Review : Intel NUC (2016) พีซีขนาดเล็ก พอร์ตครบ

13460

IMG_4857

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม NUC (Next Unit Computer) ของอินเทล ถือว่าเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์แรกๆที่อินเทลทำออกมาแล้ววางจำหน่ายด้วยตัวเอง และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แตกต่างไปจากการผลิตหน่วยประมวลผล หรือชิ้นส่วนอุปกรณ์เสริมที่เปิดให้เหล่าผู้ผลิตนำไปใช้ ซึ่งในจุดนี้อินเทลมองว่าเป็นโอกาสที่จะสร้างตลาดใหม่ให้แก่ผลิตภัณฑ์นั่นเอง

Intel NUC (2016) ถือเป็นคอมพ์ตั้งโต๊ะขนาดเล็ก ที่พร้อมใช้งานเพียงเชื่อมต่อเข้ากับหน้าจอและอุปกรณ์ควบคุม เหมาะสำหรับองค์กรธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ได้ต้องการคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงไปใช้งาน หรือนำไปใช้เป็นคอมเสริมภายในบ้าน เนื่องจากใช้พื้นที่เพียงเล็กน้อย ทำให้สามารถนำไปติดตั้งบริเวณใดก็ได้

จุดเด่นหลักของ Intel NUC (2016) จะแตกต่างกับอุปกรณ์ Intel Compute Stick ตรงที่มีพอร์ตการเชื่อมต่อมาให้ครบ ไม่จำเป็นต้องต่อกับอุปกรณ์เสริม ดังนั้นในการใช้งานแค่มี Intel NUC 1 เครื่อง ต่อกับจอมอนิเตอร์ หรือทีวีผ่านสาย HDMI เชื่อมต่อคีย์บอร์ด และเมาส์ ก็พร้อมใช้งานเป็นคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องทันที แถมยังมีพอร์ตเหลือให้ใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆอีก

การออกแบบ

IMG_4862

ในแง่ของการออกแบบด้วยแนวคิดของ Intel NUC ที่ต้องการประหยัดพื้นที่ ให้ออกมาเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก หรือกล่องสี่เหลี่ยมหนึ่งกล่อง ที่ภายในมีการติดตั้งแผงวงจร หน่วยประมวลผล อุปกรณ์เชื่อมต่อไร้สายต่างๆไว้ภายใน โดยมีขนาดอยู่ที่ 115 x 111 x 51.6 มิลลิเมตร มีให้เลือกเพียงสีเดียวคือตัวเครื่องสีเงินตัดกับฝาสีดำ

ด้านบนจะมีปุ่มเปิดปิดเครื่องสีเทา พร้อมสัญลักษณ์พาวเวอร์อยู่บริเวณมุมเครื่อง พร้อมไฟแสดงสถานะการทำงานของเครื่อง ตัดกับฝาเครื่องสีดำที่ทำจากพลาสติกออกเงาๆเล็กน่อย ซึ่งตอนที่แกะออกจากกล่องจะมีพลาสติกซีลมาเป็นอย่างดี

IMG_4866

ด้านหน้าจะมีพอร์ตยูเอสบี 3.0 ให้ 2 พอร์ต (โดยพอร์ตที่มีสีเหลืองจะรองรับการชาร์จไฟให้กับอุปกรณ์พกพาอื่นๆได้ด้วย) ถัดมาข้างๆจะมีพอร์ตหูฟังและไมโครโฟนขนาด 3.5 มม.

IMG_4868

ด้านหลังไล่จากทางซ้ายจะมีช่องสำหรับเสียบสายไฟ (อะเดปเตอร์) พอร์ตเสียง (Optical) พอร์ตภาพ (HDMI / VGA) ช่องเสียบสาย LAN และพอร์ตยูเอสบี 3.0 อีก 2 พอร์ต

IMG_4865IMG_4867

ด้านขวาจะมีช่องการ์ดรีดเดอร์ขนาดมาตรฐาน ช่องพัดลมระบายอากาศ และช่องล็อกตัวเครื่อง ส่วนด้านซ้ายจะมีเพียงช่องระบายอากาศเท่านั้น

IMG_4876

ในส่วนของใต้เครื่อง จะมีบอกรายละเอียดเบื้องต้นของตัวเครื่องไม่ว่าจะเป็นชื่อรุ่น สัญลักษณ์มาตรฐานที่รับรองต่างๆ รวมถึงเลขตัวเครื่อง และรูน็อตสำหรับยึดกับอุปกรณ์เสริมไว้ใช้แขวนตัวเครื่องกับผนัง เพื่อไม่ให้กินพื้นที่เวลาเชื่อมต่อใช้งาน

IMG_4860

อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องจะมีตัว Intel NUC อะเดปเตอร์ ฐานยึดผนัง คู่มือการใช้งาน และใบรับประกัน

สเปก

s03

Intel NUC Mini PC NUC5PGYH จะมาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Intel Pentium N3700 ที่เป็นควอดคอร์ ความเร็ว 2.4 GHz ทำงานบนพื้นฐาน 64 บิต กราฟิกออนบอร์ด Intel HD RAM DDR3L 2 GB (ใส่เพิ่มได้สูงสุด 8 GB) พื้นที่เก็บข้อมูลเป็น eMMC 32 GB ทำงานบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 ด้านการเชื่อมต่อไร้สายจะรองรับ ไวเลส มาตรฐาน 802.11 ac และบลูทูธ 4.0

ฟีเจอร์เด่น

IMG_4880

ความโดดเด่นของ Intel NUC ไม่ได้อยู่ที่ประสิทธิภาพ หรือฟังก์ชันอะไรที่คอมพิวเตอร์เครื่องอื่นไม่มี แต่จับจุดขายที่เป็นพีซีขนาดเล็กเหมาะกับการใช้งานในบ้านหรือองค์กรธุรกิจขนาดเล็กเป็นหลัก ที่ไม่ต้องการลงทุนคอมพิวเตอร์ราคาหลายๆหมื่นมาให้พนักงานใช้งานโปรแกรมทั่วๆไป

s01

ดังนั้นด้วยการเปิดราคาจำหน่ายที่ 9,900 บาท จึงเข้ามาตอบโจทย์ดังกล่าว ทั้งในแง่ของราคาที่ไม่สูงเกินไป ตัวเครื่องมีขนาดเล็กประหยัดพื้นที่ในการใช้งาน ที่สำคัญตือการที่ทำงานบนระปฏิบัติการวินโดวส์ 10 โปรแกรม หรือแอปพลิเคชันใดที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการดังกล่าวได้ก็รองรับการใช้งานทั้งหมด

IMG_4874

อีกจุดคือการที่มีพอร์ตต่างๆมาให้ใช้งานครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นแง่ของการเชื่อมต่อนอกจากการเชื่อมต่อไร้สายแล้ว ยังสามารถต่ออุปกรณ์ผ่านสายแลน เพื่อให้เข้ากับระบบภายในออฟฟิศให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น หรือกรณีที่ต้องการต่อกับฮาร์ดดิสก์พกพา หรืออุปกรณ์เสริมอื่นๆก็มีพอร์ตยูเอสบีให้ใช้งานถึง 4 พอร์ต ซึ่งถือว่าเพียงพอกับการใช้งานอยู่แล้ว

ทดสอบประสิทธิภาพ

ในส่วนของการทดสอบประสิทธิภาพ ด้วยการที่ตัว Intel NUC ใช้หน่วยประมวลผลเป็น Intel Pentiem ประสิทธิภาพจึงอยู่ในระดับกลางๆ ไม่ได้โดดเด่นขึ้นมาเหมือนเครื่องราคาแพง แต่ก็ถือว่าเพียงพอกับการใช้งานทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมแนวไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ การใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ หรือการใช้งานด้านความบันเทิงอย่างรับชมภาพยนตร์ระดับ 4K ก็สามารถรันได้ตามปกติ

s04

ผลการทดสอบจาก PCMark 8 สำหรับ Home Accelerated ได้คะแนนอยู่ที่ 1,844 คะแนน Work Accelerated 1,473 คะแนน และ Creative Accelerated อยู่ที่ 2,025 คะแนน จะเห็นได้ว่าคะแนนของประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมไม่ได้สูงมากนัก เนื่องจากถูกออกแบบมาให้เน้นใช้งานเอกสารทั่วๆไป และตกแต่งภาพเล็กน้อยเท่านั้น

s05

ขณะที่ผลการทดสอบ 3Dmark ในการทดสอบประสิทธิภาพกราฟิก Ice Storm 24,353 คะแนน Ice Storm Extreme 17140 คะแนน Ice Storm Unlimited 24,792 คะแนน Cloud Gate 2,223 คะแนน Sky Diver 1,264 คะแนน

s06Geekbench 3 ทำคะแนน 32-bit Single Core อยู่ที่ 955 คะแนน Multi Core อยู่ที่ 3,156 คะแนน ส่วน 64-bit Single Core อยู่ที่ 1,008 คะแนน Multi Core อยู่ที่ 3,365 คะแนน

เมื่อเห็นถึงผลการทดสอบแล้ว ก็จะเห็นว่าตัว Intel NUC จะไม่ได้เน้นตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการพีซีประสิทธิภาพสูง แต่จะเน้นไปที่ตัวเครื่องที่มีพอร์ตการทำงานให้ครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นฝั่งของเสียงที่มีออปติคัลพอร์ตมาให้เชื่อมต่อ รวมถึงด้านภาพที่มีตัวเลือกให้ทั้ง VGA และ HDMI กับพอร์ต USB 3.0 อีกรวมกัน 4 พอร์ต

ส่วนการใช้งานด้านความบันเทิง แม้ว่าประสิทธิภาพจะไม่สูงนัก แต่ก็ยังสามารถรันไฟล์วิดีโอระดับ 4K ได้ แต่ก็ไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร แต่ถ้าเป็นวิดีโอระดับ Full HD ถือว่าไม่มีปัญหา ดังนั้นอาจจะไม่เหมาะนำมาเป็นเครื่องเล่นมัลติมีเดียไว้ใช้งานภายในบ้านมากนัก

สรุป

จากการที่อินเทล วางผลิตภัณฑ์ Inte NUC 2016 จะเข้ามาตอบโจทย์กลุ่มผู้ที่ต้องการพีซีขนาดเล็กไว้ใช้งานทั่วๆไป จึงเหมาะกับกลุ่ม SMEs ที่ต้องการพีซีราคาประหยัดมาใช้งานเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกัน Intel NUC ก็ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับพวก Digital SIgness ในการแสดงผล หรือนำไปใช้งานนอกสถานที่ตามคีออส หรือจุดให้บริการต่างๆเพิ่มเติมได้จากการที่ตัวเครื่องเล็กพกพาสะดวก

แน่นอนว่า Intel NUC จะไม่เหมาะกับกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นฮาร์ดคอร์เนื่องจากสเปกที่เป็น Intel Atom ดังนั้นถ้าต้องการนำมาใช้งานภายในบ้าน ก็เหมาะกับการเป็นพีซีต่อกับจอหรือโทรทัศน์ไว้ใช้ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ดูหนัง ฟังเพลง พิมพ์งานเอกสารทั่วๆไป ยังไม่เหมาะกับการนำมาเป็นอุปกรณ์เกมเมอร์ หรือใช้รับชมไฟล์วิดีโอระดับ 4K

ส่วนในอนาคต ก็ต้องลุ้นกันว่าทางอินเทล จะมีการนำ Intel NUC ที่เป็นรุ่น Skylake ที่มาพร้อมกับ Core i3 หรือ Core i5 รวมถึง Skull Canyon NUC ที่เป็น Core i7 เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะจะเป็นรุ่นที่มีสเปกดีขึ้น เหมาะกับกลุ่มผู้ที่ต้องการพีซีขนาดเล็กประสิทธิภาพสูงเพิ่มเติม

ข้อดี

พีซีขนาดเล็ก พกพาไปใช้งานได้ทุกที่

มีพอร์ตเชื่อมต่อมาให้ครบ

มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 ให้ใช้งานได้ทันที

ข้อสังเกต

พื้นที่เก็บข้อมูลในตัวเครื่องให้มาเพียง 32 GB ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใส่การ์ด หรือต่อ Extermal HDD ร่วมด้วย

ประสิทธิภาพอยู่ในระดับการใช้งานทั่วๆไป

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
8
สเปก/ฟีเจอร์เด่น
7
ความสามารถโดยรวม
7
ความคุ้มค่า
7
SHARE