ตลาดสมาร์ทวอทช์ (Smart Watch) ถือเป็นอีกกลุ่มที่กำลังอยู่ในช่วงที่เติบโตไปพร้อมๆกับตลาดสมาร์ทโฟน พร้อมๆไปกับการมาของ IoT (Internet of Things) ที่ซัมซุง พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาจับตลาดนี้ โดยก่อนหน้านี้จะเน้นจับไปที่กลุ่มคนที่รักสุขภาพเป็นหลัก มาจนถึงรุ่นล่าสุดเริ่มจับเข้ามาในตลาดแฟชันมากขึ้น
Samsung Gear S2 ถือเป็นสมาร์ทวอทช์รุ่นล่าสุดของซัมซุง ที่มีออกมาจับ 2 กลุ่มผู้ใช้งานหลักๆคือ กลุ่มที่ใช้งานเป็นอุปกรณ์ช่วยในการใช้ชีวิต รวมถึงการออกกำลังกาย และอีกกลุ่มที่มองนาฬิกาว่าเป็นสินค้าแฟชัน เข้ามาเติมเต็มไลฟ์สไตล์ในการใช้งาน ดังนั้นก็จะมีทั้งรุ่นที่เป็น Gear S2 Sport และ Gear S2 Classic
การออกแบบ
ตามจริงแล้ว Gear S2 ถือว่าเป็นสมาร์ทวอทช์รุ่นแรกที่ซัมซุงทำออกมาแล้วดูเป็นนาฬิกาแฟชันมากที่สุด เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปใน Galaxy Gear จนมาถึง Gear Fit และ Gear S ต่างทำหน้าจอออกมาในแนวสี่เหลี่ยมเน้นไปที่ฟังก์ชันการใช้งานเป็นหลัก แต่พอมาถึง Gear S2 ทำให้กลับมาเป็นรูปลักษณ์ของนาฬิกาด้วยหน้าปัดกลม พร้อมวงแหวนให้หมุ่นสั่งงาน
วัสดุที่ใช้ทำตัวเรือนจะทำงานอะลูมิเนียนดูแล้วมีความแข็งแรง มาพร้อมกับการกันน้ำกันฝุ่นบนมาตรฐาน IP 68โดยขนาดรอบตัวของ Gear S2 Sport จะอยู่ที่ 49.8 x 42.3 x 11.4 มิลลิเมตร นำ้หนัก47 กรัม มีให้เลือก 2 สีคือ เทาเข้ม (Dark Gray) และ เงิน (Silver) ส่วน Gear S2 Classic จะมีขนาดอยู่ที่ 39.9 x 43.6 x 11.4 มิลลิเมตร นำ้หนัก 42 กรัม มีให้เลือกเฉพาะสีดำ (Blue Black)
ความแตกต่างระหว่าง Gear S2 Sport กับ Gear S2 Classic นอกจากในแง่ของขนาด และน้ำหนักที่ต่างกันเล็กน้อยแล้ว ก็จะมีในส่วนของหน้าปัดที่ตัว Gear S2 Classic จะมีลวดลายเพิ่มเติมบริเวณขอบวงแหวน ในขณะที่ Gear S2 Sport จะเป็นวงแหวนเรียบๆ ที่เหลือก็คือเรื่องของสายที่เป็นสายยาง และสายหนัง
ตัวเรือนจะมากับจอสัมผัส Gorilla Glass 3 แบบ Super AMOLED ขนาด 1.2 นิ้ว ความละเอียด 360 x 360 พิกเซล พร้อมเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว ทำให้เมื่อยกแขนขึ้นมาดูนาฬิกาตัวจอก็จะติดโดยอัตโนมัติ เมื่อนำแขนลงจอก็จะดับอัตโนมัติเช่นเดียวกัน
การควบคุมจะทำได้ 3 รูปแบบ คือ การสัมผัสที่หน้าจอ การหมุนวงแหวนบริเวณขอบจอ และการกดปุ่มที่ข้างตัวเครื่อง โดยปุ่มบนจะเป็นปุ่มย้อนกลับ ส่วนปุ่มล่างจะเป็นปุ่มกลับหน้าแรก โดยสามารถกดค้างเพื่อใช้ในการเปิด–ปิดเครื่อง หรือกดค้างพร้อมปาดหน้าจอในการจับภาพหน้าจอได้ด้วย
หลังตัวเรือนจะมีเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ตรงกลาง ขณะที่ตัวอักษรรอบกรอบจะระบุชื่อรุ่น และสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานต่างๆ ส่วนบริเวณข้อต่อสามารถปลดสายได้ด้วยการดันปุ่มสีเงินๆตรงข้อต่อเพื่อปลดล็อก ก็สามารถเปลี่ยนสายได้ทันที
ส่วนตัวสาย Gear S2 Classic ทีไ่ด้มาทดสอบ จะมีเขียนระบุไว้ว่าเป็นสายหนัง (Genuine Leather) และมีสายให้เลือก 2 ไซส์คือ เล็ก และ ใหญ่ ที่แถมมาให้ภายในกล่องด้วย พร้อมกับแท่นชาร์จ อะแดปเตอร์ และคู่มือการใช้งานเบื้องต้น
สเปก
สำหรับสเปกภายในของ Gear S2 ทั้ง 2 รุ่น จะเหมือนกันคือ ทำงานภายใต้ระบบปฏิบัติการ Tizen ใช้หน่วยประมวลผล Samsung Exynos 3250 ที่เป็นดูอัลคอร์ 1 GHz RAM 512 MB และพื้นที่เก็บข้อมูลภายใน 4 GB ภายในมีแบตเตอรีขนาด 250 mAh สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ราว 2-3 วันต่อการชาร์จ 1 ครั้ง
ด้านการเชื่อมต่อรองรับการเชื่อมต่อกับบลูทูธ 4.1 ไวเลส มาตรฐาน 802.11 b/g/n รวมถึงรองรับ NFC และไวเลสชาร์จด้วย ส่วนกรณีที่ต้องการใช้งานกับแอนดรอยด์รุ่นอื่นในท้องตลาด ทางซัมซุงระบุว่าสมาร์ทโฟนที่ทำงานบน แอนดรอยด์ 4.4 ขึ้นไป และมี RAM สูงกว่า 1.5 GHz สามารถใช้งานได้ โดยสามารถตรวจสอบรุ่นได้ที่ http://www.samsung.com/global/galaxy/gear-s2/device-compatibility/
ฟีเจอร์เด่น
ในการเริ่มใช้งาน Gear S2 สิ่งแรกที่จำเป็นเลยคือการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่านแอปพลิเคชัน Samsung Gear เมื่อเชื่อมต่อเรียบร้อยตัวนาฬิกาจะทำการซิงค์ข้อมูลมาแสดงผล หลังจากนั้นถึงจะเริ่มใช้งาน Gear S2 ได้ ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถตั้งค่าเบื้องต้นจากภายในแอปพลิเคชันได้ไม่ว่าจะเป็น การแสดงผลหน้าปัดนาฬิกา การแจ้งเตือน รวมถึงการบริหารจัดการแอปพลิเคชันภายในตัว Gear S2
นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังเลือกที่จะตั้งการซิงค์ข้อมูลเพลง และรูปที่ต้องการเก็บไว้ใน Gear S2 เพื่อใช้งานขณะออกกำลังกายทำให้ไม่ต้องพกโทรศัพท์ติดตัว รวมถึงยังสามารถเข้าไปเลือกตั้งค่าการตอบกลับข้อความกรณีปฏิเสธการรับสาย การตั้งค่าปุ่มลัดเมื่อกดปุ่มโฮม 2 ครั้ง การส่งข้อความฉุกเฉินไปยังเลขหมายที่ตั้งไว้ การสำรองข้อมูลด้วย ดูพื้นที่เหลือใช้งานบน Gear S2 และการค้นหา Gear S2 ด้วยการส่งเสียงเรียกออกไป
ทีนี้ มาดูกันที่หน้าปัดนาฬิกาของ Gear S2 อย่างที่กล่าวไปว่าผู้ใช้สามารถเลือกลายหน้าจอที่แสดงผลได้ เมื่อหมุนวงแหวนตามเข็มนาฬิกา หรือปาดหน้าจอไปทางซ้าย จะพบกับหน้าจอการใช้งานเบื้องต้น ที่จะมีปุ่มเรียกหน้ารวมแอป ปุ่มเรียกดูรายชื่อเพื่อน ตั้งค่า และเรียกใช้งาน S-Voice ที่เป็นระบบสั่งงานด้วยเสียงของทางซัมซุง
เมื่อปาดหน้าจอไปเรื่อยๆก็จะพบกับหน้าแสดงผลการก้าวเดิน ตารางนัดหมาย พยากรณ์อากาศ ปุ่มควบคุมเครื่องเล่นเพลง วัดอัตราการเต้นของหัวใจ แสดงผลระยะเวลาที่เคลื่อนไหว และปฏิทิน โดยในส่วนของหน้าจอพวกนี้สามารถเลือกเพิ่ม และจัดเรียงการแสดงผลได้ตามที่ต้องการ
ถัดมาเมื่อปาดขวา หรือหมุนทวนเข็มนาฬิกา จะพบกับหน้าจอแสดงการเจ้งเตือน เมื่อปาดหน้าจอลงมาจะแสดงแบตเตอรีที่เหลือ สถานะการเชื่อมต่อ รวมถึงปุ่มลัดไปยังเครื่องเล่นเพลง ที่สามารถปรับเสียงได้ โหมดห้ามรบกวน และปรับความสว่างหน้าจอ
โดยในส่วนของหน้าจอหลักจะมีที่น่าสนใจเกี่ยวกับแอป S-Helath คือโหมด Quick Start สำหรับบันทึกข้อมูลการออกกำลังกายแบบเร่งด่วน และอีกหน้าจอหนึ่งคือการใส่ข้อมูลการดื่มน้ำ และกาแฟ ที่สามารถกดเพิ่มได้ตลอดเวลา
ส่วนหน้ารวมเมนูก็จะมีให้กดใข้อย่าง พยากรณ์อากาศ S-Voice ปฏิทิน ตั้งค่า ไนกี้ S-Health โทรศัพท์ ข้อความ รายชื่อด่วน รูปภาพ เพลง ซีเอ็นเอ็น บลูมเบิร์ก นาฬิกาจับเวลา นาฬิกาปลุก อีเมล ค้นหามือถือ แผนที่ บันทึกเสียง และยังสามารถดาวน์โหลดแอปเพิ่มเติมได้จากในสมาร์ทโฟน
ในส่วนของการใช้งานเบื้องต้นอย่างโหมดโทรศัพท์ สามารถสั่งโทรออกได้จากตัว Gear S2 เพียงแต่เมื่อโทรแล้วก็ต้องยกตัวสมาร์ทโฟนขึ้นมาคุยเช่นเดิม โดยกรณีที่มีการบันทึกรายชื่อไว้ก็สามารถเลือกรายชื่อ เพื่อกดโทรออก หรือส่งข้อความหาได้ทันที
ส่วนกรณีที่มีสายเข้าสามารถใช้นิ้วปาดเพื่อรับสาย ตัดสาย ส่งข้อความกลับได้ หรือจะใช้เสียงสั่งงานให้รับสายก็ได้เช่นเดียวกัน เมื่อมีสายที่ไม่ได้รับ ตัวนาฬิกาสามารถเลือกได้ว่าจะโทรกลับ ส่งข้อความหา สั่งให้แสดงผลบนหน้าจอสมาร์ทโฟน หรือเลือกบล็อกสายได้ทันที
การอ่านข้อความต่างๆ ขณะนี้สามารถใช้งานได้กับบางแอปพลิเคชันอย่าง ข้อความสั้น อีเมล ไลน์ โดยเมื่ออ่านแล้วสามารถเลือกได้ว่าจะตอบกลับ หรือสั่งให้แสดงผลบนหน้าจอ โดยถ้าเลือกตอบกลับจะสามารถเข้าไปเลือกชุดข้อความด่วนที่บันทึกไว้ หรือพิมพ์ใหม่จากคีย์บอร์ดเสมือนบนนาฬิกาได้ทันที แต่ทั้งนี้เลย์เอาท์คีย์บอร์ดบนนาฬิกาจะเป็นในลักษณะของปุ่มกดตัวเลขบนมือถือสมัยก่อน ไม่ใช่คีย์บอร์ดแบบครบทุกปุ่ม
กรณีที่ต้องการส่งรูปจากในตัว Gear S2 ไปยังสมาร์ทโฟน สามารถทำได้โดยการเข้าไปที่แอปรูปภาพ กดเลือกรูปที่ต้องการส่ง และเลือกคำสั่ง Send to Phone ได้ทันที รูปที่บันทึกก็จะไปรวมอยู่ในอัลบั้มของ Gear S2 โดยเฉพาะ
ในส่วนของการใช้งาน S-Health จะมีการแจ้งเตือนให้เคลื่อนไหวเมื่อนั่งอยู่เฉยๆในช่วงระยะเวลาหนึ่ง รวมถึงสามารถเข้าไปดูระยะก้าวเดินย้อนหลังในแต่ละวัน เมื่อถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็จะมีการแจ้งเตือน ส่วนการออกกำลังกายก็สามารถเลือกประเภทกีฬาได้อย่าง เดิน วิ่ง ขี่จักรยาน ปีนเขา และออกกำลังบนเครื่องเล่น
ขณะที่การวัดอัตราการเต้นของหัวใจจะมีแสดงผลทั้งตอนที่กำลังออกำลังกายอยู่ หรือถ้าต้องการวัดในเวลาทั่วไปจำเป็นต้องกดให้ระบบทำงาน โดยเมื่อวัดเสร็จแล้วก็จะมีให้ติดแท็กว่าวัดในขณะที่ร่างกายรู้สึกเป็นอย่างไร เพื่อนำข้อมูลไปเก็บไว้ประมวลผลในตอนหลัง
มาถึงส่วนของการตั้งค่า ภายในตัว Gear S2 ผู้ใช้สามารถเข้าไปตั้งค่าหน้าจอ อย่างเช่นการเปลี่ยนรูปหน้าปัด การปรับความสว่าง เลือกฟอนต์ ความแรงของการสั่นแจ้งเตือน ตั้งกดปุ่มลัดเข้าแอป ตั้งให้ใช้ระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวให้หน้จอติดอัตโนมัติ เปิดการใช้งานโทรศัพท์ เลือกการเชื่อมต่อบลูทูธ ไวไฟ ตั้งค่าล็อกหน้าจอ เลือกการป้อนข้อความ ระบบประหยัดพลังงาน และดูรายละเอียดเครื่อง
สุดท้ายการใช้งานระบบ S-Voice บน Gear S2 สามารถใช้ในการสั่งงานโทรศัพท์อย่างเช่นการโทรออก ตรวจสอบสภาพอากาศ การเพิ่มน้ำฟรือกาแฟใน S-Health รวมถึงคำสั่งเสียงอื่นๆที่ตัวเครื่องรองรับ
นอกจากนี้ก็จะมีตัวอย่างในส่วนของแอปอ่านข้อมูลข่าวจาก CNN และ Bloomberg ที่ผู้ใช้สามารถกดเลือกดูหัวข้อที่สนใจ และเข้าไปอ่านข้อมูลจากบนข้อมือได้ทันที โดยในการใช้งานตัว Gear S2 จะใช้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อในการดึงข้อมูลมาแสดงผล
ไม่นับรวมกับระบบแผนที่ ที่ทาง Gear S2 เลือกใช้แผนที่ของทาง Here ที่ผู้ใช้สามารถกดเข้าไปดูที่อยู่ปัจจุบัน ค้นหาเส้นทางการเดินทางจากระบบระบุพิกัด และค้นหาสถานที่ ซึ่งจะแสดงรายละเอียดต่างๆขึ้นมา โดยสามารถใช้คำสั่งเสียงในการค้นหาได้เช่นเดียวกัน หลังจากเจอสถานที่แล้วก็สามารถกดเพื่อแสดงเส้นทางได้ทันที
สรุป
ถ้าเป็นลูกค้าที่ใช้งานสมาร์ทโฟนภายใต้ตระกูล Galaxy ของทางซัมซุงอยู่แล้ว Gear S2 ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ในกรณีที่ต้องการสมาร์ทวอทช์ ที่จะมาแจ้งข้อมูลต่างๆจากบนสมาร์ทโฟนมาไว้บนข้อมือแทน แต่อย่างไรก็ตามในการใช้งานหลักๆส่วนใหญ่ก็ยังจำเป็นต้องทำบนสมาร์ทโฟนอยู่เช่นเดิม
นอกจากนี้ ด้วยการที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นทำให้ตัวแอปพลิเคชันที่รองรับการใช้งานยังน้อยอยู่ การแสดงผลข้อมูลทำได้ไม่หมดอย่างเช่นเฟซบุ๊กยังไม่สามารถอ่านข้อมูลจาก Gear S2 ได้ แต่ Line อีเมล และพวกข้อความสั้นสามารถอ่านและตอบกลับได้ทันทีเป็นต้น
ในส่วนของการจับการออกกำลังกาย ถ้าเป็นรุ่น Gear S2 ธรรมดาน่าจะเหมาะกว่ารุ่น Gear S2 Classic เนื่องจากในรุ่น Classic ตัวสายจะเป็นหนังทำให้เมื่อใส่ออกกำลังกายและโดนเหงื่อจะสกปรกง่าย หรือต้องใช้วิธีการเปลี่ยนสายตอนใช้งานแทน สำหรับ Gear S2 วางจำหน่ายในราคา 9,900 บาท ส่วน Gear S2 Classic ขายในราคา 11,900 บาท