Review : True IoT Router WiFi เราเตอร์กระจายสัญญาณ WiFi จากซิมการ์ด 4G ที่ง่ายแค่เสียบปลั้ก

90098

ที่ผ่านมาอุปกรณ์เราเตอร์ที่สามารถใส่ซิมการ์ด เพื่อกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ต มักจะอยู่กับผู้ใช้งานเฉพาะกลุ่มที่มีความรู้และความสนใจด้านเน็ตเวิร์กเป็นพื้นฐาน ถึงจะรับรู้ว่ามีการให้บริการในรูปแบบนี้ด้วย แต่ช่องว่างดังกล่าวจะเริ่มหายไปจากการที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เห็นโอกาสดังกล่าวและลงมาทำตลาดเอง

หนึ่งในแผนธุรกิจของทรูมูฟ เอช ที่ต้องการเจาะกลุ่มผู้ใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ต ผ่านโครงข่าย 4.5G ที่กลุ่มทรูทุ่มเงินลงทุนเพื่อขยายโครงข่ายไปครอบคลุมทั่วประเทศ ก็ถึงเวลาที่จะหาอุปกรณ์มาเชื่อมต่อกับโครงข่ายดังกล่าวนอกเหนือจากการใช้งานบนสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต

True IoT Router WiFi รวมถึงตัวกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตบนรถ (4G Car WiFi) จึงเริ่มถูกนำเสนอให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น บนพื้นฐานของความง่ายในการใช้งาน และสะดวกที่สามารถเคลื่อนย้ายจุดในการใช้งานได้แบบไม่มีข้อจำกัดเหมือนบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต

การออกแบบ

รูปลักษณ์ของ True IoT Router WiFi ก็ไม่ได้มีการออกแบบที่ดูแล้วมีเอกลักษณ์เป็นพิเศษ เพราะทำออกมาเหมือนกล่องโมเด็มเราเตอร์สมัยใหม่ ที่มีความโค้ง เน้นตัวเครื่องสีขาวเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปวางใช้งานในสถานที่ต่างๆ

โดยจะมีส่วนหลักๆคือ ไฟแสดงสถานะ เริ่มจากสัญลักษณ์ว่ามีไฟเข้า สัญลักษณ์ WiFi (ถ้าไฟสีฟ้ากระพริบคือกำลังปล่อยสัญญาณอยู่) 3G/4G ที่จะระบุว่ากำลังเชื่อมต่อกับเครือข่ายใด (ถ้า 3G ไฟสีเขียว ถ้า 4G ไฟสีฟ้า ถ้าสีแดงแปลว่าไม่ได้เชื่อมต่อ) การเชื่อมต่อโทรศัพท์ และระดับสัญญาณ

อีกฝั่งก็จะเป็นพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ที่จะมีพอร์ต LAN ให้ 4 พอร์ต (ช่องแรกสามารถใช้รับสัญญาณจากโมเด็มเพื่อใช้เราเตอร์นี้ช่วยกระจายสัญญาณแทน)ช่องต่อสายโทรศัพท์บ้าน ช่องเสียบปลั้กไฟ และปุ่มเปิดปิดเครื่อง โดยบริเวณขอบบนจะมีจุกพลาสติกอยู่ สามารถแกะออกเพื่อใส่เสาอากาศเพื่อช่วยกระจายสัญญาณเพิ่มเติมได้

ส่วนบนจะมีปุ่ม WPS ไว้ใช้ในการเชื่อมต่อ WiFi กับอุปกรณ์ที่รองรับ ทางขวาจะเป็นช่องใส่ซิมการ์ด โดยต้องใช้ซิมขนาดปกติเท่านั้น และทางทรูไม่แนะนำให้ใช้ซิมการ์ดที่ต่อกับอะเดปเตอร์ เนื่องจากจะทำให้เชื่อมต่อไม่ติดได้

สเปก

ข้อมูลเบื้องต้นของ True IoT Router WiFi จะรองรับการเชื่อมต่อ 4G LTE-FDD บนคลื่นความถี่ 900/1800/2100MHz 3G 850/900/1900/2100MHz และ 2G 850/900/1800/1900MHz ทำความเร็วในการใช้งานสูงสุดบน 4G 150/50 Mbps และ 3G 21/5.76 Mbps

โดยการปล่อยสัญญาณแบบ 2×2 MIMO บนมาตรฐาน 802.11 b/g/n , 2.4 GHz ตัวกระจายสัญญาณไวไฟ สามารถรองรับอุปกรณ์เชื่อมต่อพร้อมกันได้ 10 อุปกรณ์ หรือจะเลือกใช้เป็นตัวกระจายสัญญาณจากเน็ตบ้านก็ได้เช่นเดียวกัน

ฟีเจอร์เด่น

ลองนึกภาพกรณีที่เป็นผู้พักอาศัยในคอนโด แล้วมีอุปกรณ์ที่ต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก สมาร์ททีวี แต่เดิมที่มีการใช้งานเน็ตผ่านสมาร์ทโฟนเพียงอย่างเดียว ก็ต้องใช้วิธีการอย่างปล่อย Hotspot จากสมาร์ทโฟนให้อุปกรณ์อื่น

แต่เมื่อมีเราเตอร์ที่สามารถกระจายสัญญาณจากซิมการ์ดได้ ก็สามารถใช้แพกเกจเน็ตที่มีแชร์ให้อุปกรณ์อื่นใช้งานได้ หรือจะเลือกสมัครแพกเสริมสำหรับ True IoT Router WiFi เพื่อใช้งานแทนไฟเบอร์อินเทอร์เน็ตก็ได้ โดยความเร็วที่ได้ก็จะขึ้นอยู่กับแพกเกจ และสัญญาณในบริเวณที่ใช้งาน

ดังนั้น ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีสัญญาณ 4G การนำเราเตอร์มากระจายเป็นสัญญาณ WiFi นอกจากจะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และสะดวกขึ้นแล้ว ก็ยังมีข้อดีตรงที่ไม่มีข้อผูกมัดในการใช้งาน ทำให้ถ้าต้องการย้ายที่ติดตั้ง หรือเปลี่ยนจุดกระจายสัญญาณก็สามารถทำได้ทันที

ส่วนฟังก์ชันพื้นฐานในการตั้งค่าสำหรับผู้ใช้งาน เริ่มจากรหัสในการล็อกอินเข้า WiFi จะระบุอยู่ที่สติกเกอร์ใต้เครื่อง พร้อมชื่อ SSID โดยเมื่อล็อกอินเข้าไปแล้วสามารถเข้าไปตั้งใหม่ พร้อมตั้งรหัสผ่านใหม่ได้เช่นเดียวกัน

ในการตั้งค่าหลังจากเชื่อมต่อ WiFi หรือต่อสายแลนเข้ากับ True IoT Router WiFi แล้วให้เปิดเว็บเบราว์เซอร์เข้าไปที่ 192.168.0.1 ใส่รหัสพื้นฐาน admin / password เมื่อล็อกอินเข้าไปหน้าแรกก็จะพบข้อมูลว่าปัจจุบันมีอุปกรณ์ใดเชื่อมต่อกับเราเตอร์อยู่บ้าง ถ้าเป็นเครื่องที่ไม่รู้จักก็สามารถกดบล็อกได้

ขณะเดียวกันที่ฝั่งซ้ายจะมีการระบุข้อมูลปริมาณดาต้าที่ใช้งานไป พร้อมบอกความเร็วในการดาวน์โหลด อัปโหลด ซึ่งในส่วนนี้ก็จะขึ้นอยู่กับแพกเกจของซิมการ์ดที่นำมาใส่ใช้งานด้วย เพราะจะมีให้เลือกหลายระดับความเร็ว

ถัดมาในหน้าของข้อมูลอุปกรณ์ ก็จะแสดงรหัสเครื่อง ชื่อเครือข่าย (ถ้าต้องการเปลี่ยนสามารถกดเปลี่ยนได้ทันที) พร้อมแสดงไอพีแอดเดรสที่ใช้งานอยู่ เวอร์ชันของเฟิร์มแวร์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกไปดูสถิติการเชื่อมต่อในรอบเดือนที่ผ่านมา รวมถึงการใช้งานปัจจุบันได้ด้วย

กรณีที่ใช้งานแพกเกจแบบความเร็วสูงสุด ที่มักจะมีกำหนดปริมาณการใช้งาน 4G สูงสุดไว้อย่าง 8 GB ผู้ใช้ก็สามารถเข้าไปตั้งค่าให้มีการจำกัดปริมาณการใช้ข้อมูลได้ ว่าในแต่ละเดือนใช้งานได้สูงสุดเท่าไหร่ จะให้ตัวเครื่องทำการแจ้งเตือนเมื่อใกล้หมดหรือไม่

นอกจากนี้ ตัวเราเตอร์ยังมีฟีเจอร์ในการรับข้อความ SMS สามารถเข้าไปดูสมุดโทรศัพท์ ได้จากในหน้าเหล่านี้ เพื่อให้สะดวกไม่ต้องสลับซิมการ์ดไปมา กรณีที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่ ก็สามารถเข้ามาเช็กรายละเอียดได้ทันที

สุดท้ายในแถบของการตั้งค่า ก็จะมีให้เลือกตั้งอย่างการเปิดใช้งาน WiFi อัตโนมัติ เลือกระยะเวลาในการเปิดใช้งาน เลือกเครือข่ายที่ต้องการเชื่อมต่อ (ตั้งค่าเครือข่าย APN) รวมถึงการเข้าไปตั้งค่าไฟร์วอลล์กรณีที่ต้องการระบบรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ถ้าสังเกตที่มุมขวาบนจะมีสัญลักษณ์แสดงรายละเอียดต่างๆอยู่ไม่ว่าจะเป็น ชื่อเครือข่ายที่เชื่อมต่อ สัญญาณที่จับได้ มีการเปิดใช้งานข้อมูลอยู่หรือไม่ รวมถึงจำนวนอุปกรณ์ที่กำลังเชื่อมต่อกับ WiFi ไว้ดูแบบคร่าวๆได้

สรุป

ในกรณีที่พักอาศัยไม่ได้ติดตั้งบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต หรืออยู่ในบริเวณที่พื้นที่ให้บริการไม่ครอบคลุม อาศัยอยู่ในดอนโด หรือมีการเปลี่ยนสถานที่ใช้งานบ่อยๆ True IoT Router WiFi จะช่วยเข้ามาตอบโจทย์การใช้งานอินเทอร์เน็ต ในกรณีที่ต้องการเชื่อมต่อหลายเครื่องพร้อมกัน แต่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้

ดังนั้น ถ้าเลือกใช้งานแพกเกจให้เหมาะสม (ทรูจะมีให้เลือกตั้งแต่เน็ตความเร็วคงที่ 1 Mbps ไปจนถึงเน็ตความเร็วสูงตามปริมาณที่ใช้งาน) ก็จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมที่ต้องจ่ายค่าโมบายอินเทอร์เน็ต 2-3 เบอร์ ลงมาเหลือแค่เบอร์เดียวเพื่อใช้งาน และถือว่ารองรับการใช้งานอุปกรณ์สมาร์ทโฮม IoT ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ True IoT Router WiFi วางจำหน่ายในราคา 3,990 บาท แต่ให้สิทธิลูกค้าที่สมัครใช้งานแพกเกจ True IoT Pack 399 ขึ้นไป หรือ แพกเกจ 4G IoT Shared package 599 ขึ้นไป พร้อมชำระค่าบริการล่วงหน้า 500 บาท (หักเป็นส่วนลดเดือนละ 100 บาท 5 เดือน) จะสามารถซื้อได้ในราคา 1,490 บาท

ข้อดี

– อุปกรณ์กระจายสัญญาณโมบายอินเทอร์เน็ตที่สามารถพกไปใช้ที่ไหนก็ได้
– ติดตั้ง ใช้งานง่าย ใส่ซิม เสียบปลั้ก พร้อมเชื่อมต่อทันที
– สามารถเข้าไปตั้งค่าผ่านพีซี-สมาร์ทโฟนได้
– ใช้เชื่อมต่อกับโทรศัพท์เพื่อใช้งานได้ด้วย

ข้อสังเกต

– รับสัญญาณ 4G ได้แบบ 2CA เท่านั้น ทำให้ความเร็วในการเชื่อมต่อสูงสุดอยู่ที่ 150 Mbps
– ขนาดซิมที่ใช้เป็นแบบซิมปกติ ทำให้ไม่สามารถนำนาโนซิมในสมาร์ทโฟนมาใส่ใช้งานได้ทันที (ไม่แนะนำให้ใช้คู่กับอะเดปเตอร์ซิม)
– ล็อกสัญญาณไม่สามารถใช้กับซิมค่ายอื่นได้

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

SHARE