ปัจจุบันตลาดรถกระบะดัดแปลง PPV (Pickup-based Passenger Vehicle) ในประเทศไทยได้รับความนิยมสูงขึ้นต่อเนื่อง (ไม่ว่าจะเหตุผลเพราะบ้านเราน้ำท่วมบ่อยและพื้นถนนส่วนใหญ่เป็นหลุมบ่อหรือคนในเมืองเริ่มออกต่างจังหวัด ชอบท่องเที่ยวกับธรรมชาติมากขึ้นก็ตาม) หลายค่ายผู้ผลิตรถยนต์จึงพยายามยกระดับรถจำพวก PPV ให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้นกว่าเก่า รวมถึงปรับภาพลักษณ์เน้นคนในเมืองหลวงมากยิ่งขึ้น
โดย Ford Everest ก็เป็นอีกหนึ่ง PPV (ใช้โครงสร้างร่วมกับรถกระบะ Ranger) ที่ทำตลาดในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี และในปีนี้ก็ถึงเวลาที่ฟอร์ดจะเปลี่ยนโฉม Everest ใหม่อีกครั้งกับ All-New Ford Everest ที่ในครั้งนี้ฟอร์ดพยายามยกระดับเป็น SUV ขนาดใหญ่ เพราะด้วยเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวกและการออกแบบหลายส่วนฉีกหนีจากกระบะอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต
สำหรับในวันนี้ก็ถือเป็นฤกษ์ดีที่ทางฟอร์ดประเทศไทยเชิญสื่อมวลชนสายไอทีมาทดสอบเทคโนโลยีใหม่ใน All-New Ford Everest กับ 4 เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของฟอร์ดในประเทศไทย
ผู้ที่ต้องการอ่านรีวิวสมรรถนะการขับขี่ให้กดที่ลิงค์ด้านล่าง
Ford SYNC 2
คลิกเพื่อชมวิดีโอ
พัฒนาจาก Sync (ซิงค์) รุ่นแรกใน Ford Focus จากเดิมซิงค์จะรองรับเฉพาะคำสั่งโทรออกหรือเล่นเพลง เปลี่ยนเพลง แต่ใน Sync 2 ที่นอกจากจะมาพร้อมหน้าจอสัมผัสขนาด 8 นิ้วแล้ว ระบบยังถูกปรับปรุงให้ฉลาดมากขึ้นและรองรับคำสั่งได้หลากหลายขึ้น (แต่ต้องพูดเป็นภาษาอังกฤษเหมือนเดิม) เช่น พูดว่า “Temperature 20 degrees” อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศจะปรับไปที่ 20 องศาเซลเซียส หรือการสั่งเล่นเพลง ผู้ใช้สามารถพูดเป็นชื่อศิลปิน ระบบจะเข้าใจและเล่นเฉพาะเพลงที่ร้องด้วยศิลปินคนนั้น
นอกจากนั้นในโหมดโทรศัพท์แบบแฮนด์ฟรี จากเดิมผู้ใช้สามารถสั่งโทรออกด้วยการพูดชื่อหรือหมายเลขที่ต้องการโทรออก แต่ใน Sync 2 ระหว่างโทรอยู่ถ้าไม่อยากให้คนในรถได้ยินเสียงสนทนา ผู้ใช้สามารถพูดว่า “Privacy” ระบบจะตัดเสียงสนทนาออกจากลำโพงรถและย้ายเสียงมาที่โทรศัพท์เราแทน
สำหรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เล่นเพลงหรือสมาร์ทโฟน ใน Ford Everest ใหม่จะรองรับการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่านบลูทูธ พร้อมช่อง USB 2 ช่อง (สามารถใช้ชาร์จแบตเตอรีสมาร์ทโฟนได้) รวมถึงมีช่องอ่านการ์ด SD และช่อง AUX 3.5 มิลลิเมตร
อีกทั้งบริเวณที่นั่งแถวสอง จะมาพร้อมชุดควบคุมเครื่องปรับอากาศด้านหลัง สามารถปรับอุณหภูมิและความแรงพัดลมได้ พร้อมช่องปลั๊กไฟแบบ 12V และปลั๊กไฟบ้าน 230V (สามารถเสียบชาร์จโน้ตบุ๊กและอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆได้)
Active Noise Cancelling
เป็นเทคโนโลยีที่ฟอร์ดภูมิใจนำเสนอมาก เพราะถือเป็นรถในกลุ่ม PPV SUV (ในช่วงราคาระดับเดียวกัน) คันแรกที่มาพร้อมระบบตัดเสียงรบกวนในห้องโดยสารด้วยสัญญาณดิจิตอล โดยการทำงานคือ
“ระหว่างเดินทาง ทั้งเสียงเครื่องยนต์ดีเซล เสียงสภาพแวดล้อมต่างๆจะถูกไมโครโฟนความไวสูง 2 ตัวรับความถี่เสียงเหล่านั้นแล้วส่งต่อไปให้หน่วยประมวลผลวิเคราะห์ จากนั้นระบบจะปล่อยคลื่นความถี่มาหักล้างเสียงเหล่านั้นออกไป”
Active Park Assist
คลิกเพื่อชมวิดีโอ
เป็นเทคโนโลยีจอดเทียบฟุตบาทแบบอัตโนมัติ (ไม่ต้องหักพวงมาลัยด้วยตัวเอง คอมพิวเตอร์จัดการให้) ที่แต่เดิมมีใน Ford Focus ตัวล่าสุดและถูกนำมาใช้พร้อมปรับปรุงใหม่ใน Everest โดยเฉพาะความแม่นยำของเซ็นเซอร์ที่เพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญคือระบบดังกล่าวทำงานร่วมกับกล้องหลังและจอแสดงผลได้แล้ว
Cross Traffic Alert
คลิกเพื่อชมวิดีโอ
ครั้งแรกของฟอร์ดกับเทคโนโลยีในการช่วยตรวจดูรถขณะถอยออกจากซองจอดรถ โดยระบบจะทำงานควบคู่กับ Blind Spot Information (BLIS) เมื่อรถจอดอยู่ในซองลักษณะเอาหน้าเข้า และเมื่อผู้ใช้ต้องการถอยรถออก เมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง เซ็นเซอร์ชุดหลังทั้งหมดจะทำการตรวจจับรถที่กำลังวิ่งไปมา ถ้ามีรถวิ่งเข้ามาในรัศมี เซ็นเซอร์จะร้องพร้อมไฟสีส้มขึ้นที่กระจกมองข้างด้านที่รถวิ่งมา รวมถึงที่หน้าจอบริเวณเรือนไมล์จะมีการแจ้งเตือนด้วย
ในส่วนเทคโนโลยีปลีกย่อยอื่นๆ สำหรับรุ่นท็อปสุด ผู้ใช้จะได้ทั้งระบบช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกดังต่อไปนี้
ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน – โดยเมื่อจอดรถอยู่ในทางลาดชัน ปล่อยเบรค รถจะยังคงหยุดนิ่ง (ไม่ไหลลง) เป็นเวลา 2 วินาที เพื่อให้ผู้ใช้เหยียบคันเร่งอย่างไม่ต้องกังวลใจ
ถุงลมนิรภัย 7 ถุง – คู่หน้า ด้านข้าง ม่านถุงลมนิรภัยทั้งสองด้านและกันเข่าคนขับ
ระบบลดความเสี่ยงจากการพลิกคว่ำและควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (Roll Stability Control and Electronic Stability Program) – ใน Ford Everest ตัวใหม่จะมีการฝังเซ็นเซอร์ไจโรสโคป ที่นอกจากจะไว้วัดความลาดเอียงของรถและแสดงผลออกมายังจอแสดงผลแล้ว เซ็นเซอร์ดังกล่าวยังช่วยตรวจจับรถขณะเข้าโค้งหรือหักเลี้ยวที่รุ่นแรงเกินไปจนรถสามารถพลิกคว่ำได้ ระบบจะสั่งให้เบรกทั้ง 4 ล้อที่สามารถสั่งงานได้อิสระ กระจายแรงเบรกแต่ละล้อให้เหมาะสมจนรถกลับมาควบคุมได้ปกติ
ระบบตรวจจับรถในจุดบอด – เวลาขับขี่บนท้องถนน เซ็นเซอร์จะทำงานรอบคันเพื่อตรวจจับรถรอบข้าง ถ้าระหว่างที่ผู้ใช้กำลังตีไฟเลี้ยวจะเปลี่ยนเลนถนนแล้วมีรถวิ่งอยู่ในมุมอับที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ ที่กระจกข้างด้านที่เราเปลี่ยนเลนจะมีไฟสีส้มปรากฏขึ้นเพื่อบอกให้รู้ว่ามีรถอยู่ในมุมอับสายตา
Terrain Management System – หรือระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ (4X4) ที่ฟอร์ดออกแบบมาให้ใช้งานง่ายขึ้น แค่หมุนให้ตรงกับลักษณะการใช้งานที่มีให้เลือกตั้งแต่ วิ่งถนนปกติ วิ่งบนหิมะ กรวด หิน หญ้า หรือวิ่งบนพื้นทราย พร้อมระบบล็อคเฟืองท้าย DIFF-LOCK ที่ผู้ใช้สามารถเลือกกดใช้งานได้ด้วยตัวเอง
พวงมาลัยผ่อนแรงไฟฟ้า (Electric Power-Assisted Steering (EPAS) system) – เมื่อคลานในเมืองหรือรถหยุดนิ่ง พวงมาลัยจะเบามาก ส่วนเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงพวงมาลัยจะหนักขึ้น
นอกจากนั้นพวงมาลัยฟอร์ดยังใส่ระบบ Pull-drift Compensation ซึ่งช่วยเวลาผู้ใช้วิ่งบนทางด่วนแล้วเกิดมีลมมาปะทะด้านข้างตัวรถ ระบบดังกล่าวจะช่วยรักษาสมดุลรถให้อัตโนมัติ ทำให้เราควบคุมรถง่ายขึ้น
นอกจากนั้นยังมีระบบช่วยลงเขา (ปุ่มตรงกลาง) ที่สามารถใช้ได้ทุกพื้นผิวตั้งแต่ถนนลาดยางไปถึงพื้นโคลน หิน หิมะ โดยระบบจะใช้ Engine Brake ในการควบคุมความเร็วรถ ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องเหยียบเบรคค้างไว้ตลอดเวลา ป้องกันอาการเบรคเฟดเวลาวิ่งลงเขาชันๆได้ดี
มาดูที่หน้าจอเรือนไมล์ให้อารมณ์แบบเดียวกับ Ford Ranger รุ่นใหม่ โดยตรงกลางเป็นที่อยู่เข็มมาตรวัดความเร็วแบบดั้งเดิม ส่วนด้านข้างทั้งสองข้างของเข็มความเร็วทั้จะถูกเปลี่ยนเป็นจอดิจิตอล ผู้ใช้สามารถกดปุ่มคำสั่งที่พวงมาลัยทั้งสองข้างเพื่อดูข้อมูลต่างๆของตัวรถ
โดยจอด้านขวาจะเป็นข้อมูลจำพวก อัตราสิ้นเปลือง เข็มวัดรอบ ดูอุณหภูมิ น้ำมัน ความลาดเอียงของรถ ตัวเลขทริป ระบบขับเคลื่อน เป็นต้น ส่วนจอด้านซ้ายจะเป็นส่วนระบบมัลติมีเดียดึงข้อมูลมาจากวิทยุ
คลิกเพื่อชมวิดีโอ
สุดท้ายกับฟังก์ชันอำนวยความสะดวกที่เหมาะกับคุณผู้หญิงมากที่สุด ก็คือ “ประตูท้ายเปิดปิดด้วยไฟฟ้าพร้อมเบาะแถวสามพับขึ้นลงด้วยไฟฟ้า” อยากรู้การทำงานเป็นอย่างไรคลิกชมที่คลิปวิดีโอด้านบนได้เลย
ทั้งหมดนี้คือพรีวิวเรียกน้ำย่อย All-New Ford Everest จากทีมงานไซเบอร์บิซ สิ่งหนึ่งที่ทีมงานได้พบเจอตลอดการทดสอบขับ (รุ่น 3.2 ลิตร) จากเส้นสาทรไปสู่ราชพฤกษ์ทั้งช่วงเวลาถนนโล่งปกติและช่วงโรงเรียนเลิก รถติดกระหน่ำ ด้านการขับขี่ในเมืองหลวงทั้งถนนแคบและถนนกว้าง ยอมรับว่าพวงมาลัยไฟฟ้าของ Everest ใหม่นั้นให้ความรู้สึกค่อนข้างเบาและไวไปนิด ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติในช่วงความเร็วต่ำ แต่ผมก็ได้พบข้อดีเมื่อถึงช่วงขากลับจากราชพฤกษ์สู่โรงแรมแถวสาทร (เวลาประมาณบ่าย 4 โมงกว่าๆ) ซึ่งรถติดหนักมา ด้วยความไวของพวงมาลัย โดยเฉพาะช่วงรถหยุดนิ่งแล้วต้องเปลี่ยนเลนหนีรถติดไปมาตลอดเวลา พวงมาลัยตอบสนองดีมากจนรู้สึกเหมือนขับรถเล็ก
มาถึงส่วนของระบบตัดเสียงรบกวนดิจิตอล ส่วนนี้ทีมงานขอติดไว้รีวิวแบบลงรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพราะตลอดทริปที่ทดสอบ ทีมงานยังไม่มีโอกาสได้ทำความเร็วเกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะวิ่งมากสุดก็ 85-90 กิโลเมตร ซึ่งที่ความเร็วระดับนั้นก็ถือว่า Ford Everest ทำได้ค่อนข้างดี เวลาคลิ๊กดาวน์เสียงเครื่องก็ไม่ดังมาก
สุดท้ายในส่วนระบบอำนวยความสะดวกรวมถึง Sync 2 โดยภาพรวมถือว่าทำได้ดี ระบบช่วยเหลือการจอดและถอยทำให้รถขับง่ายขึ้น (ผู้หญิงหลายคนชื่นชอบระบบเหล่านี้มาก) แต่ทีมงานก็ขอตั้งข้อสังเกตตรง Sync 2 ยังไม่รองรับภาษาไทยเหมือนเดิม แถมไม่มีแผนที่มาให้ด้วย ส่วนบรรดาเซ็นเซอร์รอบคันรู้สึกเหมือนฟอร์ดจะปรับปรุงให้มีความไวและแม่นยำกว่า Ford Focus พอสมควร
แต่ทั้งนี้ในส่วนรายละเอียดปลีกย่อยทีมงานยังไม่สามารถลงรายละเอียดได้ลึกเพราะเวลาทดสอบที่จำกัด อย่างไรก็ตามทีมงานขอติดผู้อ่านไว้ก่อนครับ แล้วเดี๋ยวได้รถมาเมื่อไรจะนำมาทดสอบแบบเจาะลึกทุกระบบอีกครั้งหนึ่ง