ทุกครั้งที่สมาร์ทโฟนตระกูล Lumia จากไมโครซอฟท์ออกวางจำหน่าย นอกจากความเป็นวินโดวส์ที่มีรูปแบบการใช้งานเฉพาะตัวแล้ว เรื่องของกล้องถ่ายภาพ PureView ประกบเลนส์ ZEISS ที่โด่งดังมาตั้งแต่โนเกีย ก็ถือเป็นหนึ่งความสนใจของผู้อ่านไซเบอร์บิซมาตลอด จนทีมงานต้องแยกเขียนบททดสอบเฉพาะกล้องหลัง PureView แยกจากรีวิวฉบับเต็มทุกครั้งที่ได้รับสมาร์ทโฟน Lumia มาทดสอบ
และในวันนี้ขอต้อนรับปีใหม่ด้วย Microsoft Lumia 950XL หลังจากทางทีมงานได้ทดสอบในส่วนประสิทธิภาพไปแล้ว ในบทความนี้จะเป็นเรื่องของกล้องหลัง PureView กับการทดสอบเค้นประสิทธิภาพกล้องหลังทั้งไฟล์ดิบ DNG โหมดกล้องอัตโนมัติ และจุดขายสำคัญ “High resolution zoom (PureView Zoom) ซูมภาพโดยไม่สูญเสียความละเอียด”
สำหรับสเปกกล้องหลัง Microsoft Lumia 950XL (Windows 10) มาพร้อมเซ็นเซอร์รับภาพ Backside-illuminated PureView ขนาด 1/2.4 นิ้ว ความละเอียดภาพสูงสุด 20 ล้านพิกเซล ระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบออปติคอลและออโต้โฟกัสมีการปรับปรุงให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น
ในส่วนเลนส์ ZEISS เป็นมุมกว้าง 26 มิลลิเมตร รูรับแสงกว้าง f/1.9 ตามสมัยนิยมเพื่อให้รับแสงในที่แสงน้อยได้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้า และไฟแฟลช LED ได้รับการออกแบบใหม่บนเทคโนโลยี Natural Flash จำนวน 3 ดวงพร้อมรองรับ Rich Capture (เปิดไฟแฟลชถ่ายภาพก่อนแล้วค่อยมาเลือกความเข้มของไฟแฟลชทีหลังผ่านซอฟต์แวร์)
กล้องหน้า ปรับเพิ่มความละเอียดเป็น 5 ล้านพิกเซล รูรับแสง f2.4 และรองรับการบันทึกวิดีโอ 1080p
ด้านวิดีโอ เนื่องจากไมโครซอฟต์ปรับฮาร์ดแวร์หลายส่วนใหม่ทำให้ Lumia 950XL รองรับการถ่ายวิดีโอที่ความละเอียดสูงสุดถึง 4K (Ultra HD 3,840 x 2,160 พิกเซล) ที่ความเร็ว 30 เฟรมต่อวินาทีพร้อมเทคโนโลยีไมโครโฟนบันทึกเสียง 4 ตัว (Lumia Rich Recording) และวิดีโอสโลโมชัน
User Interface ซอฟต์แวร์กล้อง
ยังคงเน้นรูปแบบการใช้งานที่ง่าย โดยหลักๆหลังเข้าใช้งานกล้องครั้งแรก ระบบจะปรับเป็นโหมดอัตโนมัติให้ ผู้ใช้มีหน้าที่กดชัตเตอร์ถ่ายภาพอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทั้งนี้ถ้าต้องการโหมดโปรเพื่อปรับแต่งค่ากล้องตามต้องการ ก็สามารถทำได้เพียงกดปุ่มชัตเตอร์ (รูปกล้องถ่ายภาพ) ที่หน้าจอค้างไว้แล้วเลื่อนไปทางซ้าย จะปรากฏแถบปรับแต่งค่ากล้องขึ้นมา ซึ่งมีให้เลือกตั้งแต่ ชดเชยแสง +/- ความเร็วชัตเตอร์ ค่าความไวแสง (ISO) โฟกัสและสมดุลแสงขาว (White Balance)
ในส่วนการตั้งค่าสามารถปรับแต่งได้อิสระ ตั้งแต่ความละเอียดภาพว่าจะเป็น JPEG อย่างเดียว หรือเลือก JPEG + RAW File (DNG) ส่วนเมนู Capture living images เมื่อเปิดใช้งานระหว่างถ่ายภาพนิ่ง ระบบจะแอบบันทึกวิดีโอขนาดสั้นเพื่อเก็บบรรยากาศในรูปแบบภาพเคลื่อนไหวระหว่างถ่ายภาพนิ่งไว้ คล้ายหลักการเดียวกับ Live Photos ของแอปเปิล
สุดท้ายในส่วนขนาดไฟล์ภาพ JPEG 1 ไฟล์จะใช้พื้นที่ประมาณ 4-4.4MB ส่วนไฟล์ดิบ .DNG 1 ไฟล์จะใช้พื้นที่ประมาณ 26-27MB และถ้ารวมไฟล์ภาพทั้งหมดตั้งแต่ JPEG + RAW DNG + Capture living images เท่ากับว่ารูปถ่าย 1 รูปจะใช้พื้นที่มากถึง 40MB เลยทีเดียว
ฟีเจอร์เด่น
Rich Capture Mode นอกจากจะช่วยปรับแต่งภาพ JPEG ให้สวยงามหลังจากกดชัตเตอร์แล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นก็คือ เมื่อถ่ายภาพด้วยการเปิดใช้ไฟแฟลช ระบบจะบันทึกภาพทั้งก่อนเปิดไฟแฟลชและหลังเปิดไฟแฟลชไว้
โดยหลังจากถ่ายภาพเสร็จแล้ว ที่ Gallery ผู้ใช้สามารถกลับมาปรับแต่งสมดุลไฟแฟลชได้ตามต้องการ (Choose the best lighting) โดยระบบจะนำภาพที่บันทึกไว้ทั้งสองภาพมารวมกันเป็นภาพเดียว ผู้ใช้มีหน้าที่เลื่อนแถบปรับสมดุลแสงด้านล่างเพื่อเลือกช่วงแสงที่เหมาะสมได้อย่างอิสระ ช่วยให้การถ่ายภาพย้อนแสงทำได้สวยงามขึ้น
ตัวอย่างภาพถ่ายด้วย Rich Capture Mode ร่วมกับการเปิดไฟแฟลช หลังจากนั้นได้ปรับแถบสมดุลแสงให้พอดีเพื่อไม่ให้แสงไฟแฟลชเข้มจนเกินไป
High resolution zoom (PureView Zoom) ระบบซูมภาพดิจิตอลแบบไม่สูญเสียความละเอียดเป็นจุดเด่นของสมาร์ทโฟนตระกูลนี้เกือบทุกรุ่น และถูกพัฒนาปรับปรุงให้ประสิทธิภาพดีขึ้นมาตลอด โดยในรุ่นล่าสุด Lumia 950XL ก็ได้รับการปรับปรุงในส่วนรายละเอียดภาพและความคมชัดที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ทั้ง 3 ภาพนี้ ทีมงานใช้ High resolution zoom (PureView Zoom) ด้วยวิธีเดียวกับการซูมดิจิตอลบนสมาร์ทโฟนทั่วไป ไม่ต้องตั้งค่าใดๆให้วุ่นวาย
ทดสอบประสิทธิภาพและสรุป
จำได้ว่าเมื่อรุ่นที่แล้วการถ่าย RAW File .DNG + JPEG และระบบกล้องหลายส่วนยังดูขาดๆเกินๆ แต่มาถึงแพลตฟอร์ม Windows 10 และฮาร์ดแวร์ที่พัฒนาสูงขึ้น การถ่ายภาพทั้งโหมดอัตโนมัติ JPEG File และแบบมืออาชีพ RAW .DNG ทำได้ง่ายดายและลื่นไหลมากขึ้น การตั้งค่าไม่วุ่นวายเหมือนก่อนแล้ว
จุดที่น่าประทับใจก็คือการจัดการสัญญาณรบกวน JPEG File ที่ไมโครซอฟท์ปรับปรุงมาได้ดี ISO 3,200 ให้ผลลัพท์ของภาพที่ดีมาก สีสันที่เคยผิดเพี้ยนเมื่อดัน ISO ให้สูงถูกแก้ไขให้ดีขึ้นมาก
ส่วน RAW .DNG เห็นได้ชัดเจนจากรุ่นก่อนหน้าเลยว่า ไมโครซอฟท์ได้ปรับปรุงเรื่องการเก็บรายละเอียดภาพและไดนามิกที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องสัญญาณรบกวนจากไฟล์ดิบและเซ็นเซอร์รับภาพขนาดเล็ก ยิ่งเมื่อเปิดหน้ากล้องนานเกิน 2 วินาที ISO เกิน 400 เราจะเห็นความเละเทะของไฟล์ได้ (แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยซอฟต์แวร์ต่างๆ)
ยกตัวอย่างภาพนี้ถ่ายที่ความเร็วชัตเตอร์ 4 วินาที ISO แค่ 400 แต่เมื่อถ่ายด้วย RAW File นอยซ์ค่อนข้างเยอะมาก ต้องใช้ Lightroom ลบนอยซ์ออก ซึ่งก็ช่วยได้แค่ระดับหนึ่ง เพราะเนื้อไฟล์ค่อนข้างเละเทะพอสมควร
แต่พอแสงยามเช้าเริ่มมา ทำให้เราสามารถขยับ ISO ลงมาต่ำสุดได้ ภาพที่ได้ถือว่าเนียนและคมชัดมากขึ้น
โดยภาพนี้ถือว่าเป็นการโชว์พลังของ RAW File จาก Lumia 950XL ได้อย่างดี เพราะตอนบันทึกภาพนี้เป็นไฟล์ดิบ ทีมงานเลือกให้แสงติดโอเวอร์เล็กน้อยจากข้อจำกัดของ f-stop ที่ปรับไม่ได้ จากนั้นเมื่อมาถึงขั้นตอนตกแต่งภาพ ทีมงานเลือกดึงแสงลงและเพิ่มรายละเอียดของส่วนฟ้าให้มีสีที่สดขึ้น ทุกอย่างสามารถจัดการได้เหมือน RAW File จากกล้อง DSLR
มาลองถือถ่ายด้วยโหมดอัตโนมัติกันบ้าง ในที่แสงน้อยการจับโฟกัสทำได้รวดเร็วกว่ารุ่นก่อนหน้าพอสมควร ระบบป้องกันภาพสั่นไหวเมื่อทำงานควบคู่กับระยะเลนส์มุมกว้าง ทำให้คุณสามารถถือ Lumia 950XL ถ่ายที่ความเร็วชัตเตอร์ระดับ 2 วินาทีได้โดยไม่เกิดภาพสั่นไหว
สุดท้ายกับภาพรวมกล้อง PureView บน Lumia 950XL สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดหลังทดลองถ่ายภาพอยู่ 5 วันเต็ม คือ
1.ชัตเตอร์ทำงานเร็ว ระบบประมวลผลภาพเร็ว โดยเฉพาะการเลือกถ่ายแบบ JPEG 8 ล้านพิกเซล + DNG 19 ล้านพร้อมกัน ไม่มีอาการหน่วงให้เห็นแต่อย่างใด
2.ไฟล์ RAW .DNG มีการปรับปรุงด้านรายละเอียดภาพ ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการปรับแต่งที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างถ่ายฟ้ามาโอเวอร์ เราสามารถเข้าโปรแกรมตกแต่งภาพแล้วดึงรายละเอียดฟ้ากลับมาได้ชัดเจนกว่ารุ่นก่อนหน้ามาก
3.High resolution zoom (PureView Zoom) ทำงานได้ดีและนำไฟล์ไปใช้งานได้จริง
4.JPEG กับซอฟต์แวร์ปรับแต่งภาพอัตโนมัติหลังกดชัตเตอร์ ระบบเลือกปรับแต่งภาพได้ค่อนข้างฉลาด แต่ติดเรื่องหน้าจอแสดงผลชอบปรับภาพให้สวยกว่าไฟล์จริงพอสมควร
ถ่ายด้วย RAW File เปิดหน้ากล้องนาน 4 วินาที ISO ประมาณ 1 พัน จะเริ่มเห็นสัญญาณรบกวนเกิดขึ้นแม้จะลบด้วยซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์แล้วก็ตาม
5.JPEG กับ ISO 3,200 ให้นอยซ์ที่น้อยมาก ซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพทำงานได้ดี ในขณะไฟล์ RAW .DNG ที่ ISO เท่ากันแต่นอยซ์มากกว่า (มากระดับเละเทะ รายละเอียด สีสันเพี้ยนไปเลย) เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ใช้ทั่วไปที่เลือกถ่ายด้วยโหมดอัตโนมัติคงไม่มีปัญหาใดๆ แต่สำหรับมือโปรชอบไฟล์ดิบ ทีมงานแนะนำอย่าตั้ง ISO ให้เกิน 800 จะดีที่สุด ยิ่งเป็นการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ยามค่ำคืนเพื่อนำไปตกแต่งต่อ แนะนำให้คุม ISO ให้เหมาะสม ต้องใจเย็นๆ ลองถ่ายแล้วซูมเช็คภาพดูเรื่อยๆ เพราะถ้ามีปัญหานอยซ์และสัญญาณรบกวนจากการเปิดหน้ากล้องนานเกิดขึ้น คุณจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย (ต้องทำใจเซ็นเซอร์และสเปกกล้องหลังเล็กลงจากสมัย 808 PureView มาก)
สุดท้ายกับการทดสอบวิดีโอ 4K UHD ถือว่าคมชัดตามมาตรฐาน โดยเฉพาะเสียงที่แยกซ้ายขวาและมิติชัดเจนดี ส่วนวิดีโอ 1080p ปกติ ทีมงานมีข้อสังเกตเล็กน้อยในเรื่องระบบป้องกันภาพสั่นไหว ที่ทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร แม้จะเปิดฟังก์ชัน Digital Video Stabilization ร่วมด้วยก็ตาม (ส่วนนี้คาดว่าปัญหามาจากเฟริมแวร์ คล้ายกรณี LG G4 คงต้องรอให้ไมโครซอฟท์ออกเฟริมแวร์มาแก้ไขในอนาคต)
สรุปภาพรวมทั้งหมดในเรื่องกล้อง PureView – โดยภาพรวมถือว่ามีการปรับปรุงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งอย่าง LG G4 และสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ยอดนิยมอย่าง Samsung Galaxy S6 edge+ ที่ปรับค่ากล้องแบบแมนวลและถ่าย RAW .DNG ได้ Microsoft Lumia 950XL ไม่ได้มีฟังก์ชันการทำงานที่แปลกใหม่กว่าคู่แข่งแต่อย่างใด ยกเว้น High resolution zoom (PureView Zoom) ที่ Lumia 950XL ทำได้ดีกว่าและระบบไฟแฟลชกับ Rich Capture ที่ทำได้น่าสนใจมาก
“ความจริงแล้วไมโครซอฟท์มีเทคโนโลยีกล้องที่น่าสนใจเหนือคู่แข่งมากมายอยู่ในมือตั้งแต่สมัย Nokia 808 PureView แต่น่าเสียดายที่เทคโนโลยีเหล่านั้นถูกจำกัดด้วยกลไกตลาดหลายส่วน ทำให้ Lumia ในยุคหลังไม่ค่อยแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดมากนัก หลายฟักง์ชันใน Lumia 950/950XL ทำได้น่าสนใจและทีมงานมองว่าไมโครซอฟท์ที่มีเทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพของโนเกียอยู่ในมือน่าจะพัฒนาได้ดีเยี่ยมกว่านี้เหมือนสมัย 808 PureView แต่สุดท้ายเราก็ยังไม่เห็นความพิเศษเหนือคู่แข่งจาก Microsoft Lumia 950/950XL นอกจากประสิทธิภาพที่ปรับปรุงไปตามสมัยเท่านั้น”