การมาของ XPS 13 2in1 ในรุ่นปี 2017 ก็ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จของ XPS 13 รุ่นก่อนหน้า ด้วยการพัฒนาเรื่องของจอภาพแสดงผลให้เต็มพื้นที่มากขึ้น พร้อมกับใส่เทคโนโลยีในส่วนของระบบรักษาความปลอดภัยเข้ามาไม่ว่าจะเป็นกล้องหน้าที่รองรับ Windows Hello และเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ
ขณะเดียวกันในส่วนของสเปกภายในก็มีการอัปเกรดอย่างต่อเนื่อง ด้วยหน่วยประมวลผลล่าสุดจากทาง Intel Core i7 Gen 7 RAM 16 GB พื้นที่เก็บข้อมูลเป็น SSD 512 GB มากับพอร์ตเชื่อมต่อสมัยใหม่อย่าง USB-C ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการยกเครื่องโน้ตบุ๊กให้ทันสมัยมากขึ้นด้วย
การออกแบบ
XPS 13 2in1 จะชูในเรื่องของการเป็นเครื่องขนาดหน้าจอ 13 นิ้ว ในฟอร์มเฟคเตอร์ของเครื่องขนาด 11-12 นิ้ว โดยใช้วัสดุอย่างอะลูมิเนียม ผสมกับคาร์บอนไฟเบอร์ เพื่อให้โครงเครื่องมีความแข็งแรง น้ำหนักเบา โดยมีขนาดอยู่ที่ 304 x 199 x 8-13.7 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1.24 กิโลกรัม
ภายนอกตัวเครื่อง XPS 13 2in1 จะเน้นโทนสีเงินตัดกับโครงเครื่องสีดำ ที่จะเป็นจุดนำสายตาให้ตัวเครื่องดูเพรียวบาง โดยมีสัญลักษณ์ DELL อยู่ตรงกึ่งกลางฝาหน้า ตัดกับข้อต่อเหล็กสีเทาที่หุ้มด้วยอะลูมิเนียมคุณภาพสูง
เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาจะพบกับจอแสดงผลแบบ InfinityEdge คลุมด้วยกระจก Corning Gorilla Glass รองรับการสัมผัส ขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด QHD+ (3,200 x 1,800 พิกเซล) ที่ส่วนล่างหน้าจอจะมีสัญลักษณ์ DELL อีกจุด พร้อมกับกล้องเว็บแคมความละเอียด 720p ที่ทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์สแกนใบหน้าสำหรับ Windows Hello ด้วย
ถัดลงมาในส่วนของคีย์บอร์ด ซึ่งถือเป็นอีกจุดที่น่าสนใจด้วยการนำปุ่มคีย์บอร์ดขนาดปกติมาให้ใช้งานกัน โดยจะไปย่อขนาดในส่วนของปุ่มฟังก์ชันที่แถบบนสุด ปุ่มควบคุมทิศทาง และปุ่มคำสั่งต่างๆแทน เพื่อให้การใช้งานพิมพ์สามารถทำได้อย่างคล่องตัว
พร้อมกันนี้ ในส่วนของ Touch Pad ที่ให้มาก็มีขนาดใหญ่ ช่วยให้ใช้งานเครื่องได้สะดวกขึ้น แม้ว่าหน้าจอของรุ่นนี้จะรองรับการสัมผัสอยู่แล้วก็ตาม ส่วนทางด้านขวาก็จะมีสี่เหลี่ยมที่เป็นจุดเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ เพิ่มความปลอดภัยไปอีกขั้นหนึ่ง
เมื่อคว่ำเครื่องขึ้นมา จะเจอกับแถบยาง 2 แถบที่พาดยาวไปป้องกันตัวเครื่องเวลาวางใช้งาน โดยจะมีฝาปิดเหล็กที่สกรีนคำว่า XPS อยู่ เมื่อเปิดขึ้นมาก็จะเจอกับรหัสเครื่อง เครื่องหมายรับรองมาตรฐานต่างๆ และรูไขน็อตเพื่อเปิดฝาหลังออก
รอบๆเครื่องทางฝั่งซ้ายจะมีพอร์ต USB-C 1 พอร์ต ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. และปุ่มสำหรับกดเช็กปริมาณแบตเตอรี ส่วนฝั่งขวาจจะมีพอร์ตสำหรับล็อกเครื่อง USB-C 1 พอร์ต ช่องใส่ไมโครเอสดีการ์ด และปุ่มเปิดเครื่อง ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถเสียบสายชาร์จได้ทั้งฝั่งซ้าย และขวา เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน
ที่น่าสนใจคือเรื่องของสายชาร์จที่ให้มากับเครื่อง ที่ออกแบบมาให้พกพาได้สะดวก ด้วยการทำให้สามารถพันสายรอบอะเดปเตอร์ได้ แต่ก็จะมีในส่วนของสายไฟที่แยกออกมา ทำให้บางทีอยากหาหัวปลั้กมาต่อตรงกับอะเดปเตอร์แทน
สเปก
สำหรับเครื่อง XPS 13 2in1 รุ่นที่ได้มาทดสอบ จะมาพร้อมกับหน่วยประมวลผล 7th Generation Intel Core i7-7Y75 processor (4M Cache, up to 3.6 GHz) Intel HD Graphics 615 RAM 16 GB SSD 512GB
ในส่วนของการเชื่อมต่อจะใช้ชิปเซ็ต Intel 8265 รองรับ WiFi บนมาตรฐาน 802.11ac แบบ 2×2 พร้อมกับ บลูทูธ 4.2 ระบบเสียงจะใช้ลำโพงสเตอริโอที่ปรับแต่งโดย Waves MaxxAudio Pro ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home 64 bit
ฟีเจอร์เด่น
จุดเด่นหลักที่เดลล์ พยามนำเสนอในการใช้งาน XPS 13 2in1 คือเรื่องของรูปแบบในการใช้งาน ที่แบ่งออกเป็น 4 โหมดด้วยกัน คือโหมดแล็ปท็อป ในการทำงานทั่วไป โหมดแท็บเล็ตในกรณีที่ใช้สำหรับการอ่านหรือดูคอนเทนต์ โหมดตั้ง และโหมดเต็นท์ ในการนำเสนองาน หรือรับชมซีรีส์ที่ชื่นชอบ
ถัดมาเลยคือฟีเจอร์ที่มากับความสามารถของ Windows 10 ที่มีการเพิ่มในส่วนของระบบรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมด้วย Windows Hello ที่จะใช้ทั้งกล้องหน้าในการตรวจจับใบหน้าของผู้ใช้ ทำให้เมื่อเปิดเครื่องมาเจอใบหน้าที่ลงทะเบียนไว้ ตัวเครื่องก็จะปลอดล็อกโดนอัตโนมัติ
หรือจะเลือกใช้รูปแบบการปลดล็อกจากการสแกนลายนิ้วมือ ที่ให้มาด้วยก็ได้เช่นกัน หรือถ้าไม่ต้องการใช้ทั้ง 2 รูปแบบ ก็ยังสามารถเลือกการกรอกรหัส หรือเลือกแตะจุดบนหน้าจอเพื่อปลดล็อกได้เช่นเดิม
อย่างไรก็ตามในส่วนของโปรแกรมที่ติดตั้งมาให้ในเครื่อง และดูน่าสนใจที่สุดคือระบบอย่าง Dell Support Assist ที่จะช่วยเตือนในเรื่องของระยะเวลารับประกัน การแจ้งเตือนจากระบบให้อัปเดต รวมถึงการตรวจสอบอุปกรณ์ภายในเครื่อง ปรับแต่งการใช้งานให้เหมาะสม และการติดตั้งไดร์ฟเวอร์เพิ่มเติม
ส่วนที่เหลือก็จะเป็นโปรแกรมที่ให้มากับ Windows 10 อยู่แล้ว ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าต้องการนำเครื่องไปใช้ทำอะไร ก็ลงโปรแกรมเพิ่มตามที่ใช้งาน ซึ่งจากสเปกเครื่องที่ให้มาเชื่อว่ารองรับการใช้งานของผู้บริโภคทั่วไป รวมถึงการทำงานหนักๆพอสมควรอยู่แล้ว
อีกจุดที่น่าสนใจเลยคือเรื่องของแบตเตอรีที่ให้มาขนาด 46WHr โดยเมื่อทดสอบใช้งานทั่วๆไป เล่นอินเทอร์เน็ต ทำงานเอกสาร ดูภาพยนตร์ออนไลน์ ที่มีการเชื่อมต่อตลอดเวลา ก็สามารถใช้งานได้ราว 8 ชั่วโมง ซึ่งทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการเปิดความสว่างหน้าจอ และการประมวลผลหนักๆ เพราะเดลล์เคลมว่าสามารถใช้งานได้สูงสุดถึง 15 ชั่วโมง
ทดสอบประสิทธิภาพ
PCMark 10 = 2,259 คะแนน
Fire Strike Ultra 150 คะแนน
Fire Strike Extreme 282 คะแนน
Fire Strike 546 คะแนน
Sky Driver 2,286 คะแนน
Cloud Gate 4,336 คะแนน
Time Sky 216 คะแนน
Ice Storm Unlimited 56,308 คะแนน
Ice Storm Extreme 29,964 คะแนน
Cinebench R15 / OpenGL = 20.29fps, CPU = 164cb
Geekbench 4 / Single-core = 4,119 คะแนน, Multi-core = 7,068 คะแนน Open CL 14,216 คะแนน
เมื่อดูจากผลการทดสอบแล้ว จะพบว่า Dell XPS 13 2-1 ไม่ได้เป็นเครื่องที่เน้นด้านการประมวลผลเพื่อใช้ทำงานหนักๆ แต่จะเน้นไปที่ความสามารถของเครื่องโดยรวมมากกว่า รองรับการใช้งานทั่วๆไปในการทำงานแบบนักธุรกิจ หรือใช้เพื่อพรีเซนต์งานต่างๆ
สรุป
ด้วยคอนเซปต์ของเครื่องในตระกูล XPS ที่เน้นในแง่ของการนำนวัตกรรม ของโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้ตามพฤติกรรมการใช้งาน ประกอบกับกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนว่าอยู่ในกลุ่มนักธุรกิจ
เพราะจากค่าตัวในรุ่นท็อปสุดจะอยู่ที่ 79,990 บาท แลกกับตัวเครื่อง 13 นิ้ว ที่พับหน้าจอใช้งานได้ 4 รูปแบบ มีความโดดเด่นในเรื่องของดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้แก่ผู้ใช้งาน ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่า มีความจำเป็นต้องใช้งานเครื่องในระดับนี้หรือไม่