแวร์ด้วยเหตุผลคือป้องกันการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ในแอนดรอยด์ 6.0 ผู้ใช้สามารถจัดการการเข้าถึงของแอปฯเหล่านั้นได้อย่างอิสระแล้ว
สุดท้ายกูเกิลยังได้ปรับเรื่องความลงตัวของคำสั่งและการตั้งค่าต่างๆให้สมบูรณ์แบบขึ้น เช่น การคัดลอก และเลือกข้อความ เมื่อเราใช้นิ้วจิ้มสร้างเขตข้อความที่เราต้องการคัดลอก จะมีปุ่ม Copy Paste Share ที่ออกแบบได้เข้าใจและใช้ง่ายกว่าเดิมปรากฏขึ้นทันที
และทั้งหมดก็คือการเปลี่ยนแปลงใน Android 6.0 Marshmallow ที่ทีมงานมองว่าเป็นการเพิ่มความสมบูรณ์ให้แอนดรอยด์ยุค 64 บิตที่กูเกิลทำได้สมบูรณ์แบบขึ้น ปัญหาหลายส่วนถูกแก้ไขจนหมดจนกลายเป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ลงตัวสุดในแอนดรอยด์ยุคหลังนี้ โดยเฉพาะแบตเตอรีกับชุดคำสั่งใหม่ที่ให้ผลลัพท์ที่ยอดเยี่ยมและประหยัดแบตเตอรีได้จริงๆเสียที อยากปรบมือให้ดังๆเลย