นับว่าเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญของเลอโนโว ในการที่ Lenovo Yoga 3 Pro ได้มีการผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องเเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว แสดงให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีว่า จุดเด่นอย่างการหมุนหน้าจอได้ 360 องศา เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในยุคปัจจุบัน
เมื่อนับรวมไปกับการพัฒนาทางด้านหน่วยประมวลผลของอินเทล ที่มีการคิดค้น Intel Core M เพิ่มขึ้นมา ชูจุดเด่นเรื่องประสิทธิภาพในการประมวลผล แต่ใช้พลังงานต่ำ ยิ่งเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในการใช้งานโน้ตบุ๊กเป็นอุปกรณ์พกพาได้มากขึ้น
การออกแบบ
ในแง่ของการออกแบบต้องยอมรับว่า Yoga 3 ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของวัสดุที่ใช้งาน ความบาง น้ำหนัก บนจุดแข็งหลักคือการที่หน้าจอหมุนได้ 360 องศา โดยในรุ่นนี้ได้มีการเพิ่มความแข็งแรงของข้อต่อบานพับเข้ามาด้วยการนำเทคโนโลยีของข้อต่อนาฬิกาเข้ามาใช้งานร่วมกับแบบเดิม เพื่อให้ได้ความแข็งแรงในการพับจอได้มากขึ้น
ถัดมาในส่วนของวัสดุภายนอกจะใช้เป็นอะลูมิเนียมสีเงิน เพิ่มความหรูหราให้กับตัวสินค้ามากยิ่งขึ้น โดยจะมีเพียงสัญลักษณ์ของเลอโนโวติดอยู่ที่ขอบซ้ายบนเท่านั้น เช่นเดียวกับล่างเครื่องที่แทบจะถูกปล่อยโล่งไว้ทั้งหมด มีเพียงสัญลักษณ์การรับรองมาตรฐาน และสติกเกอร์ระบุรายละเอียดต่างๆของตัวเครื่อง กับยางไว้รองเครื่องเท่านั้น
เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาภายใน ส่วนของหน้าจอจะใช้กระจกแบบกอลิล่ากลาส ร่วมกับหน้า Full HD ขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด 3800 x 1200 พิกเซล ที่สำคัญคือเป็นจอแบบ IPS ด้วย โดยมีสัญลักษณ์เลอโนโวสีเงินที่มุมซ้ายบน กล้องเว็บแคมตรงกลาง และสัญลักษณ์วินโดวส์ที่ล่างหน้าจอเท่านั้น แต่ก็น่าเสียดายที่บริเวณขอบจอยังค่อนข้างหนา ทำให้ดูแล้วตัวเครื่องจะค่อนข้างใหญ่ขึ้นมา
ในส่วนของบริเวณตัวเครื่อง จะมีการบุด้วยพลาสติกที่มีพื้นผิวคล้ายกับยางๆ ให้สัมผัสแล้วไม่รู้สึกว่าแข็งจนเกินไป โดยจะมีลวดลายจุดๆที่พื้นผิวด้วย ประกอบกับสัญลักษณ์แสดงการใช้เทคโนโลยีด้านเสียงของ JBL ที่มุมซ้ายบน และสติกเกอร์รบุหน่วยประมวลผลที่ใช้เป็น Intel Core M เครื่องแบบ UltraBook
เมื่อเจาะลึกเข้ามาที่บริเวณคีย์บอร์ด เลย์เอาท์ของคีย์บอร์ดจะเป็นแบบ 4 แถว ทำให้ในการใช้งานเบื้องต้นอาจงงเล็กน้อย อย่างปุ่มเปลี่ยนภาษา (`) ไปอยู่ที่มุมขวาสุดแทน ทำให้การเปลี่ยนภาษาที่คุ้นชินอาจลำบากไปบ้าง ต้องใช้การเปลี่ยนภาษาแบบกดปุ่มวินโดวส์และสเปซบาร์แทน
ตัวคีย์บอร์ดมีขนาดใหญ่ได้ตามมาตรฐาน รองรับการพิมพ์สัมผัสได้เป็นอย่างดี น่าเสียดายที่รุ่นที่นำมาทดสอบยังไม่มีการสกรีนภาษาไทยเข้าไป แต่ถ้าคุ้นกับเลย์เอาท์คีย์บอร์ดแล้วก็สามารถใช้งานได้อย่างปกติ ที่สำคัญคือที่คีย์บอร์ดมีไฟ Backlit ด้วย ทำให้สามารถใช้งานในที่มืดได้อย่างสบายๆ
ส่วนของตัวแทร็กแพด จะให้สัมผัสที่ค่อนข้างลื่นไหล มีการแบ่งส่วนคลิกซ้าย-ขวาอย่างชัดเจน รองรับการใช้งานแบบมัลติทัช กล่าวคือการใช้ 2 นิ้วพร้อมกันเพื่อเลื่อนหน้าจอ ร่วมไปกับการใช้ 3 นิ้ว และ 4 นิ้ว ในบางแอปพลิเคชัน
อีกจุดเด่นที่สำคัญของ Yoga 3 Pro คือเรื่องของพอร์ตการเชื่อมต่อที่ให้มาค่อนข้างครบ โดยทางฝั่งซ้ายจะมี พอร์ตยูเอสบี 3.0 2 พอร์ต โดย 1 ในนั้นจะเป็นช่องสำหรับเสียบสายชาร์จด้วย ถัดมาเป็นพอร์ต miniHDMI และช่องเสียบการ์ดเอสดี
ส่วนทางฝั่งขวาจะมีพอร์ตยูเอสบี ที่มีโหมดสามารถเสียบชาร์จอุปกรณ์อื่นๆได้แม้ปิดเครื่องอยู่ ช่องเสียบหูฟัง ปุ่มปรับระดับเสียง ปุ่มล็อกการหมุนหน้าจอ ปุ่มรีสตาต ไฟแสดงสถานะ และปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง
สำหรับขนาดโดยรวมของตัวเครื่องจะอยู่ที่ 330 x 228 x 12.8 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 1.18 กิโลกรัม
สเปก
สเปกภายในจะมาพร้อมกับหน่วยประมวลผลที่เป็น Intel Core M 5Y70 ความเร็ว 1.1 GHz แต่สามารถเร่งประสิทธิภาพไปได้ถึง 2.6 GHz (เครื่องขายจริงเป็น Core M 5Y71 1.2 GHz สูงสุด 2.9 GHz) RAM 8 GB พื้นที่เก็บข้อมูลเป็น SSD 256 GB กราฟิกเป็น Intel HD 5300 ทำงานบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 8.1
ขณะที่แบตเตอรีภายในตัวเครื่องให้มา 44Wh 5,900 mAh ระยะเวลาการใช้งานจะอยู่ที่ราว 4-8 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับการใช้งาน โดยในตัวเครื่องก็จะมีโหมดประหยัดพลังงานอย่างการตัดการเชื่อมต่อ ลดความสว่างหน้าจอ ปรับการทำงานของซีพียู
ฟีเจอร์เด่น
จุดเด่นหลักของ Yoga 3 Pro คงหนีไม่พ้นการที่เป็น 2-1 โน้ตบุ๊ก ที่สามารถปรับหมุนได้ 360 องศา ทำให้สามารถเลือกใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Tent ที่คว่ำตัวเครื่องลง เพื่อแสดงหน้าจออย่างเดียว Stand คือการใช้โน้ตบุ๊กในแนวปกติ และ Tablet ด้วยการพับหน้าจอลงไปแนบกับคีย์บอร์ด
โดยภายในเครื่องจะมีแอปที่คอยบอกรายละเอียดการใช้งานอย่าง Harmony ที่แสดงรูปแบบการใช้งานออกเป็นเปอเซนต์ และเทียบกับการใช้งานทั่วโลก โดยผู้ใช้สามารถเลือกดูสถิติได้แบบรายวัน สัปดาห์ เดือน และปี
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงผลแอปพลิเคชันที่ใช้งานบ่อยในเครื่อง รวมไปถึงเทรนด์ในการใช้งานของเครื่องอื่นๆ พร้อมกับเปิดให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปดาวน์โหดลแอปพลิเคชันเพิ่มเติมจากวินโดวส์สโตร์มาติดตั้งเพื่อใช้งานได้ทันที
ยังสามารถเข้าไปตั้งค่าในส่วนของ Harmony Setting สำหรับควบคุมการใช้งานในโหมดต่างๆ เช่นเมื่อเปิดไฟล์เอกสาร จะปรับสีหน้าจอให้กลายเป็นสีเหลืองนวลพร้อมปรับลดความสว่างลงให้เหมือนอ่านหนังสือในโหมด Paper Display มีการปรับระบบเสียงเมื่อใช้งานโปรแกรมเล่นเพลง ภาพยนต์ เกม ในโหมด Intelligent Audio
Motion Control สำหรับการใช้ท่าทางในการควบคุมตัวเครื่อง อย่างการสั่งหยุดเล่นหนัง Full Screen ในการสลับโหมดการแสดงผลปกติเข้าสู่การแสดงผลแบบเต็มหน้าจออัตโนมัติ Energy Manager ในการปรับการใช้งานพลังงานโดยอัตโนมัติ และ Touch เพื่อปิดการสัมผัสหน้าจอการพรีเซนต์เมื่ออยู่ในโหมดการใช้งานแบบโน้ตบุ๊ก
มี PC App Store สำหรับแนะนำแอปพลิเคชันที่น่าใช้งาน ซึ่งสามารถกดเข้าไปเพื่ออ่านรายละเอียด และเข้าไปดาวน์โหลดได้ทันทีเช่นเดียวกัน
ส่วน Motion Control อย่างที่กล่าวไปว่าเป็นระบบที่ใช้การตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ เพื่อสั่งงานตัวเครื่องผ่านกล้องหน้า โดยผู้ใช้สามารถทำนิ้วชี้ชูขึ้นมาเพื่อสั่งปิดเสียง ยกนิ้วโป้งขึ้นมาเพื่อหยุดเล่นภาพยนต์ที่รับชมอยู่ ปาดซ้าย-ขวา เพื่อเปลี่ยนรูปเป็นต้น ถือเป็นกิมมิคเล็กๆน้อยๆที่เพิ่มเข้ามาให้ใช้งานกัน
ด้วยการที่เลอโนโวเองก็มีการทำสมาร์ทโฟนด้วย ภายในจึงมีการติดตั้ง Phone Companion เพื่อเข้ามาให้ใช้ควบคุม และจัดการแอนดรอยด์โฟน อย่างการส่งข้อความ รับสาย จากโน้ตบุ๊ก พร้อมไปกับแอปอย่าง Share It ที่ใช้ในการส่งข้อมูลระหว่างเครื่องผ่านไวไฟได้ทันที
นอกจากนี้ ก็ยังมีฟังก์ชันการจัดการพลังงาน OneKey Optimizer ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้เครื่องทำงานในโหมดประสิทธิภาพสูงที่สุด โหมดประหยัดแบตเตอรี รวมไปถึงในขณะชาร์จก็จะมีโหมดช่วยยืดอายุแบตเตอรีเข้ามาให้เลือกใช้ด้วยการรักษาประจุแบตเตอรีไว้ที่ 55-60%
ถัดมาก็คือเรื่องของการแสดงผลภาพที่ให้มากับหน้าจอความละเอียดสูง พร้อมไปกับลำโพงจาก JBL Audio ที่ช่วยเพิ่มพลังเสียงของ Yoga 3 Pro ให้สามารถใช้งานด้านมัลติมีเดียได้แบบเต็มรูปแบบ หรือถ้าใช้งานร่วมกับหูฟัง หรือลำโพง ก็จะมีตัวควบคุม MaxxAudio ขึ้นมาให้ปรับตั้งค่าอีควอไลเซอร์ต่างๆได้
ส่วนที่เหลือก็จะเป็นการนำจุดเด่นของวินโดวส์ 8 ที่รอการอัปเดตเพิ่มเติมเป็นวินโดวส์ 10 ในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่า Yoga 3 Pro สามารถอัปเกรดเพื่อใช้งานได้อย่างแน่นอน ดังนั้นจุดเด่นการใช้งานไมโครซอฟท์อย่าง โปรแกรมออฟฟิศ 365 ก็จะติดมาให้ใช้กันอย่างแน่นอน
สรุป
ด้วยการที่เลอโนโววาง Yoga 3 Pro มาเป็นโน้ตบุ๊กที่เน้นการพกพาออกไปใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลาเป็นหลัก ประกอบกับการเลือกใช้หน่วยประมวลผลที่เป็น Intel Core M ที่มีจุดเด่นเรื่องการประหยัดพลังงาน และให้ความร้อนน้อย ซึ่งผลที่ออกมาก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะ Yoga 3 Pro เหมือนเป็นโน้ตบุ๊กที่ออกมาไว้ให้พกพาไปใช้งานได้ทุกที่
แต่ถ้ามองในแง่ของประสิทธิภาพในการใช้งาน การประมวลผลของ Intel Core M ยังแรงสู้กับ Core i5 หรือ Core i7 ไม่ได้ ดังนั้นการใช้งานส่วนใหญ่จึงจบลงที่การใช้งานทั่วไปอย่างงานเอกสาร ทำรูป เล่นเน็ต ดูหนัง ฟังเพลง แต่ถ้าจะนำไปเล่นเกม หรือประมวลผลอะไรหนักๆ คงต้องมองข้ามไป
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับราคาจำหน่ายแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า Yoga 3 Pro ที่ 59,990 บาท ถือว่าเปิดราคามาค่อนข้างสูง แม้ว่ารุ่นที่ขายจริงจะใช้หน่วยประมวลผลเป็น Core M 1.2 GHz ก็ตาม แต่ถ้ามองในแง่ของความสะดวกสบายในการพกพา กับความหลากหลายที่ได้ทั้งโน้ตบุ๊ก และแท็บเล็ตที่ปรับรูปแบบการใช้งานได้ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ หรือถ้างบไม่ถึงจะรอ Yoga 3 ทางเลอโนโวก็มีแผนจะนำเข้ามาจำหน่ายเช่นเดียวกัน