Review : Lenovo Pocket Projector โปรเจกเตอร์จิ๋วพร้อมเดินทาง

9441

001

Lenovo Pocket Projector ทำให้การพกพาโปรเจกเตอร์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป สามารถนำเสนองานได้ทุกที่ทุกเวลา ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ย่อทุกอย่างของการฉายภาพผ่านแสง ให้อยู่ในรูปแบบเครื่องฉายขนาดเล็กที่สามารถพกพาไปไหนต่อไหนได้อย่างสะดวก แถมเพียบพร้อมไปด้วยการเชื่อมต่อที่รองรับอุปกรณ์ที่หลากหลายที่มีอยู่อย่างครบถ้วน ทำให้ทั้งการนำเสนองานหรือเปิดชมเพื่อความบันเทิงสามารถทำได้ทุกที่ขอเพียงมีผนังหรือจอสีขาวเท่านั้นเป็นพอ

การออกแบบ

002

Lenovo Pocket Projector ออกแบบให้มีขนาดที่เล็ก 4 x 4 นิ้ว (กว้างxยาว) และหนา 1 นิ้ว ทำให้เหมาะกับการพกพา โดยมีการแบ่งฝั่งควบคุมและฝั่งฉายภาพที่สามารถปรับองศาขึ้นลงได้กว่า 90 องศา ซึ่งด้านบนที่เห็นนั้นมีการออกแบบฝั่งควบคุมด้วยยางสีดำที่ให้สัมผัสที่กระชับ อีกทั้งปุ่มกดมัลติฟังก์ชันก็ถูกออกแบบให้เป็นรูปบวก คล้ายปุ่มควบคุมเครื่องเล่นเกมสมัยก่อน พร้อมปุ่มฟังก์ชันทรงกลมขนาดเล็กวางอยู่บริเวณเดียวกัน

003

ด้านขอบของตัวเครื่องมีรูปร่างโค้งมนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยด้านหน้าเป็นส่วนของเลนส์ขยายแสงสำหรับการฉายภาพ ออกแบบให้หน้าเลนส์อยู่ด้านในเพื่อป้องกันการกระแทกจากการขนย้ายได้เป็นอย่างดี ขณะที่ด้านข้างของเลนส์มีวงแหวนปรับความคมชัดเช่นเดียวกับเครื่องโปรเจกเตอร์ขนาดใหญ่ทั่วไป ด้านหลังของตัวเครื่องมีปุ่มเปิดปิดเครื่อง ช่องต่อลำโพงแบบ 3.5 มิลลิเมตร และช่องต่อสายไฟแบบไมโครยูเอสบีเพื่อการชาร์จไฟ พร้อมปุ่มรีเซ็ตที่อาจจะต้องใช้เข็มปลายแหลมกด

004

ด้านข้างทั้งซ้ายและขวา มีลวดลายของลำโพงที่ทำจากสแตนเลสไว้อย่างสวยงาม โดยเฉพาะด้านขวาจะมีโลโก้ของเลอโนโวสลักไว้อย่างชัดเจน และเมื่อยกด้านเลนส์ขึ้น สันด้านในจะเห็นช่องใส่ไมโครเอสดีการ์ดซึ่งรองรับความจุสูงสุด 32 GB เพื่อให้สามารถเปิดมัลติมีเดียไฟล์ได้จากการ์ดนั้นได้เลย

005

ขณะที่ด้านหลังของตัวเครื่องมีขารองทำด้วยยาง 3 จุดบริเวณด้านหน้า และนอกจากนั้นยังมีช่องระบายอากาศขนาดเล็กเพื่อลดทอนความร้อนของตัวเครื่องที่เกิดขึ้นขณะใช้งาน และถัดมาด้านขวาจะเห็นวงกลมขนาดกลางเว้าลึกลงไป โดยจะแสดงตราสัญลักษณ์เลอโนโว พร้อมรายละเอียดรุ่นและสเปกของเครื่อง และมาตรฐานการผลิตไว้อย่างชัดเจน

สเปก

006

Lenovo Pocket Projector โปรเจกเตอร์ขนาดพกพา ด้วยเทคโนโลยีการฉายภาพแบบ DLP (Digital Light Processing) ให้ความคมชัดสูงสุดที่ความละเอียด 854 x 480 พิกเซล สัดส่วน 16 : 9 และฉายภาพได้ขนาดใหญ่สุด 110 นิ้ว ให้ความสว่าง 50 ลูเมนส์ อายุหลอดใช้ได้นานกว่า 20,000 ชั่วโมง รองรับการเชื่อมต่อไวเลสแบบ DLNA และ Miracast พร้อมลำโพงในตัว 2ด้าน แบตเตอรี่ภายในเครื่องใช้งานได้นาน 3 ชั่วโมงต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง น้ำหนัก 180 กรัม รองรับระบบแอนดรอยด์, วินโดวส์ 8.1, วินโดวส์ 10, iOS, Mac แบบ Miracast

ฟีเจอร์เด่น

007

การเชื่อมต่อที่หลากหลายของเครื่อง Lenovo Pocket Projector ช่วยลดข้อจำกัดที่ยุ่งยากของอุปกรณ์ที่จะต่อพ่วงลงด้วย และนั่นก็ทำให้เราสามารถเชื่อมต่อได้จากทั้งคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแม้กระทั่งการใส่การ์ดโดยตรงเข้าภายในเครื่องก็สามารถเปิดมัลติมีเดียเพื่อรับชมได้อย่างสะดวก แน่นอนว่าการเชื่อมต่อนั้นก็ไม่ซับซ้อนเพราะหากเคยใช้งานคอมพิวเตอร์มาในระดับหนึ่งหรือผู้ที่ใช้งานสมาร์ทโฟนคล่องก็สามารถเชื่อมต่อได้โดยง่าย

008

องศาการปรับก้มเงยได้กว่า 90 องศา ช่วยให้การหาตำแหน่งวางเพื่อฉายบนผนังด้านใดด้านหนึ่งมีความคล่องตัวมากขึ้น สามารถวางได้ทุกที่ที่ต้องการ โดยระยะการวางมีผลต่อขนาดการแสดงผล ซึ่งมีขนาดใหญ่สุด 110 นิ้ว (ตามแนวแทยง)

009

แบตเตอรี่ในตัว เป็นอีกหนึ่งความสามารถของอุปกรณ์โมบายที่จะต้องมี ซึ่ง Lenovo Pocket Projector เองก็สามารถเปิดใช้งานด้วยแบตเตอรี่ภายในตัวเครื่องได้นานกว่า 2.5 ชั่วโมง โดยเมื่อนับชั่วโมงที่ได้ก็ถือว่าเพียงพอต่อการประชุม นำเสนองาน หรือแม้กระทั่งชมภาพยนตร์ 1 เรื่องนั่นเอง

010

น้ำหนักของเครื่องเพียง 180 กรัม ทำให้สามารถพกพาเครื่องฉายขนาดเล็กเครื่องนี้ไปได้ทุกที่ โดยไม่ลำบาก ซึ่งเท่ากับว่าสามารถตอบโจทย์การใช้งานเคลื่อนในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี รวมทั้งขนาดของเครื่องที่ไม่ใหญ่จนเกินไป และการออกแบบที่ไม่หวือวาแต่เรียบง่ายอย่างมีสไตล์ ก็ช่วยส่งเสริมให้การพกพาเครื่องฉายไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป

011

DLP (Digital Light Processing) ที่อยู่ในตัวเครื่อง แต่เดิมเป็นเทคโนโลยีราคาแพงที่มีอยู่เฉพาะเครื่องฉายในโรงภาพยนตร์เท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับคุณภาพจอของเครื่องฉายแบบ LCD ในขนาดเลนส์เท่ากันแล้ว เทคโนโลยี DLP จะมีการเรียงของเม็ดสีที่ชิดกันทำให้สีที่ได้มีความละเอียดและสดใสมากกว่า โดยเทคโนโลยีนี้เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของ บริษัท Texas Instrument เท่านั้น

ทดสอบประสิทธิภาพ

012

การทดลองเชื่อมต่อ Lenovo Pocket Projector เข้ากับเครือข่ายไวไฟเป็นไปได้อย่างง่ายดายเช่นเดียวกับการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้ากับเครือข่ายปกติ ซึ่งก็คือการเลือกเครือข่ายและป้อนรหัสผ่านที่ตั้งค่าไว้ การเชื่อมต่อนี้ช่วยให้สามารถแชร์การแสดงผลจากอุปกรณ์ในวงแลนเดียวกันเข้ามาที่เครื่องฉายได้อย่างทันที

ขณะที่การทดสอบต่อตรงเข้ากับสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ เพื่อทำการเปิดวิดีโอยูทูปผ่านเครื่องฉาย ใช้การเลือกเชื่อมต่อผ่านไวไฟโดยเปิดเครื่องและเลือกไปที่แอนดรอยด์ แล้วทำตามขั้นตอนที่เครื่องแนะนำ ซึ่งจะต้องเปิดระบบ Miracast ในอุปกรณ์ที่จะเชื่อมต่อด้วย เพียงเท่านี้เครื่องก็พร้อมฉายภาพขึ้นผนังให้ได้รับชมกันอย่างเต็มตา และที่สำคัญความร้อนของเครื่องนับว่าน้อยกว่าเครื่องฉายขนาดปกติเป็นอย่างมากอีกด้วย

สรุป

Lenovo Pocket Projector เปิดตัวด้วยราคา 9,900 บาท ซึ่งหากเทียบกับราคาเครื่องฉายขนาดกลางๆทั่วไปในท้องตลาดก็นับว่ามีราคาสูงเอาการ แต่ด้วยขนาดและเทคโนโลยีของการฉายภาพ DLP พร้อมการเชื่อมต่อแบบไร้สาย ที่สามารถพกพาไปได้ทุกที่ทำให้ตอบโจทย์ได้คนละมุมกับเครื่องฉายขนาดทั่วไป ซึ่งเท่ากับว่าการลงทุนด้วยราคาเช่นนี้เป็นการจ่ายเพื่อนวัตกรรมที่จับต้องได้จริง ซึ่งก็แล้วแต่มุมมมองว่าจะคุ้มกับการใช้งานของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร

ข้อดี

  • เชื่อมต่อได้หลากหลายอุปกรณ์
  • เทคโนโลยีการแสดงผลที่ดีแบบ DLP
  • ใช้งานง่าย
  • น้ำหนักเบา พกพาสะดวก

ข้อสังเกต

  • มีอาการเด้งออกของการเชื่อมต่อ หากเชื่อมต่อผิดวิธีหรือซ้ำซ้อน
  • ระบบแสดงการเชื่อมต่อที่เหมาะสมให้ ซึ่งอาจจะต้องเลือกการเชื่อมต่อใหม่ทำให้แสดงผลไม่ต่อเนื่อง

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
7.5
สเปก/ฟีเจอร์เด่น
7
ความสามารถโดยรวม
7
ความคุ้มค่า
6.5
SHARE