นอกจากเรื่องกันน้ำกันฝุ่นที่ Samsung Galaxy S7/S7 edge สามารถทำได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว เรื่องของกล้องถ่ายภาพก็เป็นอีกหนึ่งความสนใจของหลายคน เพราะเซ็นเซอร์รับภาพและซอฟต์แวร์กล้องได้รับการปรับปรุงใหม่หมด ทำให้โหมดถ่ายภาพอัตโนมัติทำได้งานได้ฉลาดขึ้น
แต่ทั้งนี้ก็มีอีกหนึ่งโหมดถ่ายภาพที่หลายคนให้ความสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือ “Pro Mode with Camera RAW” ที่ซัมซุงเพิ่งเปิดให้ใช้คุณสมบัตินี้ในแอนดรอยด์ 6.0 Marshmallow (Galaxy S6/S6 edge สามารถอัปเดตและเปิดใช้ได้เช่นกัน) โดย Galaxy S7 ถือเป็นสมาร์ทโฟนตัวแรกของซัมซุงที่ผู้อ่านหลายท่านอยากเห็นประสิทธิภาพของไฟล์ RAW จากเซ็นเซอร์รับภาพที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการเก็บรายละเอียดภาพ RAW ซัมซุงในมือถือจะทำได้ดีแค่ไหน
เพราะฉะนั้นในวันนี้ เมื่อทีมงานได้รับหมายไปร่วมทริปถ่ายภาพกับซัมซุงที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ถึงเวลาที่เราจะใช้ชีวิต 5 วัน 4 คืนกับโหมดถ่ายภาพแบบ Pro Mode พร้อมไฟล์ RAW ตลอดทั้งทริป จากนั้นเราจะนำมาเข้าโปรแกรมตกแต่งภาพ Adobe Photoshop Lightroom เพื่อดึงประสิทธิภาพของเนื้อไฟล์ให้ผลลัพท์ออกมาถึงขีดสุดเท่าที่จะทำได้ ลองติดตามดูครับว่า Pro Mode with Camaera RAW เมื่อผ่านการรีดประสิทธิภาพตามสไตล์ของผม เป๋า @dorapenguin แล้ว จะเป็นอย่างไร
รีวิว Galaxy S7/S7 edge ที่ผ่านมา
สเปกกล้องและซอฟต์แวร์จัดการ
Galaxy S7 edge รุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบตลอดทริปจะใช้เซ็นเซอร์รับภาพ Sony IMX260 ความละเอียดภาพสูงสุด 12 ล้านพิกเซล อัตราส่วน 4:3 ประกบเลนส์รูรับแสง f1.7
1 ภาพ ใช้ขนาดไฟล์ RAW (นามสกุล DNG) – ประมาณ 23-24MB, JPEG – ประมาณ 3-4MB การบันทึกไฟล์ภาพเมื่อเปิดใช้ RAW จะบันทึกลงในหน่วยความจำภายในเครื่องเท่านั้น
ในส่วนโปรแกรมจัดการไฟล์ RAW บนสมาร์ทโฟนเราเลือกใช้ Adobe Photoshop Lightroom for Mobile ส่วนคอมพิวเตอร์เราเลือกใช้ Adobe Photoshop Lightroom 2015 CC เป็นตัวจัดการทั้งหมด
ถึงเวลารีดประสิทธิภาพ
คลิปวิดีโอตัวอย่างการปรับแต่ง RAW จาก Galaxy S7 ด้วย Adobe Photoshop Lightroom 2015 CC
อย่างแรกขออธิบายเรื่องการทำงานของผมก่อน ก็คือ ภาพทั้งหมดในบทความนี้จะถูกถ่ายด้วยไฟล์ RAW (DNG) โดยไม่ผ่านการตกแต่งจากซอฟต์แวร์ภายในเครื่อง แน่นอนว่าผลลัพท์ของไฟล์ดิบที่ได้มาจะแตกต่างจากโหมดอัตโนมัติหรือ Pro Mode ปกติ ตรงที่ไฟล์จะมีนอยซ์แถมมาค่อนข้างมากและภาพจะให้โทนสี ความสว่าง คอนทราสต์มาแบบกลางๆ อยากได้โทนไหนต้องมาปรับแต่งเองด้วยซอฟต์แวร์ภายหลัง
ชมไฟล์ต้นฉบับ >คลิกที่นี่<
แนวทางการตกแต่งภาพ – ภาพนี้ถือว่าตกแต่งน้อยสุด ผมดึงแค่คอนทราสต์ ปรับสีให้เข้มขึ้นเท่านั้น
ชมไฟล์ต้นฉบับ >คลิกที่นี่<
แนวทางการตกแต่งภาพ – ภาพนี้ถ่ายผ่านกระจก โดยมีเงาสะท้อนเกิดขึ้นบริเวณด้านล่าง ผมจึงเพิ่มคอนทราสต์ ปรับลดแสงลงเล็กน้อย และเพิ่มสีของทราย สีเหลือง และสีน้ำเงินให้เข้มขึ้น
ชมไฟล์ต้นฉบับ >คลิกที่นี่<
แนวทางการตกแต่งภาพ – คล้ายภาพบนเพราะถ่ายในสถานที่เดียวกันคือบนตึก Burj Khalifa ในวันที่อากาศปิด ฟ้ามืด ฝนทำท่าตกตลอดวัน เพราะฉะนั้นเมื่อในหัวผมอยากได้ภาพที่มันสดใสขึ้นเล็กน้อย ผมจึงต้องเพิ่มสีสันเข้าไป
ชมไฟล์ต้นฉบับ >คลิกที่นี่<
แนวทางการตกแต่งภาพ – ภาพนี้น่าจะรีดประสิทธิภาพไฟล์ RAW ออกมามากที่สุด เพราะผมตั้งใจจะให้โทนทั้งหมดเป็นสไตล์ภาพยนตร์ Mad Max Fury Road โดยแบ่งการแต่งภาพเป็น 4 โซน (ท้องฟ้า ตัวรถ พื้นดิน และด้านซ้ายของภาพเป็นส่วนสร้างอารมณ์ร่วมที่ร้อนแรง) แต่ที่นี่ภาพที่ผมถ่ายออกมาค่อนข้างมืดเพราะผมชดเชยแสงไว้ถึง -2 เนื่องจากรูรับแสง f1.7 ถ่ายย้อนแสงหนักๆภาพจะฟุ้งเล็กน้อย
หลังจากนั้นเมื่อนำเข้าโปรแกรมตกแต่งภาพผมจึงดึงส่วน Highlight ลงทั้งหมด เราก็จะได้เห็นรายละเอียดของก้อนเฆมเพิ่มขึ้น จากนั้นจึงดึงส่วนรายละเอียด เพิ่มส่วนเงาขึ้นทำให้มองเห็นตัวรถขึ้นมาอีกเล็กน้อย ส่วนพื้นทรายผมเลือกเปลี่ยนสีให้จัดจ้านขึ้นและใส่มิติด้วยการลงเงาที่ขอบล่างของภาพ
จากนั้นจบขั้นตอนด้วยการฉาบสีด้านข้างให้เป็นสีส้มพร้อมลดแสงเฉพาะส่วนลงเป็นอันเสร็จสิ้นและทำให้เห็นว่า RAW ไฟล์ S7 ค่อนข้างยืดหยุ่น ไดนามิกดี เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง LG G4 หรือสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์หลายรุ่นที่ถ่าย RAW ได้
ชมไฟล์ต้นฉบับ >คลิกที่นี่<
แนวทางการตกแต่งภาพ – ภาพนี้ตั้งใจดึงมิติภาพของสันทรายด้านหลังออกมา โดยใช้วิธีปรับลดแสง เพิ่มคอนทราสต์ด้านหลังใหม่หมด
ชมไฟล์ต้นฉบับ >คลิกที่นี่<
แนวทางการตกแต่งภาพ – ภาพนี้ใช้ Pro Mode ตั้งความเร็วชัตเตอร์ไว้ 1/500 วินาที ส่วนการตกแต่ง ผมตั้งโจทย์ไว้ว่าอยากเห็นท้องฟ้าทะมึนมากกว่านี้ ก็เลยจัดการแยกตกแต่งเฉพาะส่วนของท้องฟ้าเพียงอย่างเดียวด้วยการลดแสงลง รายละเอียดท้องฟ้าจึงถูกทำให้เด่นขึ้นมา
ชมไฟล์ต้นฉบับ >คลิกที่นี่<
แนวทางการตกแต่งภาพ – ภาพนี้ถ่ายย้อนแสงและไม่ได้มองหน้าจอทำให้ภาพบุคคลที่ได้เกิดอาการหน้ามืดดำมาก แต่ด้วย RAW ทำให้เราสามารถดึงรายละเอียดส่วนหน้าขึ้นมาได้ในลักษณะการทำ HDR (High Dynamic Range) แน่นอนว่าด้วยชุดกล้องที่ปรับปรุงใหม่ใน S7 ทำให้ภาพที่ได้ไม่สูญเสียรายละเอียดใดๆเลย
ชมไฟล์ต้นฉบับ >คลิกที่นี่<
แนวทางการตกแต่งภาพ – มาถึงอีกหนึ่งภาพที่มีการปรับแต่งมากที่สุด เนื่องจากภาพนี้ต้องการอารมณ์แบบหม่นหมอง เหมือนชีวิตที่กำลังตกต่ำหาทางออกไม่เจอ โดยภาพต้นฉบับผมถ่ายผ่านตู้ปลาที่มีสีน้ำเงินสดใสมาก พอมาถึงขบวนการตกแต่งภาพ ผมจึงต้องลดความเข้มของสีทั้งหมดลง ก่อนจะปรับโทนสีใหม่ให้เป็นสีฟ้ามืดๆ โดยตรงกลางใช้แปรงปัดสีน้ำเงินและฟ้าที่ซ่อนอยู่ออกให้หมดจนกลายเป็นเทาๆ ก่อนจะควบคุมสีเขียวอีกเล็กน้อยให้มีความรู้สึกหม่นแต่ก็ยังมีความสดใสแฝงอยู่เล็กน้อย
ชมไฟล์ต้นฉบับ >คลิกที่นี่<
แนวทางการตกแต่งภาพ – ภาพนี้ถือว่าต้นฉบับเก็บมาดี สีสวย หน้าที่ของผมในการรีดประสิทธิภาพไฟล์นี้ก็คือเพิ่มแสงบนใบหน้าเพิ่มขึ้นเพื่อให้เห็นรายละเอียด แน่นอนว่าต้องแลกมากับนอยซ์ที่เกิดขึ้น ผมจึงปรับลดนอยซ์ลงพร้อมปรับเพิ่มความคมชัดขึ้นอีกเล็กน้อย
และทั้งหมดนี้ก็คือตัวอย่างคร่าวๆของการจัดการไฟล์ดิบ RAW จาก Samsung Galaxy S7/S7 edge สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากไฟล์ภาพทั้งต้นฉบับและไฟล์ที่ผ่านการตกแต่งแล้วก็คือ ความยืดหยุ่น ไดนามิกของ RAW ที่ดีขึ้นจากเดิม รวมถึงคู่แข่งแอนดรอยด์ถ่าย RAW ได้หลากหลายยี่ห้อที่วางตลาดไปแล้ว Galaxy S7/S7 edge ทำได้โดดเด่นเทียบกับกล้องใหญ่หรือไฮเอนด์คอมแพกต์ได้เลยทีเดียว ผู้ใช้ที่เป็นช่างภาพมืออาชีพอยากให้ลองเปิดใจสัมผัสส่วนนี้ดู ไม่แน่ท่านอาจหลงรักได้เหมือนที่ผมเป็น
แต่ทั้งนี้ก็ใช่ตลอดทริป 5 วัน 4 คืน Galaxy S7/S7 edge จะมีแต่ข้อดี เพราะผมก็ยังมีโอกาสพบข้อสังเกตอยู่บ้างดังต่อไปนี้
– แบตเตอรี 3,600mAh (กับชิป Exynos) ผมเคยทดสอบไปแล้วว่าใช้ได้ต่อเนื่องได้ยาวนานถึง 12 ชั่วโมง แต่พอมาใช้งานถ่ายรูปแบบจริงจัง เช่น การถ่ายด้วย Pro Mode เปิด RAW และต้องเลื่อนหน้าจอปรับแต่งค่ากล้องบ่อยครั้ง กลายเป็นว่าแบตเตอรีหมดเร็วพอสมควร ถ่ายรูปไปครึ่งวัน แบตเตอรีอาจเหลือเพียง 30-40% เท่านั้น
– ขอบจอที่โค้งทั้งสองข้าง เวลาจับถือถ่ายภาพในแนวนอน นิ้วมือมีโอกาสจับโดนขอบจอทำให้ไม่สามารถสัมผัสหน้าจอได้ ยิ่งเป็นการถ่ายมุมมองแปลกๆด้วยแล้ว S7 edge เพียวๆจะจับไม่ค่อยถนัดนัก อาจต้องหาเคสมาใส่เสริม
– การจัดการไฟล์ RAW บน S7 ทำได้ลื่นไหลดี แต่ก็ยังมีอาการแรมหมด แอปฯเด้งออกจนเครื่องรีสตาร์ทให้เห็นอยู่
– เวลาถ่ายแบบ RAW สิ่งที่แถมมาทุกช่วงสภาพแสงก็คือนอยซ์ที่มากไปสักนิด
– หน้าจอ Super AMOLED ปรับใหม่ดีขึ้นจากเดิม แต่ยังมีอาการหน้าจอหลอกเรื่องความคมชัดเล็กน้อย แต่โดยรวมก็ถือว่าดีกว่าเดิมมาก (หลายคนคงทราบดีว่าเมื่อก่อนหน้าจอ AMOLED หลอกตาขนาดไหน)
สรุปสุดท้าย ใครชื่นชอบการถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟน Samsung Galaxy S7/S7 edge ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ จุดเด่นนอกจากเรื่องโหมดถ่ายภาพอัตโนมัติแล้ว Pro Mode กับ RAW ก็ทำได้น่าสนใจไม่แพ้กัน