Review : Garmin Fenix 3 HR ยกระดับนาฬิกาออกกำลังมาใช้งานในชีวิตประจำวัน

30043

IMG_5113ก่อนหน้านี้ ทีมงานไซเบอร์บิส เคยได้รับนาฬิกา Garmin Fenix 3 มาทดลองใช้งานในแง่ของการบันทึกข้อมูลการออกกำลังกาย และมองว่าเป็นหนึ่งในนาฬิกาที่เหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายแบบสมบุกสมบันมากที่สุด ล่าสุดทางการ์มินได้มีการเพิ่มฟังก์ชันวัดอัตราการเต้นของหัวใจใส่เพิ่มเข้ามาก็ได้ส่งมาให้ลองใช้งานกันอีกครั้งหนึ่ง พร้อมพัฒนาการที่เพิ่มขึ้นของตัวแอปพลิเคชันที่แสดงผลจึงได้นำกลับมารีวิวกันอีกรอบหนึ่ง

Garmin Fenix 3 HR ในส่วนของรูปแบบการใช้งานจริงๆ แทบไม่แตกต่างจากในรุ่นของ Fenix 3 ก่อนหน้านี้ แต่การที่เพิ่มระบบวัดอัตราการเต้นของหัวใจเข้ามา ถือว่าช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานค่อนข้างมาก เพราะจากเดิมผู้ใช้จำเป็นต้องเชื่อมต่อนาฬิกาเข้ากับอุปกรณ์วัดชีพจรอย่างสายรัดหน้าอกเพิ่มเติม แต่พอใส่เซ็นเซอร์วัดชีพจรเข้ามาก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป

การออกแบบ

IMG_5112

ในแง่ของการออกแบบตัวเครื่อง Fenix 3 HR แทบไม่มีความแตกต่างจาก Fenix 3 ก่อนหน้านี้ เรียกได้ว่าถ้าดูกันที่ตัวเรือนนาฬิกาภายนอก แทบจะแยกระหว่างทั้ง 2 เครื่องออกจากกันไม่ได้ เพราะจุดต่างเดียวจะอยู่ที่เซ็นเซอร์ด้านหลังตัวเรือนนาฬิกาเท่านั้น โดยขนาดของตัวเรือนนาฬิกาจะอยู่ที่ 51.5 x 51.5 x 16 มิลลิเมตร น้ำหนัก 86.1 กรัม ตอนนี้มีวางจำหน่ายเพียงสีดำสีเดียว

ด้านหน้าตัวเรือนจะมากับจอแสดงผล Garmin Chroma Display ขนาด 1.2 นิ้ว ความละเอียด 218 x 218 พิกเซล ไม่รองรับการสัมผัส ที่สามารถมองจอได้ชัดแม้อยู่กลางแสงแดด กับเลนส์ที่เป็นแซฟไฟร์ เพิ่มความแข็งแกร่งของนาฬิกา ให้เหมาะกับการเป็นนาฬิกาสำหรับนักไตรกีฬา หรือผู้ที่ชื่นชอบกีฬาสมบุกสมบันมากยิ่งขึ้น

IMG_5115IMG_5114

ปุ่มควบคุมรอบตัวเครื่องยังประกอบด้วย 5 ปุ่มหลักเช่นเดิม ไล่จากฝั่งซ้ายมีด้วยกัน 3 ปุ่มคือ ปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง (กดค้าง) และปุ่มเปิดไฟแสดงผล ที่อยู่ซ้ายบน ถัดลงมาตรงกลางเมื่อกดค้างจะเรียกเมนูรวมขึ้นมา และใช้เป็นปุ่มเลื่อนขึ้น ส่วนปุ่มซ้ายล่างไว้กดเลื่อนลง ขณะที่ทางขวาตัวเรือนจะมี 2 ปุ่มคือ ปุ่มตกลง (เริ่มออกกำลังกาย) และปุ่มย้อนกลับ

IMG_5116

ด้านหลังตัวเรือนจะเห็นเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ตรงกลางชัดเจน โดยมีแถบเซ็นเซอร์สำหรับชาร์จตัวนาฬิกาอยู่ข้างๆ ภายในจะมีแบตเตอรีขนาด 300 mAh ซึ่งตัวเครื่องจะกันน้ำที่ระดับ 10 ATM ทำให้สามารถใส่ว่ายน้ำเพื่อวัดสโตรกแขนขณะว่ายน้ำได้ด้วย

สเปก

ตัวนาฬิกาจะมาพร้อมกับระบบการเชื่อมต่อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Wi-Fi บลูทูธ 4.0 ในการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน มีการบรรจุระบบระบุพิกัด (GPS) ไว้ด้วย พร้อมกับเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ (HR) บาโรมิเตอร์ และเข็มทิศ เพื่อให้สามรถเป็นสมาร์ทวอชที่ใส่ใช้งานได้แบบ 24/7

ในส่วนของแบตเตอรี ทางการ์มินเคลมไว้ว่า 300 mAh ที่ให้มา สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง 40 ชั่วโมง ในโหมด UltraTrac และลดเหลือ 16 ชั่วโมงถ้ามีการบันทึกพิกัดด้วย และใช้งานได้ต่อเนื่อง 2 สัปดาห์กรณีที่ใช้งานเป็นสมาร์ทวอชทั่วๆไป สำหรับการเก็บข้อมูลภายในจะมีพื้นที่เก็บข้อมูลอยู่ 32 MB สามารถเก็บแผนที่ เส้นทางการออกกำลังกาย และบันทึกกิจกรรมต่างๆได้ต่อเนื่อง 100 ชั่วโมง

ฟีเจอร์เด่น

ในแง่ของการใช้งาน Garmin Fenix 3 HR จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆด้วยกัน คือการใช้เป็นนาฬิกาเพื่อบันทึกกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนก้าว การนอน การออกกำลังกาย ซึ่งในส่วนของการนับก้าว วัดการนอน ถือว่าเป็นข้อมูลพื้นฐานของนาฬิกาเพื่อสุขภาพในปัจจุบันไปแล้ว การที่ Fenix 3 HR เพิ่มเซ็นเซอร์การวัดอัตราการเต้นของหัวใจมาก็จะช่วยให้สามารถคำนวน rHR ขณะนอนได้ง่ายขึ้นเพิ่มมาจากเดิม

ในขณะที่เป็นฟังก์ชันของการออกกำลังกาย ที่ถือเป็นจุดเด่นหลักของ Fenix 3 HR คือการบันทึกข้อมูลระหว่างการออกกำลังโดยใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว ผสมกับระบบจีพีเอส การบันทึกข้อมูลการเต้นของหัวใจ (ยกเว้นกีฬาว่ายน้ำไม่สามารถใช้งานได้) เซ็นเซอร์วัดความสูงด้วยความกดดันของบรรยากาศ มาช่วยบันทึกข้อมูลต่างๆ ก่อนแสดงผลอย่างง่ายบนหน้าจอ และเข้าไปดูแบบละเอียดได้ผ่านแอปพลิเคชัน

ยกตัวอย่างในการใช้เพื่อการวิ่ง หลังจากกดเริ่มวิ่งตัวเครื่องจะทำการจับอัตราการเต้นของหัวใจ พร้อมกับเปิดใช้งานจีพีเอสเพื่อระบุตำแหน่ง เมื่อสัญลักษณ์บนหน้าจอพร้อมแล้วผู้ใช้ก็สามารถออกวิ่งได้ทันที โดยจะมีการแสดงผลระยะเวลาการวิ่ง ระยะทาง Pace อัตราการเต้นของหัวใจ พร้อมระบุโซน สามารถกดบันทึกรอบการวิ่งได้ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วก็จะแสดงข้อมูลบนหน้าปัดประมาณนี้

หลังออกกำลังกายเสร็จก็จะมีสรุปกิจกรรมอย่างเช่น ระยะทางที่วิ่งไปทั้งหมด ระยะเวลาที่เคลื่อนไหว Pace (วิ่ง) ความเร็ว (กรณีขี่จักรยาน) สโตรกแบน (ว่ายน้ำ) อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด ค่าเฉลี่ย และระยะเวลาที่ควรพักผ่อนก่อนออกกำลังกายอีกครั้ง (Recovery advisor) ที่จะประเมินจากประวัติของผู้ใช้งานย้อนหลังร่วมด้วย

แน่นอนว่าสำหรับนักวิ่งมืออาชีพใน Fenix 3 HR จะมีระบบกำหนดเส้นทางวิ่ง หรือขี่จักรยาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแช่งขัน ให้สามารถทำสถิติได้ดีกว่าเดิม รวมถึงการใช้งานมัลติสปอร์ตสำหรับการออกกำลังกายหลายชนิดร่วมกัน หรือโหมดการฝึกซ้อม (Interval) มาให้ใช้งานด้วย ดังนั้นจึงถือเป็นนาฬิกาที่เหมาะสำหรับมืออาชีพเป็นอย่างมาก

ในส่วนของเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เมื่อใส่ใช้งานในชีวิตประจำวันก็จะมีการบันทึกข้อมูลตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะตอนที่ออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว เพื่อเก็บเป็นข้อมูลเพื่อแสดงผลย้อนหลังได้ แต่อย่างที่กล่าวไปว่าตัววัด HR ไม่สามารถใช้ร่วมกับกีฬาว่ายน้ำได้ ดังนั้นถ้าต้องการวัดด้วยก็อาจจะต้องทำการเชื่อมต่อสายรัดอกที่ไว้วัดสำหรับว่ายน้ำโดยเฉพาะเพิ่มเติมเข้าไป

อีกส่วนนอกเหนือไปจากการใช้สำหรับบันทึกข้อมูลแล้ว Fenix 3 HR ยังถูกพัฒนามาให้เป็นสมาร์ทวอทช์ (Smart Watch) ด้วย โดยเมื่อตัวเครื่องทำการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่านแอปพลิเคชัน Garmin Connect แล้ว เวลามีการแจ้งเตือนเกิดขึ้นก็จะแสดงผลบนหน้าปัดนาฬิกาด้วย ที่สำคัญคือรองรับการแสดงผลภาษาไทย ทำให้ไม่ต้องกังวลเวลามีข้อความแชตหรืออีเมลที่เป็นภาษาไทยส่งมาแล้วจะอ่านไม่ได้

เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่าน Garmin Connect

s01

สำหรับการแสดงผลในส่วนของแอปพลิเคชัน Garmin Connect ในหน้าจอหลักจะมีแสดงข้อมูลจำนวนก้าว และเวลาที่นอนเป็นหลัก นอกเหนือจากนี้ก็จะเป็นช่องทางในการเข้าถึงแอปต่อเชื่อมอื่นๆ โดยสามารถเลื่อนซ้ายขวา เพื่อเข้าไปดูรายละเอียดของการออกกำลังกายแต่ละประเภทได้

ในส่วนของการตั้งค่าเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูรายละเอียดแบบเจาะลึก การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ เข้าไปดูกิจกรรมออกกำลังกายของเพื่อน ที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ชื่นชอบกีฬากอล์ฟสามารถเข้าไปดาวน์โหลดแผนที่สนามมาใช้เพิ่มเติมได้ รวมถึงการเข้าไปใน Connect IQ Store เพื่อจะดาวน์โหลดวิตเจ็ต และแอปพลิเคชันที่มาใช้บนนาฬิกาเพิ่มเติม

s02

วิตเจ็ตที่ใส่มาให้ก็จะมีการแสดงผลข้อมูลอย่างอุณหภูมิ สภาพอากาศ การแจ้งเตือน การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ รายละเอียดในแต่ละวัน โดยสามารถเพิ่มในส่วนของตัวควบคุมเพลง และเข็มทิศเข้าไปบนนาฬิกาได้ หรือจะเลือกเข้าไปดาวน์โหลดวิตเจ็ตเพิ่มเติมได้จากในสโตร์

ส่วนของแอปพลิเคชันจะเป็นการจัดเรียงประเภทของกีฬาที่มีให้เลือกตั้งแต่สกี ปีนเขา ไต่เขา วิ่ง วิ่งเทรล วิ่งบนลู่ ขี่จักรยาน ขี่จักรยานบนเครื่อง ว่ายน้ำ พาย ไตรกีฬา กอล์ฟ หรือจะเป็นแอปพลิเคชันอื่นๆอย่าง การสั่งค้นหาสมาร์ทโฟน ซึ่งบนสโตร์ก็จะมีให้ดาวน์โหลดแอปมาใช้งานเพิ่มเติมด้วยเช่นเดียวกัน

s03

สุดท้ายในส่วนของการแสดงรายละเอียดการออกกำลัง เมื่อกดเข้าไปดูจะบอกหลักๆคือ ระยะเวลาที่ออกกำลัง ระยะทาง และจำนวนแคลอรี่ที่เผาผลานไป อย่างกรณีวิ่งก็จะมีเวลา Pace ให้ แต่ถ้าเป็นขี่จักรยานก็จะเป็นความเร็วเฉลี่ย พร้อมกับการแสดงเส้นทางที่ออกกำลัง และสภาพอากาศ

เมื่อกดเข้าไปดูรายละเอียดมากยิ่งขึ้นก็จะมีแสดงผลทั้งอัตราเฉลี่ยของ Pace ความเร็ว เวลาที่เคลื่อนไหว อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด และเฉลี่ย ความเร็วของรอบขา ซึ่งสามารถแสดงผลเป็นกราฟให้ดูได้ แน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้สามารถเชื่อมต่อไปยังแอปพลิเคชันเฉพาะทางอย่าง Strava ได้ด้วย ทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานได้กว้างขึ้นอีก

สรุป

โดยรวมแล้ว Garmin Fenix 3 HR ถือว่ามีจุดที่พัฒนามาเพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งานในการเป็นนาฬิกาสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายแบบสมบุกสมบัน พร้อมลุยไปทุกที่ ที่เพิ่มความพิเศษจากรุ่นเดิมคือเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้ไม่ต้องใช้งานร่วมกับสายคาดอกที่บางคนอาจจะไม่สะดวกในการใส่ใช้งาน

อย่างไรก็ตามความแม่นยำเมื่อเทียบระหว่างเซ็นเซอร์และสายคาดอก สายคาดอกที่ถูกออกแบบมาเฉพาะจะให้ความแม่นยำได้สูงกว่า แต่ถ้าไม่ได้ซีเรียสกับอัตราการเต้นของหัวใจมากขนาดนั้น แค่นำมาใช้ดูเป็นข้อมูลขณะออกกำลังกาย Fenix 3 HR ก็จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในกลุ่มนี้

อย่างไรก็ตามด้วยระดับราคาของ Fenix 3 HR ที่ 23,400 บาท อาจจะค่อนข้างสูงไปสักหน่อยสำหรับผู้ที่เริ่มต้นออกกำลังกาย แต่ถ้าเป็นผู้ที่ลงทุนในการเก็บข้อมูลการออกกำลังกายแล้ว ไม่ได้ถือเป็นราคาที่สูงไปเลยเมื่อเทียบกับประโยชน์ในการใช้สอย ที่ครบเครื่องมากที่สุดในการเป็นทั้งสมาร์ทวอช และนาฬิกาออกกำลังกาย

ข้อดี

นาฬิกาสำหรับการออกกำลังกายสมาร์ทวอชสมบูรณ์แบบ

มาพร้อมเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ

รองรับการแจ้งเตือนเป็นภาษาไทย

ข้อสังเกต

ระดับราคาค่อนข้างสูง เหมาะกับคนที่ชื่นชอบไตรกีฬาเป็นหลัก

ขนาดค่อนข้างใหญ่ เหมาะกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
8.5
สเปก/ฟีเจอร์เด่น
9.5
ความสามารถโดยรวม
9
ความคุ้มค่า
8.5
SHARE