Fonepad ถือเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของเอซุสที่ได้รับความนิยมในตลาดประเทศไทย นอกเหนือไปจาก Zenfone ที่ทำราคาออกมาได้โดนใจผู้ใช้งาน โดย Fonepad ถือเป็นซีรีส์ที่เอซุส ใช้ทำตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์แท็บเล็ต ในช่วงระดับราคาที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อมาใช้งานได้ง่าย
โดย Fonepad 8 ที่นำมารีวิวในวันนี้ถือเป็นรุ่นที่ได้รับต่อยอดมาจากรุ่นที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงสเปกภายในให้รับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น มีจุดเด่นอยู่ที่การใช้ซีพียูของอินเทลแบบ 64 bit หน้าจอขนาด 8 นิ้ว รองรับการใช้งาน 2 ซิม ที่รองรับ 3G วางจำหน่ายในราคา 7,990 บาท
การออกแบบ
ในแง่ของการออกแบบ Fonepad 8 ถือเป็นแท็บเล็ตที่มีขนาดพอเหมาะกับการใช้งาน ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป และด้วยการที่เอซุสมีประสบการณ์ในแง่การออกแบบผลิตภัณฑ์มาพอสมควร ทำให้รูปทรง การจับถือของ Fonepad 8 ทำออกมาได้สะดวกต่อการใช้งาน
วัสดุที่ใช้งานส่วนใหญ่ยังคงเป็นพลาสติก เพื่อทำให้ตัวเครื่องมีน้ำหนักเบา แม้ว่าจะมีการตัดขอบด้วยลวดลายที่เป็นสีทองๆ แต่เป็นเพียงสีเท่านั้น ขณะที่ขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 120 x 214 x 8.9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 310 กรัม มีให้เลือกด้วยกัน 4 สี คือ ขาว ดำ แดง และทอง
ด้านหน้า – มีหน้าจอ IPS ขนาด 8 นิ้ว ความละเอียด WXGA (1,280 x 800 พิกเซล) ที่มีการเคลือบสารป้องกันรอยนิ้วมือมาด้วย โดยจะมีลำโพงคู่อยู่ส่วนบนและล่างหน้าจอ ที่ใช้เทคโนโลยี Sonic Master กล้องหน้าความละเอียด 2 ล้านพิกเซล อยู่ข้างกับเซ็นเซอร์วัดแสงและตรวจจับใบหน้า ส่วนล่างหน้าจอมีโลโก้ ASUS ติดอยู่
ด้านหลัง – มีกล้องความละเอียด 5 ล้านพิกเซล อยู่มีมุมบน โดยมีตรา ASUS สีเงินแบบนูนต่ำอยู่ตรงกึ่งกลาง ถัดลงมาส่วนล่างเป็นสัญลักษณ์ Intel บอกถึงหน่วยประมวลผลที่ใช้ และสัญลักษณ์มาตรฐานต่างๆ ภายในจะมีแบตเตอรีขนาด 4,000 mAh ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเองได้
ด้านซ้าย – จะมีปุ่มปรับระดับเสียง และปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง ที่ย้ายมาอยู่ด้านข้างเพื่อให้สะดวกต่อการเปิดใช้งาน ด้านขวา – เป็นช่องที่มาฝาพลาสติกที่เมื่องัดขึ้นมาจะมีช่องใส่ซิมการ์ด 2 ช่อง และช่องใส่ไมโครเอสดีการ์ด
ด้านบน – มีช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. และข่องเสียบสายไมโครยูเอสบี เพื่อชาร์จ และเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ด้านล่าง – จะมีช่องไมโครโฟนสนทนา สำหรับผู้ที่ใช้ยกขึ้นมาเป็นโทรศัพท์
สเปกและฮาร์ดแวร์เด่น
สเปกภายในของ Asus Fonepad 8 (FE380CG) จะมาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Intel Atom Z3560 ที่เป็นควอดคอร์ 1.83 GHz 64 bit RAM 1 GB พื้นที่เก็บข้อมูลภายใน 8 GB รองรับไมโครเอสดีการ์ดสูงสุด 64 GB ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.4.4 และรองรับการอัปเดตเป็น 5.0
ด้านการเชื่อมต่อรองรับ 3G บนคลื่นความถี่ 850 900 1800 2100 MHz ความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุด 42 Mbps อัปโหลด 5.76 Mbps เชื่อมต่อไวไฟมาตรฐาน 802.11 b/g/n บลูทูธ 4.0 จีพีเอส ตามปกติ
User Interface และซอฟต์แวร์เด่น
โดยหน้าตาของ Zen UI จริงๆแล้วก็ไม่แตกต่างจากแอนดรอยด์รุ่นอื่นๆมากนัก เพราะหลักๆแล้วก็จะมีหน้าหลักมาให้เลือกใส่วิตเจ็ตเข้าไป โดยมีไอค่อนลัดให้เลือกใช้อยู่ข้างล่างหน้าจอ 6 ไอค่อน (สามารถย้ายได้ตามสะดวก) แต่ที่แตกต่างคือในส่วนของหน้าจอล็อกที่จะมีการแสดงตารางนัดหมาย และการแจ้งเตือนต่างๆ และทางลัดเข้าใช้กล้อง โทรศัพท์ และดูข้อความ
ส่วนแถบการแจ้งเตือนนอกจากแถบแสดงผลการแจ้งเตือนแล้ว ก็จะมีส่วนของการตั้งค่าลัด ที่จะมีแถบความสว่างหน้าจอให้เลื่อนปรับ ตามมาด้วยปุ่มเคลีย RAM เครื่องคิดเลข บันทึกย่อ และกล้อง ที่เป็นแถบลัดไว้ ไม่รับรวมกับการตั้งค่าปกติอย่างพวก ไวไฟ บลูทูธ การหมุนหน้าจอ เสียง จีพีเอส ดาต้า โหมดการอ่าน การซิงค์ข้อมูล
สำหรับแอปพลิเคชันที่ติดตั้งมาให้ในเครื่องจะมีทั้งแอปฯจีน ที่อ่านไม่ออก กับแอปทั่วไปอย่าง กระจกเงา (ใช้กล้องหน้าเป็นกระจก) กล้อง แกลอรี ข้อความ เครื่องคิดเลข ตัวจัดการไฟล์ ตัวช่วยการตั้งค่าเสียง ตัวช่วยตั้งประหยัดพลังงาน โทรศัพท์ นาฬิกา บันทึกย่อ บันทึกเสียง รายชื่อ เบราว์เซอร์ ปฏิทิน เพลง พยากรณ์อากาศ อีเมล การย้ายข้อมูลจากเครื่องเก่า สิ่งที่ต้องทำ
ยังมีพวกแอป 3rd Party อย่าง KKBox แอปพิเศษของเอซูสอย่าง Party Link Share Link Remote Link ตัวตั้งค่าสีหน้าจอ และแอปพลิเคชันพื้นฐานจากกูเกิล ไม่ว่าจะเป็นเพลยสโตร์ เพลง หนังสือ วิดีโอ แผนที่ ยูทูป ไดร์ฟต่างๆ
ขณะที่ในส่วนของโหมดการใช้งานโทรศัพท์เนื่องจากรองรับการใช้งานแบบ 2 ซิมก็จะมีปุ่มให้เลือกว่าจะโทรออกจากหมายเลขใด หน้าจอขณะโทรศัพท์ก็จะมีขึ้นรูปภาพ ชื่อ เลขหมาย พร้อมปุ่มสั่งงานอย่างเปิดลำโพง ปิดเสียง เพิ่มสาย พักสาย จดโน้ต และมีปุ่มให้กดบันทึกการสนทนาด้วย
ส่วนหน้าจอการใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ก็ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานของแอนดรอยด์ ที่น่าสนใจคือสามารถใช้งานได้ค่อนข้างลื่นไหล แตกต่างกับแท็บเล็ตที่อยู่ในระดับราคาเดียวกันของแบรนด์อื่นๆ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากหน่วยประมวลผลของอินเทลที่ให้มาด้วย
นอกจากนี้ก็จะมีฟังก์ชันการใช้งานต่างๆของเอซุส อย่างฟังก์ชันการเปลี่ยนโหมดเสียง ให้เหมาะกับการใช้งานต่างๆ อย่างฟังเพลง ดูหนัง บันทึกเสียง เล่นเกม และฟังเสียง ที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปปรับเปลี่ยนได้เองในโหมดสมาร์ต หรือจะเลือกให้เป็นแบบอัตโนมัติก็ได้
แล้วก็จะมีฟังก์ชันอย่างการควบคุมพีซีแบบไร้สาย Remote Link ที่เมื่อติดตั้งโปรแกรมไว้ในพีซี ก็จะช่วยให้ใช้ FonePad ควบคุมเครื่องผ่านอินเทอร์เน็ตได้ Share Link ระบบการถ่ายโอนไฟล์ระหว่างเครื่องผ่าน Wi-Fi และ Party Link ที่จะเชื่อมต่ออุปกรณ์ใกล้เคียงและแบ่งปันรูปาภพ และมัลติมีเดียต่างๆ
ในส่วนของคีย์บอร์ดที่ให้มา นอกจากปุ่มคีย์บอร์ดเสมือนแบบปกติแล้ว FonePad ยังรองรับการป้อนข้อมูลด้วยการเขียนเป็นตัวอักษร ที่สำคัญคือรองรับภาษาไทยด้วย ดังนั้นนอกจากการกดบนปุ่มเสมือนแล้ว ผู้ใช้ยังใช้การลากนิ้วเพื่อเขียนบนหน้าจอร่วมด้วยได้
โดยเฉพาะในโหมดการบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่ผู้ใช้สามารถเลือกรูปแบบการป้อนข้อมูลเป็นการเขียนลงบนหน้าจอแทนก็ได้เช่นเดียวกัน ช่วยให้ใช้ FonePad ในการจดบันทึกข้อมูลต่างๆได้ทันที
ตัวจัดการไฟล์ที่ให้มา สามารถเลือกดูได้ทั้งไฟล์ในตัวเครื่อง และในไมโครเอสดีการ์ด แสดงผลออกมาเป็นโฟลเดอร์ สามารถจัดการไฟล์ต่างๆ อย่างย้าย คัดลอก ดูข้อมูล และค้นหาไฟล์ต่างๆได้จากภายในแอปเลย
อีกหนึ่งลูกเล่นที่น่าสนใจคือระบบพยากรณ์อากาศ ที่นอกจากจะแสดงผลอุณหภูมิสูงสุดต่ำสุดแล้ว ยังรวมไปถึงการแสดงข้อมูลปริมาณฝน ความชื้น ความเร็วลม อุณหภูมิในแต่ละช่วงเวลา ระดับ UV ในแสง รวมไปถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น และตกด้วย
จุดเด่นสำคัญที่ทางเอซุส ภูมิใจใน FonePad 8 คงหนีไม่พ้นเรื่องของกล้องถ่ายภาพภายใต้เทคโนโลยี Pixel Master ที่ผสมผสานการทำงานของซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์เข้าด้วยกัน โดยรูปแบบอินเตอร์เฟสกล้องจะยังคงยึดหลักการใช้งานที่ง่าย ให้ผู้ใช้เลือกปรับได้ตามความต้องการ
โดยจะมีโหมดถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆมากให้เลือกทั้งในส่วนของภาพนิ่ง และภาพวิดีโอ นอกจากนี้ยังสามารถเข้าไปตั้งค่าอย่างความละเอียด ความไวแสง การชดเชยแสง ปรับสมดุลแสงขาว ได้ทันทีอีกด้วย
ทีนี้มาดูกันในส่วนของการตั้งค่า ส่วนใหญ่แล้วยังคงยึดตามแอนดรอดย์มาตรฐาน คือแบ่งการตั้งค่าออกเป็น 5 ส่วน คือส่วนของการเชื่อมต่อ ตั้งค่าอุปกรณ์ การตั้งค่าส่วนบุคคล บัญชีผู้ใช้ และระบบต่างๆของเครื่อง
ที่น่าสนใจคือระบบการใช้งาน 2 ซิม ที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกจัดการได้ว่า จะให้ซิมการ์ดใดใช้งานเป็นเลขหมายหลัก ใช้งานดาต้าจากซิมใด รวมไปถึงการโอนสายต่างๆ ก็ตั้งค่าไว้ได้
ในส่วนของการแสดงผล FonePad จะมาพร้อมลูกเล่นการใช้งานคู่กับเคสที่เป็น View Flip Cover ด้วย ที่จะแสดงข้อมูลสำคัญๆผ่านหน้าจอบนเคส และแน่นอนว่ามีโหมดพิเศษอย่าง ‘โหมดการอ่าน’ มาให้เลือกใช้เพื่อถนอมสายตาด้วย
พื้นที่เก็บข้อมูลภายในที่ให้มา 8 GB จะเหลือให้ใช้จริงประมาณ 4 GB ดังนั้น ถ้าอยากใช้งานให้เพียงพอจำเป็นต้องใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่ม นอกจากนี้ก็จะมีส่วนของการตั้งค่าพิเศษของเอซุส อย่างการกำหนดให้ปุ่ม Recent App ใช้จับภาพหน้าจอได้ เลือกไอค่อนลัดบนหน้าจอล็อกสกรีนเป็นต้น
ทดสอบประสิทธิภาพ
ในส่วนของผลการทดสอบ Fonepad 8 ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Quadrant Standart และ Antutu ได้คะแนน 12,973 คะแนน และ 32,133 คะแนน ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 10 จุดพร้อมกัน
ทดสอบการใช้งาน HTML 5 ผ่าน Vellamo จากเว็บเบราว์เซอร์ได้ 2,399 คะแนนส่วนประสิทธิภาพตัวเครื่องได้ (Metal) 939 คะแนน Multicore 814 คะแนน ทดสอบกราฟิกผ่าน Nenamark1 54.6 fps และ Nenamark2 60.6 fps An3dBench 7,989 คะแนน และ An3dBenchXL 46,464 คะแนน
ขณะที่การทดสอบด้วยโปรแกรม Passmark PerformanceTest Mobile ได้คะแนน System 3,870 คะแนน CPU 19,297 คะแนน Disk 15,797 คะแนน Memory 4,692 คะแนน 2D Graphics 3,114 คะแนน และ 3D Graphics 1,013 คะแนน
ส่วนการทดสอบ 3D Mark ตัว Ice Storm Unlimited ได้ 14,686 คะแนน ส่วน Ice Storm Extream และ Ice Storm คะแนนทะลุเกินไป
สรุป
ถ้าถามถึงความคุ้มค่าโดยรวมแล้วต้องยอมรับว่ากับราคา 7,990 บาท เอซุส วางราคาออกมาได้ค่อนข้างโดน กับแท็บเล็ตประสิทธิภาพสูง ที่รองรับการใช้งานโทรศัพท์ไปในตัว ซึ่งถือว่าเข้ามาตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคชาวไทยที่ต้องการเครื่องที่มีหน้าจอใหญ่ ใช้งานได้สะดวก
ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีการใส่ฟังก์ชันเสริมเข้ามาเพื่อช่วยให้การใช้งานโดยรวมสะดวก และง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการควบคุมเครื่องผ่านพีซี การส่งต่อข้อมูลระหว่างเครื่อง รวมไปถึงการแชร์ข้อมูลรูปภาพ หรือเพลง กับเครื่องแอนดรอยด์ด้วยกัน