น่าจะถือเป็นคลื่นลูกใหม่ของสมาร์ทโฟนเลอโนโวก็ได้ หลังจากเริ่มปล่อยหมัดเด็ดอย่าง Vibe Shot ออกมากระตุ้นตลาดสมาร์ทโฟนในระดับหมื่นต้นๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เริ่มเรียกความนิยมจากกลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้นในช่วง 4-5 พันบาทมาแล้ว
จุดเด่นที่เลอโนโว ยังคงอยู่ก็คือการเน้นประสิทธิภาพของตัวเครื่องในแง่ของสเปกให้เมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นในตลาดแล้วถือว่าคุ้มค่ากับแต่ละช่วงราคามากที่สุด เช่นเดียวกับ Vibe Shot ที่อัดสเปกระดับหมื่นปลายๆ มาในราคา 11,900 บาท
โดย 3 จุดเด่นหลักของ Vibe Shot เลยคือเรื่องของกล้องถ่ายภาพที่ให้ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล การที่มีไฟแฟลช 3 ดวง ช่วยเกลี่ยสีแฟลชให้ได้ภาพที่ธรรมชาติมากที่สุด และปุ่มสำหรับสลับโหมดถ่ายภาพอัตโนมัติกับโหมดโปร
การออกแบบ
ต้องยอมรับว่า Vibe Shot ได้เปลี่ยนรูปแบบการดีไซน์ของสมาร์ทโฟนเลอโนโวออกไปจากรุ่นก่อนหน้า ที่พยายามทำตามไอโฟนอย่างจริงจังในรุ่นก่อนหน้า แต่ก็ถือว่ายังมีกลิ่นอายอยู่เล็กๆด้วยการที่ใช้อะลูมิเนียมผสมกับกระจก ทำให้ตัวเครื่องมีความแข็งแรง
โดยขนาดรอบตัวของ Vibe Shot จะอยู่ที่ 142 x 70 x 7.3 มิลลิเมตร น้ำหนัก 145 กรัม ซึ่งโดยรวมแล้วงานประกอบทำได้แน่นหนา ให้ความรู้สึกถึงการเป็นสมาร์ทโฟนในระดับไฮเอนด์ เสริมความแข็งแรงด้วยกระจกแบบ Gorilla Glass 3 ทั้งหน้าและหลัง วางจำหน่ายด้วยกัน 3 สี คือ ดำ ขาว และ แดง เพียงแต่สีแดงจะขายผ่านลาซาด้าเท่านั้น
ด้านหน้า – ไล่จากส่วนบนจะมีช่องลำโพงสนทนา ที่มีกล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล และเซ็นเซอร์วัดแสง ตรวจจับใบหน้าอยู่ ถัดลงมาเป็นจอ IPS LCD ทัชสกรีนขนาด 5 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1920 x 1080 พิกเซล) ความละเอียดเม็ดสี 441 ppi ล่างหน้าจอเป็นปุ่มสัมผัสเรียกดูแอปที่ใช้งานล่าสุด ปุ่มโฮม และปุ่มย้อนกลับตามลำดับ
ด้านหลัง – จะถูกออกแบบให้มีการเล่นสีตัดตรงบริเวณกล้องตัวเครื่อง โดยจะมียี่ห้อ และรุ่นอยู่ที่ส่วนล่าง และมีกล้องความละเอียด 16 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลช 3 สี กับช่องอินฟาเรดในการตรวจจับโฟกัส พร้อมข้อความระบุลายละเอียดกล้องต่างๆ ตัวเครื่องไม่สามารถถอดฝาหลังได้ ภายในมีแบตเตอรีขนาด 3,000 mAh อยู่
ด้านซ้าย – เป็นที่อยู่ของช่องใส่ถาดไมโครซิมการ์ด (รองรับการใช้งานแบบ 2 ซิม) และช่องถาดใส่ไมโครเอสดีการ์ด โดยจะมีเข็มจิ้มให้ภายในกล่อง ด้านขวา – จะมีทั้งปุ่มปรับระดับเสียง ปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง ปุ่มปรับโหมดถ่ายภาพ และปุ่มชัตเตอร์กล้อง
ด้านบน – มีช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. และรูไมโครโฟนที่สอง กับแถบรับสัญญาณ ด้านล่าง – จะเป็นที่อยู่ของพอร์ตไมโครยูเอสบี โดยมีการเจาะช่องเป็นลำโพงอยู่รอบข้าง ถัดไปเป็นแถบรับสัญญาณ และที่น่าสนใจคือมีช่องสำหรับร้อยสายห้อยสมาร์ทโฟนให้ด้วย
สเปก
สำหรับสเปกภายในของ Vibe Shot จะมาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 615 ที่เป็น Octa-Core โดยแบ่งเป็น Quad-Core 1.7 GHz กับ 1 GHz กราฟิกชิป Adreno 405 RAM 3 GB พื้นที่เก็บข้อมูลภายใน 32 GB สามารถใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มได้สูงสุด 128 GB ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอดย์ 5.1 (Lollipop)
ด้านการเชื่อมต่อรองรับการใช้งานแบบ 2 ซิมการ์ด ที่รองรับการเชื่อมต่อทั้ง 3G และ 4G สามารถใช้งานได้ทุกคลื่นความถี่ที่ให้บริการในประเทศไทย นอกจากนี้ยังรองรับ ไวไฟ มาตรฐาน 802.11 a/b/g/n บลูทูธ 4.1 GPS วิทยุFM แต่ไม่มี NFC
ฟีเจอร์เด่น
จุดที่เด่นที่สุดของ Vibe Shot ที่ต้องนำมาพูดถึงคงหนีไม่พ้นเรื่องของกล้องถ่ายภาพ ที่สเปกระบุว่าให้ความละเอียดมา 16 ล้านพิกเซล แต่จุดเด่นจริงๆแล้วคือการที่ผู้ใช้สามารถปรับโหมดใช้งานได้ด้วยตนเองว่า ต้องการใช้งานแบบ อัตโนมัติ (Auto) หรือแบบตั้งค่าเอง (Pro)
โดยเมื่อกดสลับเข้าโหมดโปรแล้ว ผู้ใช้จะสามารถใช้นิ้วลากปุ่มชัตเตอร์สีเหลืองบนหน้าจอมาทางซ้ายเพื่อเรียกแถบการตั้งค่า (คล้ายๆกับใน Lumia และ HTC) ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกปรับสมดุลแสงขาว ระยะโฟกัส ค่าความไวแสง ความเร็วชัตเตอร์ (ปรับได้ตั้งแต่ 1/15 – 1 วินาที) และปรับชดเชยแสงได้
ตัวอย่างภาพสามารถดูได้ที่แกลอรี่ด้านล่าง
แต่ทั้งนี้ ที่น่าเสียดายคือในแง่ของการปรับความเร็วชัตเตอร์ ที่ไม่สามารถตั้งเป็นเวลานานกว่า 1 วินาทีได้ รวมถึงตั้งให้เร็วกว่า 1/15 ก็จะกลายเป็นแบบอัตโนมัติไปแทน ทำให้เรียกได้ว่าโหมดโปรที่ให้มายังไม่ค่อยสุดเท่าที่ควร
นอกเหนือไปจากนี้ ในโหมดโปร ผู้ใช้ยังสามารถเข้าไปเลือกรูปแบบการถ่ายภาพอย่าง พาโนราม่า สถานที่ตอนกลางคืน ถ่ายภาพชดเชยแสงแบบสีสัน ถ่ายภาพเบลอพื้นหลัง และถ่ายภาพเซลฟี่แบบมุมกว้างได้ด้วย
สลับกลับมาที่โหมดการถ่ายภาพแบบอัตโนมัติ ภายในโหมดอัตโนมัติ ก็จะมีให้ผู้ใช้เลือกอีกทีว่า ต้องการเปิดโหมด Smart หรือไม่ ถ้าไม่เปิดก็จะเป็นการถ่ายภาพแบบปกติ แต่ถ้าเปิดเวลาจับภาพวัตถุตัวแอปก็จะทำการเปลี่ยนโหมดถ่ายภาพอย่าง วิว บุคคล อาหารให้ตามอัตโนมัติ
อีกจุดเด่นหนึ่งของกล้องก็คือ การที่ใช้อินฟาเรตในการโฟกัสวัตถุ ทำให้สามารถโฟกัสภาพได้แม้อยู่ในที่มืด และที่สำคัญคือการทำให้ตัวกล้องโฟกัสภาพได้รวดเร็วขึ้นด้วย เช่นเดียวกับการใช้งานแฟลชในที่มืด ก็จะทำให้ได้ภาพที่สมจริงมากขึ้นเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปุ่มชัตเตอร์ที่แยกมาให้นั้น จะทำงานคล้ายกับขัตเตอร์กล้องถ่ายภาพเลย คือสามารถกดลงไปเพื่อโฟกัสภาพก่อนออกแรงลงไปอีกระดับเพื่อบันทึกภาพ โดยสามารถใช้ปุ่มดังกล่าวเข้าเมนูกล้องได้เช่นเดียวกัน
แต่ถ้าต้องการถ่ายภาพด่วนแม้ขณะที่ยังไม่ได้เปิดหน้าจอสมาร์ทโฟนขึ้นมา สามารถเข้าไปตั้งค่าให้กดปุ่ม เพิ่มหรือลดเสียง 2 ครั้งติดกันเพื่อจับภาพได้ ซึ่งถือเป็นฟีเจอร์ลัดที่เพิ่มเข้ามาให้
นอกจากนี้ ก็จะมีฟีเจอร์อย่างการ แตะที่หน้าจอ 2 ครั้งเพื่อปลุกจอขึ้นมา โหมดเลือกโปรไฟล์อัจฉริยะ ตามแต่ละช่วงเวลา ในการเข้าเปิด-ปิด ไวเลส เปลี่ยนโหมดการแจ้งเตือน และปุ่มลัดในการสั่งงานพิเศษ Wide Touch ในการเข้าถึงเมนูลัดต่างๆ จากปุ่มที่ลอยอยู่บนหน้าจอ
ฟังก์ชันเพื่อความปลอดภัยอย่าง Secure Zone ที่ผู้ใช้จะใช้การใส่รหัสล็อก เพื่อสลับการใช้งานระหว่างโหมดปกติ กับโหมดความปลอดภัย ที่สามารถเลือกได้ว่าจะให้เข้าถึงแอปพลิเคชันใดบ้าง รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลต่างๆภายในตัวเครื่องด้วย
รวมถึงฟีเจอร์พิเศษอย่างปุ่มลัดเพื่อสั่งงาน และเข้าแอปพลิเคชันก็สามารถเข้าไปเลือกใช้งานได้จากหน้าตั้งค่าเพิ่มเติม
กลับมาถึงหน้าตาในการใช้งานของ Vibe Shot หรือ Vibe UI ที่เรียกว่าออกแบบมาได้ใช้งานง่าย เนื่องจากไม่มีหน้ารวมเมนูแยกออกมา ผู้ใช้สามารถเข้าถึงแอปทั้งหมดที่ดาวน์โหลด รวมถึงวิตเจ็ตได้จากหน้าแรกเลย ดังนั้นจึงสามารถจัดการโฟลเดอร์ ปรับขนาดวิตเจ็ตได้ตามต้องการ
เช่นเดียวกับแถบการแจ้งเตือน ที่นอกจากไว้ใช้แจ้งเตือนทั่วไปแล้ว ยังสามารถกดเข้าไปดูการแจ้งเตือนย้อนหลังได้ และลากลงมาอีกครั้งเพื่อเข้าสู่การตั้งค่าด่วน ที่ให้มาครบทั้งการเปิด-ปิด ไวไฟ ดาต้า บลูทูธ เสียง จีพีเอส การหมุนหน้าจอ โหมดประหยัดพลังงาน จับภาพหน้าจอ ไฟฉาย ปรับตวามสว่าง และโหมดลัดอื่นๆอีกแล้วแต่ผู้ใช้จะตั้ง
ขณะที่หน้าจอล็อกสกรีน นอกเหนือจากแสดงสถานะเครือข่ายที่เชื่อมต่อ วันที่ เวลา และการแจ้งเตือนต่างๆแล้ว ก็จะมีไอคอนเรียกใช้งานโทรศัพท์ หรือ โหมดกล้องด่วน แต่ที่น่าสนใจคือกรณีที่กดปุ่มเปิดเครื่องขึ้นมา แล้วเซ็นเซอร์ตรวจจับพบว่ามีอะไรบังอยู่ (เหมือนพกอยู่ในกระเป๋าแล้วไปโดนปุ่มเปิดหน้าจอ) ตัวเครื่องจะมีโหมดป้องกันการปลดล็อกอีกชั้นหนึ่ง
โดยผู้ใช้สามารถเข้าไปใน Theme Center เพื่อเลือกเปลี่ยนรูปแบบธีมให้ได้ตามที่ต้องการ การเปลี่ยนภาพพื้นหลัง รูปแบบการล็อกหน้าจอ รวมถึงหน้าจอ Recent Apps ก็มีให้เลือกเปลี่ยนใช้งาน
สำหรับแอปพลิเคชันเฉพาะที่เลอโนโวให้มาก็จะมีพวก SHAREit ระบบส่งไฟล์รูปภาพ เพลง ไปยังอุปกรณ์อีกเครื่องที่ลงแอปเหมือนกัน SYNCit ระบบสำรองข้อมูลรายชื่อผู้ติดต่อ ข้อความ และประวัติการโทร CLONEit ระบบย้ายข้อมูลจากสมาร์ทโฟนเครื่องเก่ามาเครื่องใหม่
ที่เหลือก็เป็นแอปทั่วไปที่ติดตั้งมาให้อย่างบริการจากทางกูเกิล แอปดูรูป ดูหนัง ฟังเพลง ตัวจัดการไฟล์ภายในตัวเครื่อง เครื่องคิดเลข เข็มทิศ เครื่องบันทึกเสียง วิทยุ โดยมีการพรีโหลดโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊ก สไกป์ และทวิตเตอร์มาให้ด้วย
ในแง่ของการใช้งานโหมดโทรศัพท์ กรณีที่ใช้งาน 2 ซิม ที่แถบสีเขียวด้านล่างก็จะมีปุ่มให้เลือก โดยมาพร้อมกับระบบคาดเดารายชื่อ หน้าจอขณะสนทนามีไอค่อนลัดให้เลือกอย่างการเพิ่มสาย พักสาย ปิดเสียง บันทึกเสียง ตามปกติ ส่วนหน้าจอสายเรียกเข้าใช้การสไลด์ปุ่มเพื่อรับ
คีย์บอร์ดที่ให้มาพร้อมใช้งานทั้งภาษาไทย และอังกฤษ โดยมีปุ่มสลับภาษามาให้ด้วย หรือสามารถกดค้างที่ปุ่มสเปซบาร์เพื่อเข้าสู่หน้าการตั้งค่าคีย์บอร์ดเพื่อสลับภาษาก็ได้เช่นเดียวกัน ในแง่ของการใช้งานคีย์บอร์ดภาษาไทยอาจจะปุ่มเล็กไปหน่อยทำให้กดพิมพ์ค่อนข้างยาก
ตัวเว็บเบราว์เซอร์ที่ให้มามีทั้ง Chome และ UC Browser โดยการแสดงผลในการใช้งานโดยรวมถือว่าผ่าน การใช้งานทำได้ลื่นไหลดี เช่นเดียวกับการแสดงผลทั้งแนวตั้งและแนวนอน ร่วมกับจอ
การใช้งานด้านมัลติมีเดียโดยรวมทำได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการรับชมวิดีโอ จากหน้าจอความละเอียดสูง การใช้งานโซเชียลมีเดียต่างๆทำได้ครบ ดังนั้นก็ถือว่าเป็นเครื่องที่ค่อนข้างคุ้มค่ากับราคาอยู่แล้ว
ทดสอบประสิทธิภาพ
มาถึงส่วนของผลการทดสอบ ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Quadrant Standart และ Antutu ได้คะแนน 38,503 คะแนน และ 26,563 คะแนน ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 8 จุดพร้อมกัน
ทดสอบการใช้งาน HTML 5 ผ่าน Vellamo จากเว็บเบราว์เซอร์ได้ 1,375 คะแนน โครมเบราว์เซอร์ 2,124 คะแนน ส่วนประสิทธิภาพตัวเครื่องได้ (Metal) 1,251 คะแนน Multicore 1,675 คะแนน คะแนน Geek Bench 3 Single-Core 735 Multi-Core 2,620 คะแนน
ระยะเวลาการใช้งานบนแบตเตอรีต่อเนื่องอยู่ที่ 5 ชั่วโมง 46 นาที 10 วินาที คิดเป็นคะแนนของ Geekbench 3 ได้ 2,393 คะแนน
ขณะที่การทดสอบด้วยโปรแกรม PCMark ในส่วนของ Work Performance ได้ 3,808 คะแนน 3D Mark ตัว Sling shot ได้ 197 คะแนน Ice Storm Unlimited ได้ 8,111 คะแนน ส่วน Ice Storm Extream 5,583 คะแนน และ Ice Storm 9,414 คะแนน
ส่วน Passmark PerformanceTest Mobile ได้คะแนน System 4,503 คะแนน CPU 24,979 คะแนน Disk 32,028 คะแนน Memory 5,261 คะแนน 2D Graphics 2,902 คะแนน และ 3D Graphics 1,238
สรุป
ถ้ากำลังมองหาสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งาน 4G ในระดับหมื่นต้นๆ ต้องถือว่า Vibe Shot เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะด้วยประสิทธิภาพโดยรวมถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานทั่วไป ที่สำคัญคือได้ความโดดเด่นในเรื่องของกล้องถ่ายภาพเพิ่มขึ้นมา
การใช้งานโดยรวมทั้งมัลติมีเดีย จากหน้าจอที่ให้ความละเอียด Full HD ทำให้การแสดงผลสามารถทำได้ดี การใช้งานแบตเตอรีต่อเนื่องสบายๆใน 1 วัน ที่สำคัญคือมาพร้อมกับแอนดรอยด์ 5.1 อยู่แล้ว ทำให้การตอบสนองทำได้ลื่นไหลเป็นอย่างดี